สัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติ MD หนุ่มแห่ง 'The Origin' ผู้รักการท้าทายตัวเอง
“ผมน่าจะเป็นพวกพันธุ์ที่แบบโรคจิต ชอบ challenge ชอบทำอะไรที่มันยาก ๆ” เป็นตอนหนึ่งที่ บู้-อภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติ บอกกับ The People
ชายร่างเล็ก บุคลิกคล่องแคล่ว มีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มอยู่เสมอคนนี้ ผ่านงานที่เรียกได้ว่าหลากหลาย เริ่มต้นที่บริษัทสิ่งพิมพ์ ต่อด้วยบริษัทสี ก่อนกระโจนเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านบริการหลังการขาย กระทั่งก้าวสู่ตำแหน่ง ‘MD’ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI หนึ่งในอสังหาฯ เบอร์ต้นของไทย
อภิสิทธิ์รับหน้าที่ดูแลคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ล่าสุดของบริษัท ในชื่อ ‘The Origin’ (ดิ ออริจิ้น) เจาะกลุ่ม first jobber และกลุ่มซึ่งมองหาที่อยู่อาศัยแห่งแรก ตั้งอยู่บนทำเลย่านรามคำแหง สุขุมวิท รัชดา ลาดพร้าว รามอินทรา และพหลโยธิน โดยเตรียมอวดโฉม ‘The Origin Ram 209 Interchange’ โครงการแรกของแบรนด์ ‘The Origin’ อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้
เขาไม่เคยกลัวความเปลี่ยนแปลง แต่กลับชอบมันเสียด้วยซ้ำ พอ ๆ กับการหลงรักความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งชีวิตของอภิสิทธิ์อาจเป็นที่มาของป้ายนีออนปลุกใจ ข้อความว่า “Change is opportunity” ซึ่งแขวนอยู่ในสำนักงานใหญ่ออริจิ้นบนตึกภิรัช ทาวเวอร์ บางนา ก็เป็นได้
The People: ชีวิตในห้องเรียนของคุณเป็นแบบไหน
อภิสิทธิ์: ผมเรียนสายศิลป์มาบ้าง สายพาณิชย์บ้าง สุดท้ายผมจบด้านโฆษณาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงครับ จริง ๆ แล้วช่วงที่ศึกษาอยู่ตั้งแต่เด็กจนโต เป็นคนที่หาโฟกัสอะไรไม่ค่อยได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หาตัวตนของตัวเองยังไม่เจอเท่าไหร่ แต่ลึก ๆ ชอบด้านศิลปะจึงเลือกเรียนโฆษณา เพราะโฆษณาก็ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน
จบมาก็ยังเป็นช่วงค้นหาตัวตน เลยมองว่าถ้าอย่างนั้นงานอะไรที่ทำได้ก็เริ่มทำไปก่อน ซึ่งงานแรกที่ทำคือเป็น AE บริษัทญี่ปุ่นเกี่ยวกับพวกสิ่งพิมพ์ จากนั้นก็ย้ายไปทำงานในบริษัทสี ช่วงนั้นเริ่มเรียนรู้ว่าไม่ชอบอะไรและชอบอะไร เริ่มโฟกัสกับตัวเองได้แล้ว เลยมองว่าเราอยากทำการตลาด จึงไปทำเกี่ยวกับการตลาด เรียนรู้งานออกแบบดีไซน์ ก็เริ่มมีทักษะมากขึ้น เหมือนกับ level up ให้ตัวเอง
หลังจากนั้นได้โอกาสทำงานเกี่ยวกับออร์กาไนเซอร์งานอีเวนท์ ทำให้รู้งานการตลาดมากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นงานโปรดักชัน งานกราฟิกดีไซน์ งานออกอีเวนท์ เราเข้าใจหมด
The People: วกเข้าแวดวงอสังริมทรัพย์ได้อย่างไร
อภิสิทธิ์: บริษัทสีที่ทำเป็นสีโรงงานอุตสาหกรรมและสีทาบ้าน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ามาอยู่ในวงการใกล้เคียงกับวงการอสังหาฯ ต่อจากนั้นได้ทำงานอสังหาฯ ที่แรก ทำเกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ดูแลงานหลังการขาย ดูแลลูกค้าที่เป็นลูกบ้านที่เข้าอยู่อาศัยแล้ว ลักษณะงานเหมือนเป็นพร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ ทำยังไงให้คนอยู่อาศัยมีความสุข ดังนั้นเราก็จะหาเซอร์วิสต่าง ๆ มาช่วยให้การอยู่อาศัยของเขาง่ายขึ้น แล้วส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนรู้มาก ๆ เลยพยายามปรับตัวเพื่อเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตรงหน้า
