09 ส.ค. 2565 | 19:38 น.
จุดเริ่มต้นของบริษัทแห่งนี้มาจาก หยก-นารีรัตน์ แซ่เตียว ผู้เป็นทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง อินไซท์เอรา ในวันนี้จึงมีความน่าสนใจในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในฐานะนักศึกษาสาขาวิศวกรรม คอมพิวเตอร์ที่ถูกจุดประกายจนเกิดไอเดียในการสร้างเทคโนโลยีด้านการตลาดใหม่ ๆ สู่การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรยุคใหม่ด้วยวัยเพียง 30 ปี และนี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นของเรากับคุณหยก นารีรัตน์
การเรียนมาทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) โดยพื้นฐานก็เหมือนถูกบังคับให้ต้องใช้ชีวิตในสายนี้อยู่แล้ว แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ที่ทำให้เกิดอินไซท์เอราก็คือการได้ไปฝึกงานที่สิงคโปร์ โดยได้ทำงานด้านวิเคราะห์โซเชียลมีเดียเพื่อติดตามปัญหาด้านสาธารณูปโภค ทั้งเรื่องรถติด น้ำไม่ไหล ไฟดับในประเทศของเขา ตอนนั้นคือปี 2013-2014 เรื่องแบบนี้ยังไม่มีในไทย
“เรารู้สึกว่าน่าสนใจ ก็เลยตัดสินใจนำเรื่องนี้กลับมาทำเป็นหัวข้อสำหรับโปรเจกต์ตอนปี 4 พอได้ลองทำ หยกทำเกี่ยวกับเรื่อง public service ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจที่นำไปสู่การเดินสายประกวดเรื่องซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พอได้รางวัลมาบ้างก็ยิ่งเสริมความมั่นใจว่า เรามาถูกทางแล้ว ประกอบกับมีผู้ใหญ่หลายท่านเข้ามาชวนให้ไปร่วมทุน จึงเกิดเป็นอินไซท์เอราขึ้นมา”
เราเลือกเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เพราะเรามองว่าสายนี้น่าจะมีอนาคต เพราะตั้งแต่เด็กเราเห็นการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่อยู่รอบตัวเรา เราคิดแค่ว่าเรียนจบน่าจะเป็นสาขาที่มีดีมานด์เยอะ แล้วพอมาเรียนก็รู้สึกว่ามันใช่ เราก็เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จากตรงนั้น
อินไซท์เอราก่อตั้งในปี 2015 ตอนเริ่มต้นเราทำเรื่อง social listening ก่อน โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้บูมมาก แต่ถือว่าเริ่มต้นได้ดี เพราะคนเริ่มใช้โซเชียลมากขึ้น และแบรนด์ใหญ่ ๆ ก็ให้ความสนใจ เช่น ธนาคารใหญ่ ๆ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่เราเริ่มต้น พอมาถึงตอนนี้ ในเชิงการทำการตลาด แบรนด์ต่าง ๆ เปลี่ยนมาทำดิจิทัลมากขึ้น จึงต้องการการวัดผลที่ชัดเจนขึ้น ต้องการกระบวนการที่จะทำให้มั่นใจว่าเงินที่เขาลงไปมันถูกต้องตามผลที่ตั้งเป้าเอาไว้ ดีมานด์ของ MarTech จึงสูงขึ้นด้วย ส่วนในฝั่งของผู้บริโภคซึ่งใช้โซเชียลมีเดียเยอะขึ้นมาก แบรนด์ก็ต้องการการวิเคราะห์ตรงนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับสิ่งที่เป็นจุดแข็งของอินไซท์เอราคือความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้าในรูปแบบที่การตลาดแบบเดิมไม่สามารถให้ได้ ทั้งในเรื่องของความเร็ว (speed) และความแม่นยำ (accuracy) ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัว แข่งขัน และเติบโตในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ได้ บวกกับความเข้าใจทางด้านภาษา เนื่องจากพัฒนาโดยคนไทยที่เข้าใจในบริบททางการตลาดของไทย ทำให้เครื่องมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น
“หากแบรนด์เดินเข้ามาหาเรา บอกว่าต้องการทำให้แบรนด์เป็นดิจิทัลมากขึ้น หรืออยากเริ่มทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เราก็สามารถดูแลเขาได้ตั้งแต่ขั้นตอน planning จนถึงการทำแคมเปญเลย ในขณะเดียวกัน หากแบรนด์ไหนมีการทำงานบางส่วนอยู่แล้ว ก็สามารถเลือก plug and play บางตัวไปใช้ได้เหมือนกัน”
สำหรับความท้าทายอย่างหนึ่งในธุรกิจก็คือ การที่เป็น market provider เราต้องก้าวทันเทรนด์ และเพราะเราอยู่ตรงกลางระหว่างการตลาดกับเทคโนโลยี จึงต้องตามทั้งสองด้านนี้ให้ทันอยู่เสมอ หยกไม่มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา แต่มองว่าเป็นความท้าทายและเป็นความสนุกสำหรับคนรุ่นใหม่ พร้อมกับเป็นโอกาสที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่อยากทำงานในสายธุรกิจหรือโปรแกรมเมอร์ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน
“ในตลาดไทย เราคิดว่าบริการของเราค่อนข้างสตรองแล้วในมุมที่ว่า เครื่องมือต่าง ๆ เราพัฒนาเองโดยคนไทย ด้วยความเข้าใจในภาษา พื้นฐานทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ค่อนข้างแข็งแรง ในอนาคต หากมีโอกาสเราก็อยากขยายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่เราเชื่อว่ามีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ส่วนในมุมของตัวบริษัท แน่นอนว่าเราวางปลายทางในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ต้องดูระยะเวลาและความเหมาะสม รวมถึงความพร้อมของเราด้วย แต่นั่นคือเป้าหมายที่เรามุ่งไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเติบโต เป็นข้อพิสูจน์ความสำเร็จ และเพิ่มโอกาสให้คนของเราได้เติบโตในบริษัทที่เขามีส่วนร่วม”