26 มิ.ย. 2562 | 15:48 น.
“ผมนอนที่สวน Trinity Bellwoods ผมนอนบนม้านั่งหน้าแมคโดนัลด์ หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะสำหรับเล่นสเก็ตบอร์ด Dunbat บางทีผมเดินไปรอบ ๆ ทั้งคืน มันบ้ามากเลย”
นี่คือคำพูดของ แดเนียล ซีซาร์ (Daniel Caesar) นักร้องและนักแต่งเพลงวัย 24 ปี ชาวแคนาเดียน ที่ดังเป็นพลุแตกหลังจากปล่อยผลงานเพลงอัลบั้มเต็มที่ชื่อว่า “Freudian” เมื่อปี 2017 อัลบั้มอาร์แอนด์บีอันประกอบไปด้วยเพลงฮิตติดหูอย่าง ‘Get you’ ที่กลายมาเป็นเพลงแจ้งเกิดให้กับเขา เรื่องราวต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ชีวิตจริงของ แดเนียล ซีซาร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กไร้บ้าน และใช้ชีวิตเร่ร่อนไปตามท้องถนนแห่งเมืองโตรอนโต วันนี้เขาจะมาเปิดปากเล่าถึงเรื่องราวของตัวเขาเองให้เราได้ฟังกัน
แอชตัน ซิมมอนด์ (Ashton Simmonds) หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในสเตจเนม “แดเนียล ซีซาร์” มีบ้านเกิดอยู่ที่ เมืองออนแทรีโอ (Ontario) ประเทศแคนาดา ซีซาร์ เข้าเรียนในโรงเรียนคริสเตียนแห่งหนึ่ง เขาซึมซับความรักในดนตรีจากการเฝ้ามองผู้เป็นพ่อร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์เป็นประจำ นอกจากนี้เขาและเพื่อน ๆ ยังชอบฟังเพลงจากนักร้องชื่อดังอย่าง จอห์น เมเยอร์ และ เจสัน มราซ
“พ่อของผมเป็นนักดนตรีจากจาไมกา เขามาที่แคนาดาก็เพราะดนตรี เขาเป็นนักร้องกอสเปล ครอบครัวของเราไปโบสถ์และร้องเพลง Come, You Fount ด้วยกัน นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับดนตรี” ซีซาร์ยอมรับว่าเขาไม่ใช่นักดนตรีที่เก่งกาจ เขาเคยถอดใจเมื่อหัดเล่นเปียโน และร้องขอให้แม่ซื้อกีตาร์ให้แทนเพื่อที่เขาจะได้หัดเล่นมัน และในที่สุด ซีซาร์ ก็หัดเล่นกีตาร์ได้
[caption id="attachment_9261" align="aligncenter" width="1080"]“ผมรู้สึกว่าตัวเองต้องแต่งเพลงให้ดี เพราะการเล่นกีตาร์อะคูสติกคืออย่างเดียวที่ผมทำได้” ซีซาร์กล่าว
แต่ขอบข่ายทางดนตรีของ ซีซาร์ กลับกว้างและชัดเจนขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจสะพายกระเป๋า ก้าวขาออกจากบ้าน หลังจากทะเลาะกับพ่อในวัยเพียงแค่ 17 ปี แม้ความรักในการร้องเพลงของสองพ่อลูกจะมีอยู่มากไม่ต่างกัน แต่พ่อของ ซีซาร์ กลับไม่ต้องการให้เขาเป็นนักร้อง เนื่องจากเขาเคยประสบความล้มเหลวในอุตสาหกรรมดนตรีมาก่อน ความเป็นพ่อที่ไม่อยากให้ลูกชายของตนต้องล้มเหลวซ้ำรอยเก่า ทำให้เขาสั่งห้ามซีซาร์ทุกทาง ไม่ให้ทำอะไรมากไปกว่านั่งเล่นกีตาร์อยู่ที่บ้านและไปร้องเพลงที่โบสถ์
[caption id="attachment_9259" align="aligncenter" width="1280"]ซีซาร์ ตั้งใจเดินทางมายังโตรอนโตเพื่อเป็นศิลปิน แต่เขากลับต้องใช้เวลาหลังจากนั้นไปกับการทำงานเป็นเด็กล้างจาน และใช้ค่ำคืนไปกับการนอนขดบนโซฟาของเพื่อน ๆ หรือเดินดุ่มหาที่ซุกหัวนอนตามสวนสาธารณะ ในเวลาที่ไม่มีโซฟาของเพื่อนคนไหนว่างสำหรับเขา
