44 ปี ‘ข้าวมาบุญครอง’ ข้าวถุงรายแรกในไทย ที่ต่อไปขออยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ผู้คน

44 ปี ‘ข้าวมาบุญครอง’ ข้าวถุงรายแรกในไทย ที่ต่อไปขออยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ผู้คน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และอีกหลายปัจจัย เป็นโจทย์ให้ 'ข้าวมาบุญครอง' ข้าวบรรจุถุงแบรนด์แรกของไทยจำเป็นต้องปรับตัว

จากการบริโภคของคนไทยที่หลากหลายมากขึ้น บวกกับความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การบริโภค ‘ข้าว’ ก่อให้เกิดภาวะโรคอ้วน ยังไม่รวมปัญหาด้านภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้คน ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การบริโภคอาหารประเภทนี้ในบ้านเราลดลงไป 30 - 40%  

แน่นอนว่า ประเด็นเหล่านี้ได้ส่งผลต่อตลาดข้าวโดยรวม ไม่เว้นกระทั่ง ‘ข้าวมาบุญครอง’ ตำนานข้าวบรรจุถุงรายแรกของไทยที่มีอายุ 44 ปี ซึ่งวันนี้จะแก้เกมด้วยการเป็น ‘ข้าวเพื่อสุขภาพดีที่อยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คน’ ภายใต้แนวคิด ‘ไลฟ์สไตล์ไหน ๆ ก็ Rice-Style ข้าวมาบุญครอง’      

“เราเดินมาได้ไกลขนาดนี้ เพราะนอกจากคุณภาพแล้ว เรายึดความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก และตอนนี้เรื่องสุขภาพถือเป็นเทรนด์มาแรงมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดโควิด-19” สมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารข้าวมาบุญครองในปัจจุบันอธิบาย

ก่อนจะเป็นข้าวบรรจุถุงรายแรก

เดิมทีข้าวมาบุญครองเป็นธุรกิจของครอบครัว ‘บูลกุล’ ที่เริ่มต้นจากธุรกิจโรงสีข้าวขนาดย่อมในกรุงเทพฯ ของ ‘มา’ และ ‘บุญครอง’ ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2490 กระทั่ง ‘ศิริชัย บูลกุล’ หนึ่งในทายาทได้เข้ามาสานต่อกิจการ และขยายให้เป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ในปี 2522

ยุคนั้นโรงสีข้าวแห่งนี้ของศิริชัยถือเป็นแหล่งอ้างอิงราคาข้าวเช่นเดียวกับ ‘ท่าข้าวกำนันทรง’ จังหวัดนครสวรรค์

เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ศิริชัยได้มาสร้างโรงสีที่จังหวัดปทุมธานีในรูปแบบครบวงจร ที่นอกจากผลิตข้าวสารแล้ว ยังขยายสู่ผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by-product) อาทิ น้ำมันรำข้าว แกลบ ฯลฯ จนในปี 2527 ได้ผลิต ‘ข้าวบรรจุถุง’ เป็นรายแรก ในชื่อ ‘ข้าวมาบุญครอง’ มีสโลแกนว่า ‘สะอาดทุกถุง หุงขึ้นหม้อ’

ส่วนที่มาของชื่อข้าวมาบุญครอง ก็มาจากการนำชื่อบิดาและมารดาของเขา คือ มา และ บุญครอง มารวมกัน (เช่นเดียวกับการตั้งชื่อห้างมาบุญครอง อีกหนึ่งธุรกิจที่ศิริชัยเป็นผู้ก่อตั้ง) ขณะที่สโลแกนมาจากคุณสมบัติของข้าวที่หุงขึ้นมา บวกกับต้องการสร้างจุดขายในเรื่องความสะอาดและคุณภาพ ช่วงต้นข้าวมาบุญครองจึงบรรจุในถุงใสที่สามารถเห็นข้าวภายในถุงได้

“ยุคนั้นคนยังบริโภคข้าวกันมาก และการซื้อจะเป็น ‘ข้าวถัง’ แต่ต่อมาด้วยสังคมเปลี่ยนไป ขนาดครอบครัวไทยเล็กลง และคนต้องการความสะดวกสบาย ทางคุณศิริชัยเลยคิดทำข้าวบรรจุถุงขึ้นมาวางจำหน่ายตามร้านค้าและห้างต่าง ๆ เริ่มต้นทางข้าวขาวก่อนที่คนยุคนั้นนิยมกิน และขยายมาสู่ข้าวประเภทอื่น ๆ ต่อเนื่อง” สมเกียรติย้อนอดีตให้ฟัง

เปลี่ยนมือเจ้าของสู่กลุ่มธนชาต

ช่วงปี 2533 ได้เกิดปัญหาค่าเงินบาท ทาง ‘กลุ่มธนชาต’ ได้เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการดังกล่าวจากศิริชัย พร้อมเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด’ และนำเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์ในปี 2536 ซึ่งในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’

ในปี 2539 ได้ขยายพื้นที่กำลังการผลิตมาที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้าวมาบุญครองได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาเรื่อย ๆ อาทิ ในปี 2549 ออกโปรดักต์ข้าวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวออร์แกนิก ข้าวกล้องงอก ฯลฯ และปรับเปลี่ยนแพ็กเกจด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อคงคุณภาพข้าวในถุงไว้ให้นานที่สุด

ข้าวเพื่อสุขภาพสำหรับทุกไลฟ์สไตล์

ที่ผ่านมาข้าวมาบุญครองเป็นผู้นำมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจในปี 2527 จนถึงปี 2540 จากนั้นด้วยสภาพการแข่งขันรุนแรง โดยตลาดนี้มีผู้เล่นอย่างน้อย 300 แบรนด์ ทำให้ ณ ปัจจุบันข้าวมาบุญครองมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ราว ๆ 6 - 8% เป็น Top 4 ของตลาดข้าวบรรจุถุงในไทยที่มีการประเมินมูลค่าไว้ที่ 50,000 ล้านบาท

สำหรับทิศทางในอนาคตของข้าวมาบุญครอง สมเกียรติวางตำแหน่งให้เป็น ‘ข้าวเพื่อสุขภาพดีที่อยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คน’ ภายใต้แนวคิด ‘ไลฟ์สไตล์ไหน ๆ ก็ Rice-Style ข้าวมาบุญครอง’ มีผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังโควิด-19

นอกจากนี้ยังมาจากการบริโภคข้าวของคนไทยลดลง 30 - 40% ที่ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคที่หลากหลายขึ้น และความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้บริโภคที่คิดว่า การบริโภคข้าวจะทำให้เป็นโรคอ้วน ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้คนไทยมีอัตราป่วยด้วยโรคดังกล่าวพุ่งขึ้นแม้การบริโภคข้าวลดลงแล้ว โดยช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการบริโภคข้าวเฉลี่ย 120 กก./คน/ปี ช่วงโควิด-19 ลดลงเหลือ 78 กก./คน/ปี

“ในใจก็หวังอยู่ลึก ๆ ว่า ข้าวมาบุญครองจะกลับมาเป็นเบอร์ 1 ของตลาด แต่ด้วยหลายปัจจัย เราขอเป็นผู้นำในใจผู้บริโภคดีกว่า” เป็นคำพูดทิ้งท้ายของผู้บริหารข้าวมาบุญครองในปัจจุบัน