ปัญหาที่เกิดขึ้นของลูกบ้านเป็นปัญหาที่เขาต้องการคนช่วยทันที ยกตัวอย่างถ้าผมมีปัญหาก๊อกน้ำรั่ว และถ้ามีใครสักคนมาคอยดูแลให้ผมได้เลย ผมจะรู้สึกดีแค่ไหน ดังนั้นก็เหมือนกับเป็นกระจกที่มองสะท้อนว่าถ้าเกิดขึ้นกับเราล่ะ เราจะรู้สึกยังไง
ตอนนั้นเราเลยทำเซอร์วิสให้ลูกค้าแบบ concierge (กงเซียจ-ผู้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทุกอย่างของแขกที่พักในโรงแรม) ลูกค้ามีปัญหาโทรเข้ามาเลย เดี๋ยวหาทางจัดการให้ ประสานงานไปทางนิติบุคคลหรือคนที่รับผิดชอบได้ให้ ซึ่งก็ทำให้ลูกค้าแฮปปี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนถามว่าแก้ปัญหาไหนแล้วภูมิใจสุด ต้องบอกว่าทุก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมว่ามันเป็นอะไรที่ยาก เมื่อแก้ได้เราก็ภูมิใจหมด
เราทำเซอร์วิสมาสักพักหนึ่ง แล้วรู้สึกอยากมันส์กับมัน อยากไปดูว่า เฮ้ย ถ้าได้มีโอกาสทำโปรดักท์หรือทำคอนโดมิเนียม ทำบ้านเดี่ยวอะไรสักอย่างที่เป็นอสังหาฯ อย่างจริงจัง เราจะรู้สึกยังไง ซึ่งก็ได้โอกาสมาทำกับบริษัทอสังหาฯ อีกแห่ง ได้คิดคอนเซปต์งานตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ดูที่ดินจนถึงส่งมอบให้ลูกค้า ตรงนั้นเราพบว่าได้ใช้ทักษะที่มีตั้งแต่เริ่มทำงาน แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าด้านหน้าคือโปรดักท์ดี หลังบ้านก็จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
The People: ถือว่าเปลี่ยนทิศทางอาชีพตัวเองอยู่เหมือนกัน?
อภิสิทธิ์: ใช่ครับ เปลี่ยนอาชีพเลย แต่ไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด เราทำเซอร์วิสมา ถ้าเราไม่ทำโปรดักท์ ทำแต่เซอร์วิสตรงนั้นไปเรื่อย ๆ ก็จะรู้แค่ด้านเดียว ถ้าอยากรู้ให้หมดทุกด้านของการทำอสังหาฯ ก็ต้องทำโปรดักท์ด้วย
เราเอาทักษะติดตัวไปด้วยทุกที่เพื่อให้อาชีพของเราดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเสมอ ถ้าตัวเราไม่เปลี่ยน ตัวเรานี่แหละที่จะไม่ได้ไปต่อ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนตลอดเวลา และบางครั้งคนเราก็มีการถอยหลัง ผมก็เคยถอยหลัง แล้วผมก็เคยเดินไปข้างหน้าได้ไกลกว่าเดิม เพราะฉะนั้นผมยังเชื่อว่าวันหนึ่งถ้าเราได้ถอยหลัง แต่ทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น มันก็ทำให้เรามีชีวิตที่สนุก แฮปปี้ขึ้น
The People: หมายความว่าอย่างไรที่บอกว่า เคยถอยหลังแล้วเดินไปข้างหน้าได้ไกลกว่าเดิม
อภิสิทธิ์: อย่างตอนเป็น AE สิ่งพิมพ์ ถ้าผมก้าวเดินในวงการสิ่งพิมพ์ต่อไป ผมจะไม่ได้เป็นนักอสังหาริมทรัพย์ ผมจะไม่ได้ทำการตลาด และวงการสิ่งพิมพ์จะเป็นขาลง วันนั้นผมบอกตัวเองว่าอยากทำการตลาด และอยากใช้สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานเอามาทำการตลาดให้มันดี สมัยนั้นผมเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ แต่ได้เงินเดือน 40,000-50,000 บาท ถือว่าได้เงินเยอะมาก แต่เรายอมหั่นตรงนั้นออกเพื่อให้ไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น ได้โฟกัสกับสิ่งที่ต้องการจริง ๆ
The People: ดูเป็นคนที่ชอบท้าทายตัวเอง?
