หลายคนน่าจะรู้จักชื่อของ “ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์” หรือ “เล็ก” อยู่แล้ว นักร้องนักแต่งเพลงคนนี้ โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมาหลายสิบปี ถ้าให้พูดถึงเล็ก สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะนึกถึงคือเรื่องทัศนคติที่ตรงไปตรงมาของเขา การให้สัมภาษณ์ที่ชัดเจนและ “จริง” เสมอ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นภาพสะท้อนตัวตน 100 เปอร์เซ็นต์ของชายคนนี้
ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เล็ก เริ่มมีชื่อเสียงมาจากงานแสดง ในช่วงหนึ่งเขากลายเป็นพระเอกระดับท็อปของประเทศที่ทุกคนต้องรู้จัก แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็หันหลังให้กับความสำเร็จนั้นและผันตัวมาเป็นนักร้องแทน แน่นอนเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกใจให้กับแฟน ๆ แต่รู้หรือไม่สำหรับคนใกล้ตัวของเล็ก นี่ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์แต่อย่างใด เพราะทุกคนรู้ดีว่านี่คือสิ่งที่ชายคนนี้ต้องการจริง ๆ หลายคนอาจจะเคยฝันอยากเป็นดารา เพราะจะได้มีชื่อเสียงหรือเงินทอง แต่สำหรับ เล็ก การได้ทำผลงานเพลงของตัวเองเป็นสิ่งที่มีความหมายมากกว่าสำหรับเขา
เวลาล่วงเลยผ่านไปนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เล็ก กลายมาหนึ่งในศิลปินไทยที่เคยมีผลงาน release ในตลาดอุตสาหกรรมดนตรีโลก และเป็นหนึ่งในคนที่ยังเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานออกมาเรื่อย ๆ ล่าสุดไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเขาได้ปล่อยผลงานซิงเกิลใหม่ ‘Call of the void’ เพลงที่นำเสนอวิธีคิดและการทำงานที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มาคุยกับเขาในวันนี้
แต่ละคนอาจจะมีเส้นทางในชีวิตที่ต่างกัน แต่สำหรับชายคนนี้โลกของเขาเริ่มมาจาก “ดนตรี” รอบ ๆ ตัว
The People : ตั้งแต่เด็กมีภาพฝันอยากเป็นนักร้องไหม
จุลจักร : พอเข้าวัยทีนที่โรงเรียนช่วงมัธยม ผมก็มีวง แต่ก็ชอบร้องเพลงมาตลอด ความประทับใจแรกก็มาจากไมเคิล แจ็กสัน อัลบั้ม Bad
The People : เมื่อก่อนการเป็นศิลปินอาจดูเป็นงานที่ไม่มั่นคง และตอนนั้นคิดอะไรไหม
จุลจักร : ก็มันก็ไม่มั่นคงจริง ๆ เพราะตอนนั้นเราเรียนจบมัธยมปุ๊บเรามีงานทำเลย เรามีงานละครรออยู่เพราะเราเคยถ่ายแบบตอนเด็กมาก 16 เราเคยถ่ายแบบโฆษณา ซึ่งจากตรงนั้นมันก็มีงานละครตามมา แล้วมันเป็นยุคลูกครึ่งยังไม่จบด้วย มันยังเป็นยุคที่มันยังไม่ได้เน้นเกาหลี เน้นอะไร แล้วเรามาท้าย ๆ เลย
[caption id="attachment_8920" align="aligncenter" width="1200"]
ฮิวโก้[/caption]
