มันคงมีกันบ้างล่ะน่า วันที่คุณเจอหัวหน้าโยนงานใส่ตั้งใหญ่ เพื่อนร่วมงานชอบอู้ เจ้แผนกข้าง ๆ ก็เอาแต่จับตาดูว่าคุณจะทำพลาดอะไรเพื่อเอาไปเม้าธ์ต่อ แถมนังรุ่นน้องแอ๊บแบ๊วนี่ก็ไม่เห็นทำอะไรนอกจากฉอเลาะคนนั้นคนนี้ไปมา แล้วเหตุการณ์ทั้งหมดนี่ก็ดันเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน และถ้านั่นยังไม่หนักหนาพอ คุณกำลังขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้านและพบว่ามันอัดแน่นไปด้วยพนักงานออฟฟิศจนหายใจแทบไม่ออก กว่าจะถึงบ้าน ฝนก็ตก อากาศก็ชื้น และคุณก็ยับยู่ยี่สุดขีดมาแล้วจากที่ทำงานและการเดินทาง ทั้งหมดนี้ทำให้คุณอยากแหกปากตะโกนกู่ร้องให้ก้องโลกว่า "ไม่ไหวแล้วโว้ย!" และที่ที่เอื้อให้คุณทำอย่างนั้นได้ ก็มีแต่เพียงห้องคาราโอเกะลับหูลับตาคน และเพลงเมทัลร็อคเท่านั้น
และหากว่าคุณเคยเผชิญสถานการณ์ข้างต้นนี้จริง ๆ ก็คงจะเป็นเหตุผลที่มากพอว่าทำไมเราจึงอยากชวนดู Aggretsuko อนิเมะความยาวตอนละ 20 นาทีที่ฉายอยู่ทาง Netflix ตอนนี้ มากราดเกรี้ยวไปพร้อม ๆ กับ “เร็ตสึโกะ” กันเถอะ!!
[caption id="attachment_9464" align="alignnone" width="825"]
เร็ตสึโกะ[/caption]
Aggretsuko หรือ เร็ตสึโกะจอมกราดเกรี้ยว (Aggressive Retsuko) คือผลงานอนิเมะโดย เยติ (Yeti) ภายใต้การดูแลของ Sanrio บริษัทผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนในวัฒนธรรมป๊อปหลายตัว ที่ดังหน่อยและคุ้นเคยกันดีคือเจ้าเหมียว เฮลโล คิตตี้, ไข่ขี้เกียจ กุเดทามะคุง, กบเคโระ และแบด แบดต์ซ มารุ ซึ่งเร็ตสึโกะและผองเพื่อน คือผลงานการออกแบบครั้งล่าสุดของซานริโอ ที่ยังคงคอนเซปต์เดิมในการออกแบบตัวละคร นั่นคือการสร้างตัวละครที่มีรูปลักษณ์เป็นสัตว์ที่ดำเนินชีวิตแบบเดียวกันกับมนุษย์ (anthropomorphic) โดยเล่าถึงเร็ตสึโกะ แพนด้าแดงที่เป็นพนักงานบัญชีในออฟฟิศธรรมดา แต่ละวันของเธอเคลื่อนผ่านไปอย่างเชื่องช้าและเกือบจะไร้ความหมาย หากแต่เร็ตสึโกะก็มีความสุขตามอัตภาพ เธอมี “เฟนเนโกะ” จิ้งจอกทะเลทรายผู้จริงใจ กับ “ไฮดะ” ไฮยีน่าลายจุดแสนเอื้ออารีเป็นเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าจะต้องเจอกับความหดหู่ใจอยู่บ้างก็ตรงที่หัวหน้า “ตัน” หมูร่างใหญ่ที่คอยดูแลแผนกบัญชีและตรวจสอบความเรียบร้อย และเช่นเดียวกันกับหัวหน้าหลาย ๆ คน เขามักโยนงานให้เร็ตสึโกะผู้ไม่มีปากมีเสียงทำกองใหญ่ ขณะที่ตัวเองผลาญเวลาที่มีไปกับการออกรอบตีกอล์ฟ
และด้วยเหตุนี้เอง หลังจากเร็ตสึโกะอดรนทนต่อความห่วยแตกของชีวิตการงานไม่ไหว เธอจึงหาทางระบายออกด้วยความลับเล็ก ๆ ของเธอ นั่นคือการระบายความในใจผ่านเพลงเมทัลสุดเดือด ในร้านคาราโอเกะลับแลแต่เพียงผู้เดียว ไม่ให้ใครมารู้มาเห็นได้ว่าสาวน้อยบอบบางอย่างเธอ แท้จริงแล้วกราดเกรี้ยวและเก็บงำความในใจไว้หนักหนาแค่ไหน
