เชสลีย์ ซัลเลนเบอร์เกอร์ ชายวัยใกล้เกษียณ ผู้ใช้เวลา 208 วินาทีช่วยคนกว่า 155 ชีวิต
คุณเคยช่วยชีวิตคนมั้ย? แล้วช่วยไว้ได้กี่ชีวิต ซึ่งในบรรดาฮีโรตัวจริงน่าจะไม่มีใครเหมือนชายแก่วัยใกล้เกษียณอายุ ที่ใช้ช่วงเวลา 208 วินาที ช่วยชีวิตคนกว่า 155 คนให้รอดตาย เขาคนนี้มีชื่อว่า เชสลีย์ ซัลเลนเบอร์เกอร์ หรือ ชื่อเล่นที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ซัลลี่” (Sully)
คุณตาซัลลี่ เป็นกัปตันรุ่นเก๋าอายุ 58 ปี ที่พาเครื่องบินยูเอสแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 1549 ลงจอดฉุกเฉินบนแม่น้ำฮัดสันได้สำเร็จ อ่านไม่ผิด เอาเครื่องลงจอดกลางแม่น้ำ ที่ช่วยให้หลายคนหายสงสัยว่าทำไมต้องมีเสื้อชูชีพไว้ใต้เบาะที่นั่ง
ช่วงบ่ายของวันที่ 15 มกราคม ปี 2009 เครื่องบินแอร์บัส A320-200 (รุ่นเดียวกับสายการบินปีกแดง) ได้ไปบวกกับฝูงห่านแคนาดา หลังจากเพิ่งออกจากท่าอากาศยานลากวาร์เดียในนครนิวยอร์กได้ไม่นาน จนทำให้เครื่องยนต์ทั้งสองดับสนิทที่ความสูง 2,800 ฟุต เครื่องบินที่บรรทุกคนกว่า 155 คน กลายเป็นกล่องเหล็กหนัก 68 ตัน ที่กำลังเข้าใกล้พื้นดินขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวินาที
แทนที่จะหันเครื่องกลับไปลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานลากวาร์เดีย หรือสนามบินใกล้เคียง กัปตันซัลลี่เลือกทำในสิ่งที่ขัดกับคำแนะนำของหอบังคับการบินที่คอยให้ความช่วยเหลือ คือการลงจอดฉุกเฉินกลางแม่น้ำฮัดสันที่หนาวเย็น การใช้ประสบการณ์และสัญชาตญาณเป็นเครื่องตัดสินใจในช่วงเวลา 208 วินาทีหลังเกิดเหตุของเขา ช่วยให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดรอดชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
วีรกรรมของคุณตาซัลลี่ ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Sully” ซัลลี่ ปาฏิหาริย์ที่แม่น้ำฮัดสัน กำกับโดยผู้กำกับสุดเก๋า คุณปู่ คลินต์ อีสต์วูด มี ทอม แฮงก์ แสดงเป็นกัปตันซัลลี่ ซึ่งใครยังไม่ได้ดูหาชมได้ในช่องทาง Netflix ซึ่งในภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวจากเหตุการณ์จริง เราเลยจะไม่มาบอกรายละเอียดช่วง 208 วินาทีชีวิตนั้นซ้ำ แต่อยากเล่าเรื่องราวในช่วง 1,800 ล้านวินาที ก่อนหน้านั้น ที่มีส่วนสร้างความเป็นฮีโรให้กับกัปตันซัลลี่
ถ้าจะมีใครที่รักการบินมากที่สุดในโลก หนึ่งคนในนั้นคือ เชสลีย์ บี ซัลเลนเบอร์เกอร์ (Chesley Burnett Sullenberger) จากเมืองเดนิสัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เขาเกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม ปี 1951 ของเล่นโปรดในวัยเด็กของเขาคือการทำเครื่องบินจำลอง และเรือบรรทุกเครื่องบิน ความหลงใหลเครื่องบินของกัปตันคนนี้ ต้องขอบคุณสนามบินกองทัพอากาศที่อยู่ใกล้บ้าน ทำให้มีเครื่องบินเจ็ตบินผ่านหัวทุกวันตั้งแต่ก่อนจำความได้ หรืออาจจะได้ยินเสียงโซนิค บูม (sonic boom) ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
ตอนอายุ 16 ปี ช่วงวัยว้าวุ้น แทนที่จะไปแว้นมอเตอร์ไซค์ เขากลับเลือกไปสนามบินที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อขอเรียนขับเครื่องบิน โดยเริ่มต้นจากเครื่อง Aeronca 7DC Champion ก่อนจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรืออากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAFA) สถาบันการศึกษาทางทหารอากาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปี 1969 จนจบมาพร้อมผลงานการเรียนที่โดดเด่น และรางวัลนักบินยอดเยี่ยม
