สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม

สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม
หากจะพูดถึงงานโชว์ศิลปะที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร คนในวงการศิลปะต้องนึกถึงงาน Hotel Art Fair ที่รวบรวมผลงานศิลปะและการออกแบบหลากหลายรูปแบบมานำเสนอในห้องพักของโรงแรมเป็นประจำทุกปี งานนี้จัดขึ้นโดย FARMGROUP บริษัทให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมสองหัวเรือใหญ่ แต๊บ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ท็อป ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ที่อยู่เบื้องหลังงานนี้ พวกเขาบอกว่า เป้าหมายหลักของงานคือการสร้างจุดศูนย์รวมเพื่อให้คนรักศิลปะ แกลเลอรี ศิลปินทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงนักสะสมผลงานศิลปะให้มาอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน โดยปี 2019 จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว ภายใต้คอนเซปต์ “Breaking Boundaries” แสดงให้เห็นว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่มีข้อจำกัดในการแสดงออก สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ไม่มีขอบเขตของมนุษย์ ทำให้งานศิลปะเป็นเสมือนขุมสมบัติทางวัฒนธรรม The People มีโอกาสได้นั่งคุยกับพวกเขาทั้งสองท่ามกลางงานศิลปะที่รายล้อมรอบตัว ทำให้เราตระหนักได้ว่า ศิลปะสามารถอยู่ได้ทุกที่รอบตัวเราจริง ๆ [caption id="attachment_9292" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม Hotel Art Fair[/caption]   The People: ทำไมพวกคุณถึงสนใจทำงานเกี่ยวกับศิลปะ วรทิตย์: ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้ก็ยุ่งกับศิลปะแล้ว แต่เพิ่งรู้ว่ามันเป็นอาชีพได้ตอนเรียนจบมหา’ลัย คือสมัยพ่อแม่ของเราจะเป็นยุค baby boomer ยุคนั้นศิลปินเป็นงานอดิเรกมากกว่าเป็นอาชีพประจำ เพราะศิลปะในประเทศเรายังไม่พัฒนาเท่ายุโรปหรือญี่ปุ่น คนที่จะทำมาหากินจนเกษียณจากการเป็นศิลปินหรือนักออกแบบมันไม่รวยอยู่แล้ว นักออกแบบรุ่นแรก ๆ ที่แก่สุด ปัจจุบันก็ยังทำงานกันอยู่เลย ฉะนั้นการเป็น design profession ในประเทศเราจึงใหม่มาก แต่เพิ่งมาตระหนักว่าจะหากินกับทางนี้ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ไผทวัฒน์: ถ้าไปตามศิลปินคนไหนว่าทำไมถึงมาเป็นศิลปิน เขาก็จะตอบว่าทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือชอบวาดรูป ผมเป็นคนโลกส่วนตัวสูง แล้วพ่อแม่ก็ให้เรียนศิลปะ พอไปเรียนศิลปะเสร็จปุ๊บ ผมก็เป็นศิลปิน แต่ท้ายที่สุดมันไม่เหมือนกับนักออกแบบ คือ ศิลปินมันไม่สามารถ make money ได้ เพราะผมไม่ได้ขยันมากนัก คือผมยอมแพ้ตั้งแต่เริ่ม ถ้าพูดตรง ๆ คือบ้านผมสบาย ไม่ต้องดิ้นรน ถ้าเกิดต้องดิ้นรน ผมอาจจะดังไปแล้ว แล้วพอกลับมาเมืองไทย ผมมีแพสชันเรื่องศิลปะ ผมต้องหางานทำ   The People: จุดเริ่มต้นของ Hotel Art Fair คืออะไร วรทิตย์: มันเหมือนเรื่องบังเอิญ คือเราทำบริษัท FARMGROUP มา 15 