ความท้าทายใหม่ ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ กับภารกิจ ‘ร้านขวัญใจประเทศเพื่อนบ้าน’

ความท้าทายใหม่ ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ กับภารกิจ ‘ร้านขวัญใจประเทศเพื่อนบ้าน’

เมื่อ 6 ปีก่อน ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ ได้เริ่มต้นจากร้านซูชิเพราะต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และด้วยรสชาติ บวกกับจุดขาย ‘ไซซ์ใหญ่ หน้าแน่น’ มีราคาไม่แรง ทำให้เกิดกระแสบอกต่อ จนร้านซูชิแห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักและขายดี สามารถขยายแฟรนไชส์ได้ในอันดับต้นๆ

และตอนนี้ไข่หวานบ้านซูชิกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง ภายใต้ร่่มเงาของเจ้าของใหม่ ‘บริษัท ทีเอชเค โฮลดิ้ง(ประเทศไทย)’ และมี ‘อมรา ไทยรัตน์’ เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) ซึ่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

“พี่เจี๊ยบ (ปุณิกา ธรรมขันธ์)อยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เลยต้องการขายกิจการ ตัวอัมเองก็เป็นแฟรนไชส์ของเขาอยู่แล้วเห็นโอกาสว่ายังไปได้อีกไกล จึงเจรจาขอซื้อแบบสิทธิ์ขาดทั้งแบรนด์ ทั้งสูตร แหล่งวัตถุดิบ เขาก็ตกลงเพราะเชื่อว่าเราจะทำได้ดี”

ความท้าทายใหม่ ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ กับภารกิจ ‘ร้านขวัญใจประเทศเพื่อนบ้าน’

 

จากระบบครอบครัวสู่มืออาชีพ

ร้านไข่หวานบ้านซูชิเริ่มต้นจาก ‘ปุณิกา ธรรมขันธ์’ ทำอาชีพพยาบาล และ ‘นิกร คลังทอง’ โดยนิกรสามารถทำอาหารญี่ปุ่นและซูชิได้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านของตัวเองประเดิมสาขาแรกที่เมืองทองธานี

หลังจากเข้ามาบริหารตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 อมราได้เปลี่ยนระบบการบริหารจากธุรกิจครอบครัวให้มาเป็นมืออาชีพ เพื่อให้ทุกอย่างมีระบบมากขึ้น ทั้งการสร้างระบบบริหารจัดการหลังบ้าน พัฒนาการบริการสำหรับกำหนดมาตรฐานของทุกสาขาที่ตอนนั้นมีอยู่กว่า 70 แห่ง 

โดยยังคงจุดขายของร้านไว้ คือ คุณภาพของวัตถุดิบ ตั้งแแต่น้ำส้มและโชยุที่เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง  ปลาดิบจะเป็นของสดใหม่ไม่ใช้ของแช่แข็ง ไข่หวานเมนูเด็ดของร้านก็ทำวันต่อวัน แถมซูชิที่ทำออกมายังคำใหญ่เต็มปากเต็มคำ จนเป็นสโลแกนของร้าน นั่นคือ ‘ไซซ์ใหญ่ หนาแน่น’ และการตั้งราคาเข้าถึงง่าย ซูชิเริ่มต้นคำละ 10-40 บาท

ความท้าทายใหม่ ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ กับภารกิจ ‘ร้านขวัญใจประเทศเพื่อนบ้าน’

“เราต้องการให้ไข่หวานบ้านซูชิเป็นร้านซูชิคู่คนไทย ซึ่งด้วยจุดขายที่มีเราเชื่อว่าเป็นไปได้ ที่เหลือ ต้องทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เพื่อรักษาความสม่ำเสมอของคุณภาพ”

 

ถูกอย่างเดียวไม่พอ

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า การจะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องมีการพัฒนาอย่างอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านบริการ 

 “ตอนนี้มีตัวเลือกเยอะมาก การแข่งขันสูง ต่อให้อร่อยและราคาถูกแค่ไหน หากงานบริการหน้าร้านไม่ได้ พูดจาไม่ดี ไม่ยิ้มแย้ม ลูกค้าไม่เข้าร้านแน่นอน”