อภิสิทธิ์: ผมน่าจะเป็นพวกพันธุ์ที่โรคจิต ชอบ challenge ชอบทำอะไรที่มันยาก ทุกอย่าง ทุกครั้ง ถ้าเจออะไรยาก ๆ จะรู้สึกว่าน่าสนใจ มีเสน่ห์มากกว่าของที่ง่าย ๆ เพราะของที่ยากแล้วเราทำได้ จะมีคนมามองเราเยอะ มีสปอตไลท์เกิดขึ้น จะทำอะไรง่าย ๆ บางทีสปอตไลท์ก็มีแหละ แต่อาจจะมีน้อย แล้วการทำอะไรยาก ๆ ได้ ทำให้เรารู้สึกชนะ พอชนะแล้วก็จะมี challenge กลับมาตลอดอีก
เพราะฉะนั้นผมเป็นเผ่าพันธุ์ที่พร้อมจะลุยไปข้างหน้า คือถ้าเราเจอเรื่อง challenge มันจะสนุก ถ้าสนุกจะอยากทำเต็มที่ แล้วถ้าผลงานออกมาดีไม่ดียังไง เรารับผิดชอบและรับได้กับมัน
The People: การดูแลคอนโดฯ แบรนด์ ‘The Origin’ ถือว่าท้าทายมากน้อยแค่ไหน
อภิสิทธิ์: มากกกก (ลากเสียง) คือแกนหลักของแบรนด์ ‘The Origin’ มาจากความเชื่อที่ว่า คนทุกคนมีคุณค่าของตัวเอง คือสังคมชอบบอกว่าคุณต้องมี passion นะ คุณต้องไปข้างหน้า คุณอย่าอยู่ใน comfort zone นะ
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง คนบางคนไม่ได้ต้องการออกจาก comfort zone เพราะว่ามีบางอย่างที่เขามองว่าสำคัญกว่า เช่น ตกเย็นฉันไปวิ่ง ไปออกกำลังกาย ร่างกายแข็งแรง ทำไมฉันต้องไปดิ้นรนเพื่อใฝ่หาอะไรใหม่ ๆ ฉันมีความสุขดี ฉันได้อยู่กับครอบครัว เรามองว่าคนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก แต่สังคมไม่ได้มองเขา ดังนั้น เราเลยอยากให้บางคนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และรู้ว่าคุณค่าของตัวเองเป็นอย่างไร แล้วอยู่กับมัน ใช้ชีวิตกับสิ่งที่คุณเลือก เราเชื่อว่าถ้าคุณ live your value คุณก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นใครเลย
The People: ปัจจุบันธุรกิจคอนโดฯ มีการแข่งขันสูงมาก คิดว่าอะไรคือจุดแข็งของ ‘The Origin’
อภิสิทธิ์: เรามีทรัพยากรค่อนข้างดี ก็คือพนักงานของเรานั่นแหละ ค่าเฉลี่ยอายุพนักงานในออริจิ้นอยู่ที่ประมาณ 28 ปี เป็น first jobber ที่เรียนจบแล้วทำงานเก็บเงิน จากนั้นก็เริ่มมองหาอสังหาฯ แห่งแรกของตัวเอง ซึ่งก็ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของ ‘The Origin’ เราเลยเอาทรัพยากรตรงนี้มาเป็น R&D ให้พนักงานมาแลกเปลี่ยนความเห็น พูดคุยกันเพื่อให้ได้ customer journey ตื่นเช้ามาทำอะไร เข้าห้องน้ำแล้วทำอะไรต่อ จากนั้นทำอะไรอีก คือเป็นสเต็ป ๆ จนเราเข้าใจว่าพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่หรือว่ากลุ่ม first jobber เป็นแบบนี้ ๆ เพราะฉะนั้นต้องออกแบบให้แมตช์กับไลฟ์สไตล์เขา เป็นเรื่อง empathy คือเข้าอกเข้าใจเขา
