ภารโรงม่านรูดวิสัยทัศน์ไกล จนเป็นเจ้าของธุรกิจพันล้าน Yanolja เว็บฯ บุกกิ้งที่พัก

ภารโรงม่านรูดวิสัยทัศน์ไกล จนเป็นเจ้าของธุรกิจพันล้าน Yanolja เว็บฯ บุกกิ้งที่พัก

“ใครอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อย่างแรกเลยคุณต้องมีความหลงใหล” ลี ซู จิน (Lee Su Jin) ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Yanolja สตาร์ทอัพยูนิคอร์นของเกาหลี

แพลตฟอร์ม Yanolja ถูกพูดถึงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ที่ประเทศเกาหลีเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า Yanolja จะเป็นประเภทแพลตฟอร์มบุกกิ้งออนไลน์ห้องพักแบบเลิฟโฮเทล (ม่านรูด) มากกว่าที่พักแบบทั่วไป แต่กลับเป็นที่นิยมสำหรับกลุ่มวัยรุ่นทั้งชาวเกาหลีและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่เรื่องราวของ Yanolja ไม่ได้โดดเด่นแค่การเป็นยูนิคอร์นในเกาหลี แต่เป็นเรื่องราวและความคิดจากตัวผู้ก่อตั้ง ‘ลี ซู จิน’ ที่พูดได้ว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญอีกคนนึงที่ชุบชีวิตให้กับธุรกิจเลิฟโฮเทลในเกาหลีก็ว่าได้ จากที่ครั้งหนึ่งโรงแรมเหล่านั้นกำลังจะตายไปอย่างช้า ๆ จากการกวาดล้าง

 

จากเด็กกำพร้าสู่อาชีพภารโรง

ประวัติของ ลี ซู จิน น่าสนใจหลายเรื่อง เขาเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เด็ก ฐานะยากจน ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไมลี ซู จิน ต้องเริ่มทำงานตั้งแต่อายุน้อย ๆ ตอนที่เขาอายุได้ 23 ปี ลี ซู จิน เริ่มทำงานเป็นภารโรงที่โรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่งในเกาหลี เหตุผลง่าย ๆ ที่ตัดสินใจเป็นภารโรงคือเขาต้องการเงิน ต้องการอาหาร และที่พักถาวร

ในยุคการเติบโตของเลิฟโฮเทลในเกาหลีเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 1980 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่เป็นจุดกำเนิดของม่านรูดในเอเชีย

ปี 1980 ถือว่าเป็นยุคที่เปิดกว้างและเสรีมากขึ้นในเรื่องเพศในเกาหลี กลุ่มหนุ่มสาวเริ่มรู้จักกับเลิฟโฮเทลในฐานะที่เป็นโรงแรม เป็นที่พักชั่วคราวสำหรับพวกเขาสัก 2-3 ชั่วโมง ที่สำคัญราคาไม่แพง

ช่วงเวลานับสิบ ๆ ปีที่ ลี ซู จิน ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความคิดในเรื่องธุรกิจจากอาชีพภารโรงที่นี่ ก่อนที่จะเริ่มถูกกวาดล้างธุรกิจเลิฟโฮเทลทั้งหมด เพราะว่าธุรกิจนี้เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ที่ไม่ดีหลายอย่างของประเทศ ตั้งแต่การค้าประเวณี, สิ่งผิดกฎหมาย, เป็นแหล่งมั่วสุ่ม, เป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดการนอกใจและหย่าร้าง

ในปี 2004 รัฐบาลเกาหลีได้ออกกฎหมายปราบปรามธุรกิจเลิฟโฮเทลทั้งหมด จึงทำให้อนาคตของอุตสาหกรรมริบหรี่ลงเรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่สำหรับ ลี ซู จิน เพราะเขามองว่า “นี่แหละเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจนี้”

 

ร่ายมนต์คืนชีวิตให้เลิฟโฮเทล

“ผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์มาก ๆ จากอาชีพภารโรงที่ทำให้ผมเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจนี้ ในวันที่ธุรกิจเลิฟโฮเทลเริ่มอ่อนไหวไร้อนาคต ผมก็เริ่มสะสมรายชื่อ เบอร์โทรติดต่อซัพพลายเออร์ทั้งหมดที่โรงแรมต้องใช้ ตั้งแต่ร้านขายทิชชู่, ขายผ้าปูที่นอน, สินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป ฯลฯ จนไปถึงรายชื่อแขกที่มาเป็นประจำเพราะผมมีไอเดียใหม่” ลี ซู จิน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC

ลี ซู จิน เริ่มสร้างแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์เกี่ยวกับโรงแรมม่านรูดทั้งหมดที่มีอยู่ในมือ และดึงให้เจ้าของโรงแรมอื่นมาใช้แพลตฟอร์มของเขาเพื่อโปรโมตอีกทาง เพื่อดึงดูดแขกให้มาพักและใช้บริการที่นี่ หลังจากทดสอบแพลตฟอร์มได้ไม่นาน (และเห็นว่ามันมีดีมานด์อยู่) ลี ซู จิน จึงเปิดตัวเว็บไซต์ Yanolja อย่างเป็นทางการในปี 2007

จะเทียบให้เห็นภาพสำหรับ Yanolja ก็คือ Airbnb, OYO และ Klook ศูนย์กลางโรงแรมที่พักและบริการอื่น ๆ ในแพลตฟอร์มเดียว

แน่นอนว่าโรงแรมที่อยู่ใน Yanolja จะไม่ใช่เลิฟโฮเทลทั้งหมด (แต่ส่วนใหญ่) จะมีโรงแรมขนาดเล็ก, เกสต์เฮาส์ หรือบ้านพักของคนท้องถิ่นอยู่ด้วย จนปัจจุบัน Yanolja ขยายบริการเพิ่มเติมมีบริการเช่ารถ, ร้านอาหาร, กิจกรรมต่าง ๆ ด้วย

ดังนั้น กลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการ Yanolja จะไม่ใช่คู่รักที่ต้องการแค่เลิฟโฮเทล แต่จะนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ต้องการที่พักราคาประหยัดด้วย โดยราคาจะมีตั้งแต่รายชั่วโมง กับเหมา 2-3 วัน

 

ก้าวสู่ยูนิคอร์น

ผ่านมา 15 ปี Yanolja กลายเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 8 ของเกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่มียูนิคอร์นมากที่สุดในโลก โดยบริษัทสามารถสร้างมูลค่ากิจการได้แตะ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการระดมทุนของนักลงทุนรายใหญ่ เช่น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสิงคโปร์ และบริษัทบุ๊คกิ้งส์ โฮลดิ้ง เจ้าของแพลตฟอร์ม Booking.com สัญชาติอเมริกัน

ปัจจุบัน Yanolja สามารถสร้างรายได้จากค่าคอมมิชชั่นและมีอัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ย 70% อีกทั้งยังมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ ลี ซู จิน มากกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ เกือบครึ่งหนึ่งของโรงแรมและที่พักที่มีการจดทะเบียนทั้งหมดในเกาหลี 46,000 ราย

Yanolja มีรายได้ต่อปีมากกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังถูกจัดอันดับให้เป็นแพลตฟอร์มบุกกิ้งที่ได้รับความนิยมในเกาหลีทั้งจากคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Yanolja ประสบความสำเร็จในกลุ่มคนเกาหลีเพราะว่า วัฒนธรรมและประเพณีที่มีความคล้ายกับประเทศไทย คือ หนุ่มสาวจะอยู่กับพ่อแม่จนกว่าจะแต่งงาน หมายความว่าสังคมเกาหลียังไม่สนับสนุนการอยู่ก่อนแต่ง หรือการมีอะไรกันก่อนแต่งงาน

ลี ซู จิน เปิดเผยกับ CNBC เกี่ยวกับสัดส่วนการบุกกิ้งแบบรายชั่วโมงกับรายวันว่า รายชั่วโมง 1-2 ชั่วโมงถือว่าได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ว่าการเติบโตของแพ็คเกจรายวันจะตามมาติด ๆ เหตุผลที่ทำให้แพ็คเกจรายวันโตเร็วส่วนหนึ่งเพราะว่า “คนเกาหลีส่วนใหญ่ยังไม่ต้อนรับและไม่คุ้นชินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างแพลตฟอร์ม Airbnb ที่พักจะโฟกัสไปที่บ้านของคนท้องถิ่นก่อน แต่ที่เกาหลีทำแบบนั้นไม่ได้” ลี ซู จิน อธิบาย

“จะพูดว่าความเชื่อและค่านิยมของสังคมเกาหลี ทำให้ Yanolja มีโอกาสที่จะเติบโตก็ไม่ผิด แต่เรามีบริการที่ดีและมีตัวเลือกให้กับผู้ที่ใช้บริการมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ดังนั้น เป้าหมายที่จะเป็นอันดับหนึ่งของโลกในธุรกิจแพลตฟอร์มบุกกิ้งยังเป็นเป้าหมายหลักที่ผมพยายามทำให้สำเร็จ”

 

 

ภาพ: Yanolja, Bloomberg

อ้างอิง:

https://www.forbes.com/sites/johnkang/2022/06/06/ex-janitor-becomes-a-billionaire-pandemic-recovery-boosts-his-korean-travel-superapp/?sh=cb033435c030

https://www.cnbc.com/2019/11/05/how-yanolja-made-south-korea-love-hotels-a-billion-dollar-business.html

https://yanolja.in/en/

https://www.reuters.com/article/us-southkorea-yanolja-investment-exclusi-idUSKCN1TB2JX