เราก็ต้องยอมรับว่าที่บ้านก็ไม่ได้ยากจนอะไรเลย มันก็คงไม่คิดเรื่องพวกนี้เท่าที่ควร แน่นอนมีความเหลวไหลอยู่ในวัยทีนเพราะผมไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยด้วย มหาวิทยาลัยผมก็คือ 4 ปีในวงการบันเทิงซึ่งประโยชน์หรือความรู้ในตรงนั้นมันก็จะเป็นอีกแบบ แต่ถึงตอนนี้ต้องคิด ถึงวันนี้ต้องคิด ตั้งแต่กลับมาจากอเมริกาก็ต้องคิด เพราะว่ามันมีภาระ มันมีสิ่งที่อยากทำ
The People : ช่วงแรกที่เปลี่ยนมาทำงานเพลงตอนนั้นกระแสเป็นอย่างไรบ้าง
จุลจักร : มีแรงต่อต้านเยอะพอสมควรชุดแรก (สิบล้อ) และด้วยชื่อวง ด้วยทิศทางดนตรี แล้วก็พออยู่ในวงการบันเทิงภาพลักษณ์ที่ออกไปมันก็เป็นภาพลักษณ์ในบท บางทีมันจะตกใจตอนเราเผยฐานะที่แท้จริง ก็มีประมาณ 2-3 ปี ที่งง ๆ กันอยู่ ทั้งผมและคนที่รู้จักผม
The People : ตอนสิบล้อเป็นช่วงเวลาที่ดีมากช่วงหนึ่ง
จุลจักร : ใช่ พอชุดที่พี่เทียรี่ (เมฆวัฒนา) produce ให้ ชุด 2 มนต์รักสิบล้อ ซึ่งได้รับความนิยม แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จก็ได้ทัวร์เยอะ ได้ไปแทบทุกจังหวัด ทุกภาคในเมืองไทยกับเพื่อน ๆ โดยหน้าที่หลักไม่มีอะไรนอกจากไปจังหวัดใหม่แล้วก็เล่นดนตรี แล้วก็วันรุ่งขึ้นก็ไปที่ใหม่ ซึ่งในเวลานั้นมันก็ไม่มีอะไรสนุกกว่านั้นแล้ว
The People : ในฐานะที่เคยทำงานเพลงในเมืองนอก คิดว่าดนตรีไทยสามารถจะมีพื้นที่ในระดับโลกได้ไหม
จุลจักร : ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด ผมแอบคิดว่าถ้าไทยกว่านี้อาจจะไปไกลกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะว่าเราเอาดนตรีสากลไปแข่งกับคนสากล เราน่าเป็นมวยรอง แต่ถ้าเราเอาดนตรีไทยไปแข่งกับดนตรีไทยที่นู่น เราแทบจะมัดมือเขาชก เพราะเขาไม่มีหมอลำ เขาไม่มีลูกทุ่ง เขาไม่มีสิ่งเหล่านี้ แล้วอุณหภูมิเขาก็ไม่ได้เหมือนบ้านเรา ผมว่ายิ่งไทยแค่ไหน ยิ่งชัดแค่ไหน ผมว่ามีโอกาสที่จะไป แล้วมันมีหลักฐานด้วย ‘Paradise Bangkok International Molam Band’ จริงๆ ถ้าพูดถึงในภาคการเล่นสด น่าจะไปได้ไกลกว่าผมหลายเท่า
The People : คิดอย่างไรกับกระแสดิจิทัลที่เข้ามาในวงการเพลง
จุลจักร : คือดิจิทัลทั้งหมดมันเป็นดาบสองคม ข้อเสียเราก็รู้กันอยู่ว่ามันคืออะไร มันก็คือการลดมูลค่าของอัลบั้ม ถึงผมจะไม่ชอบเพราะว่าผมเป็นคนโรแมนติก ผมไม่ชอบอะไรใหม่อยู่แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลและความคล่องแคล่วในการทำงานถ้าใช้เป็น แล้วก็ขยันติดตาม เช็คดู มันก็น่าจะเจ๊า ๆ กัน
