HappyFresh ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ที่เกิดขึ้นคนรักเมียอยากให้ชอปปิงสบายๆ

HappyFresh ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ที่เกิดขึ้นคนรักเมียอยากให้ชอปปิงสบายๆ

ช่วงนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่สดใสนักสำหรับ Tech Company ยกตัวอย่าง Shopee ที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการเงินจนต้องรัดเข็มขัดอย่างหนัก ทั้งเลิกกิจการและเลิกจ้างพนักงานในบางประเทศ รวมถึง HappyFresh ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่ได้ประกาศยุติการทำธุรกิจในไทย

ย้อนกลับไปในปี 2557 HappyFresh ได้ถือกำเนิดขึ้นจาก Fajar Budiprasetyo นักเทคโนโลยีชาวอินโดนีเซียผู้พัฒนา Koprol บริการ Location-based การแจ้งพิกัดสถานที่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กสัญชาติอินโดนีเซีย ซึ่งต่อมาได้ขายให้กับ Yahoo ในปี 2553 (บริการนี้ปิดตัวลงในปี 2555) 

โดยเขาเกิดไอเดียที่จะพัฒนาซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ หรือ E-Grocery ขึ้นมา ระหว่างไปชอปปิงกับภรรยาที่ซูเปอร์มาร์เก็ต และรู้สึกเป็นห่วงทุกครั้งที่เห็นภรรยาต้องลากรถเข็นและหยิบของใส่รถเข็นด้วยท่าทีเหนื่อยล้า

“ผมมีการงานที่ต้องทำ ชอบเล่นกับลูก ๆ ของผม และช่วยภรรยาชอปปิงของสดของใช้เข้าบ้านทุกอาทิตย์ แล้วคิดว่า หากเธอต้องทำทุกอย่างนี้ทั้งหมดคนเดียวล่ะ หากคิวต่อแถวจ่ายเงินนานล่ะ ถ้าเธอต้องถือของทั้งหมดด้วยตัวเองล่ะ”

คำถามเหล่านี้ทำให้เขาอยากให้ภรรยาไม่ต้องลำบากเรื่องการซื้อของสดอีกต่อไป และมีเวลาว่างกับครอบครัวมากขึ้น ประกอบกับตัวเขาเองเริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ โดยเห็นตัวอย่างความสำเร็จของ Instacart บริษัทจัดส่งของสดของใช้ในสหรัฐอเมริกา 

ทั้งหมดเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เขาตัดสินใจรวมตัวกับกลุ่มเพื่อน ๆ เพื่อสร้าง HappyFresh ขึ้นมาในเดือนตุลาคม 2557 และเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2558

จุดเด่นของบริการนี้คือให้เราสามารถสั่งซื้อของสด อาหาร ตลอดจนสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทางออนไลน์แล้วให้มาส่งถึงที่ได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง

แต่การให้บริการในช่วงแรกไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะระยะเริ่มต้น HappyFresh ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อหาซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับมาเป็นพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จัก

หลังจากพยายามอยู่หลายครั้ง ในที่สุด Fajar ก็ได้พาร์ตเนอร์อย่าง Ranch Market และ Farmer’s Market จากนั้น HappyFresh ได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นที่นิยม สามารถระดมทุนระดับ Serie D ปิดเงินระดมทุนไปประมาณ 65 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกลุ่มทุนจากสิงคโปร์อย่าง Naver Financial Corporation และ Gafina B.V ตลอดจนกลุ่มทุนจากอินโดนีเซีย ได้แก่ STIC, LB และ Mirae Asset

เมื่อมีเงินและได้รับการตอบรับมากขึ้น HappyFresh ได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย และไทย 

โดยในไทยเริ่มให้บริการเมื่อปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงหลังได้มีผู้เล่นในธุรกิจ E-Grocery มากขึ้น ทั้งผู้ให้บริการเดลิเวอรี เช่น Grab ฯลฯ ตลอดจนเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการเอง ไม่ว่าจะเป็น กรูเม่ต์ มาร์เก็ต ของเดอะมอลล์, วิลล่า มาร์เก็ต เป็นต้น

.

กระทั่งวันที่ 22 กันยายน 2565 HappyFresh ได้ประกาศยุติการให้บริการในไทยแบบมีผลทันที ด้วยเหตุผลเจอพิษวิกฤตเศรษฐกิจจนไปต่อไม่ไหว ถือเป็นการปิดฉากผู้บุกเบิกธุรกิจ E-Grocery ในบ้านเรา

.

ภาพ: HappyFresh

.

อ้างอิง:

-Facebook happyfresh thailand

-https://www.prestigeonline.com/id/people-events/people/fajar-budiprasetyo-talks-about-happyfresh-and-the-future-of-grocery-shopping/

-https://www.happyfresh.co.th/blog/news-event-promo/how-fajar-co-found-happyfresh/

.

#ThePeople #Business #HappyFresh #E_Grocery #ส่งของออนไลน์