04 ก.ค. 2562 | 10:42 น.
ภาษี คือรายได้หลักของรัฐต่าง ๆ ซึ่งโดยหลักการ รัฐก็ต้องนำเงินที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ หรือเพื่อประชาชนที่ ‘ยินยอม’ เสียภาษีให้ และการที่จะแน่ใจได้ว่า เงินภาษีของประชาชนจะถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม ประชาชนก็ควรต้องมี ‘ผู้แทน’ ที่เข้าไปดูแล ควบคุมการประกอบกิจการและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ
นี่คือหนึ่งในไอเดียตั้งต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน เพราะหากประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะให้ความเห็น หรือท้วงติงนโยบายใด ๆ ของรัฐ รัฐย่อมมีอำนาจทำการตามอำเภอใจต่อพวกเขา รวมถึงการเรียกเก็บภาษีโดยไม่เป็นธรรม และนั่นก็คือสิ่งที่ชาวอาณานิคมอเมริกันต้องประสบในช่วงศตวรรษที่ 18 เมื่ออังกฤษเรียกเก็บภาษีจากพวกเขาทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่อาจโต้แย้ง ซึ่งเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ชาวอาณานิคมลุกฮือนำไปสู่การปฏิวัติปลดแอกตนเองจากการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ
ก่อนหน้านั้น อาณานิคมอังกฤษมีอิสระพอสมควรในการปกครองตนเอง จากข้อมูลของ Britannica ถึงปี 1760 รัฐสภาอังกฤษออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาณานิคมอเมริกาเพียงราว 100 ฉบับ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทหารและเศรษฐกิจ ส่วนกฎหมายที่ออกโดยสภาท้องถิ่นในดินแดนอาณานิคมแม้จะต้องส่งไปให้ทางราชสำนักรับรอง แต่โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
จนกระทั่งเกิดสงครามแย่งชิงอิทธิพลในทวีปอเมริกาเหนือ ระหว่างอังกฤษฝ่ายหนึ่ง กับฝรั่งเศสที่ร่วมมือกับชนพื้นเมืองอเมริกันอีกฝ่ายหนึ่ง (ก่อนขยายไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ของโลก และมีมหาอำนาจอื่นของยุโรปเข้ามาเกี่ยวพัน) สงครามที่กินเวลายาวนานเกือบสิบปี (1754-1763) ทำให้อังกฤษเสียเงินเสียทองไปมากมายจนหนี้ท่วมหัว และทางอังกฤษก็ต้องการรักษาทหารประจำการนับหมื่นไว้ในดินแดนอาณานิคมต่อซึ่งก็ต้องใช้เงินอีกมาก
เพื่อเป็นการแก้ปัญหา รัฐสภาอังกฤษจึงคิดหารายได้เพิ่มด้วยการเรียกเก็บภาษีจากชาวอาณานิคมอเมริกันโดยตรง เพราะเห็นว่า สงครามที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอาณานิคม การคงทหารประจำการเอาไว้ก็เพื่อรักษาความมั่นคงของดินแดนอาณานิคมเอาไว้ ชาวอาณานิคมจึงควรมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายในส่วนนี้ด้วย กฎหมายฉบับแรกที่ถูกนำมาใช้บังคับชาวอาณานิคมก็คือ Sugar Act 1764 ซึ่งจริง ๆ ก่อนหน้านั้นก็มีกฎหมาย Molasses Act อยู่ก่อนแล้ว แต่การบังคับใช้อย่างหละหลวมทำให้มันแทบไม่มีผลบังคับใช้จริงในเชิงปฏิบัติ
กฎหมายฉบับใหม่ออกมาก็เพื่อให้ฝ่ายศุลกากรเข้มงวดกับการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำพวกน้ำตาลและกากน้ำตาลที่ถูกนำเข้ามาจากดินแดนแถบแคริบเบียนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของอังกฤษ เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบเหล่านี้มีราคาถูกกว่าน้ำตาลและกากน้ำตาลของอังกฤษ และผลของกฎหมายก็ทำให้ตลาดน้ำตาลของอเมริกาถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตจากหมู่เกาะอินเดียตะวันตกของอังกฤษ
อีกหนึ่งปีต่อมา รัฐสภาอังกฤษยังออกกฎหมาย Stamp Act 1765 ออกมาซ้ำเติม มันเป็นกฎหมายที่บังคับให้เอกสารต่าง ๆ ที่ผลิตในอาณานิคมจะต้องติดแสตมป์เสียภาษี ไม่ว่าจะเอกสารทางกฎหมาย นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือไพ่ ซึ่งเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาวอาณานิคมส่วนใหญ่ไม่อาจทนการกระทำของอังกฤษได้อีกต่อไป
