‘สง่า บุญสงเคราะห์’ คนเรียนไม่จบที่สร้าง Moshi Moshi เป็นอาณาจักรพันล้าน

‘สง่า บุญสงเคราะห์’ คนเรียนไม่จบที่สร้าง Moshi Moshi เป็นอาณาจักรพันล้าน

จากร้านเล็ก ๆ จนวันนี้ 'โมชิ โมชิ' มีสาขามากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างยื่นขอจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ผมไม่เคยคิดเลยนะว่า ร้านโมชิ โมชิ จะเดินมาไกลจนถึงจุดนี้”  

‘สง่า บุญสงเคราะห์’ ซีอีโอ บริษัท โมชิ โมชิ รี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้ง ‘ร้านโมชิ โมชิ’ (Moshi Moshi) เล่าถึงความรู้สึกต่อความสำเร็จของร้านที่เขาก่อตั้งขึ้นมาจากร้านเล็ก ๆ จนวันนี้มีสาขามากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างยื่นขอจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กับ The People ได้ฟัง โดยเทลครั้งนี้เป็นการให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกของเขา

“ผมอยู่ในอาชีพค้าขายมากว่า 30 ปี เพราะพ่อเปิดร้านขายปลีกสินค้าทั่วไปและกิฟต์ชอปอยู่ย่านฝั่งธนฯ ตั้งแต่ปี 2516 หลังเลิกเรียนผมเองก็มาช่วยทำงานตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นแพ็กของ ส่งสินค้า ไปเป็นเซลส์ขายของตั้งเเต่ตอนที่ยังเรียนหนังสือ”

ต่อมาด้วยการเห็นโอกาสพี่ชายของเขาได้พัฒนาธุรกิจของครอบครัวจากร้านค้าปลีกให้เป็น ‘ร้านค้าส่ง’ โดยส่งสินค้าให้กับร้านค้าใหญ่และห้างสรรพสินค้า ซึ่งยุคนั้นร้านเหล่านี้ยังไม่มีแผนกกิฟต์ และขยับขยายร้านจากฝั่งธนฯ มาเปิดหน้าร้านที่สำเพ็ง ย่านขายส่งชื่อดังของบ้านเรา  

และจุดเปลี่ยนชีวิตของสง่าก็เกิดขึ้นตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 เมื่อฝ่ายขายต่างจังหวัดของบริษัทได้ลาออกอย่างกะทันหัน ทำให้เขาตัดสินใจหยุดเรียนชั่วคราวเพื่อออกมาช่วยงานครอบครัว เพราะถ้ารับคนใหม่ต้องใช้เวลา

 

“ตอนนั้นผมคิดว่า เมื่อหาคนใหม่ได้จะกลับไปเรียนต่อ แต่จากวันนั้นกระทั่งถึงวันนี้ ผมยังไม่ได้กลับไปเรียนต่ออีกเลย” 

ประสบการณ์ทำงานในฝ่ายขาย 2 ปี ทำให้เขาได้ไอเดียจากการเห็นสินค้าที่นำไปขายเเละเห็นถึงความต้องการของลูกค้า นั่นคือ ‘ตัวสินค้า’ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การขาย เพราะหากสินค้าดี ลูกค้าก็พร้อมซื้อและสั่งสินค้าซ้ำ 

‘สง่า บุญสงเคราะห์’ คนเรียนไม่จบที่สร้าง Moshi Moshi เป็นอาณาจักรพันล้าน

ในทางกลับกัน หากสินค้าไม่ดี ลูกค้าจะไม่ซื้อ สินค้าจะขายได้ช้าและเป็นภาระกับร้าน เขาจึงขอทางครอบครัวเข้าไปดูแลงานในส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ฝ่ายการตลาด 

การได้ดูแลงานในส่วนนี้ สง่าได้เรียนรู้จากผู้ผลิตซัปพลาย ทำให้เข้าใจวิธีการว่า ทำอย่างไรสินค้าจะมีคุณภาพดีขึ้นและราคาถูกลง รวมถึงพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งทำให้ผลการตอบรับของลูกค้าดีขึ้นมาก จนครอบครัวให้โอกาสเขาดูภาพรวมทั้งหมด และรับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท

จุดเริ่มต้นร้านโมชิ โมชิ

หลังจากมาดูภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจ บวกกับประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีในแวดวงค้าขายสินค้ากิฟต์ชอปและสินค้าจิปาถะมานานกว่า 30 ปี สง่าสังเกตเห็นว่าตลาดนี้มีแนวโน้มดี เป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนหนึ่งมาจากตอนนั้นเริ่มมี Chain Store จากต่างประเทศ อาทิ Daiso เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ประกอบกับ ‘ร้านทุกอย่าง 20 บาท’ มีการเติบโตที่ดี ทำให้สนใจจะเปิดร้านของตัวเองขึ้นมาบ้าง

“ร้านจากต่างประเทศนำเสนอสินค้าดี มีคุณภาพ แต่ราคายังสูงอยู่ ส่วนร้านทุกอย่าง 20 บาท ได้เปรียบเรื่องราคา แต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพกับดีไซน์สินค้า ผมจึงเห็นช่องว่างของตลาด เลยนำ Pain point ของทั้งสองมาบวกกับข้อได้เปรียบที่เราเข้าใจความต้องการของลูกค้ามาสร้างคอนเซ็ปต์ร้านของตัวเอง” 

คอนเซ็ปต์ที่ว่า เขาต้องการให้สินค้าของเขาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า ภายใต้จุดขาย ‘สวย ถูก ดี’ เน้นเรื่องของคุณภาพ ดีไซน์ต้องสวย ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้าและการจัดหน้าร้าน ที่ขาดไม่ได้ ราคาต้องจับต้องได้ง่าย เพื่อให้เข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมาก 

‘สง่า บุญสงเคราะห์’ คนเรียนไม่จบที่สร้าง Moshi Moshi เป็นอาณาจักรพันล้าน

ส่วนรูปแบบนำเสนอนั้น ร้านจะออกสไตล์สินค้าญี่ปุ่น ทั้งรูปแบบของสินค้าและชื่อร้าน ตามกระแสนิยมของคนไทยที่ชื่นชอบสินค้าญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ใช้ชื่อร้าน ‘โมชิ โมชิ’ (Moshi Moshi) เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า Hello หรือ สวัสดี 

โดยเปิดสาขาแรกช่วงปลายปี 2559 ที่แพลตตินั่ม ประตูน้ำ ตามด้วยสาขา 2 ที่สำเพ็ง (ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของโมชิ โมชิ ในปัจจุบัน) 

เจอปัญหาห้างไม่ให้พื้นที่เปิด ต้องปรับกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง

‘สง่า บุญสงเคราะห์’ คนเรียนไม่จบที่สร้าง Moshi Moshi เป็นอาณาจักรพันล้าน

แม้จะวางคอนเซ็ปต์มาดี แต่ด้วยความเป็น ‘น้องใหม่’ คนยังไม่รู้จักมากนัก ดังนั้นช่วงแรกของร้านโมชิ โมชิ ก็ประสบปัญหาเหมือนกับร้านใหม่ทั่วไป นั่นคือหาพื้นที่เปิดสาขาได้ยาก โดยเฉพาะบนพื้นที่ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า ทำให้มีสาขาน้อย 

อีกปัญหาที่ตามมา คือ minimum order เนื่องจากสง่าต้องการทำสินค้ามีดีไซน์แบบ exclusive ไม่มีจำหน่ายที่อื่น 

“โจทย์ในเรื่องการผลิต ผมต้องเดินเข้าไปคุยกับซัปพลายเออร์เองเลยว่า ธุรกิจของเรามีโอกาสเติบโตอีกเยอะนะ ขอให้เขาช่วยลด minimum ในการผลิต และให้ราคาต้นทุนที่เรานำไปขายในราคาที่แข่งขันได้ สุดท้ายเขาก็โอเคเพราะเห็นโอกาสที่บอก”  

