หยาง เฟิ่งหลาน นักธุรกิจจีน ฉายา ราชินีงาช้างแห่งแทนซาเนีย

หยาง เฟิ่งหลาน นักธุรกิจจีน ฉายา ราชินีงาช้างแห่งแทนซาเนีย
เมื่อจีนมั่งคั่งขึ้นความต้องการในทรัพยากรก็พุ่งสูงขึ้นตามกำลังซื้อ ทุนจีนบุกไปทุกแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะแอฟริกา จีนกลายเป็นผู้ให้ทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ของทวีป เปิดช่องให้นายทุนจีนเข้าไปครอบงำเศรษฐกิจของท้องถิ่นต่าง ๆ จนทำให้ถูกเปรียบเปรยว่าไม่ต่างจากการล่าอาณานิคมเมื่อสองศตวรรษก่อน  หนึ่งในทรัพยากรของแอฟริกาที่ถูกหมายตาจากทุนจีนมากที่สุดคือ "สัตว์ป่า" ที่ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ และนักธุรกิจจีนที่เข้ามาทำธุรกิจค้าของป่าจากแอฟริกาจนมั่งคั่ง ก็คือ หยาง เฟิ่งหลาน (Yang Fenglan) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชินีงาช้างแห่งแทนซาเนีย"  งาช้างเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดจีนและประเทศรอบข้างในเอเชียที่มีชุดความเชื่อในเรื่องค่านิยม โชคลาง และการแพทย์แผนโบราณคล้าย ๆ กัน เมื่อชาวจีนที่ประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจต่างแสวงหาทรัพยากรอันล้ำค่านี้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจึงแปรผกผันกับจำนวนช้างแอฟริกัน ทำให้ตัวเลขของช้างแอฟริกาลดลงเกือบ 1 ใน 3 ในชั่วระยะเวลาระหว่างปี 2007 ถึง 2014 หรือหายไปกว่า 100,000 ตัว ภายในเพียงทศวรรษเดียว  การทำลายล้างดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยเครือข่ายของคนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนายพราน เจ้าหน้าที่ที่ฉ้อฉล และพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง หลายประเทศพยายามเร่งทลายเครือข่ายดังกล่าวลง เพื่อรักษามรดกทางธรรมชาติของโลกเอาไว้ เมื่อต้นปี 2019 ได้มีการประกาศข่าวในแทนซาเนียถึงการตัดสินลงโทษแม่ค้างาช้างคนกลางรายใหญ่ “หยาง เฟิ่งหลาน” นักธุรกิจชาวจีน ที่ทำธุรกิจในแทนซาเนียมานานหลายทศวรรษ พร้อมของกลางเป็นงาช้างน้ำหนักรวมเกือบ 2 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ข้อมูลของ China Daily สื่อภาษาอังกฤษของพรรคคอมมิวนิสต์กล่าวว่า หยาง เดินทางมายังแทนซาเนียเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970s โดยเป็นหนึ่งในนักศึกษาจีนกลุ่มแรกที่จบภาษาสวาฮีลีที่ใช้กับแพร่หลายในแอฟริกาตะวันออกรวมถึงแทนซาเนีย เนื่องจากทศวรรษก่อนหน้า จีนวางแผนที่จะเข้าไปลงทุนก่อสร้างทางรถไฟระหว่างแทนซาเนียและแซมเบีย จึงกระตุ้นให้นักศึกษาศึกษาภาษาท้องถิ่นเพื่อเข้าไปช่วยงานรัฐบาล หลังเรียนจบเธอจึงได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับเจ้าหน้าที่จีนในโครงการดังกล่าวซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่ปี 1970-1975 หลังเสร็จงานเธอก็เดินทางกลับประเทศเนื่องจากเป็นข้อกำหนดของรัฐบาล เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศและให้เสรีภาพในการเดินทางออกนอกประเทศแก่ประชาชนในช่วงทศวรรษที่ 90s เธอจึงนึกถึงโอกาสทางธุรกิจในแทนซาเนีย และเดินทางมาที่นี่อีกครั้งในปี 1998 เพื่อเช่าอาคาร  2 ชั้น เปิดร้านอาหารจีนในชั้นล่าง พร้อมกับบริษัทเงินทุนที่อยู่ชั้นบน รายงานของสื่อจีนปี 2014 ซึ่งตอนนั้นเธอยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาชี้ว่า ร้านอาหารของเธอคือแหล่งรวมคอนเนกชันทั้งนักการทูตจีนและเจ้าหน้าที่แทนซาเนียซึ่งหลายคนก็รู้จักเธอมาตั้งแต่สมัยที่เธอยังทำหน้าที่เป็นล่าม และแม้จะออกมาทำธุรกิจเต็มตัวแล้ว