จริง ๆ เราเอาตัวเองเข้าไป ดูว่าเราทำอะไรในแต่ละวัน แล้วเอามาใส่กับโปรดักท์ ให้เรารู้สึกว่าเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโปรดักท์แล้วเราแฮปปี้กับมัน หรือเราเอาไลฟ์สไตล์ของคนเข้าไปใส่ แล้วเขาจะเป็นยังไง ไม่ใช่เอาความเป็นดีเวลอปเปอร์ไปใส่
อีกอย่างคือออริจิ้นเป็นบริษัทที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับบริษัท เพราะฉะนั้นทุกคนจะมีไอเดียใหม่ ๆ เยอะมาก เราก็จะเอาไอเดียพวกนี้มาผสมผสานกับความคิดของคนมีประสบการณ์ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ในตลาด หรือสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกมีความสุข
The People: first jobber ต้องการอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อภิสิทธิ์: customer journey ของคนคือถ้าซื้ออสังหาฯ นี่คือซื้อคำว่า ‘โปรดักท์’ แต่ปลายทางที่เขาอยู่อาศัยต้องมีคำว่า ‘เซอร์วิส’ ด้วย เราเลยเอาทั้งสองคำนี้มาผสมผสานในการออกแบบ
ยกตัวอย่าง ผู้หญิงที่อยู่คอนโดฯ จะมีปัญหาเรื่องตู้เสื้อผ้าเต็ม ใส่ไม่พอ เพราะคอนโดฯ มีตู้ไว้ให้แค่นี้ แต่ถ้าเราให้มากกว่านั้นล่ะ ตู้เสื้อผ้าที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นไหม หรือบางคนรักรองเท้าสนีกเกอร์ ฉันไม่มีที่เก็บเพราะฉันอยู่คอนโดฯ มีที่เก็บรองเท้าแค่ 3-4 คู่ก็เต็มแล้ว บางคนตอนนี้เก็บรองเท้าในรถ แต่ถ้าเรามีที่เก็บให้มากกว่านั้นคุณจะแฮปปี้ไหม เพราะฉะนั้นเราก็พยายามออกแบบให้แมตช์กับไลฟ์สไตล์ของคน ให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องมานั่งคิดอะไรพวกนี้ ให้เขาโฟกัสกับเรื่องอื่นดีกว่า นี่คือวิธีคิดของเรา
The People: เคยไหมที่วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าแล้วไม่เป็นอย่างที่คิด
อภิสิทธิ์: มีที่เราพยายาม push สิ่งต่าง ๆ ให้ลูกค้า แต่บางทีลูกค้าไม่ได้ให้คุณค่า เพราะว่าไม่ได้ใช้หรือใช้งานค่อนข้างยาก อย่างเช่น ผ้าม่าน ถ้าเราใส่ผ้าม่านเปิดปิดอัตโนมัติเข้าไป ตื่นเช้ามาเราต้องเปิดมือถือ นั่งกดรหัสก่อน 5 ตัว แล้วก็หาแอปพลิเคชันเปิดผ้าม่าน หมดเวลาไปแล้ว 2-3 นาที แต่ถ้าลุกขึ้นไปเปิดผ้าม่านปุ๊บก็เสร็จแล้ว คือบางอย่างที่คิดแล้วไม่แมตช์กับพฤติกรรมของคนเลยจริง ๆ ก็ต้องยอมรับ ต้องเอาออก กลายเป็นบทเรียนว่าถ้าจะทำอะไรก็ต้องหาทางให้ตอบโจทย์ชีวิตมากที่สุด
The People: มีวิธีสื่อสารหรือสร้างความเชื่อมั่นอย่างไร เพราะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แม้จะอยู่ในบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาฯ มาหลายปีแล้วก็ตาม