ส่วนปัญหาการหาโลเคชั่นเปิดสาขาใหม่ เขาปรับกลยุทธ์มาใช้ ‘ป่าล้อมเมือง’ หันไปเปิดสาขาในห้างตามต่างจังหวัดก่อน เพื่อสร้างฐานธุรกิจและลูกค้า และด้วยดีไซน์น่ารัก สินค้ามีคุณภาพ แถมมีราคาเหมาะสม ทำให้ร้านโมชิ โมชิ เป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มลูกค้า และนำไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย จนสร้างชื่อให้ร้านโมชิ โมชิ โด่งดังบนโลกโซเชียลฯ จนได้รับการติดต่อจากทางห้างสรรพสินค้าเสนอทำเลที่ดีสำหรับเปิดสาขา 

“ตอนนั้นร้านที่เปิดมากระแสตอบรับดีมาก ผมยังจำได้ดีว่า ในวันที่เปิดสาขาใหม่มีลูกค้ามายืนรอหน้าห้างเพื่อรอเข้ามาซื้อสินค้าในร้านเรา บางห้างมากกว่า 400 คน จนทำให้ห้างสรรพสินค้าชั้นนำเริ่มสนใจและนำเสนอพื้นที่ให้กับเรา”

เตรียมติดนามสกุล ‘มหาชน’

ปัจจุบันร้านโมชิ โมชิ มีสาขาทั้งหมด 101 สาขา ภายในเวลาไม่ถึง 6 ปี และมีรายได้อยู่ในระดับกว่าพันล้านบาท 

ส่วนแผนในอนาคต จะมีการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกับจะเพิ่มหมวดให้มีสินค้าหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากกว่าเดิม โดยตอนนี้สินค้าหลัก ๆ ที่จำหน่ายภายในร้านโมชิ โมชิ มีอยู่ 12 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องใช้ในบ้าน กระเป๋า เครื่องเขียน ตุ๊กตา ของใช้แฟชั่น อุปกรณ์เสริมความงาม เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง อุปกรณ์ด้านไอที ของเล่น อาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่น ๆ รวมเป็นสินค้ามากกว่า 18,000 SKUs

นอกจากนี้ ยังวางแผนขยายสาขาไปยังต่างประเทศ และอยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งตัวเขาเองยอมรับว่า ในวันที่เริ่มต้นธุรกิจนึกไม่ถึงเหมือนกันว่าจะเดินมาถึงจุดนี้

‘สง่า บุญสงเคราะห์’ คนเรียนไม่จบที่สร้าง Moshi Moshi เป็นอาณาจักรพันล้าน

แต่อีกมุมเขามองว่า โอกาสอยู่รอบตัวเรา เพียงต้องคอยสังเกต คอยดูหลาย ๆ ธุรกิจ เเละเลือกในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สนใจ แล้วลงลึกตั้งใจศึกษาตลาดให้ดีเเละรอบคอบ คอยปรึกษาถามความเห็นจากผู้มีประสบการณ์  เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจให้เหลือน้อยที่สุด

“จากประสบการณ์ของผม ถ้าเราจะเจ๊ง ก็เจ๊งเฉพาะบนกระดาษก่อน” 

ที่สำคัญเมื่อคิดมาดีแล้ว ‘ต้องลงมือทำ’ และเมื่อลงมือทำ ต้องรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าและทีมงานเพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจอยู่เสมอ ๆ เพราะการทำธุรกิจไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหยุดพัฒนา นั่นจะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ 

เช่นเดียวกับเขาที่พัฒนา ‘โมชิ โมชิ’ อย่างต่อเนื่องเพื่อเดินหน้าต่อไปในอนาคต จนตอนนี้มีรายได้ปีละกว่าพันล้านบาท และเตรียมติดนามสกุลมหาชน 

.

ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม

.

#ThePeople #Business #Moshi_Moshi #โมชิ_โมชิ #สง่า_บุญสงเคราะห์