พาย-ลลิต ศรีธรา หญิงสาวผู้มีตำแหน่ง Hub and Community Manager ในทีม Startup Thailand ภายใต้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency) หน้าที่ของเธอคือการสนับสนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทยเเละการเข้ามาลงทุนของสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านสตาร์ทอัพแห่งเอเชียเเละระดับโลก
ลลิตจบปริญญาตรีจาก University College London สาขาปรัชญา และกำลังศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ ที่ Cambridge Judge Business School ควบคู่ไปกับการทำงานด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพ แต่เชื่อไหมว่าตอนแรกเธอไม่ได้มีความสนใจด้านธุรกิจหรือสตาร์ทอัพเลยสักนิด ถึงขั้นมีความคิดไม่ชอบระบบทุนนิยมเลยด้วยซ้ำ ด้วยความคิดที่ว่าระบบทุนนิยมทำให้เกิดชนชั้นและความไม่ยุติธรรมในสังคม
“ตอนนั้นเราจะจัดงานหนึ่งขึ้น เราก็เถียงกันกับเพื่อนในทีมว่าเราจะไม่จัดที่นั่งวีไอพี เราจะไม่มีการเเบ่งชนชั้น ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน” เธอกล่าว
ความสนใจด้านความเท่าเทียมของลลิตเริ่มขึ้นเมื่อดูภาพยนตร์เรื่อง Les Misérables ซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมชื่อดังของฝรั่งเศส ประพันธ์โดย วิกตอร์ อูโก ที่เเสดงถึงสังคมของฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการแบ่งชนชั้นระหว่างขุนนางกับคนยากจน สำหรับเธอเเล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี จนสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงต้องออกมาเรียกร้องความเท่าเทียม
ความไม่เท่าเทียมยังเป็นปมในใจ เธอมองเห็น “ความไม่เท่าเทียม” มากมายในสังคมไทย อย่างการที่คนมีฐานะมักเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้มากกว่า เช่น การศึกษา ที่คุณภาพทางการศึกษาดี ๆ มักกระจุกตัวในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมโอกาสทางการศึกษาของเราต้องถูกจำกัดเพราะฐานะหรือเพราะชนชั้น”
ทางหนึ่งที่ลลิตพอจะทำได้ในเรื่องการให้ความรู้กับสังคมคือ การทำรายการทาง YouTube กับเพื่อนในชื่อ “จับวิบัติ Fallacies Thailand” เมื่อปี 2557 เป็นรายการที่ช่วยสะท้อนสังคมให้เห็นความเชื่อผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ตัวอย่างตรรกะวิบัติในไทยก็เช่น การที่เราลดชั่วโมงเวลาเรียน จะทำให้เด็กใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ นำไปสู่การมั่วสุมจนอาจทำให้เด็กเสียคนในอนาคต ซึ่งเหตุเเละผลของทั้งสองไม่ได้สอดคล้องกัน เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเอาเวลาว่างไปมั่วสุม เป็นต้น
แต่ความตั้งใจที่จะทำรายการบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเปลี่ยนเเปลงสังคม กลับไม่สามารถสร้างผลกระทบได้เท่าที่ควร เนื่องจากกระเเสตอบรับไม่ดี ทำให้ลลิตรู้สึกท้อ เเละมองว่าถ้ามีนวัตกรรมที่สามารถมาเเก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้โดยตรง ก็อาจจะสร้างผลลัพธ์ได้มากกว่าเเค่การสร้างความตระหนักรู้
[caption id="attachment_9679" align="aligncenter" width="1200"]
ลลิตขณะขึ้นเวทีพูดถึงเรื่องสตาร์ทอัพในงาน Techsauce Global Summit 2019[/caption]
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ลลิตเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาสักอย่าง เรายังจะปฏิเสธทุนนิยมได้ไหม และมีหนทางไหนบ้างที่จะใช้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมได้อย่างเท่าเทียม ลลิตจึงคิดถึงวงการ “สตาร์ทอัพ” และเริ่มศึกษาหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ กระทั่งมาร่วมงานกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ทำให้เธอคิดว่า สตาร์ทอัพคือโอกาสของชนชั้นล่าง ที่จะไม่ทำให้พวกเขาไม่ถูกกลืนหายไปกับทุนนิยม และยังเป็นโอกาสสำหรับตัวเธอเองที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมผ่านการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ
“สตาร์ทอัพส่วนใหญ่เริ่มจากแนวคิดที่อยากจะแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นปัญหาเชิงธุรกิจ ปัญหาเชิงสังคม หรืออะไรต่าง ๆ หากแนวคิดดีและนำไปปฏิบัติได้จริง ก็มีโอกาสที่หน่วยงานใหญ่ ๆ จะสนใจลงทุน เป็นโอกาสของสตาร์ทอัพเหล่านั้นที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ ตัวธุรกิจก็โตขึ้น สามารถสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นก็เลยรู้สึกว่าสตาร์ทอัพอาจจะเป็นช่องทางในการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นได้ทางหนึ่ง
“โลกของสตาร์ทอัพมันไม่ใช่เหมือนโลกทุนนิยมที่เราเกลียดตั้งเเต่เเรก เเต่มันเป็นโลกที่เต็มไปด้วยโอกาส เต็มไปด้วยความฝันใหม่ ๆ ที่คนธรรมดาสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้”
ลลิตก็มีโอกาสทำธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเองเช่นกัน โดยสมัยเรียนปริญญาตรีเธอนำโปรเจกต์สตาร์ทอัพไปเสนอกับทางมหาวิทยาลัย และได้รับเงินมาจำนวนหนึ่งให้ไปพัฒนาต่อ ซึ่งพอกลับเมืองไทยลลิตก็สานต่อด้วยการนำโปรเจกต์ไปเสนอกับ True และสร้างแอปพลิเคชันขึ้น ชื่อ “Smart Address Book” ซึ่งเป็นตัวช่วยในการจดจำข้อมูลของคนที่เราต้องการจดจำทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้การสนทนาครั้งต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่นโดยไม่ผิดใจกัน แต่ปัจจุบัน ลลิตปิดแอปดังกล่าวไปแล้วเรื่องจากปัญหาส่วนตัวและความยุ่งยากในการใช้งาน
สำหรับการทำงานด้านสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัวในปี 2562 ในสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ลลิตมีหน้าที่ประสานงานจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงงาน Startup Thailand 2019 ที่จัดระหว่างวันที่ 23-27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสถานที่จัดงานกระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นการรวบรวมนวัตกรรมใหม่ ๆ ในแวดวงสตาร์ทอัพ มีการเชิญสตาร์ทอัพจากต่างประเทศทั่วโลกมาร่วมงาน โดยเปิดให้เข้าฟรีตลอดงาน เป็นการสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม
สิ่งที่ลลิตเรียนรู้จากการทำงานคือ เธอไม่สามารถขยับโลกทั้งใบให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ แต่อย่างน้อยเธอก็มีส่วนเล็ก ๆ ในการช่วยให้ทุกคนมีโอกาสที่ดีขึ้น
“พอเข้ามาทำสตาร์ทอัพเเล้วทุกคนจะเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้นเลยเหมือนโลกในอุดมคติ ก็อาจจะยังไม่ใช่ เเต่มันคือการที่สตาร์ทอัพทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน และเราก็หวังว่างานที่เราทำจะช่วยตรงนี้ได้มากขึ้นไปอีก” คือความหวังและแรงผลักดันในการทำงานด้านนี้ต่อไปของลลิต
เรื่อง: อนัญญา นิลสำริด (The People Junior)
ภาพ: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior)