“อัลฟองโซ บิอาเล็ตติ” ชายที่ได้ไอเดียเครื่องต้มกาแฟจากการเห็นเมียนั่งซักผ้า

มีคนบอกว่ากลิ่นของยามเช้าตรู่ในอิตาลี คือความหอมกรุ่นของกาแฟสดใหม่ที่อบอวลอยู่ตามตรอกซอย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ลอยล่องมาจากร้านกาแฟน้อยใหญ่ที่กระจายทั่วทั่วเมือง แต่โชยเอื่อยจากหน้าต่างห้องครัวของแต่ละบ้าน เพราะกาแฟแก้วแรกของวัน คนอิตาลีส่วนใหญ่ชอบต้มกาแฟดื่มเองที่บ้าน ด้วยหม้อต้มกาแฟที่เรียกว่า "โมคา พอท" (Moka Pot) สิ่งประดิษฐ์ที่ “อัลฟองโซ บิอาเล็ตติ” ได้ไอเดียตอนที่เห็นเมียรักนั่งซักผ้า
“อัลฟองโซ บิอาเล็ตติ” (Alfonso Bialetti) เป็นวิศวกรชาวอิตาลี ที่ฝึกฝนทักษะการหลอมโลหะอะลูมิเนียมที่ฝรั่งเศสอยู่ร่วมทศวรรษ ก่อนจะออกมาตั้งโรงงานหล่อของตัวเองที่เมืองครูซิเนลโล ในแคว้นปีเยมอนเต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี ในปี 1919 เพื่อผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากอะลูมิเนียมส่งให้โรงงานอื่น ๆ ไปประกอบ ต่อมาเขาได้เปลี่ยนโรงงานให้กลายเป็นสตูดิโอ สำหรับออกแบบและผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเอง
แต่กิจการของอัลฟองโซ ที่กำลังไปได้สวยมาสะดุดกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปี 1930 ส่งผลให้รายได้ของโรงงานลดลงอย่างมาก วันหนึ่งขณะที่กำลังคิดหาหนทางแก้วิกฤต เขาเหลือบไปเห็นภรรยาสุดที่รักกำลังง่วนอยู่กับการซักผ้ากองโตด้วยถังซักผ้าอัตโนมัติของฝรั่งเศส ต้นแบบของเครื่องซักผ้าในปัจจุบัน เครื่องนี้เป็นถังสังกะสีมีท่อกลวงที่ด้านบนเป็นรูพรุน เวลาใช้งานจะจุดไฟข้างล่างเพื่อให้น้ำเดือดเคลื่อนไปตามท่อแล้ววนกลับไปกลับมาช่วยให้เสื้อผ้าสะอาด
แทนที่จะเข้าไปช่วยภรรยาซักผ้า สามีนักประดิษฐ์เห็นว่าหลักวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ ที่เมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะดันตัวขึ้นด้านบนนั้น น่าจะใช้นำมาสกัดความหอมมันของกาแฟบดออกมาให้ลิ้มรสได้เช่นกัน เขาเลยนำแนวคิดนี้ไปให้ ลุยจิ เดอ ปอนติ (Luigi De Ponti) พัฒนาต่อจนในปี 1933 หม้อต้มกาแฟทรงแปดเหลี่ยมทำจากอะลูมิเนียมที่มีชื่อว่า โมคา พอท ก็ถือกำเนิดขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นก็กลายเป็นตำนาน
ความโดดเด่นของ โมคา พอท คือการใช้งานที่ง่ายดาย แค่ใส่น้ำร้อนลงไปในหม้อข้างล่าง ประกอบกรวยที่ใส่กาแฟบดเกือบละเอียดเข้าไป แล้วประกบกับโถส่วนบน ที่เหลือก็คือวาง โมคา พอท ลงบนเตาเพื่อต้มน้ำให้เดือด ไม่กี่นาทีแรงดันน้ำก็จะทำให้ได้กาแฟหอมกรุ่นพร้อมดื่มได้ทันที ซึ่งรสชาติที่ได้มีความเข้มข้นใกล้เคียงจากการชงจากเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซ แต่ให้ความสะดวกและขั้นตอนเรียบง่ายกว่ามาก โมคา พอท เลยถูกจัดให้เป็นเครื่องครัวประจำบ้านชิ้นหนึ่ง
ความนิยมของโมคา พอท เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังลูกชายของ อัลฟองโซ คือ “เรนาโต บิอาเล็ตติ” (Renato Bialetti) เข้ามารับช่วงต่อในปี 1946 เขาลงทุนทำการตลาดด้วยตัวเองเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จัก โมคา พอท ทั้งการแสดงในภาพยนตร์โฆษณาเองหลายเรื่อง รวมไปถึงในปี 1954 เขาได้ให้นักวาดภาพ พอล แคมพานิ (Paul Campani) ออกแบบโลโก้จากตัวเอง จนกลายมาเป็นรูปชายหนวดงามตัวเล็กชูนิ้ว แปะข้างหม้อต้มกาแฟทุกใบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
จากวันแรกจนถึงตอนนี้ ผ่านมาเกือบศตวรรษ บริษัท บิอาเล็ตติ (Bialetti) ของ อัลฟองโซ ผลิต โมคา พอท มาแล้วมากกว่า 200 ล้านชิ้น โดยที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและวัสดุดั้งเดิม นอกจากมีการปรับปรุงเล็กน้อยเท่านั้น ความคลาสสิคทำให้หม้อต้มกาแฟทรงอาร์ตเดโคอันเป็นเอกลักษณ์นี้ ถูกนำไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์การออกแบบหลายแห่งทั่วโลก ตั้งแต่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (The Museum of Modern Art) ในนิวยอร์ก, พิพิธภัณฑ์การออกแบบแห่งชาติ คูเปอร์-ฮิวอิท พิพิธภัณฑ์ในเครือสถาบันสมิธโซเนียน (Cooper-Hewitt, National Design Museum) ไปจนถึง พิพิธภัณฑ์การออกแบบแห่งกรุงลอนดอน (London Design Museum)
ว่ากันว่าปัจจุบัน 9 ใน 10 ของครอบครัวคนอิตาลี จะมีหม้อต้มกาแฟ โมคา พอท เป็นเครื่องครัวประจำบ้าน ซึ่งทำให้หม้อต้มกาแฟแบบนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของรสชาติกาแฟสดสไตล์อิตาลีไปเลย
เรื่องนี้ไม่ได้ชี้ช่องให้เหล่าพ่อบ้านใจกล้าเอาไปเป็นข้ออ้างอู้งานแล้วโบ้ยให้ภรรยาซักผ้าแทน แต่พยายามจะบอกว่าไอเดียความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงแค่เราต้องหมั่นสังเกต เหมือน อัลฟองโซ ที่ยูเรก้าได้ความคิดจุดประกายตอนที่เห็นเมียรักนั่งซักผ้า
ที่มา :
http://www.bialettigroup.it/en/our_company/about-our-history.html
https://owlcation.com/humanities/Italian-Stovetop-Coffee
https://www.italymagazine.com/featured-story/changing-face-italian-espresso
https://www.lifeinitaly.com/food/the-world-of-italian-coffee
https://6thfloor.blogs.nytimes.com/2011/09/01/who-made-that-moka-express/
https://ineedcoffee.com/the-story-of-the-bialetti-moka-express/