เลนนี บรูซ ใช้ “ตลก” ท้าทายขีดจำกัดการแสดงความคิดเห็น
"ถ้าสิทธิที่จะพูดว่า 'เย็ด' ถูกแย่งไปจากเรา [มันก็เท่ากับ]คุณมาแย่งสิทธิของเราที่จะพูดว่า 'รัฐบาลเย็ดครก'"
ข้อความข้างต้นคือคำพูดของ "เลนนี บรูซ" (Lenny Bruce) นักแสดงตลกที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยข้อหา "อนาจาร" ซึ่งบรูซถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ ที่เคลื่อนไหวเขย่าสังคมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างคึกคักในยุค 60s
เลนนี บรูซ เดิมมีชื่อว่า เลนาร์ด อัลเฟรด ชไนเดอร์ (Leonard Alfred Schneider) เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 1925 ที่ไมนีโอลา รัฐนิวยอร์ก พ่อของเขาเป็นช่างทำรองเท้า ส่วนแม่เป็นนางระบำ พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ เขาต้องไปอยู่กับญาติบ้างกับแม่บ้าง เข้าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาต้องรับใช้ชาติในกองทัพเรือตั้งแต่ปี 1942 ถึง 1945 ก่อนกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับแม่จึงได้เข้าใกล้งานแสดง เริ่มจากการเป็นพิธีกรในไนต์คลับที่แม่ของเขาทำงานอยู่
บรูซค่อย ๆ พัฒนามุกตลกแบบตัวเองที่มีความดาร์กผสมกับการใช้คำหยาบโลนเพื่อเสียดสีเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคม ที่นักแสดงตลกร่วมสมัยกับเขาส่วนใหญ่ไม่อยากจะแตะ หรือไม่กล้าจะแตะ (สมัยนั้นยังมีแต่ตลกแนวเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบในแวดวงศาสนา การทุจริตในการเมือง เรื่องของเชื้อชาติ การใช้ยาเสพติด เรื่องของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และโดยเฉพาะเรื่องเพศที่เขาพูดถึงบ่อยเป็นพิเศษ
"ผมอยากจะท้าทายเรื่องอนาจารในชิคาโกในแง่ที่ต่างออกไป นั่นคือกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องอนาจาร ซึ่งเมื่อว่ากันถึงแก่นสารแล้วอยู่ที่ว่า สิ่งนั้น ๆ กระตุ้นให้เกิดความกระสันหรือไม่? ผมต้องทำให้คุณเงี่ยนนั่นเอง ความหมายของมันอยู่ตรงนี้" บรูซกล่าวตอนหนึ่งในอัตชีวประวัติของตัวเอง (How to Talk Dirty and Influence People)
"ถ้าผมจัดการแสดงที่น่ารังเกียจ อย่างการแสดงว่าด้วยการกินหมู นั่นไม่เป็นอนาจาร แม้ว่ายิว มังสวิรัติ และมุสลิมจะไล่เตะดาก แต่นี่คือสิทธิของผมในฐานะคนอเมริกันที่จะพูดถึงหมู พูดถึงคุณงามความดีของมัน สิทธิที่จะวิ่งไปหน้าโบสถ์ยิวแล้วตะโกนว่า 'แรบไบ (ครูสอนศาสนาของชาวยิว) เอ๊ย! ดูนี่สิ นี่คือหมู" บรูซเปรียบเปรย
"...อนาจารมันมีแค่ความหมายเดียวเท่านั้น คือ การกระตุ้นให้เกิดความกระสัน ที่ผมอยากจะถามก็คือว่า แล้วการกระตุ้นให้เกิดความกระสันมันผิดตรงไหน?"
บรูซเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อได้ออกรายการโทรทัศน์แนวประกวดการแสดงในปี 1948 เขาแต่งงานกับนางระบำเปลื้องผ้ารายหนึ่ง จากนั้นจึงได้ย้ายไปหากินที่แคลิฟอร์เนียและรับงานแสดงตามไนต์คลับเปลื้องผ้า เมื่อมีลูกสาวในปี 1955 ไม่นานจากนั้นเขาก็หย่าขาดกับภรรยา สี่ปีต่อมาจึงได้ออกรายการ Steve Allen Show รายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดไปทั่วประเทศ โดยบรูซถูกแนะนำตัวในรายการว่า
"ดาวตลกที่น่าตะลึงที่สุดในยุคของเรา หนุ่มผู้กำลังทะยานสู่ความสำเร็จ เลนนี บรูซ!"
