ตุ๊กตาเด็กสาวผมเปียสีแดง ดวงตาลึกโปน แก้มแดงก่ำ และรอยยิ้มที่เหยียดขึ้นราวแสยะออกมา คือภาพจำที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีของเจ้าตุ๊กตา แอนนาเบล (Annabelle) ตุ๊กตาเฮี้ยนที่ลุกขึ้นมาหลอกหลอนใครก็ตามที่เข้ามาแหยม ในหนังสยองขวัญที่ส่งต่อความขนหัวลุกมาแล้วถึงสามภาค ตั้งแต่ Annabelle (2014), Annabelle: Creation (2017) และล่าสุด Annabelle Comes Home (2019)
เรื่องราวสยองขวัญที่ถูกนำมาทำเป็นหนังนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานจริงของ Raggedy Ann ตุ๊กตาผ้าที่มีผมเปียสีแดงเหมือนกับตุ๊กตาแอนนาเบลในหนัง ตัวละครสมมติที่สร้างขึ้นโดนศิลปินนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน จอห์นนี กรูเอลล์ (Johnny Gruelle) ซึ่งเป็นตุ๊กตาที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยม และหาซื้อได้ตามปกติ
[caption id="attachment_9250" align="alignnone" width="1365"]
ตุ๊กตาแอนนาเบลตัวจริง[/caption]
ต่อมาคุณแม่ท่านหนึ่งหาซื้อเจ้าตุ๊กตานี้มามอบเป็นของขวัญให้กับ ดอนนา (Donna) นักศึกษาแพทย์สาวในวันเกิดอายุ 28 ของเธอ ซึ่งหลังจากที่ดอนนานำตุ๊กตาเข้ามาอยู่ในหอพัก เธอก็เริ่มสังเกตได้ว่า เจ้าตุ๊กตาผ้ามักจะเปลี่ยนที่ไปตรงนั้นตรงนี้อยู่บ่อยครั้ง หรือบางทีก็เปลี่ยนอิริยาบถเอง เธอจึงพาคนทรงมาที่หอเพื่อหาต้นเหตุของการขยับตัวของตุ๊กตา โดยคนทรงบอกกับเธอว่า ตุ๊กตาตัวนั้นถูกวิญญาณของเด็กสาวชื่อ “แอนนาเบล” ที่เสียชีวิตบริเวณหอพักของเธอสิงอยู่
ด้วยความสงสาร ดอนนาจึงยอมให้แอนนาเบลสิงอยู่ในตุ๊กตาต่อไป จนแอนนาเบลเริ่มแผลงฤทธิ์ด้วยการทำร้ายแฟนหนุ่มของดอนนาด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างการคลานขึ้นมาทับที่อก หรือทำให้เขาตัวงอแบบควบคุมไม่ได้ขณะเดินข้ามตุ๊กตา ทำให้เธอตัดสินใจเรียก เอ็ดและลอร์เรน วอร์เรน (Ed amd Lorraine Warren) คู่สามีภรรยานักปราบผี (ต้นแบบของตัวละครหลักใน The Conjuring) มาช่วยกำราบแอนนาเบล จนได้รู้ความจริงว่าสิ่งที่สิงตุ๊กตาอยู่ไม่ใช่วิญญาณของแอนนาเบล แต่เป็นปีศาจที่หมายจะเข้าสิงดอนนาต่างหาก
คล้ายคลึงกับตำนานจริง เบื้องหลังความหลอนของตุ๊กตาผีสิงในภาพยนตร์ Annabelle ภาคแรกสุด ก็เกิดขึ้นจากปีศาจเช่นกัน โดยเกิดขึ้นจากการบงการของปีศาจร้ายนาม เดอะ แรม (The Ram)
ในเรื่องราวของ Annabelle เดอะแรมเป็นจอมปีศาจที่ลัทธิ Disciple of The Ram นับถือ และจะมีพลังเพิ่มมากขึ้นผ่านการทำพิธีบูชายัญ ทำให้แอนนาเบล หญิงสาวที่เป็นหนึ่งในสมาชิกลัทธิ รวมหัวกับแฟนหนุ่มที่อยู่ในลัทธิเดียวกัน ทำการฆ่าพ่อแม่บุญธรรมของตัวเองเพื่อบูชายัญให้กับเดอะ แรม