คือทุกอย่างมันเป็นฟิลเตอร์กันบางอย่างออก สมัยก่อนเทคโนโลยีมันก็กันมือกลองที่ตีไม่ตรงออกไปจากระบบ มือกลองสมัยก่อน นี่พูดถึงยุค 50s ยันยุค 2000 เนี่ย ในอัลบั้มคลาสสิกต่าง ๆ นักดนตรีทุกคนที่เล่นอยู่ตรงนั้นเก่งมาก ๆ เพราะเทคโนโลยีบังคับ เพราะถ้าไม่เก่งมันทำไม่ได้ จนกระทั่งมีปรัชญาพังค์มาอ้างว่ามันไม่ควรจะดีอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นทางเดียวที่จะหลุดจากตรงนั้น
[caption id="attachment_8919" align="aligncenter" width="683"]
ฮิวโก้[/caption]
แต่ในเวลาเดียวกัน ความน้อยของรายได้และตำแหน่งที่อาจจะไม่ได้สูงส่งเท่าไหร่ในสังคม มันก็กันคนที่คิดที่เจตนาไม่ดีต่อวงการเพลง ที่คิดจะใช้เป็นบันไดขั้นหนึ่งเพื่อก้าวสู่ความดังหรือความร่ำรวย มันก็ตัดคนพวกนั้นออกไป เพราะถ้าอยากร่ำรวยมันมีวิธีทางอื่นและมีช่องทางในวงการบันเทิงที่ง่ายกว่าด้วย แล้วไม่ต้องมีความสามารถอะไรติดตัวมาเลย ไม่ต้องมีวิชาอะไรที่ต้องใช้
การจะฝึกดนตรีให้เก่ง มันเป็นดาบสองคม มันไม่ได้ดีแล้วมันก็ไม่ได้ร้าย มันแค่เป็นความจริง มันก็เหมือนอากาศ อากาศมันเปลี่ยนทำไงได้ มันผิดไหมที่มันเปลี่ยน ไม่ เทคโนโลยีมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและกระทบพวกเรา มันไม่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติติดตัวมาด้วย มันแล้วแต่ใช้ แต่พอมันเกิดขึ้นแล้วมันถอนไม่ได้
The People : วิถีร็อกแอนโรลล์ ต้องเละเทะไหม
จุลจักร : มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่สำหรับผมตอนนี้ มันก็เป็นเพียงแค่แนวดนตรีซึ่งน่าจะหมดยุคของมันแล้วล่ะ แต่หลายคนใช้ไปเป็นวิถีชีวิต ซึ่งผมแนะนำว่าอย่าไปหลงเชื่อศาสตร์นี้เลย มันจบอยู่ไม่กี่ทาง
The People : ตอนนี้ฟังอะไรอยู่
จุลจักร : อัลบั้มโปรดในระยะหลังที่ผมชอบก็น่าจะเป็นของปีที่แล้ว Daytona ซึ่งเป็นอัลบั้มของ Pusha T. ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก็สะใจดี ที่เหลือเด็กไทยก็รู้จักหมดแล้ว พวกเด็กรุ่นน้องผมก็รู้จักเขาลึกกว่าผม ผมยังฟังดนตรีของครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 อยู่เลย
The People : ‘Call of the void’ เพลงใหม่ดูแตกต่างจากแนวที่เคยทำ?
จุลจักร : คือเราก็ไม่รู้ว่าตอนเราทำงานเราเปลี่ยนอะไรหรือเปล่า เพราะว่าเราก็ยังเป็นคนเดิมอยู่ แต่ว่าวิถีชีวิตมันก็เปลี่ยนเยอะพอสมควร แล้วผมรู้สึกว่าผมได้พูดหรือทำงานในที่มืดมา 2 อัลบั้มแล้วก่อนหน้านี้ เลยก็อยากจะปรับให้โทนมันมีสีสันและสว่างขึ้น และเพลงนี้ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของทิศทางของผลงานที่กำลังจะปล่อย มันจะไม่ได้เป็นแบบนี้ทั้งหมดแต่อันนี้เป็นงานที่ชัดสุด
The People : วิธีการปล่อยงานเปลี่ยนไปอย่างไร
