แสง สี เสียง สัญญะแห่งอิสรภาพแด่ความเป็นมนุษย์ ใน “กระเบนราหู”

แสง สี เสียง สัญญะแห่งอิสรภาพแด่ความเป็นมนุษย์ ใน “กระเบนราหู”
เสียงปืนดังเปรี้ยงก้องป่ากว้าง แสงสว่างวาบของก้อนหินเรืองแสงหลากสีในหมู่ไม้รกชัฏ กับชายที่ห่อหุ้มร่างกายด้วยไฟประดับ เป็นฉากเปิดที่เต็มไปด้วยศิลปะและสัญลักษณ์ของการเล่าเรื่อง ทั้ง แสง สี และเสียง ในภาพยนตร์เรื่อง “กระเบนราหู (Manta Ray)” ที่ตรึงใจเราได้ตั้งแต่ประโยคแรกว่า “อุทิศแด่โรฮิงญา” [caption id="attachment_9721" align="alignnone" width="1536"] แสง สี เสียง สัญญะแห่งอิสรภาพแด่ความเป็นมนุษย์ ใน “กระเบนราหู” กระเบนราหู[/caption]   เรื่องราวเริ่มต้นจาก ชาวประมงหนุ่ม (แสดงโดย วัลลภ รุ่งกำจัด) ที่เดินลึกเข้าไปในป่าโกงกางเพื่อดักสัตว์ และพบเข้ากับชายอีกคนที่นอนจมอยู่ในโคลนพร้อมกับบาดแผลถูกยิงที่กลางอก ชายชาวประมงได้ช่วยเหลือ และให้ที่พักพิงแก่ชายคนดังกล่าว ทว่าชายคนนั้นกลับไม่พูดอะไรออกมาเลยสักคำเดียว เขาจึงตั้งชื่อให้กับชายแปลกหน้าว่า “ธงไชย” (อภิสิทธิ์ หะมะ) ตามชื่อนักร้องดัง ธงไชย แม็คอินไตย “คนเราจะช่วยเหลือกันโดยที่ไม่รู้จักมักจี่ได้อย่างไร?” นั่นคงเป็นคำถามที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังถามเรา ขณะเดียวกันเราก็เกิดคำถามกลับไปว่า “ถ้าหากรู้ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน คุณจะยังช่วยเขาอยู่หรือไม่?” จะว่าไปแล้ว เรามักจะถูกล้อมกรอบด้วยกฎบางอย่างที่ส่งผลต่อการตัดสินใจอันจะแสดงออกถึง “ความเป็นมนุษย์” เช่น เลือกที่จะเพิกเฉยหากรู้ว่าเป็นโรฮิงญาเพราะกลัวความผิด ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดประเด็นดังกล่าวผ่านความเป็นปัจเจกได้อย่างดี แสดงให้เห็นว่า เมื่อตัวตนของธงชัยไม่ถูกเปิดเผยว่าเป็นใคร มาจากไหน เราก็จะมองเห็นการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ด้วยกัน ในฐานะของการเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ฉากหนึ่งที่ทำให้รู้สึกประหลาดใจก็คือ เมื่อชายชาวประมงคนนั้นหายตัวไปในทะเล ธงไชยผู้ไร้ที่พึ่งจึงได้รุกคืบเข้าครอบครองทรัพย์สินของชาวประมงอย่างไม่ตั้งใจ ทั้งบ้าน และ แฟนเก่าอย่าง “สายใจ”(รัสมี เวระนะ) เมื่อถึงคราวที่ชายชาวประมงรอดชีวิตกลับมา เขากลับพบว่าทุกสิ่งของตัวเองกลายเป็นของคนอื่นไปเสียแล้ว [caption id="attachment_9720" align="alignnone" width="1536"] แสง สี เสียง สัญญะแห่งอิสรภาพแด่ความเป็นมนุษย์ ใน “กระเบนราหู” กระเบนราหู[/caption]   เหตุการณ์นี้จึงเป็นการสะท้อนภาพที่ “คนนอก” ของธงไชยที่เข้ามายึดครองสิ่งพึงจะมีของคนดั้งเดิม หากเปรียบเทียบกับกรณีเรื่องโรฮิงญาที่อพยพไปยังประเทศอื่น คงกล่าวได้ว่าสะท้อนความหวาดกลัวของคนในประเทศที่จะถูกยื้อแย่งสิทธิอันพึงมีในฐานะเจ้าของประเทศ นำไปสู่การปฏิเสธ “ความเท่ากัน” กับบุคคลที่ไม่ใช่ “พวกเดียวกัน” ผ่านการแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ กระเบนราหูอาจดูเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับมิตรภาพที่ดำเนินเรื่องแบบเนิบนาบ ไม่ได้มีฉากชวนตื่นเต้นระทึกใจมากนัก แต่ในความเรียบเรื่อยของเรื่องราวกลับโดดเด่นในเรื่องของสัญลักษณ์ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ให้อิสระในการตีความแก่ผู้รับชมได้น่าสนใจทีเดียว “แสง” จากหินสีในป่าลึกที่ไม่ควรจะมีอยู่ตามธรรมชาติ คงเปรียบได้กับสิ่งแปลกปลอมที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง เช่น กฎเกณฑ์ ที่ผ่าแบ่งความถูกผิด ดีเลว ขึ้นด้วยตัวมนุษย์เอง ซึ่งชื่อเรื่องกระเบนราหู ก็มาจากประเด็นเดียวกันที่ผู้กำกับเคยขบคิดว่า ในระหว่างกลางของแม่น้ำที่กั้นสองฝั่งชายแดนไว้นั้นเส้นกั้นเขตแดนแท้จริงแล้วอยู่ที่ตรงไหน และเมื่อไปดำน้ำเห็นกระเบนราหูที่ว่ายผ่านเขตแดนประเทศต่าง ๆ ได้อย่างเสรี จึงได้เข้าใจว่า เส้นแบ่งพรมแดนที่มนุษย์มองเห็น แท้จริงแล้วก็ป็นเพียงสิ่งสมมติที่สร้างขึ้นเท่านั้นเอง “สี” สารพัดสีในแสงไฟที่ถูกใช้ในเรื่องนี้ ทั้งในหินสี ไฟนีออน และไฟดิสโก้ที่ชายชาวประมงเปิด สีสันเหล่านั้นฉาบทับตัวละครครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นตัวแทนที่บ่งบอกถึงความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในตัวคนคน หนึ่งที่เต็มไปด้วยอารมณ์ และเรื่องราว รวมถึงในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ “เสียง” หากไม่ใช่เสียงที่เปล่งเป็นภาษา แค่ฟังเสียงอย่างเดียวเราอาจจะรู้ได้เพียงว่าเป็นชายหรือหญิงตามกายภาพทางธรรมชาติ แต่เสียงจะไม่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันด้วยกฎเกณฑ์ที่เราสร้างขึ้นมาเอง เช่น เชื้อชาติ หรือ ศาสนา จึงเป็นสัญลักษ์ที่ถูกเลือกมาสื่อสารความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุด และในขณะเดียวกันก็สื่อสารความรู้สึกของผู้คนออกมาให้เรารับรู้ได้เช่นกัน จากเสียงประสานในช่วงท้ายของเรื่องที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความอึดอัดและเศร้าหมอง โดยเสียงเหล่านั้นคือ เสียงที่บันทึกมาจากชาวโรฮิงญาที่มีตัวตนจริง ๆ [caption id="attachment_9722" align="alignnone" width="1536"] แสง สี เสียง สัญญะแห่งอิสรภาพแด่ความเป็นมนุษย์ ใน “กระเบนราหู” กระเบนราหู[/caption]   ในกรณีการ “ไม่พูด” หรือ “พูดไม่ได้” ของธงไชย กล่าวคือเป็นการนำเสียงมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อความหมายถึงสิทธิความเท่าเทียม ที่สำหรับโรฮิงญาแล้ว การถูกไม่ให้พูด หรือพูดไม่ได้ แสดงถึงความไม่มีสิทธิมีเสียง หรืออาจเปรียบเปรยการพูดในต่างถิ่นต่างภาษาว่า พูดไปก็ไร้ค่าหากว่าไม่มีใครฟังออก การเปรียบเปรย แสง สี และ เสียง เป็นกฎเกณฑ์ ความหลากหลาย และ สิทธิเท่าเทียมกัน ของภาพยนตร์เรื่องนี้คงทำให้เราเห็นความเป็นไปที่แท้จริงของโลก และมองเห็นความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันมากยิ่งขึ้น ว่าหากปลดเปลื้องสิ่งที่ฉาบทับตัวเราไว้ เราก็คือมนุษย์เช่นเดียวกัน ผู้กำกับ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “กระเบนราหูไม่ใช่ตัวแทนของโรฮิงญา และไม่อาจจะนำไปเปรียบเทียบได้ เพราะโรฮิงญาก็คือโรฮิงญา กระเบนก็คือกระเบน” ประโยคดังกล่าวทำให้เราตีความได้อีกนัยยะหนึ่ง เพราะเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของกระเบนราหูที่จะเข้ามาหลบฝั่งในช่วงพายุเข้า และจากไปเมื่อถึงคราวลมสงบ ผิดกับโรฮิงญาที่ออกเดินทางในช่วงหน้ามรสุม อาจเป็นความหมายว่ากระเบนที่เที่ยวท่องไปได้ทั่วทุกน่านน้ำ เป็นเครื่องหมายของอิสระเสรี ในขณะเดียวกันสัญญะก็นี้สะท้อนความจริงที่ว่า ‘อิสรภาพยังคงไม่เท่ากับชาวโรฮิงญา’   *กระเบนราหู เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สายรอง Orizzonti Award ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 ณ ประเทศอิตาลี   เรื่อง: นรมณ ดลมหัทธนะกิตติ์ (The People Junior)