[caption id="attachment_9248" align="alignnone" width="1600"]
แอนนาเบลฆ่าตัวตายพร้อมสัญลักษณ์บูชายัญ[/caption]
หลังการฆาตกรรมเกิดขึ้น แอนนาเบลก็ได้ลักลอบเข้ามาในบ้านของ “จอห์น” (รับบทโดย วอร์ด ฮอร์ตัน) และ “มีอา” (รับบทโดย แอนนาเบล วอลลิส) คู่สามีภรรยาที่อาศัยอยู่ถัดออกไป และปลิดชีวิตตัวเองโดยถือตุ๊กตากระเบื้องเคลือบที่จอห์นซื้อให้มีอาเป็นของขวัญต้อนรับลูกอยู่ในมือ รวมถึงนำเลือดของตนมาวาดเป็นสัญลักษณ์บนผนัง หลังเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของแอนนาเบล เจ้าตุ๊กตาก็เกิดมีชีวิตและลุกขึ้นมาหลอกหลอนจอห์นและมีอา โดยมีเป้าหมายหลักคือการเอาชีวิตของทารกน้อยซึ่งเป็นลูกของพวกเขานั่นเอง
หลังจากมีอาทำการค้นคว้าเรื่องสิ่งลี้ลับเพื่อหาทางรับมือกับเจ้าตุ๊กตาบ้าเลือด เธอก็ได้ค้นพบว่าสิ่งที่ทำให้ตุ๊กตาลุกขึ้นมาฆ่าคนได้นั้น อาจไม่ใช่แค่วิญญาณของแอนนาเบล แต่เป็นปีศาจเดอะ แรม ที่แอนนาเบลและแฟนหนุ่มบูชายัญ โดยในหนังสือที่มีอาอ่าน ปีศาจเดอะ แรม ถูกวาดออกมาในลักษณะที่มีหัวเป็นแพะ ตัวเป็นคน คล้ายคลึงกับ บาโฟเมต (Baphomet) จอมมารตามความเชื่อทางไสยเวทย์ (แต่บาโฟเมตจะมีปีกค้างคาวเสริมเข้ามาด้วย) ส่วนใน Anabelle: Creation ที่เล่าถึงต้นกำเนิดของตุ๊กตาผีสิง ก็มีฉากการปรากฏตัวของปีศาจที่มีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งแพะอีกเช่นกัน
[caption id="attachment_9249" align="alignnone" width="1140"]
เดอะ แรม ในหนังสือ[/caption]
ถึงรูปลักษณ์ของบาโฟเมตมักจะถูกใช้เป็นตัวแทนของความชั่วร้าย แต่ในลัทธินอกศาสนาหรือเพแกน (Paganism) ในยุคกลางของยุโรปที่ปฏิเสธการนับถือศาสนาคริสต์ บาโฟเมตเป็นเสมือนตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และการให้กำเนิดที่ชาวเพแกนนับถือ แน่นอนว่าในยุคที่คริสตจักรเป็นใหญ่ ชาวคริสต์ในสมัยนั้นย่อมไม่เห็นด้วยกับการนับถือสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระเจ้า ทำให้บาโฟเมตถูกมองว่าเป็นจอมมารแห่งความเสื่อมทราม ส่วนคนที่นับถือบาโฟเมตก็จะถูกมองว่าเป็นคนของลัทธิมารที่ต่อต้านความเชื่อของคริสตจักร
