“เจียง ไคเช็ก” จับคนเห็นต่างเข้าตาราง ด้วยกฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดในโลก

“เจียง ไคเช็ก” จับคนเห็นต่างเข้าตาราง ด้วยกฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดในโลก
“กฎอัยการศึก” (martial law) เป็นกฎหมายที่จะประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น สงคราม หรือ การจลาจล ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน การใช้ มาตรา 44 ในประเทศไทย (ซึ่งล้ำยิ่งกว่ากฎอัยการศึกเพราะถูกบรรจุให้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องรับผิดชอบกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ) มากว่า 5 ปีนับว่ายาวนาน ชนิดที่ว่าถ้าหากเป็นนักเรียนม. 6 ก็คงจบมหา'ลัย (หลักสูตร 4 ปี) ไปแล้ว แต่ถ้าเทียบกับการประกาศกฎอัยการศึกกว่า 38 ปี ที่ไต้หวัน โดย “นายพลเจียง ไคเช็ก” แล้วล่ะก็ ลองนึกภาพดูว่าจากเด็ก ม.6 คนนั้นคงกลายเป็นผู้ใหญ่วัย 40+ กันไปเลยทีเดียว เจียง ไคเช็ก (蔣中正) หรือ เจียง เจี้ยฉือ หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT หรือ พรรคจีนคณะชาติ) คือผู้สนับสนุนแนวคิดของ ดร. ซุน ยัตเซ็น ล้มล้างราชวงศ์ชิง และอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน หลังจากพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงบนแผ่นดินใหญ่ จึงได้ถอยร่นมายังไต้หวันเพื่อยึดเป็นฐานที่มั่น ก่อนจะสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นมาใหม่บนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ ทั้งศึกนอกจากความหวาดระแวงลัทธิคอมมิวนิสต์ และศึกภายในที่ประชาชนท้องถิ่นลุกขึ้นต่อต้านการเข้ามาของพรรคก๊กมินตั๋ง จากเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 ทำให้ เจียง ไคเช็ก ประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดในโลก รวมทั้งหมด 38 ปี 57 วัน ระหว่างปี 1949 - 1987 โดยอ้างความมั่นคงของชาติ เพื่อดำเนินการกับผู้คนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ และกำจัดสายลับคอมมิวนิสต์ ไต้หวันภายใต้การนำของนายพลเจียง ไคเช็ก กลายเป็นการปกครองแบบระบบเผด็จการทหาร ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเพียงพรรคเดียว (Single Party State) และพยายามจะยึดเอาสิทธิการใช้สาธารณูปโภคไปอย่างเบ็ดเสร็จ โดยอ้างการพัฒนาไต้หวันให้รุดหน้าเหนือกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่ายังมีการให้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลกับพวกพ้อง แทนที่คนไต้หวันดั้งเดิม และมีการลักลอบนำสินค้าไปขายต่อที่แผ่นดินใหญ่ในช่วงสงครามที่ทรัพยากรต่าง ๆ กำลังขาดแคลน เสรีภาพแทบทุกย่างก้าวของประชาชนภายในช่วงนั้นก็ดูเหมือนจะถูกลิดรอนไปเสียทั้งหมด เพราะเขาออกคำสั่งห้ามตั้งพรรคการเมืองใหม่ ห้ามประชาชนมีส่วนร่วมเกี่ยวกับพรรคการเมือง ห้ามชุมนุมประท้วงตามท้องถนน ห้ามพูดถึงผู้สูญหายหรือเสียชีวิต และประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานในเวลากลางคืน ช่วงเริ่มแรกที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก หนังสือพิมพ์ไม่อาจตีพิมพ์ได้เกินกว่า 6 หน้า และมีเพียง 31 หัวเท่านั้นที่ยังคงได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้ โดย 15 หัวในจำนวนนั้นก็คือหนังสือพิมพ์ที่พรรคก๊กมินตั๋ง, รัฐบาล และกองทัพเป็นเจ้าของเองเสียด้วย พวกเขาสั่งเซ็นเซอร์เนื้อหาทางการเมืองในหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวด ทั้งยังใช้อำนาจในการสั่งให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บทความประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ หรือแม้กระทั่งสั่งให้บรรณาธิการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการในนาทีสุดท้ายก่อนตีพิมพ์ก็ทำได้! นอกจากจะจำกัดเสรีภาพของประชาชนแล้ว เจียง ไคเช็ก ยังสนับสนุนให้มีการล่าแม่มดโดยเปิดให้ส่งรายชื่อหรือบังคับให้นักโทษซัดทอดไปยังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ก่อนที่ทหารดำเนินการจับกุมบุคคลเหล่านั้น ผู้ที่ “อาจจะ” “น่าจะ” “คิดว่า” เป็นคอมมิวนิสต์โดยที่ไม่มีหลักฐานรองรับอย่างเพียงพอ และหากผู้ใดให้ที่พักพิงแก่กลุ่มกบฏ หรือ ผู้ที่มีหมายจับ ก็จะต้องได้รับโทษด้วยเช่นกัน ผู้ต้องสงสัยจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาลทหาร บริเวณสถานกักกันจิ๋งเหม่ย (景美軍事看守所) ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1957 สำหรับจองจำนักโทษทางการเมือง โดยจะมีคำตัดสินโทษเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือประหารชีวิต หรือจำคุก และถ้าหากตรวจพบว่านักโทษคนใดมีแนวโน้มจะทำให้เกิดปัญหา พวกเขาจะถูกส่งไปจองจำบนเกาะกรีนไอส์แลนด์อันโดดเดี่ยวทางตะวันออกของไต้หวัน นายพลเจียง ไคเช็ก อาศัยกฎอัยการศึกรองรับความชอบธรรมในการควบคุมและปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง โดยใช้มาตรการที่รุนแรงบีบบังคับให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพว่าได้กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้กระบวนการยุติธรรมอันบิดเบี้ยวนี้ พรากอิสรภาพของนักสิทธิมนุษยชน และผู้บริสุทธิ์ไปมากกว่า 20,000 คน ทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 3,000-4,000 ราย จนช่วงเวลานั้นถูกเรียกขานกันว่า White Terror หรือ ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว ภายหลังจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของเจียง ไคเช็ก ในปี 1975 ทำให้ประชาชน และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหว และก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DDP) ขึ้นในปี 1986 จากนั้นเพียงไม่นานกฎอัยการศึกจึงถูกยกเลิกโดย เจียง จิงกั๋ว ลูกชายของเจียง ไคเช็ก ในปี 1987 ในขณะที่มีคนอีกหลายกลุ่มยังยกย่องให้เขาเป็นผู้วางรากฐานความเจริญในไต้หวัน รูปปั้นเจียง ไคเช็ก ในหลายสถานที่ เช่น ในเขตทหาร ถูกย้ายออกเพื่อป้องกันการมีสัญลักษณ์อันจะโยงไปถึงเผด็จการพรรคก๊กมินตั๋งในอดีต ทั้งนี้เพื่อความเป็นกลางและน่าเชื่อถือของแต่ละองค์กร ทุกปีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ วันรำลึกถึงสันติภาพแห่งชาติของไต้หวัน (National Peace Memorial Day) ญาติของผู้เสียชีวิตและสูญหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบในช่วงกฎอัยการศึกจะปิดหอรำลึกเจียง ไคเช็ก ไม่ให้ผู้ใดเข้าเยี่ยมชม และเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลนำตัวผู้กระทำความผิดจากเหตุการณ์ที่ยังคงดำมืดในอดีตมาลงโทษ ตราบเท่าที่ไต้หวันยังหมดเปลืองกับการเทิดทูนเจียง สักการะดวงวิญญาณของเผด็จการ ไต้หวันย่อมไม่มีวันบรรลุถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือหนึ่งในคำแถลงการณ์ประท้วงของกลุ่มนักศึกษาและนักเรียกร้องเอกราชไต้หวัน   ที่มา: https://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/chiang_kaishek.shtml https://bit.ly/2Ffrf5f https://bit.ly/2Rahrhy https://voicetv.co.th/read/rJLaHbNuG https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2017/02/28/for-decades-no-one-spoke-of-taiwans-hidden-massacre-a-new-generation-is-breaking-the-silence/?noredirect=on&utm_term=.9c42cc473b64 https://oftaiwan.org/history/white-terror/martial-law/ https://www.youtube.com/watch?time_continue=170&v=mYSSQJEoGRU   เรื่อง: นรมณ ดลมหัทธนะกิตติ์ (The People Junior)