“ผมพยายามที่จะไม่อยู่ที่เดียวกันในทุกคืนเพื่อที่จะได้ไม่รบกวนคนอื่น ๆ จนเกินไป แต่บางคืนที่ผมไม่มีแรงเหลือพอ และไม่ได้คิดไว้ว่าจะนอนที่ไหนหลังจากเลิกงาน ผมก็จะไปเคาะประตูบ้านของเพื่อน แต่ไม่มีใครตื่นขึ้นมาหรอก” ซีซาร์กล่าว
“ผมนอนอยู่บนม้านั่งโดยใช้เป้สะพายหลังแทนหมอน มองตัวเองสวมรองเท้าราคาแพงที่ไม่สมควรได้เป็นเจ้าของ ส่ายหัวและเริ่มคิดว่า ผมมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร และผมกำลังทำอะไรอยู่”
แม้ทุกก้าวเดินของ ซีซาร์ ในโตรอนโตจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ที่นั่นเองที่เขาได้เป็นอิสระจากความคาดหวังของครอบครัว และทำเพลงอย่างที่ใจต้องการ อีพี “Praise Break” และ “Pilgrim's Paradise” ได้ถูกปล่อยออกมาเรียกน้ำย่อย ก่อนที่จะตามมาด้วยอัลบั้มเต็ม “Freudian" ในปี 2017 และก็เป็นอัลบั้มนี้เองที่แจ้งเกิดให้กับเขาได้อย่างงดงาม เป็นความพยายามที่คุ้มค่าไม่น้อย
น้ำเสียงนุ่มทุ้มรับกับกีตาร์อะคูสติก และดนตรีจังหวะกลางที่ผสมผสานระหว่างอาร์แบนด์บีและโซลได้อย่างลงตัว ทำให้เสียงร้องของซีซาร์ถูกจดจำจากนักฟังเพลงทั่วโลกได้โดยง่าย บวกกับเทคนิคการร้องแบบกอสเปลที่ ซีซาร์ ถนัด ก็ยิ่งทำให้หลาย ๆ เพลงของเขาราวกับเป็นจดหมายสารภาพรักที่ไม่ค่อยจะสมหวัง ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวแห่งความลุ่มหลง ความปรารถนา และความพ่ายแพ้ โดย ซีซาร์ ไม่เคยหลบซ่อนที่จะแสดงความอ่อนแอของตัวเองผ่านน้ำเสียงเลย และนั่นกลายมาเป็นกุญแจไขประตูสู่ความมีชื่อเสียงของเขา
[caption id="attachment_9260" align="aligncenter" width="721"]“ผมรู้ว่าคนเราจะรู้สึกดีที่สุดตอนที่ได้ปลดปล่อยตัวเองให้อ่อนแอแบบนั้น แต่มันก็ตามมาด้วยความเสี่ยง มันเหมือนเรากำลังบอกกับคนอื่นว่า ‘ทำร้ายฉันอีกสิ’ แต่ผลตอบแทนของมันกลับคุ้มค่า เพราะผมคิดว่าความอ่อนแอแบบนั้นแหละคือสิ่งที่ทุกคนกำลังรู้สึก แต่ไม่ต้องการที่จะพูดมันออกมา มันก็เหมือนกับตอนที่ผมพูดบางอย่างที่ไม่คิดว่ามันจะเท่หรือเซ็กซี่เอาซะเลย แต่ผู้หญิงกลับพบว่ามันเท่และเซ็กซี่นั่นแหละ”
ปัจจุบัน แม้ชื่อเสียงของเขาจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ ซีซาร์ ในวันนี้ ก็ยังคงเป็น ซีซาร์ ที่มีหัวใจรักในเสียงดนตรีไม่ต่างจาก ซีซาร์ คนที่เอนหัวลงกับม้านั่งริมถนนคนเดิมคนนั้น
“การทำดนตรีให้เป็นธุรกิจไม่ใช่ธรรมชาติของผม แต่มันน่าตื่นเต้นนะ ผมเชื่อใจทีมงานของผมด้วยชีวิตว่าพวกเขาจะไม่เอาเปรียบผม ขณะเดียวกันงานของผมก็คือการสร้างศิลปะ และผมอยากทำมันเพิ่มขึ้นอีก”
ที่มา :
https://noisey.vice.com/en_ca/article/rpdean/noisey-canadas-top-10-projects-of-2014
https://www.fender.com/articles/artists/meet-daniel-caesar-the-toronto-artist-rising-up-the-charts
เรื่อง : จิรภิญญา สมเทพ (The People Junior)