จุลจักร : จริง ๆ ปริมาณเพลงมันเท่าเดิม ผมแค่เปลี่ยน schedule ที่มันถึงหูคนเท่าไหร่แค่นั้นเอง ปริมาณเพลงมันก็ 9-15 เพลงประมาณนี้ มันแค่แทนที่จะรอ 3 ปีค่อย ๆ ทำ แล้วก็ปล่อยออกมา แล้วก็เดินสายโปรโมท 3 เดือนแล้วก็มานั่งรอหัวก้อยว่างานจะเยอะไหม คนฟังเยอะไหม แล้วทุกอย่างก็ค่อย ๆ จางหายไป จนกระทั่งโดนกดดันเพื่อจะสร้างงานใหม่ขึ้นมา ผมขอไม่ใช้ชีวิตแบบนั้น ผมจะลองใช้อีกแบบหนึ่งก็คือทำมาประมาณหนึ่งแล้วก็วาง schedule ไว้กับค่ายว่าเดือนเว้นเดือนปล่อย
มันแทบไม่มีข้อเสียในการปล่อยงานเลย แย่ที่สุดก็คือโดนเมิน นั่นคือสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้สำหรับผม ซึ่งผมก็รับได้ ผมก็โดนเมินมาเยอะแล้ว มันไม่ได้เรื่องยากหรอกที่จะมีอะไรที่ออกไปแล้วก็เงียบหายไป แต่มันไม่ได้เป็นข้อเสีย มันไม่ได้ทำให้เราถอยหลัง เดือนหน้าเราก็มีอีกนัดหนึ่ง เดือนต่อไปเราก็ยิงอีกนัดหนึ่ง มันจะไม่โดนสักนัดหนึ่งเหรอ ถ้าไม่โดนสักนัดหนึ่งมันก็เป็นข้อมูลสำคัญเหมือนกัน อ๋อ หมดยุคเราแล้ว
[caption id="attachment_8918" align="aligncenter" width="683"]
ฮิวโก้[/caption]
The People : ยังอยากทำงานเป็นอัลบั้มอยู่ไหม
จุลจักร : แน่นอน มันทำให้รู้สึกว่าเรามีชิ้นงานที่พาคุณไปที่ไหนสักที่หนึ่งในช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง ถ้าปล่อยปีละเพลงอย่างนี้ผมว่าเพลงมันประมาณ 3 นาทีครึ่ง 4 นาที มันไม่พอ ถ้าปีหนึ่งจะพูดเรื่องแค่นั้นหรือจะแต้มสีดนตรีแค่นั้น มันน้อยไปที่จะถ่ายทอดอะไรที่น่าสนใจ
The People : คิดอย่างไรกับเด็กรุ่นใหม่บางส่วนที่อาจหลงลืมเพลงหรือศิลปินรุ่นเก่า
จุลจักร : มันไม่มีผิดถูกหรอก แต่แน่นอนถ้าเราสนใจอะไรหรือศรัทธาอะไร หรือเคารพขั้นตอน หรือหลงใหลในอะไร มันก็คงสนุกสะใจและเป็นประโยชน์ที่จะศึกษามันให้ลึกที่สุด แล้วการศึกษาไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตาม มันก็ต้องย้อนกลับไปดูรากเหง้าไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปนิกหรืออะไรก็ตาม มันไม่เสียหายหรอกที่จะไปรู้ให้ลึกที่สุด แล้วการรู้ลึกมันก็มักจะต้องย้อนกลับไปในจุดกำเนิดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะไปได้
The People : เด็กรุ่นใหม่ควรโฟกัสที่ตรงไหนเพื่อจะทำเพลงที่ดี
จุลจักร : จริง ๆ แล้วเนี่ยรุ่นน้องผมที่แบบสัก 10 ถึง 15 ปีที่อายุน้อยกว่าผมประมาณนั้น ผมไม่ค่อยมีอะไรจะแนะนำพวกเขาเท่าไหร่ เพราะว่าเท่าที่ผมเจอมาเขาใช้ได้แทบทุกคนในเรื่องของฝีมือ มันอาจจะเป็นผลจาก การหดลงของธุรกิจดนตรีในเรื่องของรายได้ที่จะได้รับ หรือแม้แต่ตำแหน่งนักดนตรีในสังคมมันอาจจะไม่ได้อยู่ในจุดพีคเหมือนสมัยพี่บิลลี่ (โอแกน) หรือพี่เบิร์ดตอนนั้น คงไม่มีพี่เบิร์ด-ธงไชยอีกคน เพราะว่าตำแหน่งของนักดนตรีในระบบนิเวศวงการบันเทิงมันก็แค่ 1 ส่วน 10 หรือน้อยกว่านั้น เพราะมันมีดารา พิธีกร เน็ตไอดอล เรียลลิตี้ นักกีฬา มีอะไรตั้งเยอะตั้งแยะที่กำลังแย่งพื้นที่สมาธิคน