ปี เข้าปีที่ 16 จนกระทั่ง 6 ปีที่ผ่านมามีลูกค้าโรงแรมเจ้าหนึ่งเขาอยากจะจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งในโรงแรม แล้วเราเป็นคนออกแบบ experience design, event, exhibition หรือ inspiration art เราก็เลยนึกถึงการจัดงาน ตกแต่ง หรือจัดกิจกรรมศิลปะในโรงแรม ก็เลยคุยกับลูกค้าว่า งั้นก็เอา art fair มาอยู่ในโรงแรมไหม พอลูกค้าตกลงมันก็กลายเป็นเรื่องบังเอิญให้เราลองทำ ปีแรกเหมือนเป็นการทดลอง กึ่ง ๆ เขาจ้างเราให้ทำด้วยแหละ หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่าคอนเซ็ปต์งานนี้ไม่มีคนเสียเลย มีแต่คนได้กับได้ คือโรงแรมก็ได้ ศิลปินก็ได้ เราเองก็ได้ รู้สึกว่าไม่มีคนเสียเปรียบ คนสามารถมาดูงานศิลปะที่โรงแรมที่เดียวแต่เหมือนได้ไปแกลเลอรีทั่วประเทศ งานแบบนี้น่าจะมีอนาคต ปีต่อมาเราก็เลยทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไผทวัฒน์: คือผมมีคอนเนคชันกับแกลเลอรีและศิลปิน เมื่อก่อนเคยทำรายการใน YouTube ชื่อ Art Scene TV ก็เลยเอาศิลปินดังตอนนั้นมาคุยแบบบ้าน ๆ เอาจริงไม่คิดว่า Hotel Art Fair จะมาถึงวันนี้ พูดตรง ๆ ตอนแรกผมไม่ได้ happy เท่าไหร่นะ เพราะ Hotel Art Fair ยิ่งทำยิ่งเหนื่อย ความคาดหวังมันสูงขึ้น เมื่อก่อนเราแค่คาดหวังกับคนไทย ไม่ให้คนไทยด่าก็พอแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ต้องไม่ให้คนไทยด่า แล้วไม่ให้ต่างชาติด่าอีก แต่ตอนนี้เข้าปีที่ 6 ผมกลับดีใจ เรามีแกลเลอรีต่างชาติมาร่วม ทำให้เรารู้ว่ามาตรฐาน Hotel Art  Fair ควรจะต้องเป็นยังไง ถ้าให้เวลาอีก 2 ปีมาตรฐานจะเท่า ๆ กันทั้งเมืองไทยและเมืองนอก   The People: การจัดนิทรรศการในโรงแรมมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง ไผทวัฒน์: ความที่เราเปลี่ยนโรงแรมและแกลเลอรีทุกปี มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการรักษาความสดใหม่ได้ตลอด ยกตัวอย่างปีนี้จัดที่โรงแรม W Hotel กลางเมืองสาธร ทุกคนเดินทางมาได้ง่าย ข้อเสียคือความท้าทายในการติดตั้งงานแต่ละชิ้น วรทิตย์: โอ้โห เยอะมาก ข้อจำกัดมันเปลี่ยนไปทุกปีเพราะว่าเราเปลี่ยนโรงแรมทุกปี หลัก ๆ แล้วคือการจัดแสดงงานจะไม่สามารถห้อยหรือตอกอะไรได้ เพราะเดี๋ยวโรงแรมเขาจะเสียหาย ฉะนั้นศิลปินหรือแกลเลอรีต้องทำการบ้าน หาวิธีในการจัดแสดงงานของตัวเองยังไงให้ดีที่สุดสำหรับพื้นที่นี้จะเอื้ออำนวย มันยังมีข้อจำกัดอีกเยอะ เช่น จำนวนคนเข้าพัก การเลือกชั้นจัดแสดง สถานที่รถจะติดหรือเปล่า คือทุกอย่างมันก็เยอะไปหมด แต่ผมว่าการจัดที่โรงแรมมีข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย เพราะถ้าไปจัดงานตามแกลเลอรีที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า มันจะไม่มีที่จอดรถหรือรองรับคนได้เยอะขนาดนี้ เราไม่พูดถึงอิมแพคเมืองทองนะ เพราะโรงแรมมีทั้งร้านอาหาร ที่จอดรถ มีครบอะไรทุกอย่าง ผมคิดว่ามันเป็นสถานที่ที่เหมาะดีแล้ว [caption id="attachment_9294" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม แต๊บ – วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ[/caption]   The People: ทราบมาว่าอีกอย่างที่จัดงานในโรงแรม คือความต้องการบอกว่าศิลปะสามารถเข้าไปอยู่ได้ทุกที่? วรทิตย์: สมัยก่อนการดูงานศิลปะมันไกลเกินไป ยากเกินไปที่จะหาชม และยากเกินไปที่จะเข้าใจ บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีมันทำให้คนไทยส่วนใหญ่ห่างออกไปเรื่อย ๆ เราก็เลยคิดว่าการที่มาจัดในโรงแรมรูปแบบนี้ ทำให้ศิลปะมัน casual กว่า มันเป็นการพบกันครึ่งทางของทั้งคนดู ศิลปินหรือเจ้าของแกลเลอรี ทุกคนมาเจอกันจะได้พูดคุยกัน เพราะจริง ๆ แล้วศิลปะไม่ใช่สิ่งที่สูงส่ง เข้าใจไม่ได้ จับต้องไม่ได้ หรือต้องแพง มันไม่ใช่อย่างนั้น ทุกอย่างเป็นศิลปะ ประเด็นแรกก็เลยอยากให้คนเข้าใกล้ถึงงานศิลปะได้มากที่สุด ส่วนที่สองผมคิดว่าศิลปะมันจรรโลงใจนะ เหมือนดนตรีที่ทำอะไรบางอย่างข้างในจิตใจเราได้ ซึ่งผมคิดว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ต้องการสิ่งนี้ นอกจากอาหาร เครื่องดื่ม หรืออะไรก็ตามที่เราต้องการ ศิลปะเหมือนให้อาหารทางวิญญาณ จิตสำนึก ความรู้สึก ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญกับชีวิตเรา ก็เลยคิดว่าศิลปะน่าจะไปอยู่ทุกที่   The People: อีกฟังก์ชันหนึ่งในงานนี้ คือมีการเปิดซื้อขายงานศิลปะด้วย ส่วนตัวคุณสะสมงานศิลปะไหม วรทิตย์: อย่าเรียกว่าสะสมเลย นาน ๆ ซื้อทีมากกว่า ตัวเลขในบัญชีไม่ได้อยู่ในขั้นที่จะสะสมอะไรได้ แต่ถ้ามีโอกาสหรือชอบจริง ๆ ก็จะซื้อครับ ไผทวัฒน์: ผมซื้อบ้างนะ ซื้องานที่ชอบ แล้วงานที่ชอบมันเป็นราคาที่สามารถเอื้อมถึง แต่คุณต้องเข้าใจคำว่า Power of negotiation ก่อนที่ผมจะไปซื้องานใคร ผมต้องเข้าไปคุยกับเขา แล้วราคามันก็ต่ำลงได้   The People: มีคนที่ซื้อศิลปะเพื่อเก็งราคาไหม วรทิตย์: มีแน่นอน เยอะ แต่ในเมืองไทยอาจยังไม่มาก ซึ่ง 2-3 ปีหลังมา เรารู้จัก young collector เยอะมากเลย คือเป็นรุ่นเด็กกว่าพวกผม อาจมีอายุ 30 ขึ้นไปบ้าง เป็นนลูกหรือหลานเจ้าของธุรกิจอะไรบางอย่าง คนเหล่านี้จะเรียนเมืองนอก พอกลับมาจากเมืองนอก เขาก็จะได้ thinking หรือ influence ที่ว่าศิลปะเป็นเรื่องสำคัญ เขาจะมีความรู้ในเรื่องการลงทุนกับงานศิลปะ เขารู้เลยว่ามันดีกว่าซื้อกระเป๋า Hermes ดีกว่าซื้อนาฬิกา Rolex ดีกว่าซื้อหุ้นแน่ พักหลังมากเรารู้จักคนอย่างนี้เยอะมาก   The People: อยากรู้ว่าคนเหล่านี้เขามีการเก็งกำไรกันอย่างไร ไผทวัฒน์: เดี๋ยวนี้อินเทอร์เน็ตมีข้อมูลทุกอย่าง สามารถเข้าไปเสิร์ชข้อมูลได้เลยว่า งานนี้ซื้อมาเท่าไหร่ อีก 3 ปีข้างหน้าราคาประเมิณเท่าไหร่ แต่ปัญหาของคนไทยไม่ใช่เรื่องเงิน ปัญหาของคนไทยคือซื้อไปแล้วฉันไม่ชอบ ฉันเบื่อ แล้วฉันจะไปขายที่ไหนต่อ สมมติซื้อมา 2 แสน อย่างนาฬิกา Rolex มันยังสามารถปล่อยได้กำไรนิดหน่อย แต่งานศิลปะนี่คือจะไปขายใครวะ 2 แสนเนี่ย ขายแล้วราคาจะขึ้นหรือเปล่า เพราะเรายังไม่ได้เข้าระบบตรงนี้ ถ้าเรามีระบบล้อมันก็เริ่มหมุน เงินก็เริ่มสะพัดมา แล้วมันก็จะเริ่มทำให้ศิลปินรุ่นใหม่เติบโตขึ้น