เขาก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 1961 ได้ทำการแสดงที่คาร์เนกีฮอลล์ที่ผู้ชมแน่นขนัด แต่ยิ่งเป็นที่รู้จักเขาก็ยิ่งถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและชาวบ้านที่ยังรับไม่ได้กับการแสดงที่ใช้ถ้อยคำหยาบโลนซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องเพศอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเนื้อหาหลักที่บรูซพยายามเสนอ (ส่วนใหญ่) จะไม่ใช่เรื่องที่กระตุ้นให้เกิดความ “กระสัน” เลยก็ตาม
เพียงไม่นานจากนั้น บรูซเริ่มเข้าสู่ยุคของความตกต่ำเมื่อเขาถูกจับกุมด้วยข้อหามียาเสพติดในครอบครองที่ฟิลาเดลเฟีย ตามด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายอนาจารในแคลิฟอร์เนียเมื่อเขาใช้คำว่า "คนดูดควย" (cocksucker) ในการแสดง เมื่อคดีมาถึงศาล ผู้พิพากษาอัลเบิร์ต แอ็กเซลรอด (Albert Axelrod) มีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปก่อนจนกว่าเขาจะกลับมานั่งบัลลังก์อีกครั้งหลังพักร้อน ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามมิให้บรูซใช้คำนี้ในการแสดง
เมื่อถูกสั่งเช่นนั้น บรูซจึงล้อเลียนแอ็กเซลรอดด้วยการพูดว่า "บลา บลา บลา" แทนคำว่า "คนดูดควย" ซึ่งคนดูก็สามารถเดาได้ทันทีว่าเขาพูดถึงคำไหนแต่เหมือนถูกดูดเสียงออกไป และเขาก็นับว่าโชคดีเมื่อทนายสามารถยื่นเรื่องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาได้สำเร็จ โดยได้ผู้พิพากษาที่เคร่งในหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 มาดูแลคดี เขาจึงรอดจากคดีอนาจารในยกแรกมาได้ (Ronal Collins. Comedy and Liberty: The Lif and Legacy of Lenny Bruce)
แต่หลังจากนั้น บรูซก็ถูกตามจับกุมอยู่เสมอไม่ว่าเขาจะย้ายไปทำการแสดงที่ไหนก็จะมีตำรวจคอยจับตามอง และถูกจับอีกครั้งในปี 1962 จากการแสดงในเวสต์ฮอลลีวูด อีกไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมาก็โดนจับอีกครั้งในชิคาโก และอีกครั้งในลอสแอนเจลิส คดีที่เวสต์ฮอลลีวูดกับลอสแอนเจลิสเขายังโชคดีที่คณะลูกขุนไม่อาจหามติร่วมกันได้จึงรอดคุกหวุดหวิด (Doughlas Linder. The Trials of Lenn Bruce: An Account)
แต่กับคดีที่ชิคาโกโชคมิได้เข้าข้าง (ทั้งที่ความจริง การตัดสินคดีควรอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน แต่เนื่องจากการประเมินว่าสิ่งใดเป็น "อนาจาร" ถูกปล่อยให้อยู่บนวิจารณญาณของคนที่มีพื้นฐานต่างกัน ทำให้ผลทางคดีออกมาต่างกัน - และคดีในชิคาโกเขาก็แตะในประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่งคือเรื่องของศาสนจักรและพฤติกรรมคุกคามทางเพศของนักบวชต่อเด็กชาย) เขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดให้รับโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ระหว่างการประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์เขาเดินทางไปอังกฤษหวังว่าจะจัดการแสดงขึ้นที่นั่น แต่ก็ถูกเนรเทศออกมาเพราะชื่อเสียงที่เป็นปัญหา เมื่อกลับมาสหรัฐฯ เขาก็ถูกศาลสั่งให้เข้ารับการบำบัดการติดยา
ในระยะเวลาใกล้ ๆ กันนั้นเอง (ปี 1963) ศาลฎีกาสหรัฐฯ ได้มีคำพิพากษาเกี่ยวพันกับประเด็นอนาจารออกมา (Jacobllis v. Ohio) เป็นคดีเกี่ยวกับหนังที่มีฉากร่วมเพศซึ่งถูกทางการมองว่าเข้าลักษณะอนาจาร ซึ่งศาลฎีกาพิพากษากลับให้หนังดังกล่าวไม่เข้าลักษณะอนาจาร แต่คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากก็ให้เหตุผลไปคนละทาง ทางหนึ่งก็บอกว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่สามารถทำได้เลยเนื่องจากรัฐธรรมนูญคุ้มครอง อีกทางหนึ่งบอกว่า กฎหมายอนาจารภายใต้หลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญจะใช้ได้แต่กับหนังโป๊ฮาร์ดคอร์เท่านั้น และอีกทางหนึ่งบอกว่ากฎหมายอนาจารไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่จะถือว่าเป็นอนาจารก็ต่อเมื่อมันเป็นงานที่ไม่สร้างคุณค่าใด ๆ ให้กับสังคมเลย
