ชวนล ไคสิริ เลิกออกแบบตึก มาเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า POEM

ชวนล ไคสิริ เลิกออกแบบตึก มาเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า POEM
เพราะทุกวันคือรันเวย์ เสื้อผ้าหน้าผมสุดเนี้ยบจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในงานแฟชั่นวีค แต่อยู่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงใน “สภา” ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่หลายคนน่าจะคุ้นกันก็คือ POEM ที่ก่อตั้งโดย “ฌอน” ชวนล ไคสิริ ผู้ผันตัวจากสถาปนิกออกแบบโครงสร้างตึก มาจับโครงคอร์เซ็ต จัดทรวดทรงองค์เอวเพิ่มความมั่นใจให้ผู้หญิง ปั้นห้องเสื้อเล็ก ๆ ของคุณแม่ สู่แบรนด์เสื้อผ้าสายเลือดไทยชั้นนำของประเทศ ทว่ากว่า POEM จะประสบความสำเร็จ กลายเป็นห้องเสื้อที่ได้การยอมรับจากนักแสดงและเซเลบริตี้ชื่อดังเช่นทุกวันนี้ ชวนลต้องผ่านอุปสรรคมามากมาย ทั้งวิกฤตการเมืองและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกือบต้องเลิกกิจการกลางทางมาแล้ว!   สถาปัตย์ในเส้นทางแฟชั่น ชวนล เติบโตมากับครอบครัวคนจีนที่ค่อนข้างเข้มงวด แม้จะมีคุณแม่เป็นช่างตัดเสื้อ แต่เขาก็ไม่ได้มุ่งหวังจะสานต่อกิจการที่บ้านเลยแม้แต่น้อย เขาฝันอยากเป็นสถาปนิก เพราะประทับใจบรรยากาศการทำงานของญาติที่ทำงานด้านนี้ จึงเลือกเรียนปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคุณแม่ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และมักจะสอนเสมอว่าชีวิตที่ดีเกิดจากตั้งใจเรียนหนังสือและตั้งใจทำทุกอย่างให้เต็มที่ ช่วงนั้น ชวนลได้รับโอกาสทำเสื้อผ้าให้ละครเวทีของคณะที่ส่วนใหญ่เป็นละครแนวย้อนยุค โดยมีคุณแม่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวกลายเป็นเชื้อไฟที่จุดประกายให้เขาเริ่มค้นหาตัวตนด้านแฟชั่น ความหลงใหลในการทำคอสตูมละครเวที ทำให้ชวนลผลิตเสื้อผ้าของตัวเองไปฝากขายที่ร้านค้าในพื้นที่โรงหนังสยาม วันแรกเขาทำไปเพียง 4 ตัว ซึ่งภายใน 3 ชั่วโมงก็ขายไปได้แล้ว 2 ตัว โดยสินค้าชิ้นแรกที่ขายออกเป็นเพียงแจ็กเก็ตเรียบๆ พิมพ์ลายดอกไม้ และลูกค้าคนแรกคือ “ลูกเกด” จิรดา โยฮารา วีเจชื่อดัง กระแสตอบรับที่ดี ทำให้ชวนลมีกำลังใจผลิตเสื้อผ้าและเอาไปฝากขายที่ร้านเดิมอีกเป็นเวลากว่า 3 เดือน จนร้านค้าแห่งนั้นหมดสัญญา จุดพลิกผันที่ทำให้ชวนลตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ คือ การได้รับรู้ว่าอาชีพสถาปนิกที่เขาใฝ่ฝันต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการเป็นผู้ช่วยเท่านั้น กว่าจะได้ออกแบบงานของตัวเองก็ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี ทำให้เขาคิดว่าเส้นทางสายสถาปนิกอาจจะไม่ใช่งานที่ตอบโจทย์ความต้องการสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างแท้จริง กลับกันการทำเสื้อผ้าไปฝากขายช่วยสร้างรายได้ให้เขามากกว่าการเป็นสถาปนิกเสียด้วยซ้ำ ชวนลจึงเบนเข็มจากงานด้านสถาปัตยกรรมไปร่วมหุ้นกับคุณแม่เพื่อเปิดห้องเสื้อของตัวเอง “เราจบจากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ แต่มาทำเสื้อผ้า มีแต่คนถามว่าเสียดายไหมกับเวลาห้าปีที่เรียนมา เราบอกได้เลยว่าไม่ได้เสียดายเวลา แต่กลับรู้สึกว่าถ้าเราทำเสื้อผ้าแล้วมีความสุขเราก็ควรทำสิ่งนั้น” สำหรับชวนล การศึกษาด้านสถาปัตยกรรมไม่ใช่สิ่งสูญเปล่า เพราะความรู้เหล่านั้นมีส่วนช่วยกำหนดกรอบความคิดให้เขามองสิ่งรอบตัวอย่างเป็นเหตุเป็นผลและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ทั้งการประชาสัมพันธ์ หรือการเลือกทำเลที่ตั้งร้าน ล้วนต้องผ่านการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบที่สุด เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกแบบของสถาปนิก   วิกฤตธุรกิจห้องเสื้อ ชวนลร่วมหุ้นกับคุณแม่เปิดห้องเสื้อในปี 2549 ในย่านสยาม แม้ค่าเช่าพื้นที่จะสูงถึงเดือนละกว่า 1 แสนบาท แต่ชวนลก็ไม่หวั่น เพราะเขารวบรวมข้อมูลมาแล้วว่าทำเลดังกล่าวคือแหล่งรวมแฟชั่นแห่งสำคัญของประเทศ 2-3 ปีแรก POEM เริ่มจากชุดสำเร็จรูปที่สามารถสวมใส่ได้ทันที ต่อมาเมื่อมีลูกค้ามากขึ้น ชวนลก็ขยับขยายเพิ่มบริการสั่งตัด รองรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการชุดที่เหมาะกับรูปร่างตัวเองมากที่สุด แต่ขณะที่ธุรกิจไปได้สวยก็มีเหตุให้ต้องหยุดชะงัก เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2553 ตามด้วยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ปี 2554 สองเหตุการณ์นี้ทำให้ชวนลสูญเสียรายได้จนเขาคิดจะปิดกิจการ เช่นเดียวกับแบรนด์ดีไซเนอร์ไทยที่พากันปิดตัวไปในช่วงนั้น “ถ้าไม่มีรายรับก็อย่ามีรายจ่าย” เป็นคำพูดของคุณแม่ ที่ทำให้เขาควบคุมต้นทุนอย่างเคร่งครัดจนสามารถประคับประคองแบรนด์ให้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากมาได้ หลังจากผ่านพ้นวิกฤตช่วงนั้น ห้องเสื้อแบรนด์ POEM ก็พัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ในมุมมองของชวนล เอกลักษณ์ของแบรนด์ช่วงเริ่มแรกกับตอนนี้ไม่ได้ต่างกันนัก แต่การเติบโตของแบรนด์ที่ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้ห้องเสื้อแห่งนี้ออกแบบคอลเลกชั่นใหม่ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น   สู่แบรนด์เพื่อความมั่นใจของผู้หญิง “ผมเห็นด้วยกับประโยคของ Mr.Christian Louboutin เจ้าของ Christian Louboutin แบรนด์รองเท้าชื่อดังระดับโลก ที่ว่ารองเท้าที่สวยจะต้องใส่ไม่สบาย ซึ่งก็เหมือนกับชุดของ POEM หลาย ๆ ชุด ที่ลูกค้าทุกคนพูดเหมือนกันว่า ใส่ไม่สบาย แต่ใส่แล้วมั่นใจมาก” จุดเด่นของ POEM คือการผสมผสานดีไซน์ยุคใหม่เข้ากับเสน่ห์ของเดรสเมกเกอร์ยุคเก่าช่วงปี 1940’s-1950’s ที่ออกแบบเสื้อผ้าให้โอบรับกับสรีระของผู้หญิง โดยผ่านแนวคิดของแบรนด์ที่ผนวกสัดส่วนความงาม (proportion) กับงานฝีมือ (craftsmanship) เข้าด้วยกัน การตัดชุดสไตล์ POEM เดรสเมกเกอร์จะเริ่มจากการแบ่งเส้นเอว โดยวัดความยาวช่วงตัวด้านบนทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และความสูงของหน้าอก เพื่อหาส่วนที่คอดที่สุดของลำตัว และนำไปใช้ในการตัดชุดเพื่อขับเน้นสรีระของผู้สวมใส่ บางครั้งก็จะไม่ตัดชุดตามสัดส่วนที่วัดได้ แต่ใช้สัดส่วนเฉพาะของช่างเสื้อที่ทำให้ทรวดทรงออกมาดูดียิ่งกว่ารูปร่างจริง ชุดของ POEM จะมีเอกลักษณ์ที่นับเป็น DNA ของแบรนด์ เรียกว่า Second Line ลากจากวงแขนมายังสะโพกเป็นทรงนาฬิกาทราย รวมถึงการฝังคอร์เซ็ตแบบ Boning เพื่อกระชับรูปร่างให้เอวคอด สะโพกผายออก แต่จะมีเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้คอร์เซ็ทเต็มรูปแบบ โดยส่วนใหญ่เป็นชุดราตรีสำหรับเดินพรมแดง ส่วนดีไซน์ของแบรนด์เน้นความเรียบหรู ด้วยการใช้สีเรียบ ๆ หรือการพิมพ์ไล่สีแบบ Ombré แทนการย้อมสีที่ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักสีได้ นอกจากนั้นยังมีจุดเด่นเรื่องรูปแบบการไล่ระดับสี หรือแพทเทิร์นจากช่วงเอวออกมา เพื่อช่วยเน้นโชว์สรีระช่วงสะโพก ให้อกเป็นอก เอวเป็นเอว มากยิ่งขึ้น “เราจะหายใจเบา ๆ เดินช้า ๆ และหลังตรง ในใจตะโกนว่าช่วยด้วย…ตอนแต่งงานเอวเรามันคือ 26 ฌอนรัดเหลือ 22 มันคือการรัดเข้าไป แต่มันจะทำให้เราสวยมาก” โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล นักแสดงที่ออกตัวว่าเป็นแฟนตัวยงของแบรนด์ และใช้ชุดของ POEM เป็นชุดในพิธีหมั้นและจดทะเบียนสมรส เคยเล่าไว้ ซึ่งชุดที่ปาณิสราพูดถึงเป็นชุดคอกลมแขนยาว กระโปรงทรงหางปลา ที่สามารถแยกชิ้นท่อนบนและท่อนล่างในนำไปใส่กับเสื้อผ้าอื่น ๆ ได้อีก เป็นการออกแบบด้วยแนวคิด Timeless Collection ที่ชวนลต้องการให้ชุดของ POEM สามารถใส่ได้เรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่งานเดียว ครั้งเดียว หรือแค่รูปแบบเดียว ชวนลกล่าวว่า รูปทรงนาฬิกาทรายคือรูปทรงคลาสสิกที่จะอยู่ได้ตลอดไป เมื่อรวมกับเทคนิคการตัดเย็บแล้วจะช่วยซัพพอร์ตรูปร่างของผู้หญิงให้เกิดความมั่นใจในโครงสร้างและรูปร่างความเป็นผู้หญิงของตัวเอง ตลอดระยะเวลาการเดินทาง 13 ปี แบรนด์ POEM มีโอกาสตัดชุดให้นักแสดงและเซเลบริตี้มากมาย ทั้ง เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ, เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ, แอน ทองประสม ฯลฯ แต่ชวนลก็ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นใครหรือมีรูปร่างแบบไหนก็สามารถใส่ชุดของ POEM ได้ เพราะผู้หญิงทุกคนมีความสวยเป็นของตัวเอง และสิ่งนั้นเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ความมั่นใจคือสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าความงามนั้นมีอยู่จริง “ต่อให้คนทั้งโลกชมว่าเขาสวย แต่ถ้าเขาไม่มีความมั่นใจ ความงามนั้นก็ไม่มีอยู่จริง ความงามมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเล็ก ๆ แต่ทันใดที่เกิดขึ้นแล้ว มันจะมีพลังมหาศาล...”   ที่มา https://praew.com/people/113019.html http://www.poembangkok.com/about/about-brand/ https://www.sanook.com/women/53913/ https://www.smethailandclub.com/startups-1841-id.html https://www.youtube.com/watch?v=89eWJRaWpm0 https://www.youtube.com/watch?v=4r4ZosbV72o   เรื่อง: นรมณ ดลมหัทธนะกิตติ์ (The People Junior) ภาพ: www.poembangkok.com