เธอก็ยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลแทนซาเนียและรัฐบาลจีน โดยเธอได้เดินทางร่วมไปกับคณะทูตแทนซาเนียประจำประเทศจีนที่ออกทัวร์โปรโมตการค้าของสองประเทศในหลายโอกาส แต่รายงานของ BBC ในปี 2016 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่แทนซาเนียทราบเบาะแสระแคะระคายมานานพอสมควรแล้วว่าเธอมีธุรกิจมืดอยู่เบื้องหลังโดยได้ทำหน้าที่จะเป็นคนกลางระหว่างนายพรานในแอฟริกาตะวันออกกับลูกค้าในเมืองจีนมาไม่น้อยกว่าสิบปี หลังเจ้าหน้าที่ทำการเกาะรอยของเธอมาได้พักใหญ่จึงได้บุกจับเธอในเดือนตุลาคมปี 2015  ซึ่งเธอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เบื้องต้นเมื่อข่าวการจับกุมนักธุรกิจที่เป็นถึงรองประธานหอการค้าจีน-แทนซาเนีย แพร่หลายออกไป กระทรวงการต่างประเทศของจีนปฏิเสธที่จะให้ความเห็นโดยชี้ว่าทางกระทรวงไม่ได้มีข้อมูล และรายงานปี 2016 ของ China Daily กล่าวว่า คดีของหยางมีการเลื่อนพิจารณาหลายครั้ง ครั้งแรกเป็นเวลา 6 เดือน และครั้งที่สองอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจาต่อรองระหว่างคณะตุลาการในศาลท้องถิ่นกับศาลสูง หลังการดำเนินคดีที่ยืดเยื้อมากว่า 4 ปี ศาลแทนซาเนียจึงได้มีคำพิพากษาว่าหยาง วัย 69 ปี มีความผิดในข้อหาลักลอบขนงาช้างจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ตัว (เท่าที่พบหลักฐาน) ออกนอกประเทศ ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ทางการจีนซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2018 ได้สั่งห้ามการค้างาช้างในประเทศไปก่อนแล้ว ก็ออกมาให้การสนับสนุนการลงโทษหยาง โดย เก็ง ช่วง (Geng Shuang) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมากล่าวว่า "เราจะไม่ปกป้องพลเมืองจีนที่ทำผิดกฎหมาย และให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแทนซาเนียในการสอบสวนอย่างเป็นธรรมและดำเนินคดีไปตามกระบวนการทางกฎหมาย" (Reuters)   ด้านฝ่ายอนุรักษ์อย่าง อมานี งูซารู (Amani Ngusaru) ผู้อำนวยการประจำแทนซาเนียของมูลนิธิ WWF (Word Wide Fund for Nature) แม้จะยินดีที่ได้เห็นคนกลางรายใหญ่ต้องโทษ แต่ก็กล่าวว่า "บทลงโทษมันไม่ได้สัดส่วนกับความเลวร้ายที่เธอได้ทำลงไป เธอต้องรับผิดชอบกับการล่าช้างนับหมื่นนับพันตัวในแทนซาเนีย"  ทั้งนี้ แทนซาเนียถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยในการสำรวจเมื่อปี 2009 พวกเขาพบช้างป่าจำนวน 110,000 ตัว แต่ 5 ปีผ่านไป คือในปี 2014 พบช้างป่าเหลืออยู่เพียง 43,000 ตัว เท่านั้น ส่วนราคาซื้อขายงาช้างดิบที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปในจีนได้เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าในรอบสี่ปี โดยในปี 2014 ราคาขายกันในตลาดได้ขึ้นมาอยู่ที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม (Statista ด้วยจำนวนเงินมหาศาลที่น่าจูงใจ การจับกุมตัวผู้ค้าคนกลางได้หนึ่งคนก็ใช่ว่าจะยุติเครือข่ายการค้าสัตว์ป่าระดับนานาชาติลงได้ง่าย ๆ  "ช้างแทนซาเนียเป็นเหยื่ออันโอชะของบรรดาพรานเถื่อนหรือนักค้าของเถื่อน แต่การจับกุมครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า วันเวลาที่มาเฟียงาช้างถือเป็นผู้ที่ไม่อาจแตะต้องได้กำลังจะถึงวันสิ้นสุด" งูซารูกล่าว (WWF) ก่อนเสริมว่า "การจับกุมครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่จะหยุดแค่นี้ไม่ได้ พวกเขาจะต้องเร่งจัดการเครือข่ายผิดกฎหมายนี้ให้สิ้น มุ่งเป้าไปที่เจ้าพ่อเจ้าแม่ตัวใหญ่คนอื่น ๆ ไม่งั้นช้างแทนซาเนียก็จะต้องถูกฆ่าต่อไป"