ย้อนกลับไปในปี 2538 บทเพลง “เต้าหู้ยี้” ของวงคาราบาว สร้างความฮือฮาไปทั่วประเทศ หลังวง “เขาควาย” ขวัญใจแฟนเพลงเพื่อชีวิต เขียนเพลงที่มีเนื้อหาโจมตีและเสียดสีรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ออกแนวด่าผู้นำของประเทศตัวเองจนถูกแบนห้ามออกอากาศมาแล้ว แต่ถ้าพูดถึงหนึ่งในเพลงที่สะท้อนความไม่พอใจในรัฐบาลได้ดีที่สุด นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเพลงที่คุณต้องไปหาฟัง (ก่อนจะโดนแบนอีกรอบ)
‘เต้าหู้ยี้’ เป็นบทเพลงของวงคาราบาว จากอัลบั้ม “หากหัวใจยังรักควาย” เมื่อปี 2538 ซึ่งขอเล่าย้อนกลับไปนิด คาราบาว เริ่มคิดประชุมทำโปรเจกต์อัลบั้มนี้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2538 และเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ความพิเศษของผลงานชุดนี้ก็คือมันเป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 16 ของคาราบาว และยังเป็นการกลับมาร่วมงานกันของสมาชิกวงยุคคลาสสิกทั้ง 7 คน (แอ๊ด, เล็ก, เทียรี่, เขียว, อ๊อด, เล็ก ธนิสร์ และ เป้า) อีกด้วย ซึ่งภาพรวมของอัลบั้มนี้คือการตกตะกอนความคิดในรอบ 15 ปี ของคนทำเพลงอย่างคาราบาว
“พวกเรานัดหมายเจอกันครบทีม ซึ่งนาน ๆ จะได้กลับมาเจอกันอย่างนี้ มันเป็นการพูดคุยถึงเรื่องทำงาน 15 ปี ทุกคนอยากทำ เราเริ่มลงมือ 20 สิงหาคม 2538 ผลงานทั้งหมด 22 เพลง ถูกคิดและอัดออกมา เราเลือกมา 20 เพลง เสร็จสิ้นงานเมื่อ 2 ธันวาคม 2538 ที่เรามารวมกันได้มันมาจากความรักในสกุลคาราบาว ขอฝากผลงานที่ให้อยู่คู่ใจท่านตลอดไป” ยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” แกนนำของวงเคยกล่าวไว้
ถ้าพูดถึงเนื้อหาของเพลง ‘เต้าหู้ยี้’ กันแบบเต็ม ๆ มันคือการระบายความในใจของคาราบาวที่มีต่อสภาพสังคมการเมืองไทยในยุคนั้น ใจความสำคัญของเพลงเป็นการเล่าเรื่องถึงนักการเมืองที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่อิงความรู้ความสามารถให้ไปประจำตามกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ได้เป็นก็มักจะมาจากเรื่องของโควตาพรรคหรือรวมไปถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นสำคัญ
โดยบทสรุปของเพลงนี้ยังพูดไปถึงว่า ถ้าหากเลือกคณะรัฐมนตรีโดยไม่อิงกับความรู้ความสามารถแบบนั้น อาจส่งผลให้ประเทศชาติรวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยไม่พัฒนานั่นเอง นี่คืออีกหนึ่งบทเพลงจากปลายปากกาของ แอ๊ด คาราบาว และผองเพื่อน ที่มีการเขียนเนื้อเพลงให้สอดรับเข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง โดยอาศัยการใช้คำที่ตรงไปตรงมา จนกลายเป็นเพลงที่คนมักนึกถึงเสมอยามที่ไม่พอใจรัฐบาล
เนื้อหาในเพลงนั้น แอ๊ด คาราบาว นำแรงบันดาลใจมาจากฟีดแบ็กของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในชุดนั้นจริง ๆ ที่พอเห็นโผคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ก็ถึงขั้นร้อง “ยี้!” ขึ้นมาทันที มันจึงเกิดเนื้อเพลงตรง ๆ อย่างท่อน “รมต. เต้าหู้ยี้ (ยี้) ครม. เต้าหู้ยี้ ยี้ ยี้ เอา รมต.คุณคืนไป เอาประชาธิปไตยเราคืนมา เอา รมต.คุณคืนไป เอาประชาธิปไตยเราคืนมา” และถ้าพูดถึงคำว่า “ยี้” ในปี 2538 มันกลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากและเป็นกระแสสังคมอยู่ในช่วงนั้นอันเนื่องมาจาก นายเนวิน ชิดชอบ ถูกกล่าวหาว่าทุจริตซื้อเสียง แต่กลายมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา กลายเป็นที่มาของฉายา “ยี้ห้อย 120” ที่คนในสมัยนั้นพูดถึง
[caption id="attachment_9913" align="alignnone" width="746"]
นายเนวิน ชิดชอบ[/caption]
เสียง “ยี้” ดังก้องในหมู่คนชั้นกลาง บวกกับวีรกรรมของเนวิน และมิตรสหายในนามกลุ่ม 16 เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการคุณภาพ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บัญญัติศัพท์การเมือง “ระบอบยียาธิปไตย” ขึ้นมา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกแรงบันดาลใจที่ทำให้ แอ๊ด คาราบาว แต่งออกมาเป็นเนื้อเพลงนี้
“บ้านเมืองมันจะสดจะสวย ด้วยส.ส.เป็นมวยมีเข่าเขย่ากึ๋น ไม่ใช่เพียงเด็กเมื่อวานซืน มีเงินแสนเงินหมื่นทุ่มซื้อเทเสียง เที่ยวยืนเถียงกันอยู่ในสภา เก่งกันนักวาจา จำเขามาเรียบเรียง ครม.เป็นใครฉันไม่เกี่ยง แต่ว่าขอแค่เพียง สมองเดี้ยงอย่าเอามา” คือหนึ่งในท่อนเด็ดของเพลง