นอกจากนี้ บาโฟเมตยังเคยถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาในการลงโทษอัศวินเทมพลาร์ หน่วยรบคริสตชนของฝรั่งเศสที่มีส่วนสำคัญในสงครามครูเสด โดยในช่วงคริสตศักราชที่ 14 พระเจ้าฟิลิปที่ 4 ได้สั่งจับกุมเหล่าอัศวินเทมพลาร์ในข้อหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อหาทุจริตฉ้อฉล รักร่วมเพศ ทำพิธีลามกอนาจาร และหนึ่งในข้อกล่าวหา ก็คือการเข้าลัทธินอกรีตและนับถือปีศาจอย่างบาโฟเมต เหล่าอัศวินที่ต้องข้อหาต่างถูกทรมานให้สารภาพ ก่อนจะถูกประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น โดยต้นเหตุของการกล่าวหานี้ นักประวัติศาสตร์คาดเดาว่า อาจเป็นความพยายามของพระเจ้าฟิลลิปส์ในการจะกำจัดหนี้สินจำนวนมหาศาลที่ตนต้องจ่ายกลุ่มอัศวินเทมพลาร์หลังการทำสงคราม และนักประวัติศาสตร์ยังคาดเดาอีกว่า บาโฟเมตในที่นี้อาจหมายถึงมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศัตรูของคริสตจักรในขณะนั้น แต่มีการเติมแต่งให้ดูเป็นปีศาจที่ชั่วร้ายเพื่อใช้ในข้อกล่าวหา
นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายแล้ว ชื่อของบาโฟเมตยังมักจะถูกกล่าวถึงพร้อมกับพิธีบูชายัญ ไม่ว่าจะเป็นการสังเวยเลือด การฆ่าสัตว์ หรือแม้แต่มนุษย์ เพื่อนำมาบูชาหรืออัญเชิญให้บาโฟเมตเข้ามาสิงร่าง ซึ่งในหนัง Annabelle ปี 2014 ก็มีฉากที่แอนนาเบลฆ่าคนในนามของปีศาจเดอะ แรม และใช้เลือดในการเชิญปีศาจเข้าสิงสู่ในร่าง ซึ่งในกรณีนี้คือตุ๊กตาแทนมนุษย์จริง
ส่วนในแง่การปราบปีศาจเดอะ แรม นั้น ใน Annabelle: Creation ได้เผยหลากหลายวิธีที่ถูกใช้เพื่อสู้กับปีศาจร้าย แต่สิ่งที่ทุกวิธีมีเหมือนกันคือการนำเอาหลักศาสนาคริสต์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญบาทหลวง ไม้กางเขน และการใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อปิดผนึกปีศาจไว้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงภาพลักษณ์ความเป็นฝ่ายธรรมะของศาสนาคริสต์ และความเป็นอธรรมของเดอะ แรม หรือบาโฟเมต (ย้อนไปดูภาพแรก สังเกตได้ว่า ตู้กระจกที่ขังแอนนาเบลตัวจริงมีไพ่ทาโร The Devil เป็นรูปบาโฟเมตประกอบอยู่ด้วย)
ใน Annabelle Comes Home ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ใน Annabelle เจ้าตุ๊กตาผีสิงได้ถูกกำราบโดยคู่สามีภรรยานักปราบผีเอ็ดและลอเรน พร้อมกับถูกขังในตู้กระจกภายในบ้านของทั้งสอง แต่ปีศาจในตัวของตุ๊กตาย่อมไม่ยอมหยุดอยู่เฉย ๆ และคงหาสารพัดวิธีออกมาอาละวาดอีกครั้งอย่างแน่นอน ซึ่งใน Annabelle Comes Home นี้ เราอาจจะได้เห็นการกลับมาของปีศาจเดอะ แรมอีกครั้ง ว่ามันจะสานต่อความสยองของตัวเองอย่างไร
ที่มา
rudrasenafoundation
ultraculture.org
history
เรื่อง : พัทธมน สินธุวณิชเศรษฐ์ (The People Junior)