Aggretsuko ออกฉายครั้งแรกทางช่อง TBS ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 และได้รับความนิยมจนลากยาวมาถึงปี 2018 ก่อนที่มันจะถูกสร้างเอาไปลง Netflix และออกฉายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ชีวิตพนักงานสาวออฟฟิศที่ดูเหมือนจะเจาะกลุ่มคนดูชาวญี่ปุ่นกลับกระทบความรู้สึกของพนักงานออฟฟิศทั่วโลกเข้าอย่างจัง จนมีการสร้างซีซันที่สองตามมาติด ๆ และออกฉายในปี 2019 และยังคงมุ่งเน้นถึงชีวิตจำเจของเร็ตสึโกะ กับความคาดหวังแบบสังคมญี่ปุ่นว่าเธอจะต้องแต่งงานและมีลูกในเวลาอันใกล้นี้ เร็ตสึโกะจึงต้องเผชิญหน้ากับแม่ที่จู้จี้นัดบอดให้เธอ กับการพยายามดิ้นรนเพื่อหาความหมายในงานที่ตัวเองทำอยู่ พร้อมกันกับการเข้ามาของชายหนุ่มที่สนับสนุนให้เธอทำตามความฝัน... แม้เธอจะไม่รู้ว่าเธอฝันอยากเป็นอะไรกันแน่ก็ตามที
[caption id="attachment_9468" align="alignnone" width="2159"]
เร็ตสึโกะจอมกราดเกรี้ยว[/caption]
"กลุ่มเป้าหมายของฉันคือคนทำงานหรือคนที่กำลังอยากหาทางออกให้ชีวิต" เยติ (ซึ่งไม่ออกสื่อและอนุญาตให้สื่อนำเสนอตัวตนเธอแต่เพียงนามปากกาเท่านั้น) เล่าถึงต้นเรื่องการให้กำเนิดแม่แพนด้าแดงจอมกราดเกรี้ยว "ฉันว่าเร็ตสึโกะเป็นตัวละครที่คนดูเหล่านี้จะรู้สึกเห็นใจเธอได้ง่ายทีเดียว"
สิ่งที่เร็ตสึโกะของเยติแตกต่างไปจากตัวละครอื่น ๆ ของซานริโอ ตลอดจนตัวการ์ตูนอื่น ๆ ในวัฒนธรรมกระแสหลักของญี่ปุ่น คือการที่มันฉีกทำลายภาพลักษณ์น่ารักน่าชัง (หรือคาวาอิ) ไปโดยสิ้นเชิง เร็ตสึโกะเป็นแพนด้าแดงหน้าตาน่ารักและสุภาพก็จริง แต่เธอมีความโหดและดิบแฝงอยู่ในตัว ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเยติมองว่าความน่ารัก สดใสแบบวัฒนธรรมกระแสหลักของแต่ก่อนนั้นไปกันไม่ได้กับคนดูแล้ว "คนดูอยากเห็นอะไรใหม่ ๆ อยากเห็นตัวละครที่ต่างไปจากเดิมด้วยค่ะ"
"อีกอย่างนะ ฉันสนใจคนทำงานออฟฟิศมาก ๆ เพราะคนเหล่านี้แหละคือหัวใจของวัฒนธรรมหลักในญี่ปุ่น" เยติสาธยาย "และรู้อะไรไหม ฉันได้ยินพวกเขากรีดร้องด้วยความอัดอั้นอยู่ในใจทุกครั้งที่เห็นเลยล่ะ"
แน่นอนว่าเร็ตสึโกะและผองเพื่อนไม่ได้สะท้อนแค่คนทำงานออฟฟิศในญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่การที่มันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกาตลอดจนประเทศไทย ก็น่าจะเป็นหลักฐานชี้ชัดได้อย่างดีว่า ชีวิตบัดซบของเจ้าแพนด้าแดงนี้มันช่างโดนใจคนทำงานออฟฟิศเสียจริง ๆ ใครก็ต้องเคยเจอเจ้านายห่วยแตก เจอลูกค้าจอมวีน ไหนจะเพื่อนร่วมงานซื่อบื้อ หนักไปกว่านั้น ครอบครัวยังทำให้เรารู้สึกแย่หนักเข้าไปอีก ซีรีส์ฉายให้เห็นว่าเร็ตสึโกะ (เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นอีกหลายแสนคน) อาศัยอยู่ตัวคนเดียวในอพาร์ตเมนต์ แต่ละวันของเธอหลังกลับจากการทำงานที่ออฟฟิศคือการเดินทางกลับห้อง กินอาหารค่ำ เล่นอินเตอร์เน็ตและเข้านอน ชีวิตวนเวียนเป็นเครื่องจักร เป็นฟันเฟืองที่ช่วยหมุนเศรษฐกิจในสังคมให้รุดไปข้างหน้า กระทั่งเมื่อ “ทาดาโนะ” ลาหนุ่มที่เร็ตสึโกะเจอระหว่างเรียนขับรถ ก้าวเข้ามาในชีวิต และทำให้เร็ตสึโกะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความฝันในอนาคตของเธอคืออะไร แต่งงานเป็นเมียและแม่ของใครสักคน หรือทำตามอย่างทาดาโนะที่มุ่งมั่นมีเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน
[caption id="attachment_9465" align="alignnone" width="1536"]
ทาดาโนะ และ เร็ตสึโกะ[/caption]
วิธีคิดที่ให้คุณค่ากับปัจเจกและความฝันแบบทาดาโนะนั้นเพิ่งมาเฟื่องฟูเอาในสังคมตะวันออกช่วงไม่กี่สิบปีหลังนี้ เราจะพบว่าแม้แต่ในประเทศไทยเอง ยุคหนึ่งก็มีการสั่งสอนคนรุ่นใหม่ ๆ ให้ออกเดินทางค้นหาความฝันและเป็นตัวของตัวเอง แต่สังคมทุนนิยมไม่อนุญาตให้คุณทำแบบนั้น เด็กจบใหม่แบบอาไนคุงที่เข้ามาฝึกงานกับเร็ตสึโกะอาจจะมีความฝันแบบที่ทาดาโนะมี แต่สังคมไม่เอื้อให้เขาได้ทำอย่างนั้น เช่นเดียวกับเร็ตสึโกะ เธอมีชีวิตอยู่ภายใต้กรอบของสังคมมาโดยตลอด แม้กระทั่งการระบายอารมณ์กราดเกรี้ยวของเธอก็ยังต้องเป็นไปอย่างลับ ๆ ในห้องคาราโอเกะ การที่วันหนึ่งชายแปลกหน้าชวนให้เธอตั้งคำถามถึงความฝันจึงเป็นเรื่องสะเทือนใจเธอ (และอาจจะคนดูอีกหลาย ๆ คน) เข้าอย่างจัง เพราะเธอไม่มีคำตอบให้คำถามนั้น ทุนนิยมและสังคมการทำงานยังวางเธอและเพื่อนมนุษย์เงินเดือนเป็นหนึ่งในเครื่องจักรในออฟฟิศ ทาดาโนะอาจจะพูดถูกที่ว่าคนเราต้องมีความฝัน แต่ทาดาโนะอาจจะลืมไปว่า การจะเดินตามความฝันนั้นต้องมีต้นทุน เร็ตสึโกะไม่อาจลาออกจากงานแล้วเดินดุ่มค้นหาตัวเองโดยไม่รู้ทิศทางได้ มิเช่นนั้นก็อาจลงเอยแบบ “พูโกะ” แมวที่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยมัธยม ที่ดิ้นรนเปิดกิจการและมีชีวิตเป็นอิสระจากการตอกบัตร นำมาสู่ประโยคที่แสนเชือดเฉือนทว่าก็จริงใจว่า "ขอโทษเถอะ แต่ฉันต้องให้เธอ (พนักงานเงินเดือน) ใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ" เพื่อที่ว่าพูโกะจะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระต่อไป ค้นหาตัวตน เปิดร้านขายของที่หาความมั่นคงในครึ่งปีแรกไม่ได้ แต่สังคมก็จะไม่พังทลาย เพราะอีกด้านหนึ่งยังมีมนุษย์เงินเดือนที่ใช้ชีวิตอย่างตรงเวลาผ่านการตอกบัตรเข้าทำงานเพื่อเคลื่อนไหวองค์กรและเศรษฐกิจ
มันไม่ผิดอะไรที่เร็ตสึโกะจะยังตอบไม่ได้ว่าความใฝ่ฝันของเธอคืออะไร และแม้ว่าเธอ (หรือแม้แต่เราเอง) จะหาคำตอบให้คำถามนี้ไม่ได้ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรอีกเหมือนกัน เพราะการไม่มีความฝันมันไม่ได้เป็นความผิดบาปประการใด เราก็เพียงแต่ใช้ชีวิต ทำงานและรับผิดชอบ หากอดรนทนไม่ไหวกับความบัดซบก็อาจจะเปิดห้องคาราโอเกะสักห้อง แล้วแหกปากเพลงเมทัลร็อคเพื่อระบายความคับคั่งในหัวใจอันแล้งไร้ของเราบ้างก็เท่านั้น
เรื่อง: พิมพ์ชนก พุกสุข