สาเหตุที่ชาวอาณานิคมต่อต้านการเก็บภาษีของอังกฤษก็เนื่องจากภาษีเหล่านี้มิได้ผ่านการพิจารณาโดยผู้แทนของเขาเลย เพราะพวกเขาไม่มีผู้แทนในรัฐสภาอังกฤษ และสภาในท้องถิ่นอาณานิคมก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แถมผู้ฝ่าฝืนกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาอังกฤษยังถูกบังคับให้ขึ้นศาลทหารเรืออังกฤษ ซึ่งเป็นศาลที่ไร้คณะลูกขุน จึงเป็นการขัดต่อหลักการด้านกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในระบบคอมมอนลอว์ (common law เป็นระบบกฎหมายแบบอังกฤษและอเมริกันที่กฎหมายมาจากแนวคำพิพากษาฎีกา และมีคณะลูกขุนเป็นองค์ประกอบสำคัญ)
ชาวอาณานิคมมองว่าการกระทำของรัฐสภาอังกฤษถือเป็นการละเมิดสิทธิของชาวอังกฤษซึ่งได้รับการรับรองตั้งแต่ห้าศตวรรษก่อนหน้าในมหากฎบัตร (Magna Carta) ตัวแทนจาก 9 รัฐอาณานิคมได้ร่วมประชุมกันที่นิวยอร์กในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ก่อนมีมติให้ยื่นฎีกาให้เพิกถอนกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยชี้ว่า ชาวอาณานิคมก็ได้รับสืบทอดสิทธิเช่นเดียวกับชาวอังกฤษ ที่มาตรการทางภาษีไม่อาจนำมาใช้ได้หากพวกเขามิได้ให้ความยินยอมด้วยตนเอง หรือผู้แทนของพวกเขาในสภา (Library of Congress) ระหว่างนั้นการประท้วงได้เกิดขึ้นไปทั่วทุกพื้นที่ดินแดนอาณานิคม มีการร่วมกันบอยคอตต์สินค้าของอังกฤษ รวมไปถึงการข่มขู่และใช้กำลังกับทั้งเจ้าหน้าที่สรรพากรหรือใครก็ตามที่เข้าข้างรัฐบาลอังกฤษ
ฝ่ายอังกฤษเห็นท่าไม่ดีก็ยอมอ่อนข้อให้ทั้งลดอัตราภาษีน้ำตาล และยกเลิกภาษีแสตมป์ไปในปี 1766 แต่มันก็ไม่อาจชะลอวงล้อแห่งการปฏิวัติอเมริกันได้อีก เพราะในขณะที่อังกฤษยอมเพิกถอนกฎหมายภาษีแสตมป์ แต่พวกเขายังออกกฎหมาย Declaratory Act มาพร้อมกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยืนยันว่า รัฐสภาอังกฤษมีอำนาจเหนือดินแดนอาณานิคมไม่ต่างจากที่พวกเขามีบนเกาะบริเตนใหญ่ ดังนั้นรัฐสภาอังกฤษย่อมมีอำนาจในการออกกฎหมายใด ๆ ก็ตามที่พวกเขาเห็นควร
หลังจากนั้น อังกฤษจึงออกกฎหมายออกมาอีกหลายฉบับ (ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Towshend Acts ตามชื่อของ ชาร์ลส์ ทาวเซนด์ รัฐมนตรีอังกฤษผู้ผลักดันชุดกฎหมายชุดนี้) เช่นการออกกฎหมายระงับการทำหน้าที่ของสภานิวยอร์ก และกฎหมายบังคับเก็บภาษีรายได้โดยตรง ซึ่งเป็นการยืนยันว่าอังกฤษคือผู้มีอำนาจสูงสุด ความแตกต่างในชุดความคิดที่ไม่อาจหาจุดร่วมได้อีกต่อไปจึงนำไปสู่การแตกหัก
โทมัส เพน (Thomas Paine) นักเขียนชาวอเมริกันที่เกิดในอังกฤษ ได้ออกมาเสนอว่า ชาวอาณานิคมไม่ควรที่จะประท้วงต่อต้านแค่การเก็บภาษีเท่านั้น พวกเขาควรที่จะต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองเป็นอิสระจากอังกฤษ (และไม่ควรคงระบอบกษัตริย์เอาไว้อีก เพราะมิได้มีประโยชน์อันใดต่อรัฐอาณานิคม) โดยได้เผยแพร่ความคิดของเขาลงในหนังสือเรื่อง ‘สามัญสำนึก’ (Common Sense ) ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีทำยอดขายได้กว่า 500,000 เล่มภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ปูทางไปสู่การประกาศอิสรภาพของ 13 รัฐอาณานิคมในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 (ทั้งนี้ การลงมติเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ เห็นด้วย 12 เสียง มีนิวยอร์กงดออกเสียง 1 เสียง ก่อนที่จะมีการประกาศในอีกสองวันต่อมา)