ในเมื่อตรงนั้นตำแหน่งมันไม่สูงส่งเท่าไหร่ ผมรู้สึกว่าเจตนาของเด็กรุ่นใหม่มันค่อนข้างชัดเจนกว่าเด็กรุ่นผม รุ่นผมนี่มีตัวปลอมเพียบรวมถึงผมด้วยที่ยังร้องเพลงไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ ไม่ได้เล่นดนตรีเก่งอะไรมากกว่า มีเด็กที่เก่งกว่าเราเยอะแต่มีโอกาส ตอนนี้คนที่ร้องเพลงไม่ดี หรือเล่นดนตรีไม่ดี หรือสร้างงานตัวเองไม่ได้ มันไม่มีค่ายไหนที่จะมาทุ่มให้ไปฝึกร้องเพลง แล้วก็ทุ่มเงินพีอาร์ ยัดเยียดให้ว่าคนนี้เจ๋งถ้าเขาไม่เจ๋ง
ผมเลยรู้สึกว่าเจตนาแล้วก็วิธีการของเขาถูกต้องแล้ว อย่างเดียวที่แทบจะแนะนำในประสบการณ์ก็คือเนื้อร้องในเพลงภาษาไทยสำคัญที่สุด ถ้าคุณไม่มีเนื้อร้องที่ครบและคล้องจองและที่ฟังรู้เรื่อง คุณไม่มีเพลง ถึงคุณจะมีดนตรีกี่ร้อยชั่วโมงก็ตาม ไม่มีเพลงอยู่ในมือจนกระทั่งมีเนื้อร้อง วงการเพลงเมืองนอกกับวงการเพลงแดนซ์บรรเลงมันไม่เหมือนกันนะ แต่ถ้าจะทำเพลงไทยที่อยากให้คนไทยหลาย ๆ คนฟัง เนื้อร้องสำคัญกว่าอะไร
[caption id="attachment_8917" align="aligncenter" width="1200"]
ฮิวโก้[/caption]
The People : แบ่งความเป็นตัวเองอย่างไรพอมาอยู่ค่ายเพลง
จุลจักร : ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาชวนเรา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเป็นเรา
The People : มองเป้าหมายในการทำงานร่วมกับค่ายเป็นอย่างไร
จุลจักร : ทุกคนมันก็ต้องมีตัวเลขในดวงใจว่าในแต่ละปีคาดหวังอะไรเท่าไหร่ พยายามให้มองโลกให้เป็นความเป็นจริง มีความเป็นไปได้ว่ามันคืออะไร สำหรับผมผมต้องการค่าย องค์กรที่สนับสนุนลงทุนงานผม ผมจะได้ปล่อยงานที่คุณภาพโดยไม่ต้องควักเนื้อ เลยยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นมืออาชีพหรือยังมีค่ามากกว่าเป็นงานอดิเรก เพราะสำหรับผมคือถ้าหน้าตามันเริ่มเหมือนงานอดิเรกเมื่อไหร่ อันนั้นก็คือ fade เลย
เพราะว่าเราก็มองเป็นอาชีพ เพราะว่ารู้สึกว่าพอมันทำจะเป็นจะตาย มันมีน้ำหนักมากกว่าสำหรับผมด้วย ถ้าทำเล่น ๆ ไม่คาดหวังอะไร มันไม่จริง ศิลปินคนไหนที่อยู่ในท้องตลาดแล้วก็พูดว่าไม่ได้สนใจเรื่องตรงนั้น เขาก็คงกำลังโกหก หรือต้องปรับความเข้าใจกับตัวเองมากขึ้นแล้วแหละ เพราะว่าไม่มีคนดูมันก็ไม่มีประโยชน์จริง ๆ