ดังนั้นถ้าตีความในกรอบที่เข้มงวดที่สุดตามคำพิพากษาดังกล่าว งานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศแต่นำเสนอความคิดหรืออุดมคติที่มีคุณค่า ไม่ว่าในเชิงวรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะ หรือคุณค่าต่อสังคมในด้านอื่น ๆ ย่อมไม่เข้าลักษณะเป็น "อนาจาร"
เมื่อคำพิพากษาดังกล่าวออกมา ศาลฎีการัฐอิลลินอยส์ (จากคดีของบรูซในชิคาโก) ที่เตรียมจะออกคำพิพากษาอยู่แล้วก็ตัดสินใจถอนความเห็นและคำพิพากษากลับมาส่งให้ศาลสูงพิจารณาใหม่ ก่อนที่ศาลสูงจะกลับคำพิพากษาดังกล่าว
แต่เมื่อคดีของเขาไม่ได้ไปถึงศาลฎีกาสหรัฐฯ ผลของคำพิพากษาดังกล่าวจึงมีผลเพียงในรัฐอิลลินอยส์เท่านั้น และในปี 1964 เขาก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาอนาจารอีกครั้งในแคลิฟอร์เนียใต้ เขาจึงตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่นิวยอร์ก ก่อนจะถูกจับอีกครั้งที่นี่ด้วยข้อหาเดียวกันในปีเดียวกันนั่นเอง ที่ Cafe Au Go Go
คราวนี้บรูซมีคนดังและนักวิชาการออกมาหนุนหลังอย่างล้นหลาม แต่ก็ไม่ช่วยให้เขาพ้นจากความผิดข้อหาอนาจารไปได้ (แม้ว่าข้อความที่เขาใช้และถูกศาลนิวยอร์กมองว่าเป็นอนาจาร ล้วนเป็นสิ่งที่คนสมัยนี้คุ้นเคยกันดีในสื่อจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า tits [นม], fuck [เย็ด], piss [เยี่ยว], come [ถึงจุดสุดยอด] แต่เขาเอาคำเหล่านี้ไปใช้กับบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองหรือศาสนา เช่น "เอเลียนอร์ รูสเวลต์ มีนมที่สวยที่สุดในทำเนียบ" หรือ "นักบุญพอลเลิกเย็ด")
หลังจากต้องผจญกับการคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้องเสียเงินเสียเวลาไปกับการสู้คดี แต่เขาก็ไม่คิดที่จะยอมแพ้ง่าย ๆ เขาหมกหมุ่นกับคดีความ พยายามศึกษากฎหมายด้วยตัวเอง และดำเนินคดีกับคนที่ทำให้เขาต้องตกต่ำ ขณะเดียวกัน การมีปัญหากับบ้านเมืองก็ทำให้แทบไม่มีไนต์คลับที่ไหนกล้าจ้างไปแสดงอีก (เขาเคยมีรายได้ปีละ 100,000 ดอลลาร์ ระหว่างปี 1957 ถึงปี 1961 แต่ในปี 1965 เขามีรายได้ทั้งปีเพียง 2,000 ดอลลาร์ ขณะที่ต้องจ่ายค่าสู้คดีถึง 18,000 ดอลลาร์ The New York Times) สุขภาพกายและสุขภาพจิตของเขาจึงย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ
เขามีโอกาสได้แสดงเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1966 ที่ซานฟรานซิสโก ก่อนที่จะมีผู้พบเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปีเดียวกัน โดยผลการชันสูตรพบว่าเขาเสพมอร์ฟีนเกินขนาด โดยไม่มีใครรู้ว่านั่นเป็นเพียงอุบัติเหตุที่ไม่ได้คาดหมาย หรือจะเป็นเพราะดาวตลกที่ต้องต่อสู้กับการคุกคามจากรัฐและสูญเสียทุกอย่างไปไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงหรือเงินทองได้ตัดสินใจจบชีวิตด้วยน้ำมือของตนเอง
หลังความตาย สังคมจึงได้เห็นว่าการต่อสู้อย่างเด็ดเดียวของบรูซ (ซึ่งต้องตายโดยมีความผิดติดตัว) เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีคุณค่าเพียงใด ภายหลังจึงมีการรณรงค์ให้อภัยโทษให้กับเขาในคดีที่ Cafe Au Go Go ซึ่งทางรัฐนิวยอร์กก็เห็นควร เพื่อแสดงถึงความยึดมั่นในหลักการตามรัฐธรรมนูญโดยการประกาศอภัยโทษได้มีขึ้นเมื่อปี 2003 หรือเกือบ 4 ทศวรรษหลังจากที่เขาจากไป
"ผมรู้สึกสลดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรูซ เราผลักเขาสู่ความยากจนและล้มละลาย สุดท้ายเราก็ฆ่าเขา ผมเห็นเขาค่อย ๆ แตกสลาย มันคืองานเดียวที่ผมทำสมัยอยู่กับโฮแกน (อัยการแขวง แฟรงก์ โฮแกน) ที่ผมรู้สึกละอายเป็นที่สุด เรารู้ดีว่าเราทำอะไร เราใช้กฎหมายฆ่าเขา" วินเซนต์ คุชเชีย (Vincent Cuccia) หนึ่งในอัยการที่เคยกล่าวหาบรูซกล่าว