‘แลกซ์แมน นาราซิมฮาน’ CEO คนใหม่เชื้อสายอินเดีย ผู้จะมาพลิกฟื้นให้ ‘สตาร์บัคส์’ทรงพลังอีกครั้ง

‘แลกซ์แมน นาราซิมฮาน’ CEO คนใหม่เชื้อสายอินเดีย ผู้จะมาพลิกฟื้นให้ ‘สตาร์บัคส์’ทรงพลังอีกครั้ง

สตาร์บัคส์ (Starbucks) กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ด้วยการผลัดใบที่เป็นกิ่งก้านหลักขององค์กร โดยเปลี่ยน CEO คนใหม่จาก โฮวาร์ด ชูลท์ซ (Howard Schultz) มาเป็น ‘แลกซ์แมน นาราซิมฮาน’ (Laxman Narasimhan) ผู้บริหารเชื้อสายอินเดียซึ่งจะเข้ามารับช่วงต่ออย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 2023

แลกซ์แมน นาราซิมฮาน จะเริ่มเข้ามาเรียนรู้งานโดยตรงกับ โฮวาร์ด ชูลท์ซ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยในระหว่างนี้ โฮวาร์ด ชูลท์ซ จะนั่งเป็น CEO รักษาการไปก่อนจนกว่าจะถึงกำหนดการส่งไม้ต่อในปีหน้า

เรื่องราวของ แลกซ์แมน นาราซิมฮาน น่าสนใจ เขามีประสบการณ์ทำงานทั้งบริหารและเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์ดัง ๆ อยู่หลายบริษัทเกือบ 30 ปี โดยหลายคนยกย่องให้เขาเป็นคนที่มีความรุดหน้าทางความคิด เขาเชี่ยวชาญในด้านการปฏิบัติจริง มีแนวคิดการบริหารอย่างสร้างสรรค์และเป็นเอกลักษณ์

โฮวาร์ด ชูลท์ซ ได้ระบุในจดหมายถึงพนักงานของสตาร์บัคส์เกี่ยวกับ CEO คนใหม่ว่า “เขาเป็นผู้นำด้านกลยุทธ์และการเปลี่ยนแปลง โดยมีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งในการสร้างแบรนด์สำหรับผู้บริโภคที่ทรงพลัง” (ซึ่งก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ของสตาร์บัคส์ตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้)

 

มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทดังหลายแห่ง

ก่อนหน้านี้ แลกซ์แมน นาราซิมฮาน นั่งเป็น CEO ให้กับบริษัท Reckitt Benckiser Group ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Dettol ท็อปแบรนด์ในตลาดน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยแนวคิดการบริหารของเขามีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายผลิตภัณฑ์ของ Dettol ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ทั้งนี้เขาจะอยู่ในตำแหน่งนี้ถึงวันที่ 30 กันยายนนี้

นอกจากนี้ แลกซ์แมน นาราซิมฮาน ยังเคยเป็น CEO ให้กับ Durex ผู้ผลิตถุงยางอนามัยชื่อดัง และเคยทำงานใน PepsiCo โดยรับหน้าที่เป็น CMO (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์) และเป็นซีเนียร์พาร์ตเนอร์กับ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก

สร้างปรัชญาสตาร์บัคส์อีกครั้ง

โฮวาร์ด ชูลท์ซ ได้พูดถึงปัญหาและความท้าทายของสตาร์บัคส์ในเวลานี้ โดยเฉพาะเรื่องความกดดันจากสหภาพแรงงาน เพราะขณะนี้มีร้านค้ามากกว่า 200 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่โหวตให้จัดตั้ง ‘Workers United’

ปรัชญาแห่งสตาร์บัคส์ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมมาตลอด รวมทั้งรายได้, สวัสดิการของพนักงานทั้ง full-time และ part-time แต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สตาร์บัคส์เผชิญกับกระแสต่อต้านจนทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์เสียหาย