วรทิตย์: จริง ๆ แล้วคนหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดหรือเป็นคนที่คุมเกมอยู่ต้องบอกว่าเป็น gallerist หรือ gallery owner ซะส่วนใหญ่ อย่างเด็กศิลปะจบมา เขาก็หวังให้มีแกลเลอรีมาทาบทาม ให้เงินเดือนหรือให้สตางค์เพื่อทำงานสำหรับการจัดโชว์ในแกลเลอนีนั้น ๆ มันก็เหมือนค่ายเพลง คุณเป็นคนในสังกัด ใครได้เงินมาก็แบ่งตังค์กัน แกลเลอรีให้เงินไปก้อนหนึ่ง อีกปีหนึ่งมาโชว์ใหม่นะ นี่คือวิธีที่ทั้งแกลเลอรีทั้งศิลปินอยู่ได้ และแกลเลอรีพวกนี้เขาก็จะเลือกปั้นศิลปิน [caption id="attachment_9295" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม ท็อป - ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล[/caption]   The People: คนที่ซื้องานศิลปะเพื่อเก็งกำไร เขามองศิลปะเป็นสินค้าหรือมองในเชิงสุนทรียะ ไผทวัฒน์: เอาง่าย ๆ ผมชอบเปรียบเทียบกับนาฬิกา ถ้าคุณซื้อนาฬิกามาเรือนหนึ่ง เราจะซื้อเพราะน้ำหนัก ซื้อเพราะความยาว ซื้อเพราะความชัดเจนของตัวเลข วัสดุ หรือความฟิตกับข้อมือ ซึ่งมันก็เหมือนการซื้องานศิลปะที่ทุกคนซื้อเพราะเหตุผลต่างกัน บางคนซื้อเพราะชอบ ซื้อเพราะต้องการโชว์ออฟ ซื้อเพราะต้องการเข้าสังคมกลุ่มหนึ่ง บางคนมีเงินมากแต่ไม่มีเพื่อน ก็ซื้องานศิลปะเพื่อให้ได้แก๊งเพื่อนใหม่ ผมว่ามันตอบค่อนข้างลำบาก มันกว้างมาก แล้วแต่กลุ่มคนเลย   The People: จัดงาน Hotel Art Fair มาเป็นปีที่ 6 แล้ว คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการศิลปะเป็นอย่างไรบ้าง วรทิตย์: ไม่ต่างอะไรจากวงการอื่น ๆ นะ ก็จะมีคนที่เข้ามาแล้วก็ออกไป คนที่เป็นตัวจริงก็ไม่ต้องพูดอะไร แต่เทรนด์หนึ่งที่ผมเห็นคือทุกคนเริ่มสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง เริ่มสร้างตัวตน เริ่มมี Facebook โชว์งาน ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนหาดูงานศิลปะยากมาก เดี๋ยวนี้เริ่มสร้างคนที่เป็น professional มากขึ้น เป็นแนวโน้มที่ดีนะ   The People: ในสายตาคุณคิดว่าอะไรที่จะทำให้ศิลปินคนหนึ่งยืนหยัดทำงานเป็นอาชีพได้ วรทิตย์: นี่เป็นปัญหาที่พวกผมอยากรู้เหมือนกันว่า มันจะมีสักกี่หนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะเด็กเรียนจบมาหลายคนที่มีฝีมือดี ๆ เขาเก่งมาก แต่ถ้าเกิดไม่มีแกลเลอรีมาสนับสนุนเขา เขาก็จะอยู่แบบที่เรียกว่า “ศิลปินไส้แห้ง” อยู่ได้อย่างมาก 3 ปี สุดท้ายก็ต้อบไปรับงานอื่น ๆ มันไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ แล้วเด็กจบใหม่เดี๋ยวนี้เงินเดือนเริ่มต้น 18,000 - 20,000 มันอยู่ไม่ได้นะในสถานการณ์แบบนี้ ค่าเช่าบ้านเดือนละ 5,000 – 6,000 คือต้องอยู่อย่างลำบาก ก็เลยคิดว่าเม็ดเงินที่มันหมุนเวียนอยู่ในธุรกิจนี้จะต้องทวีคูณ ต้องใหญ่กว่านี้ ต้องเยอะกว่านี้ จะทำให้มูลค่าของทุกอย่างเริ่มมากขึ้น รายได้มันต้องสอดรับกับค่าครองชีพด้วย [caption id="attachment_9293" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม Hotel Art Fair[/caption]   The