ผมไม่ได้เล่นเพื่อนั่งฟังพอใจในตัวเองอยู่ที่บ้าน ผมไม่ได้ตรงขนาดนั้น มันต้องมี audiences แต่ในเวลาเดียวกันผมและค่ายและ audiences ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ใครก็ได้ ผมไม่ได้ทำดนตรีที่มันสำหรับทุกคนผมต้องการให้มันเข้มข้นในระดับที่ผมยอมรับความจริงว่าพอดนตรีมันเข้มข้น หรือพอเราอิสระมากขึ้น หรือเรากำหนดอะไรเยอะขึ้น มันอาจจะไม่เป็นแมส แต่ว่า mass market มันไม่ใช่ตลาดอันเดียว มันมีตลาดตั้งหลายตลาด และถ้าเราทุ่มงบประมาณ แล้วเรื่องของการจ่ายใช้สอยอะไรต่าง ๆ ให้มันอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง จริง ๆ ทุกอัลบั้มน่าจะได้กำไรของใครก็ตาม ถ้าคุณเข้าใจตลาด ถ้าคุณมีผู้ฟังคนเดียวงบคุณก็เท่านั้น ถ้าคุณมีผู้ฟังเป็นหมื่นงบคุณก็เท่านั้น
The People : คิดอย่างไรกับการที่อุตสาหกรรมดนตรีบางครั้งก็บีบศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นอีกแบบหนึ่ง
จุลจักร : สำหรับผมมันไม่มีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมดนตรีที่จะไปบีบเขา ผมยังไม่เห็นหลักฐานว่าการที่ไปบีบเขามันนำสู่ความสำเร็จ ผมเห็นด้วยกับค่าย ผมอยากให้ค่ายมีเงินทองไหลมาเทมาเข้ามาในค่าย ผมอยากให้ทุกสิ่งที่ผมทำประสบความสำเร็จเต็มอัตราสุด แล้วผมเชื่อว่าศิลปินทุกคนเป็นอย่างนั้น แต่เพดานของศิลปินแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ไอ้ศิลปินคนนี้ที่เล่นดนตรีเก่ง นี่เป็นสมมติฐานนะ เล่นดนตรีเก่ง พร้อมทุกอย่าง มีฝีมือเยอะมาก ในยุคนี้ค่ายไหนที่ไปยุ่ง ไปบิดเบือนตรงนั้นนั่นกำลังเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของตัวเอง เพราะว่าถ้าเขาพร้อมขนาดนั้น สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือนำมาสู่ตลาดอย่างราบรื่น ไม่ต้องไปเปลี่ยนหรอกถ้าเขาพร้อมขนาดนั้น
[caption id="attachment_8926" align="aligncenter" width="1200"]
ฮิวโก้[/caption]
The People : ฝากอะไรถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำเพลง และก้าวสู่วงการดนตรี
จุลจักร : ตอนนี้คุณสามารถทำอัลบั้มในโทรศัพท์ก็ทำได้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีข้ออ้างที่จะลองทำมันขึ้นมา เราก็ต้องลองทำเอง ต้องทำงานของตัวเองให้ได้ ต้องพึ่งคนอื่นให้น้อยที่สุด แล้วเราก็จะมีอำนาจมากที่สุด แล้วก็น่าจะเห็นกำไรเยอะที่สุดด้วย ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่โลกเพ้อ ๆ ฝึกซ้อม ซ้อม ๆ แล้วก็ใช้โปรแกรมให้เป็นเถอะ
The People : แล้วถ้าทำผลงานดีแต่ไม่มีโอกาส?
จุลจักร : โอกาสน่ะสำคัญมาก สำคัญกว่าฝีมือ แต่โอกาสมาแล้วก็ต้องฉลาดพอที่จะรักษามันไว้ด้วย เพราะว่ามาง่ายก็ไปง่าย
The People : ดนตรีสำคัญกับชีวิตอย่างไร
จุลจักร : มันเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนผมไปแล้ว เลยมันไม่ได้ใช้สมองคิดแล้วว่ามันคืออะไร แล้วมันทำหน้าที่อะไร เวลานี้มันเป็นเรื่องของตัวตนแล้ว มันเป็นเรื่องที่ผมเอาตายเหมือนกัน