อภิสิทธิ์: ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องแบรนดิ้งผสมกับการทำโปรดักท์ ซึ่งประมาณเดือนกรกฎาคมนี้เราจะสื่อสารแบรนด์ออกไป
ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดตั้งแต่คุณโด่ง (พีระพงศ์ จรูญเอก ซีอีโอของออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้) ก่อตั้งบริษัทในปี 2552 คือการเข้าใจลูกค้า ซึ่งนี่น่าจะเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเชื่อมั่นในโปรดักท์ของออริจิ้น
The People: สำหรับออริจิ้นที่ก่อตั้งมาสิบปี เก็บเกี่ยวบทเรียนมาอย่างไร และมองทิศทางข้างหน้าแบบไหน
อภิสิทธิ์: ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมองค์กร เราจะพยายามคุยกัน แก้ปัญหากันแบบพี่น้อง ช่วยเหลือกัน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าทุกคนในองค์กรมีความเป็นกันเองกันหมด เพราะเรามองว่าออริจิ้นเป็นเหมือนบ้านอีกหลัง แล้วทุกคนจะไม่ได้ถือตัวว่าฉันเก่ง ฉันเยี่ยม ฉันอยู่สูง ฉันต้องมีคนเซอร์วิส ทุกคนจะพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า ซึ่งผมคิดว่ามันทำให้เราได้อยู่กับจุดที่มีความสุขในการทำงาน พอสภาพแวดล้อมดี ก็ส่งผลดีต่อโปรดักท์และเซอร์วิส
ผมไม่ได้อยู่ในช่วงก่อตั้งบริษัท แต่ที่ผ่านมา ทั้งองค์กร ทั้งพนักงาน เราต่างเรียนรู้จากอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้น เรียนรู้จากสิ่งที่ผิด เรียนรู้จากสิ่งที่ถูก เรียนรู้จากคู่แข่ง เรียนรู้จากลูกค้า พวกนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งหมด แน่นอนว่าในอนาคตก็ยังเป็นเรื่องท้าทาย เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่สิ่งที่เราพยายามรักษาไว้คือการเป็นบริษัทอสังหาฯ ติดอันดับท็อป 10 ของประเทศ และเติบโตต่อในวันข้างหน้า สักวันหนึ่งอาจเห็นออริจิ้นอยู่ท็อปสุดของวงการอสังหาฯ ก็เป็นได้
The People: แล้วตัวคุณเองมองทิศทางข้างหน้าอย่างไร หลังท้าทายตัวเองมาตลอดชีวิต
อภิสิทธิ์: ณ วันนี้ถือว่าทำมาระดับหนึ่ง ยังไม่มองตัวเองว่าไปถึงที่สุด แต่ได้ใช้สิ่งที่เรามีทั้งหมดมาทำอะไรบางอย่างให้เราเอง แล้วเราก็มีความสุขกับสิ่งที่คิด ที่ออกมาเป็นรูปธรรม จากนี้คิดว่าคงพยายามเอาสิ่งที่เรามีถ่ายทอดให้คนอื่น ให้เขาเข้าใจว่าการทำงานมีทั้งสนุก มีทั้งล้มเหลว และมีทั้งที่บอกว่าไปต่อไม่ไหว ส่วนการเรียนรู้ของเราก็คงเรียนรู้ต่อไปไม่มีหยุด เพราะเชื่อว่าวงการอสังหาฯ มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งอยู่แล้ว