นอกจากนี้ ท่อนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือท่อนที่ว่า “ตั้งไม่ดูตาม้าตาเรือ มันจึงไร้หางเสือ เหลือแต่สิงห์กระทิงแรด หุ้นถลาดิ่งลงแทด ๆ ร้อยแปดปัญหาก็ลอยมาตามน้ำ เอาครูมาทู่ซี้คลัง เรื่องกระตุ้งกระตาง” นี่คือการใช้คำอุปมาอุปไมย อันเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของ แอ๊ด คาราบาว ในยุคนั้น
แต่บางครั้งเนื้อหาเพลงที่ตรงและจริงเกินไป แน่นอนมันก็ใช่ว่าทุกคนจะรับได้เสมอไป คาราบาว ถือเป็นขาประจำที่มักจะโดน คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) แบนผลงานอยู่เสมอ เรียกได้ว่าออกอัลบั้มทีก็มักจะโดนสักเพลงสองเพลง หรือบางครั้งก็โดนทั้งชุดก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น อัลบั้ม แป๊ะขายขวด ปี 2525 เพลงที่มีเนื้อหาพูดถึงยาเสพติดอย่าง ‘กัญชา’ ถูกมองว่าเป็นเพลงที่สนับสนุนการเสพยา และถูกแบนไปยาว ๆ มาแล้ว (ในยุคนี้ก็ยังมีแต่คนเรียกร้องให้มันเป็นสิ่งที่ถูกกฏหมายเหมือนเดิม) ถ้าถามว่า ‘เต้าหู้ยี้’ คือเพลงแรกหรือเปล่าที่ แอ๊ด คาราบาว แต่งเชิงด่านักการเมืองในประเทศ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะในอัลบั้ม สัจจะ ๑๐ ประการ เมื่อปี 2535 แอ๊ด คาราบาว ก็แต่งเพลงด่านายกรัฐมนตรีของตัวเองมาแล้วนั่นก็คือเพลง ‘ชวนป๋วย’
[caption id="attachment_9930" align="aligncenter" width="1920"]
สมาชิกวงคาราบาว (จากซ้ายไปขวา เล็ก, แอ๊ด, เทียรี่ และอ๊อด)[/caption]
นอกจากจะเสียดสีการเมืองแล้ว แอ๊ด คาราบาว ยังเคยแต่งเพลงที่ใช้คำหยาบคายมาสนับสนุนตัวเพลง จนถูกแบนมาแล้วเช่นกัน เช่นเพลง ‘หำเทียม’ จากอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ปี 2527 ก็ถูกแบนเพราะในเพลงมีคำว่า “หำ” อยู่เป็นสิบ ๆ คำ
แม้จะโดนแบนผลงานบ่อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้หัวหอกของวงคาราบาวหยุดเขียนเพลงในลักษณะนี้ออกมา คาราบาว ถูกยกให้เป็นตัวแทนของวงไทยที่นำเสนอเพลงที่สะท้อนเรื่องจริงของประวัติศาสตร์ไทย ในทุก ๆ แง่มุม แต่เมื่อเวลาผ่านไปยุคสมัยหรืออะไรต่าง ๆ มันก็เปลี่ยนตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าผลงานชุดหลัง ๆ ของ คาราบาว ไม่ค่อยมีเพลงเสียดสีสังคมอีกแล้ว แน่นอนมันอาจจะเป็นเรื่องของวัยที่มากขึ้น ความเดือดดาล ความเป็นวัยรุ่นเลือดร้อนมีน้อยลง และการที่แกนนำของวงหันไปทำธุรกิจมากขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แฟนเพลงคิดไปได้ว่า คาราบาวไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา เพราะอาจส่งผลต่อธุรกิจ
ถ้าเปรียบเทียบกับผลงานของศิลปินต่างชาติก็มีหลายคนที่เคยเขียนเพลงเสียดสีรัฐบาลหรือแม้กระทั่งตัวบุคคลไปเลย เช่นเพลง ‘Fuck You’ ของสาวลิลลี อัลเลน ที่แต่งให้กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นอกจากนี้ยังมี มอร์ริสซีย์ ที่เคยแต่งเพลงด่านายกรัฐมนตรีตัวเองอย่างมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ในเพลง ‘Margaret on the Guillotine’ รวมไปถึงปีก่อนที่ เอ็มมิเนม แร็พฉะใส่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในเพลง ‘Lose Yourself’ มาแล้ว แต่ก็นั่นแหละ พวกเขาเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย การโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐถือว่าเป็น freedom of speech... (เดี๋ยวประเทศกูมีนี่ก็ประเทศประชาธิปไตยนะ)
แต่ก็นั่นแหละ โอ้โห ไม่อยากจะคิดว่าถ้าแอ๊ดและวงคาราบาวกลับมาเขียนงานสไตล์เดิม รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือในอนาคตจะโดนสับหนักขนาดไหน แต่มองในอีกมุมหนึ่ง ผลงานของคาราบาวในอดีตที่สะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมา มันเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เพลงของคาราบาวในยุคนั้นกลายเป็นตัวแทนของประชาชน และทำให้คาราบาวถูกยกให้เป็นตำนานเพลงเพื่อชีวิต (ของคนไทย) เแน่นอนเพราะเพลงที่เขียนจากเรื่องจริงมัก “เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย” เสมอ
เรื่อง : กีตาร์ม้วนคู่ขนานลอยฟ้า