People: ทำไมศิลปินไม่สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ หลายคนต้องทำงานเป็นงานอดิเรก ไผทวัฒน์: พูดตรง ๆ เลยนะ ศิลปินมันไม่ใช่อาชีพประจำไง ทำไมถึงทำงานประจำกับพี่แต็บรู้ไหม เพราะวันศุกร์สิ้นเดือนเงินเดือนผมก็ออกแล้ว เงินเดือนมันออกตรงเวลาไง แต่อาชีพศิลปินในเมืองไทย ถ้าจะประสบความสำเร็จต้องเป็นเหมือน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ คือต้องทำได้ทุกอย่าง โปรโมทตัวเอง ขายงานตัวเอง คุยเกี่ยวกับงานตัวเอง มีระบบของงานตัวเอง ซึ่งศิลปินหลายคนไม่สามารถทำได้เหมือนอาจารย์เฉลิมชัย เขาถึงประสบความสำเร็จไง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เขาก็มี persona แบบนั้นไง ศิลปินส่วนใหญ่ก็จะวาดรูปคนเดียว introvert ไม่มีคนสนับสนุน แล้วก็หาคอนเนคชันไม่ได้ มันก็ไปต่อไม่ได้   The People: อย่างนี้แสดงว่าฝีมือดีอย่างเดียวไม่พอ? ไผทวัฒน์: พอ แต่ต้องใช้เวลา วรทิตย์: สำหรับผมคิดว่าฝีมืออย่างเดียวไม่พอหรอก เราเคยไปแบบปราสาทสัจธรรมที่พัทยา แล้วช่างแกะกำลังแกะสลักอยู่บอกว่า อีก 18 ปีกว่าจะเสร็จ รู้เลยว่าฝรั่งมาเห็นต้องขนลุกแน่ สกิลแกะของคุณจะอะไรขนาดนี้ แต่มันไม่พอไง มันต้องมีโชค มีบุคลิกภาพ มีโอกาส มีรสนิยม และต้องขวนขวาย ไหนจะคอนเนคชันอีก มันต้องมีหลาย ๆ อย่างที่ทำงานพร้อมกัน   The People: ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังแย่ ทำไมการขายงานศิลปะถึงยังประสบความสำเร็จ มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลขนาดนี้ วรทิตย์: ศิลปะนี่แปลกนะ คนทำจน แต่คนซื้อรวย ซึ่งการซื้อกับการเสพมันคนละเรื่องกันนะ ผมว่าคนซื้อคนในสังคมชั้นสูงอยู่แล้วในประเทศไทย เขาคงไม่ได้รับผลกระทบทางการเงินเท่าไหร่ จริง ๆ แล้วเขาอาจจะได้ผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่ก็ได้ เขาอาจะ make money อยู่มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ไผทวัฒน์: มันมีคำพูดหนึ่งของ ออสการ์ ไวลด์ ว่า “Rich people talk about art, but artist talk about money” คือ Quote นี้มันประมาณ 100 ปีแล้วนะ และมันก็ยังคงเป็นอยู่   The People: ศิลปินหลายคนมักบอกว่า เมื่อพื้นฐานคุณภาพชีวิตไม่ดี คนจึงคิดว่าศิลปะเป็นของฟุ่มเฟือย คุณเห็นด้วยไหม วรทิตย์: ถ้าการซื้ออะใช่ แต่การเสพไม่ใช่ ถ้าเกิดคุณบอกว่า ผมไม่เสพศิลปิน ผมไม่สนใจศิลปะเพราะว่าผมจน อันนี้ไม่จริง คุณสามารถเดินไปดูศิลปะฟรี ๆ ได้ คุณสามารถ appreciate ศิลปะได้ คุณสามารถให้อาหารกับจิตวิญญาณได้โดยไม่ต้องซื้อครับ [caption id="attachment_9289" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม Hotel Art Fair[/caption] [caption id="attachment_9290" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ และ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ผู้จัดงาน Hotel Art Fair ที่จับงานศิลปะมารวมอยู่ในห้องโรงแรม Hotel Art Fair[/caption]   ภาพโดย: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior)