มาเฮอร์ เซน นักร้อง นักแต่งเพลงผู้ปลุกโลกดนตรีของชาวมุสลิม ชายผู้ไม่คิดว่าดนตรีเป็นสิ่งผิดต่อหลักศาสนา

มาเฮอร์ เซน นักร้อง นักแต่งเพลงผู้ปลุกโลกดนตรีของชาวมุสลิม ชายผู้ไม่คิดว่าดนตรีเป็นสิ่งผิดต่อหลักศาสนา
       ลองจินตนาการโลกใบนี้ที่ไม่มีเสียงดนตรี ? ไม่มีเพลงป๊อป ไม่มีร็อคแอนด์โรล ไม่มีเอลวิส ไม่มีไมเคิล แจ๊คสัน กับท่ากุมเป้าอันโด่งดังบนเวที โลกใบนี้ก็อาจดูเงียบเหงาและเศร้าลงถนัดตา ยิ่งหลับตานึกภาพ ยิ่งจินตนาการไม่ออกว่าถ้าไม่มีเสียงเพลงเพราะ ๆ คอยปลอบประโลมจิตใจจะเป็นยังไง ใครหลายคนคงพลอยส่ายหัวแล้วตอบว่า “ฉันต้องอยู่ไม่ได้แน่ ๆ” แต่สำหรับชาวมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา  เมื่อความเชื่อและกฏเกณฑ์ของอิสลาม วินิจฉัยว่าเสียงดนตรีนั้นไม่เป็นมิตรต่อหัวใจของผู้ศรัทธา ด้วยเนื้อหาที่มีแต่ความรัก โลภ โกรธ หลง ทำร้ายกันไปมาไม่จบสิ้น ประกอบกับความสนุกสนาน รื่นเริง ที่อาจรบกวนความสงบสุขของการระลึกถึงพระเจ้า ทำให้โลกดนตรีของชาวมุสลิมถูกจำกัดให้เหลือเพียงเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการระลึกถึงผู้สร้าง มีคำร้องที่ไม่มีทำนองเคล้าดนตรีเจือปน จนเกิดเป็นแนวเพลงทางเลือกที่ถูกเรียกในภาษาอาหรับว่า “อนาชีด” ที่ใช้ข้อจำกัดเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ เป็นความบรรเทิงที่อยู่ใต้ชายคาของศาสนา “ผู้คนอยากที่จะฟังเพลงที่ดี ด้วยเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ซึ่งผมคิดว่ามันจะสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าด้วยแนวทางและคุณภาพที่เราหวังจะผลิตผลงานออกมาให้ตรงตามนั้น” นี่คือคำพูดของ มาเฮอร์ เซน (Maher Zain) ชายที่ไม่คิดว่าการฟังเพลงจะเป็นเรื่องผิดขนาดนั้น มาเฮอร์ เซน เป็นชาวเลบานอนแต่กำเนิด เมื่อเขาอายุได้ 8 ขวบ พ่อและแม่ของเขาขายทั้งรถและสมบัติพัสถานทิ้งไปเพื่อซื้อวีซ่าปลอมเพื่อหนีออกจากปัญหาสงครามกลางเมืองในประเทศ ก่อนจะระหกระเหินมาหาที่พำนักในสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่เซนใช้เวลาเติบโตจนเรียนจบวิศวะการบินและอวกาศ แต่ในปี 2005 ความสนใจทางด้านดนตรีได้เบนเข็มพาเขามาอยู่ในวงการดนตรีเต็มตัว เมื่อ นาดีร์ คายัต รู้จักกันในนามของ RedOne โปรดิวเซอร์มือดีชาวโมรอคโค-สวีเดน ที่เคยทำเพลงให้กับนักร้องระดับโลกมาแล้วอย่าง เลดี้ กาก้า, นิกกี้ มินาจ หรือเจ้าของฉายา Mr. Worldwide อย่าง พิตบูลล์ กำลังมองหาผู้ช่วยส่วนตัว ซึ่งเซนก็ไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสดี ๆ แบบนี้ไว้ สุดท้ายเขาตัดสินใจทิ้งใบปริญญาแล้วมาร่วมงานกับ คายัต  จนในปี 2006 RedOne ตัดสินใจย้ายมาทำงานที่นิวยอร์ค และการที่เขาต้องย้ายมาทำงานที่อเมริกา ได้กลายเป็นก้าวแรกของเส้นทางชีวิตนักดนตรี [caption id="attachment_8928" align="aligncenter" width="855"] มาเฮอร์ เซน นักร้อง นักแต่งเพลงผู้ปลุกโลกดนตรีของชาวมุสลิม ชายผู้ไม่คิดว่าดนตรีเป็นสิ่งผิดต่อหลักศาสนา มาเฮอร์ เซน[/caption]        กระทั่งก่อนที่ RedOne จะโด่งดัง เซนได้กลับไปยังสวีเดนในช่วงที่ว่างเว้นเพื่อพักผ่อน “มันควรจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ผมคิดในใจว่าเดี๋ยวผมจะกลับไป เดี๋ยวก็กลับ แต่สุดท้ายมันไม่เป็นอย่างนั้น” การได้พบกับเพื่อนมุสลิมในสวีเดน ทำให้เขาได้เริ่มเขยิบเข้าใกล้ศาสนามากขึ้น เขาได้เรียนรู้และศึกษาจนตัดสินใจแน่แน่วแล้วว่าจะไม่กลับไปทำงานให้ RedOne อีกต่อไป “ต้องใช้ความกล้ามหาศาล เพื่อที่จะพูดว่า ‘ฉันจะทิ้งโอกาสดี ๆ พวกนี้ ไว้ข้างหลัง’  นี่ไม่ใช่การตัดสินใจชั่ววูบ แต่เป็นอะไรที่เขาเก็บสะสมความรู้สึกสับสนมานานแล้ว “ผมรู้สึกว่าวงการดนตรีมันว่างเปล่ากว่าที่คิด” เซนให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “ผมมีคำถามมากมายเกี่ยวชีวิตและความตาย มันดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ถ้าผมจะแค่เกิด ทำงานหาเงิน สนุกกับชีวิต ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ แล้วก็ตายไป วนจบเพียงแค่นั้น”   ถึงแม้ว่าจะเลือกทางเดินชีวิตใหม่ ตบไฟเลี้ยว วิ่งเบี่ยงทางเข้าหาศาสนา แต่ดนตรีก็ยังคงเป็นความรักฝังลึก เขาไม่ต้องการที่จะทิ้งไว้ข้างหลัง พับเก็บลังของความสามารถ ปิดฝาเปียโนแล้วเดินจากมาง่าย ๆ อย่างนั้น ในปี 2009 เซนเข้ามาร่วมงานกับค่ายดนตรีเฉพาะทางศาสนาอย่าง Awakening Record ค่ายเพลงจากแดนผู้ดีที่เกิดจากการรวมตัวกันของ 4 ศิลปินผู้บุกเบิกอย่าง อีร์ฟาน แมกกี และโปรดิวเซอร์ผู้มากความสามารถด้านดนตรีอย่าง ซามี ยูซุฟ มาร่วมกันก่อตั้งค่ายในปี 2003 ด้วยเสน่ห์ของเซนที่นำเอาสำเนียงติดอาหรับนิด ๆ ผสมกับความอ่อนนุ่มในสไตล์ของเพลงป๊อปตะวันตก บวกกับเนื้อเพลงที่สื่อสารตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ออกแนว easy listening ที่เปิดฟังได้ทุกเพศ ทุกวัย ฟังแล้วคล้ายเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนมากกว่าจะพาออกนอกลู่นอกทาง เพลงของเขาจึงได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวมุสลิมอย่างมาก การันตีได้จากความสำเร็จของการออกอัลบั้มแรก “Thank you Allah” ในปี 2009 ที่ไต่ขึ้นชาร์ตเพลงรั้งอันดับต้น ๆ ของเว็บ Amazon.com ตีตลาดประเทศมุสลิมและกวาดความนิยมจนกลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในประเทศมาเลเซีย แถมยังดังเป็นพลุแตกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่สร้างปรากฏการณ์นั่งแท่น top chart แทนนักร้องดังอย่าง จัสติน บีเบอร์ อีกด้วย [caption id="attachment_8930" align="aligncenter" width="904"] มาเฮอร์ เซน นักร้อง นักแต่งเพลงผู้ปลุกโลกดนตรีของชาวมุสลิม ชายผู้ไม่คิดว่าดนตรีเป็นสิ่งผิดต่อหลักศาสนา มาเฮอร์ เซน[/caption]        หากมองความสำเร็จในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเยอะที่สุดในโลกอย่าง อินโดนีเซีย หรือประเทศมุสลิมอย่าง มาเลเซีย ที่ข้อบังคับยังถูกผ่อนหนักผ่อนเบา ปรับเปลี่ยนเอาความสมัยใหม่มาใช้ร่วมกับการปล่อยวางให้เกิดช่องว่างในความเคร่งครัดทางศาสนา ก็อาจเป็นความสำเร็จที่ประเมินความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเทียบกับความสำเร็จในประเทศตะวันตก การเดินทางทัวร์คอนเสิร์ต 12 เมืองในอังกฤษ และในอียิปต์ บัตรของเขาขายหมดก่อนการแสดงเพียงสิบวัน มีแฟน ๆ ที่มาจากทั่วสารทิศ ทั้งจอร์แดน อังกฤษ หรือแม้แต่คูเวต ที่เดินทางมายังไคโรเพื่อมาดูคอนเสิร์ตของเขาโดยเฉพาะ ก็นับว่าเป็นเสียงตอบรับที่สร้างความประหลาดใจให้กับเขาและทีมงานเป็นอย่างมาก “เป็นเกียรติอย่างมากครับ ผมตื้นตันกับแรงสนับสนุนจากแฟน ๆ ที่ให้มา ทุกอย่างบันดาลให้ผมรู้ว่า ผมควรทำในสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป”   จริงอยู่ที่เพลงส่วนใหญ่จะกล่าวถึง ความรัก ความศรัทธาที่มีต่อศาสนา มีความพยายามในการนำเอาเทคนิค Vocals Only มาสร้างสรรค์ให้ตอบโจทย์ต่อกลุ่มผู้ฟังที่ต้องการฟังเพลงไร้ดนตรี ให้ “ฮาลาล” ถูกสุขลักษณะ แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอัลบั้มทั้งหมดที่เขาร้อง ยังมีเพลงประกอบดนตรีซึ่งถูกตั้งคำถาม เป็นประเด็นถกเถียงกันไปมาว่า “ตกลงแล้วเราฟังเพลงของเขาได้หรือไม่?” ข้อสงสัยนี้ได้ลุกลามจนมีการนำไปพูดคุยกับนักวิชาการของศาสนา ซึ่งยืนยันด้วยข้อกำหนดในพระคัมภีร์และวจนะของท่านศาสดามูฮัมหมัด ว่า “ถ้าคุณหมายถึงการร้องเพลงที่มีดนตรี ก็แน่ชัดแล้วว่าสิ่งนั้นไม่ได้รับการอนุญาต” จากแรงกดดันที่เกิดขึ้น ตัวเขาเองก็รับรู้และได้ออกมาบอกว่า “ผมยอมรับว่ากลัวเสียงสะท้อนในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หยิบเรื่องนี้ไปคุยกับหลาย ๆ คน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าความเห็นทั้งหลายมันต่างกันไปตามแต่ทัศนะ และตราบใดที่เนื้อหาของมันเป็นไปในแง่ดีและใสสะอาด ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไร” เขายังยืนยันในความตั้งใจเดิมที่ทำเพลงขึ้นมาอีกว่า “เพลงของผมเป็นเหมือนข้อความจากอิสลาม ผมอยากให้ผู้คนเข้าใจในสิ่งที่อิสลามเป็น เป็นสารจากความสงบสุข ความเป็นพี่น้อง ความเป็นมนุษย์ ความรักและเคารพซึ่งกันและกัน” [caption id="attachment_8931" align="aligncenter" width="837"] มาเฮอร์ เซน นักร้อง นักแต่งเพลงผู้ปลุกโลกดนตรีของชาวมุสลิม ชายผู้ไม่คิดว่าดนตรีเป็นสิ่งผิดต่อหลักศาสนา มาเฮอร์ เซน[/caption]        อย่างไรก็ตาม เซนยังคงพยายามทำเพลงเวอร์ชั่นภาษาอาหรับขึ้นมาเพื่อเจาะกลุ่มผู้ฟังชาวตะวันออกกลาง ที่ยังคงยากในการเปิดใจยอมรับ แต่ในไม่ช้า โลกตะวันออกเองก็อาจไม่สามารถต้านทานกระแสความนิยมของอุตสาหกรรมดนตรีที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาได้  ด้วยความพยายามที่จะเนรมิตสิ่งสวยงามจากความเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนข้อจำกัดให้กลายเป็นดอกไม้ที่ผลิบานใต้รอยแยกบนทางเท้า มาเฮอร์ เซน ได้กลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของนำสิ่งที่หัวใจเรียกร้อง ประคับประคองให้เกิดความปรองดองกับกฏระเบียบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของศาสนา “ผมหวังว่าผมจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจจากเพลงของผมเพื่อผู้คนที่ต้องการสิ่งเดียวกัน มันเป็นต้นทุนที่สูงมาก กว่าจะไต่มาถึงจุดนี้ได้ นี่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในวงการดนตรีของอิสลาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากสนับสนุนสิ่งที่คุณทำอยู่ ผมเองก็เป็นเพียงแค่คนธรรมดา แต่ผมหวังว่าเพลงของผมจะจุดประกายให้คนอื่นได้ …ด้วยความประสงค์ของพระเจ้า”   ที่มา :

https://awakening.org/artists/maher.htm

https://www.nytimes.com/2017/11/09/arts/music/maher-zain-tour.html

https://www.straitstimes.com/lifestyle/entertainment/global-star-an-unknown-at-home

https://www.theguardian.com/music/2011/dec/15/maher-zain-music-message-of-islam

https://www.assimalhakeem.net/is-it-permissible-to-listen-to-songs-by-people-like-maher-zain-and-zain-bikha-etc-who-have-songs-without-the-musical-instruments-in-the-background-but-the-singing-is-accompanied-by-humming-and-melodie/

https://ww.egyptindependent.com/awakening-records-maher-zain-debuts-egypt/

https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2013/11/rise-rise-islamic-music-20131129111134149630.html

  เรื่อง: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior) ภาพจาก IG: maherzainofficial