เขาเริ่มติดปีกรับใช้ชาติเมื่อปี 1975 เป็นนักบินประจำเครื่อง F-4 Phantom II เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งในยุคสงครามเวียดนาม เขาประจำการอยู่ในยุโรปและอเมริกา เป็นทั้งครูฝึกการบินได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝูงบิน และเคยได้บัญชาการในการวางแผนการรบในการฝึกผสมทางอากาศ The Red Flag Exercise และได้ติดยศนาวาอากาศเอกในที่สุด ซึ่งระหว่างที่ประจำการในกองทัพอากาศเขายังได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการสืบหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศอีกด้วย
หลังปลดประจำการในปี 1980 เขาก็ได้เริ่มต้นการเป็นนักบินพลเรือน ทำงานให้กับสายการบิน แปซิฟิก เซาท์เวสต์ ที่ภายหลังถูกควบรวมกับ สายการบินยูเอสแอร์ไลน์ ด้วยประสบการณ์การบินกว่า 40 ปี และชั่วโมงบินสะสมมากกว่า 20,000 ชั่วโมง เขาใช้ความรู้จากการที่ได้มีโอกาสไปเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสาเหตุอุบัติเหตุทางอากาศทั้งที่เกิดขึ้นกับเครื่องของกองทัพอากาศ และเครื่องบินโดยสารอยู่หลายครั้ง มาก่อตั้งบริษัท Safety Reliability Methods ในปี 2007 ที่ให้คำปรึกษาด้านการวางแผนเพื่อความปลอดภัยทางอากาศ ก่อนจะประสบด้วยตัวเองในอีกสองปีต่อมา
การนำเครื่องลงจอดอย่างเหลือเชื่อของกัปตันซัลลี่ ที่ถูกเรียกว่า “ปาฏิหาริย์ที่แม่น้ำฮัดสัน” จึงไม่เป็นเรื่องดวงและโชคชะตาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ คือประสบการณ์อันโชกโชน และสติอันเยือกเย็นของกัปตันซัลลี่
เราจะเห็นว่าตั้งแต่เกิด สิ่งที่อยู่ในความสนใจของซัลลี่เกี่ยวข้องอยู่เรื่องเดียวคือ “การบิน” ที่เขาได้เรียนรู้มาตลอดชีวิตของเขา มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ผู้เขียนหนังสือ “สัมฤทธิ์พิศวง” (Outliers) เคยพูดถึงเรื่อง “กฎ 10,000 ชั่วโมง” ที่เป็นตัวกำหนดให้บางคนประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น จากความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งได้ ซี่งอาจต้องใช้เวลาในเรื่องนั้นอย่างต่ำ 10,000 ชั่วโมง
ซึ่งกัปตันซัลลี่ เหนือไปว่านั้น ก่อนเอาเครื่องบินในวันที่ 15 มกราคม ปี 2009 เขามีชั่วโมงบินสะสมมากกว่า 20,000 ชั่วโมง สองเท่าของกฎ 10,000 ชั่วโมง รวมกับประสบการณ์การบินที่เขาสั่งสมมาตั้งแต่อายุ 16 และได้ใช้ทั้งหมดใน 208 วินาที ที่ตัดสินชะตาชีวิตของเขา และผู้โดยสารอีกกว่า 154 ชีวิตบนเที่ยวบิน 1549
แต่ถ้าเรื่องนี้จะให้แรงบันดาลใจอะไรสักอย่าง น่าจะเป็นเรื่องการถ่อมตัวของฮีโรแห่งแม่น้ำฮัดสัน ที่บอกว่าเขาไม่ได้อยากเป็นฮีโรเขาแค่ทำสิ่งที่ควรทำให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง นอกจากนี้เขายังยกความดีความชอบของการลงจอดฉุกเฉินที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์การบินว่า ไม่ได้มาจากฝีมือ 20,000 ชั่วโมงของเขาทั้งหมด แต่มาจากความร่วมมือของผู้ช่วยนักบิน เจฟฟรี สไคลส์ (Jeffrey Skiles) พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคน เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศที่ให้คำแนะนำ เจ้าหน้าที่กู้ภัย คนขับเรือข้ามฟากที่มาถึงอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงผู้โดยสารทุกคน ที่ต่างคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด
“ผมแค่อยากจะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด ซึ่งในฐานะกัปตันเครื่องบิน ผมต้องเป็นผู้นำทีมที่รับผิดชอบทุกชีวิตบนเครื่องให้ปลอดภัยตั้งแต่ขึ้นบินไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ผมเลยมีสิทธิขาดในการเลือกหนทางที่ดีที่สุด เพราะมันคืองานของผม”
ที่มา :
http://www.sullysullenberger.com
https://www.forbes.com
https://www.popularmechanics.com
https://www.youtube.com