คาสเตอร์ เซเมนยา แชมป์โลกวิ่ง 800 เมตรหญิง ที่ถูกตัดสินว่าไม่ใช่ผู้หญิง

ความเป็นผู้หญิงวัดกันตรงไหน? ในทางชีววิทยาคงต้องวัดกันที่เพศสรีระ (ที่สำคัญคือเครื่องเพศ) หรืออาจต้องวัดกันไปถึงโครโมโซมว่าจะต้องเป็น XX เท่านั้น (ขณะที่ผู้ชายต้องเป็น XY) ผิดจากนี้ไม่ใช่ผู้หญิงในเชิงเพศสรีระ แต่ล่าสุด สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF) ออกมาชี้ว่า แค่คุณมีเครื่องเพศแบบผู้หญิงโดยกำเนิดยังไม่พอ คุณต้องมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตามกำหนดด้วย ไม่อย่างนั้นคุณก็ไม่มีสิทธิที่จะลงแข่งขันในฐานะ "ผู้หญิง"
นั่นจึงทำให้ คาสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักวิ่งหญิงชาวแอฟริกาใต้ เจ้าของเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนสองสมัยซ้อน ทั้งที่ลอนดอนและริโอ จากรายการวิ่ง 800 เมตร หมดสิทธิที่จะลงแข่งเพื่อป้องกันแชมป์ที่กรุงโตเกียวในปี 2020
เซเมนยาเป็นหญิงเชื้อสายแอฟริกันที่ร่างกายใหญ่โตเต็มไปด้วยมัดกล้าม ทำให้เธอมีภาพลักษณ์ที่ต่างไปจากผู้หญิงในอุดมคติที่ถูกตอกย้ำว่าจะต้องมีรูปร่างที่เพรียวบางเหมือนอย่างนางงาม หรือนางแบบที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ และเธอยังเป็นเกย์หรือคนที่ชอบคู่ตรงข้ามที่มีเพศสรีระโดยกำเนิดแบบเดียวกัน (ในภาษาอังกฤษคำนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีเพศสรีระเป็นชายเท่านั้น ในผู้มีเพศสรีระเป็นหญิงก็เรียกว่าเกย์ได้เช่นกัน)
ความแตกต่างดังกล่าวจึงทำให้เซเมนยาถูกตั้งคำถามมานานนับสิบปีแล้วว่า เธอควรถือว่าเป็น "ผู้หญิง" จริง ๆ หรือไม่?
จากข้อมูลของ Vox ข้อสงสัยเรื่องเพศสรีระที่แท้จริงของนักกีฬาหญิงมีมานานก่อนหน้ากรณีของเซเมนยา ซึ่งเหตุผลก็คล้าย ๆ กัน เนื่องจากนักกีฬาหญิงเหล่านี้มีลักษณะทางกายภาพที่ต่างจากผู้หญิงในอุดมคติ จึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าเธอเหล่านั้นแท้จริงเป็นชายที่จงใจ "โกง" มาแข่งกับผู้หญิงหรือไม่? นักกีฬาหญิงรายแรก ๆ ที่ถูกจับตรวจ "เพศ" ก็คือ เอวา โคลบูคอฟส์กา (Ewa Klobukowska) นักกรีฑาโปแลนด์ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1964 ในรายการ 4x100 เมตร โดยวิธีการตรวจก็คือให้เธอแก้ผ้าแล้วให้คณะกรรมการมาดูเครื่องเพศของเธอ ซึ่งคณะกรรมการให้เธอผ่านมาได้ในการตรวจปี 1966
แต่ปีต่อมาเธอถูกจับตรวจเพศอีกครั้ง คราวนี้ทางคณะกรรมการของสมาคมกีฑานานาชาติหันมาใช้โครโมโซมเป็นมาตรฐานวัด ด้วยชุดความเชื่อที่ว่า ผู้ชายต้องมีโครโมโซม XY ส่วนผู้หญิงก็ต้องเป็น XX แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่มีพัฒนาการทางเพศสรีระที่แตกต่าง (differences of sexual development - DSD) ซึ่งไม่ได้มีแต่กะเทยแท้หรือผู้ที่มีเครื่องเพศของสองเพศโดยชัดเจนแต่กำเนิดเท่านั้น ยังมีกลุ่มคนที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองต่างจากคนอื่นอย่างไร และโคลบูคอฟส์กาก็ตกอยู่ในคนกลุ่มนี้
โคลบูคอฟส์กาผ่านการตรวจเครื่องเพศด้วยสายตามาได้ แต่เมื่อถูกตรวจโครโมโซม คณะกรรมการลงมติให้เธอไม่ผ่าน โดยให้ความเห็นว่าเธอมีชุดโครโมโซมที่มากกว่าคนทั่วไป (เชื่อกันว่าเธอมีโครโมโซมเพศแบบ XX/XXY - NCBI) เธอจึงถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันและยังถูกยึดรางวัลคืน ก่อนที่เธอจะตั้งครรภ์ในปี 1968 และคลอดลูกชายอย่างปลอดภัย (The Independent) ทำให้สังคมเริ่มเห็นว่าเธอได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การตัดสินเพศจากการตรวจโครโมโซมจึงถูกตั้งคำถามมากขึ้น ก่อนที่จะยกเลิกไป