ดังนั้น ไข่หวานบ้านซูชิยุคใหม่ จึงให้ความสำคัญกับการจัดการภายในร้าน และต้องฟังลูกค้า   นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมไข่หวานถึงต้องมีการปั้นซูชิหน้าร้าน จะไม่มีการทำหลังร้าน เพราะจะให้พนักงานทุกคนสามารถจะพูดคุยทำความรู้จักกับลูกค้า สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้ลูกค้ากลับมาซื้ออีกครั้ง

ความท้าทายใหม่ ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ กับภารกิจ ‘ร้านขวัญใจประเทศเพื่อนบ้าน’

นอกจากนี้ได้พัฒนาให้สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ที่เป็นสำนักงานใหญ่ของไข่หวานบ้านซูชิให้เป็นศูนย์อบรม พร้อมเป็นสาขาต้นแบบของไดร์ฟ ทรู และในอนาคตจะมีโมเดลใหม่ออกมาให้ตอบสนองกลุ่มลูกค้ามากขึ้นตามโลเคชั่นต่างๆ

ดูแลแล้วเติบโตไปด้วยกัน

 ขณะเดียวกัน ได้เปลี่ยนรูปแบบในการดูแลแฟรนไชส์ จาก ‘แตะมือแล้วปล่อย’ มาเป็นระบบ ‘ดูแลแล้วเติบโตไปด้วยกัน’ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและเดินหน้าไปได้ไกล โดยนอกจากให้สูตรและวัตถุดิบการทำซูชิแล้ว ยังเน้นฝึกอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งการบริหารจัดการภายใน ข้อมูลทางการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น 

“เจ้าของเดิม จะบริหารแฟรนไชส์สอนการทำ ส่งวัตถุดิบให้ จากนั้นต้องบริหารเองไม่มีแผนธุรกิจให้ ซึ่งตรงนี้มองว่า หากทำให้เป็นระบบ จะช่วยรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐานในทุกสาขา และเพิ่มโอกาสการเติบโตได้มากกว่าเดิม”

 “อย่างที่บอกเราเป็นแฟรนไชส์ของเขามาก่อน รู้ตั้งแต่เริ่มต้นว่าเปิดร้านยังไง ทำอย่างไรถึงจะรอด เมื่อก่อนอัมมียอดขายแค่ 20,000 บาท จนขายได้วันละ 100,000 บาท ลองผิดลองถูกมา แล้วเอาคำแนะนำจากประสบการณ์มาถ่ายทอดอย่างมีระบบให้กับคนที่ต้องการไปทำแฟรนไชส์”

เตรียมปักธงตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

ความท้าทายใหม่ ‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ กับภารกิจ ‘ร้านขวัญใจประเทศเพื่อนบ้าน’

ตอนนี้อมราได้เข้าไปบริหารไข่หวานบ้านซูชิเป็นเวลาเกือบ 2 ปี มีการขยายสาขาต่อเนื่องถึงปัจจุบันรวมแล้ว 180 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาในรูปแบบสแตน อะโลน และอยู่ในปั๊มน้ำมัน โดยภายในปี 2565 จะขยายให้ได้ 200 แห่ง 

ส่วนปีหน้าจะขยับเข้าไปเปิดสาขาตามห้างสรรพสินค้าให้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงพร้อมกับเพิ่มฐานลูกค้าให้หลากหลายกว่าเดิม และยังมีแผนจะขยับฐานะจาก ‘ร้านซูชิคู่คนไทย’ ไปเป็น ‘ร้านซูชิขวัญใจประเทศเพื่อนบ้าน’ ด้วยการนำร้านไข่หวานบ้านซูชิไปเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้านแถบ CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

โดยจะเริ่มต้นที่ลาว เนื่องจากเห็นโอกาสทางธุรกิจ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผู้บริโภคในประเทศลาวให้การตอบรับรูปแบบอาหารจากไทยเป็นอย่างดี

แม้ไข่หวานบ้านซูชิจะอยู่ในตลาดมานานราว 6 ปี มีความแข็งแรงของแบรนด์ ขณะเดียวกันเธอยอมรับว่า เส้นทางข้างหน้ายังมีความท้าทายอีกมากที่รออยู่ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยจากผลงานที่ผ่านมา ก็เชื่อว่า ไข่หวานบ้านซูชิจะเดินสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน 

.

#Thepeople #Business #ไข่หวานบ้านซูชิ #ซูชิ #อมรา_ไทยรัตน์