เช่น ในตลาดจีนที่สตาร์บัคส์กำลังสูญเสียรายได้จากประเด็นดราม่าในนครฉงชิ่ง พนักงานของสตาร์บัคส์ไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังนั่งกินข้าวบริเวณหน้าร้าน ซึ่งกระแสต่อต้านสตาร์บัคส์จีนยังคงบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อยอดขายในตลาดจีนด้วย

เมลโลดี ฮอบสัน (Mellody Hobson) ประธานคณะกรรมการอิสระของสตาร์บัคส์ ได้พูดว่า “แลกซ์แมน นาราซิมฮาน เป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ ประสบการณ์เชิงปฏิบัติแบบเชิงลึกของเขาจะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจได้ ซึ่งสตาร์บัคส์กำลังเผชิญกับผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้เขาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการเร่งการเติบโตของสตาร์บัคส์

“ความเข้าใจของเขาในวัฒนธรรมและค่านิยมของเรา ประกอบกับความเชี่ยวชาญในฐานะผู้สร้างแบรนด์ และเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรม เขาเป็นผู้นำที่จะช่วยสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงให้กับสตาร์บัคส์ในอีก 50 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของเรา”

สตาร์บัคส์ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ทรงพลังมาโดยตลอด หนึ่งในตัวอย่างที่สตาร์บัคส์เคยทำและสร้างเสียงฮือฮาอย่างกึกก้องก็คือ ในปี 2008 ที่สตาร์บัคส์ทุกสาขากว่า 7,100 แห่งทั่วโลกพร้อมใจกันปิดให้บริการ เพื่ออุทิศเวลา 1 วันไปกับการ ‘ลับฝีมือ’

ประโยคที่สะท้อนความเป็นปรัชญาแห่งสตาร์บัคส์อย่างแท้จริงจากหนังสือ Onward: How Starbucks Fought for Its Life Without Losing Its Soul โดย โฮวาร์ด ชูลท์ซ เขาได้พูดว่า “เรากำลังใช้เวลาเพื่อให้เอสเพรสโซ่ของเราสมบูรณ์แบบ การชงเอสเพรสโซ่รสเลิศจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน นั่นคือเหตุผลที่เราอุทิศตนเพื่อลับฝีมือ”

ซึ่งสตาร์บัคส์เคยถูกพูดถึงอย่างมากเกี่ยวกับ ‘สวัสดิการของพนักงาน’ ตั้งแต่ปี 2000 โดยโฮวาร์ด ชูลท์ซ เน้นย้ำว่าสวัสดิการสตาร์บัคส์ต้องครอบคลุมและเท่าเทียม รวมทั้งเปิดโอกาสในการซื้อออปชันหุ้นสตาร์บัคส์ให้กับพนักงานทุกคนด้วย

ดังนั้นกระแสลบหรือภาพลักษณ์บางอย่างของสตาร์บัคส์ที่ถูกทำลายแม้จะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของภาพลักษณ์ที่ดีทั้งหมดที่ยังอยู่ เพียงแต่ โฮวาร์ด ชูลท์ซ เชื่อในความสมบูรณ์แบบและเชื่อมั่นว่า แลกซ์แมน นาราซิมฮาน จะสามารถสร้างปรัชญาแห่งสตาร์บัคส์ในแบบฉบับของเขาได้ และเขาจะเป็นคนที่สร้างความทรงพลังของแบรนด์สตาร์บัคส์ได้ในยุคที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้

 

ภาพ: stories starbucks & news

อ้างอิง:

https://stories.starbucks.com/press/2022/starbucks-names-laxman-narasimhan-as-next-chief-executive-officer/

https://edition.cnn.com/2022/09/01/business/starbucks-new-ceo/index.html

https://www.ndtv.com/world-news/starbucks-names-laxman-narasimhan-as-new-chief-executive-officer-3308460

https://www.cnbc.com/2022/09/01/starbucks-says-laxman-narasimhan-will-take-over-as-ceo-in-april.html

https://www.theguardian.com/business/2022/sep/01/boss-dettol-maker-reckitt-benckiser-unexpectedly-resigns-laxman-narasimhan