ต่อมาในปี 2009 เซเมนยา นักวิ่งหญิงดาวรุ่งวัย 18 ปีจากแอฟริกาใต้ผู้มีรูปร่างใหญ่โตและมีเสียงทุ้มห้าว สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อเธอสามารถทำลายสถิติเดิมของตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด (ดีขึ้น 25 วินาที ในรายการวิ่ง 1,500 เมตร และ 8 วินาที ในรายการ 800 เมตร) และสามารถคว้าแชมป์โลก 800 เมตรหญิงได้สำเร็จ
แต่ความสำเร็จของเธอถูกจ้องมองด้วยความสงสัย เนื่องจากรูปลักษณ์และผลงานที่โดดเด่นเกินผู้หญิงทั่วไป ทำให้เธอถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้หญิงจริงหรือไม่? ทางสมาคมกรีฑานานาชาติจึงยื่นมือเข้าตรวจสอบโดยอ้างว่า โดยปกตินักกรีฑาที่สามารถพัฒนาสถิติได้อย่างก้าวกระโดดขนาดนั้นก็ต้องถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้สารต้องห้ามอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าที่พวกเขาเลือกตรวจเซเมนยา มิได้เป็นเพราะเชื้อชาติของเธอแต่อย่างใด (The Guardian)
เหตุการณ์คราวนั้นทำให้สมาคมฯ ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ก่อนที่พวกเขาจะคิดมาตรการใหม่ในการกำหนดความเป็นหญิงเป็นชายขึ้นมา นั่นก็คือปริมาณ "เทสโทสเตอโรน" ซึ่งทั่วไปก็มีในทั้งสองเพศ แต่จะมีในเพศชายมากกว่า โดยในปี 2011 ทางสมาคมฯ กำหนดว่า นักกรีฑาหญิงที่จะลงแข่งในฐานะผู้หญิงได้จะต้องมีปริมาณเทสโทสเตอโรนไม่เกิน 10 nmol/L (ปกติผู้หญิงทั่วไปมีเทสโทสเตอโรนราว 0.12-1.79 nmol/L ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ราว 7.7-29.4 nmol/L)
แต่มาตรการดังกล่าวก็ถูกศาลอนุญาโตตุลาการกีฬานานาชาติสั่งยกเลิกไปในปี 2015 หลังมีนักวิ่งหญิงยื่นคำร้องว่า ข้ออ้างของสมาคมฯ ขาดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งทางศาลเห็นด้วย
อย่างไรก็ดี สมาคมกรีฑานานาชาติยังไม่ยอมแพ้ ในปี 2018 พวกเขากลับมาอีกครั้งด้วย "งานวิจัย" ซึ่งยืนยันว่า นักกีฬาหญิงที่มีปริมาณเทสโทสเตอโรนสูง จะสามารถทำผลงานได้ดีกว่านักกีฬาหญิงทั่วไปในการแข่งขันบางประเภท แต่งานวิจัยดังกล่าวได้รับเงินทุนจากทางสมาคมฯ เอง และมีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยในความน่าเชื่อถือทางข้อมูล
แต่สมาคมฯ ก็ไม่สนเสียงท้วงติง และได้กำหนดเพดานปริมาณเทสโทสเตอโรนในนักกรีฑาหญิงไว้ที่ไม่เกิน 5 nmol/L หรือน้อยกว่าเดิมถึงครึ่งหนึ่ง เฉพาะในการแข่งขันประเภท 400 เมตร 800 เมตร และ 1,500 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เซเมนยาวิ่งทั้งนั้น ทำให้เธอถูกแบนจากการแข่งขัน
เซเมนยาจึงยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาให้ยกเลิกคำสั่งของสมาคมฯ แต่คราวนี้เมื่อมีงานวิจัยรองรับแล้ว ศาลฯ จึงสั่งยกคำร้องของเธอ ทำให้เธอไม่อาจลงแข่งในรายการที่กำหนดได้อีก เว้นแต่เธอจะยอมกินยากดการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยศาลให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวแม้จะเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ก็เป็นกรณีที่จำเป็น สมเหตุสมผล และได้สัดส่วน (The New York Times)
ขณะที่เซเมนยามองว่ามาตรการดังกล่าวไม่เป็นธรรมและจงใจเล่นงานเธอ (ด้วยความที่การกำหนดการตรวจฮอร์โมนมาเจาะจงเฉพาะรายการที่เธอลงแข่งประจำ) ทนายความของเธออ้างว่า ลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของเซเมนยาควรได้รับการเชิดชูมากกว่าถูกจำกัด (เหมือนนักกีฬาชายที่โดดเด่นหลายคนก็เกิดมาโดยมีลักษณะเด่นที่ทำให้พวกเขาเป็นเลิศในชนิดกีฬานั้น ๆ เช่น ไมเคิล เฟลป์ส ที่มีลำตัวยาว เท้าใหญ่ ทำให้ว่ายน้ำได้ดี)
แต่เมื่อกฎออกมาแล้ว และศาลก็รับรองแล้ว เมื่อเซเมนยาปฏิเสธที่จะกินยาจำกัดฮอร์โมน ทางเลือกที่เหลือของเธอจึงมีไม่มากนัก คืออาจต้องลงแข่งในรายการที่ไม่ถูกจำกัดให้ตรวจฮอร์โมน คือถ้าไม่วิ่ง 200 เมตร ก็ 3,000 เมตรขึ้นไป หรือไม่ก็อาจต้องลงแข่งกับผู้ชาย