19 ส.ค. 2565 | 14:35 น.
เมื่อวานนี้ (18 สิงหาคม 2565) เราได้บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองไทยคนใหม่ ก็คือ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ‘เจ้าพ่อธุรกิจพลังงาน’ วัย 57 ปี
(หมายเหตุ: การจัดอันดับ 1 และ 2 ยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดบนเว็บไซต์)
จากการจัดอันดับในเว็บไซต์ Forbes.com ในส่วนของ ‘The Real-Time Billionaires List’ รายชื่อมหาเศรษฐีประเทศไทยอันดับ 1 กลับกลายเป็นนักธุรกิจที่เคยอยู่เป็นอันดับ 4 จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยฉบับเอเชียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง
หลายคนเรียกสารัชถ์ว่าเป็นม้ามืดในวงการธุรกิจไทย เพราะเขาเป็นบุคคลที่อยู่ในมุมเงียบ ๆ ไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์มากเท่าเจ้าสัว 2 คนที่ว่ามานั้น
ชื่อของสารัชถ์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นตั้งแต่ในปี 2561 จากการที่เขาโผล่ไปติดอันดับ 7 ของมหาเศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บสเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ สารัชถ์ยังเป็นที่รู้จักในฉายาว่า ‘เศรษฐีหุ้นไทย’ เพราะเขาอยู่เป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปีซ้อนในปี 2562 - 2563 จากการจัดอันดับของวารสารการเงินการธนาคาร โค่นแชมป์เก่าอย่าง นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ไปได้
ม้ามืดม้าเร็วแห่งวงการมหาเศรษฐีไทยอย่าง สารัชถ์ เราคงต้องย้อนไปดูประวัติความน่าสนใจของเขาด้วยกันว่า กว่าจะมาเป็น สารัชถ์ เจ้าพ่อพลังงาน Gulf เขาเริ่มต้นเส้นทางนักธุรกิจได้อย่างไร
เติบโตจากครอบครัวทหาร
สารัชถ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 (มีพี่น้อง 3 คน และเป็นลูกคนกลาง) เขาเติบโตในครอบครัวที่มีพ่อและปู่เป็นทหาร ถือว่าเป็นนายทหารที่มีชื่อเสียง โดยพ่อของสารัชถ์คือ พล.อ.ถาวร รัตนาวะดี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อนร่วมรุ่น จปร.5 กับแกนนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ทำการรัฐประหารในปี 2534
ส่วนปู่ของเขาคือ พล.ต.พระอุดมโยธาธิยุต (นายสด รัตนาวะดี) อดีตสมาชิกคณะราษฎร นอกจากนี้ แม่ของสารัชถ์ก็คือ ประทุม รัตนาวะดี น้องสาวของนายวาริน พูนศิริวงศ์ นักธุรกิจและเจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า
ในวัยเด็กของสารัชถ์ผ่านมุมการเล่าเรื่องในหนังสือรุ่นวชิราวุธ รุ่นที่ 55 (OV 55) ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกเล่าเกี่ยวกับสารัชถ์ว่า “ลักษณะนิสัยในวัยเด็กเป็นคนโกรธง่าย แต่ไม่โกรธใครนาน ที่สำคัญเป็นคนเรียนเก่งที่สุดคนหนึ่งของรุ่น จนเป็นเป้าหมายของเพื่อน ๆ เวลาสอบ ทั้งที่ชอบโดดเรียนและนอนหลับระหว่างเรียน”
ส่วนครูคนหนึ่งได้เขียนถึงสารัชถ์ว่า “เป็นคนมีเหตุผล เจ้าปัญญา และเป็นผู้ใหญ่เกินวัย”
จุดเริ่มต้นของเส้นทางนักธุรกิจ
หลังจากที่สารัชถ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทในด้านการบริหารจัดการวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2537 เขากลับมาที่ประเทศไทยเพื่อเปิด บริษัท กัลฟ์ อิเล็คทริก จำกัด ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า และตอนนั้นเขามีอายุได้เพียง 29 ปี
แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลมากนักว่าสารัชถ์เป็นใครมาจากไหนก่อนที่จะเป็นมหาเศรษฐีในปัจจุบัน แต่นักวิเคราะห์ของต่างประเทศส่วนใหญ่พูดถึงสารัชถ์ว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากการเป็นทายาทธุรกิจพันล้านแล้วสืบทอดรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นโครงสร้างธุรกิจส่วนใหญ่ในไทย
อย่าง คริส เบเกอร์ นักวิชาการชื่อดังที่อยู่ในประเทศไทยมานาน เขาพูดว่า “สารัชถ์ไม่ใช่เศรษฐีระดับพันล้านธรรมดาๆ ในหมู่เศรษฐีพันล้านของไทยที่มีอยู่มากกว่า 50 คน”
หลังจากก่อตั้งบริษัทได้ไม่นาน สารัชถ์ได้ขยายอาณาจักรกัลฟ์ ในแขนงต่าง ๆ เช่น บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น, บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น, บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน, บริษัท กัลฟ์ ไอพีพี, บริษัท กัลฟ์ ทีเอส1, บริษัท กัลฟ์ วีทีพี, บริษัท กัลฟ์ เจพี ซึ่งหลัก ๆ จะอยู่ใน 5 ธุรกิจภายใต้เครือกัลฟ์ ก็คือ ธุรกิจไฟฟ้า, ก๊าซ, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานน้ำ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
นักวิเคราะห์ต่างประเทศพูดถึงเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้สารัชถ์กลายมาเป็นมหาเศรษฐีไทยเบอร์ต้น ๆ เกิดจากช่วงปี 2545 ที่รัฐบาลไทยระงับข้อตกลงสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง ทำให้สารัชถ์เบนเข็มธุรกิจไปที่ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ซึ่งก็กลายมาเป็นกระแสหลักในปัจจุบัน มีส่วนทำให้ธุรกิจกัลฟ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างเช่น โรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 และ 2 ที่จังหวัดสระบุรี ที่เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่เปลี่ยนจากถ่านหินมาเป็นก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน กัลฟ์มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในไทยประมาณ 25 แห่งและในต่างประเทศด้วย
ซึ่งในไตรมาส 1/2565 กำไรสุทธิของกัลฟ์อยู่ที่ 3,395 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจาก โครงการโรงไฟฟ้า GSRC 1 และ 2, ธุรกิจพลังงานลมในทะเลที่เยอรมนี, ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH (กัลฟ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่)
ทั้งนี้ สารัชถ์เคยพูดในงานเสวนา ‘ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทย’ โดยเครือมติชนในปี 2563 เขาได้พูดว่า “ประเทศไทยมีโอกาสสำหรับการลงทุนตลอดเวลา แต่ปัญหาคือการเติบโตของเศรษฐกิจกับประชาชนฐานรากไม่ไปด้วยกัน SMEs เจอปัญหาเรื่องสินเชื่อ เพราะธนาคารมักเข้มงวดเวลาจะปล่อยกู้มากกว่าบริษัทใหญ่ ๆ” ทั้งยังย้ำว่า “เมืองไทยถึงเวลาต้องกล้าลงทุนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในระยะยาว”
แม้ว่านาน ๆ ทีเราจะเห็นบทสัมภาษณ์ของสารัชถ์ หรือการพูดบนเวทีงานเสวนาที่ใดที่หนึ่ง แต่ทุกครั้งเขามักจะโฟกัสไปที่ปัญหาของประเทศไทย การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
ขณะเดียวกันธุรกิจในกลุ่มกัลฟ์ ยังมีการเคลื่อนไหวใหม่ ๆ อยู่เรื่อยมา อย่างล่าสุดที่กัลฟ์จัดตั้งบริษัท ‘กัลฟ์ ไบแนนซ์’ ร่วมกับ ไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อพัฒนากระดานเทรดคริปโตฯ ในไทยให้น่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล
ภาพ: GULF
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/thai/thailand-58111226
https://www.prachachat.net/person/news-720606
https://www.bangkokbiznews.com/business/Business_Stock/1020492
https://theaseanpost.com/article/sarath-ratanavadi-poised-be-thailands-newest-billionaire
https://www.bloomberg.com/billionaires/profiles/sarath-ratanavadi/#xj4y7vzkg
https://www.forbes.com/profile/sarath-ratanavadi/?sh=569306d049d7
https://www.gulf.co.th/th/management/sarath_ratanavadi_profile.php