Health Land ดินแดนสุขภาพที่ไม่ตั้งใจเป็น‘ร้านนวด’แต่โด่งดังจากเรื่องนี้

Health Land ดินแดนสุขภาพที่ไม่ตั้งใจเป็น‘ร้านนวด’แต่โด่งดังจากเรื่องนี้

Health Land Spa & Massage ดินแดนสุขภาพที่ผู้ก่อตั้งไม่ได้ตั้งใจให้เป็น 'ร้านนวด' แต่กลับโด่งดังพราะเรื่องนี้

เมื่อเอ่ยถึง Health Land Spa & Massage ใครหลายคนอาจคิดถึงร้านที่โด่งดังในเรื่องการนวด ซึ่งความจริงแล้ว ณ วันเริ่มต้นสาขาแรกที่ย่านศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ในปี 1999 ‘พิทักษ์ ลาภปรารถนา’ ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวม ‘สุขภาพ’ แบบครบวงจร ทั้งสินค้าเพื่อสุขภาพ ยาสมุนไพรแผนโบราณ อาหารมังสวิรัติ แปลงผักออร์แกนิก อุปกรณ์ปลูกผักสวนครัว และ…โซนนวดบำบัดเน้นการรักษา

แล้วทำไมต้องเป็นศูนย์รวมเรื่องสุขภาพ?

 เรื่องมีอยู่ว่า คุณแม่ของพิทักษ์ป่วยเป็น ‘มะเร็ง’ ทำให้ตัวเขาต้องศึกษาองค์ความรู้ด้านสุขภาพทุกรูปแบบเพื่อช่วยเหลือคนที่รักที่สุดในชีวิต อย่างน้อยก็ยื้อเวลาออกไปให้ได้มากที่สุด 

ระหว่างทางเดินนี้ เขาต้องศึกษาเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ศาสตร์ด้านจิตใจและจิตวิญญาณ รวมไปถึงองค์ความรู้ด้านการนวดบำบัด อาจกล่าวได้ว่า การทำธุรกิจ Health Land มาจากสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และเป็นความตั้งใจลึก ๆ ที่อยากส่งมอบสุขภาพโดยรวมที่ดีแก่ผู้อื่น

ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นร้านนวด

เพราะเป็นร้านขายสินค้าสุขภาพครบวงจร ทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนไม่ได้เดินเข้าร้านนวด แต่เดินเข้าร้านขายของสุขภาพที่แค่มีบริการนวด ‘เสริม’ จึงเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น บางคนอาจมาเพื่อซื้อของสุขภาพและแวะนวดในเวลาเดียวกัน

 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Health Land ได้โอบกอดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีจำนวนมหาศาลทั้งในแง่ปริมาณและกำลังซื้อ นั่นคือกลุ่ม ‘สุภาพสตรี’ ย้อนกลับไปหลายสิบปีที่แล้ว เวลาคนทั่วไปพูดถึง ‘นวด’ มักเชื่อมโยงไปถึงเรื่องธุรกิจสีเทาต่าง ๆ และคนที่พร้อมจะตัดบทจบก็คือกลุ่มผู้หญิงที่ต่อให้เมื่อย อยากนวดคลายกล้ามเนื้อแค่ไหน ก็ไม่กล้าไปใช้บริการ 

แต่นั่นไม่ใช่กับ Health Land เพราะเป็นร้านสินค้าสุขภาพโดยรวมที่แค่มีนวดเสริม ลูกค้าคุณผู้หญิงจึงรู้สึกเข้าถึงได้ง่ายและกล้ามาใช้บริการ

 ในเวลาต่อมา รายได้จากโซนนวดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ได้ลูกค้าทั้งชายและหญิง) พิทักษ์จึงได้ทดลอง ‘ลดพื้นที่’ โซนอื่นลง เพื่อมาเพิ่มให้กับโซนนวด จากนวดบำบัดเน้นรักษา ก็ได้ขยายสู่นวดแผนไทยโบราณ นวดน้ำมัน นวดสปา และอื่น ๆ ตามมาที่แอดวานซ์ขึ้น

 ไม่นานนัก รายได้จากโซนนวดเพิ่มมากขึ้นจนครอบครองรายได้ส่วนใหญ่ไปแล้ว พิทักษ์เห็นว่า งั้นก็ปิดโซนอื่นให้หมดแล้วหันมา ‘โฟกัส’ ที่การนวดจริงจังไปเลยดีกว่า

เปลี่ยนทัศนคติและวัฒนธรรม

สมัยก่อน การนวดมีภาพจำ (และการครอบงำทางวัฒนธรรม) ถึงการที่หมอนวดจะมีแต่ผู้หญิง และลูกค้ามีแต่ผู้ชายที่จะได้รับการปรนนิบัติอย่างดี แต่การมาถึงของ Health Land ได้เปลี่ยนบริบทนี้ไปตลอดกาล ต่อไปนี้คุณผู้หญิงก็สามารถมาใช้บริการได้อย่างสบายใจ

 นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ด้านการสื่อสารการตลาดและการออกแบบร้าน พิทักษ์ได้แรงบันดาลใจมาจากการตกแต่งภายในตาม ‘โรงพยาบาลหรู’ ชั้นนำต่าง ๆ มีการแบ่งโซนพื้นที่ใช้งาน มีห้องรับรองแขก มีงานบริการที่มีระดับ ทุกอย่างมีมาตรฐานสากลที่สูง

 ตัวร้านที่สร้างความแตกต่าง

Health Land เลือกใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างด้วยสถานที่รูปแบบร้านในตัวมันเอง กล่าวคือ สาขาของ Health Land แทบทั้งหมดจะมาในรูปแบบ ‘คฤหาสน์ขนาดใหญ่’ 

 ปกติลูกค้าทั่วไปที่มาใช้บริการมักไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเยือนสถานที่ใหญ่โตโอ่อ่าอลังการขนาดนี้บ่อยนักหรอก การเดินเข้า Health Land จึงเหมือนเปิดวาร์ปไปอยู่อีกโลกหนึ่ง เป็น ‘ประสบการณ์’ ที่น่าอภิรมย์และสร้างความประทับใจได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่สำคัญ แบรนด์วางตำแหน่งตัวเองโดยมีราคาระดับกลาง ๆ ไม่ถูกและไม่แพงจนเกินไป ลูกค้าจึงมีโอกาสกลับมาใช้บริการซ้ำ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

 มองเผิน ๆ จำนวนสาขาของ Health Land อาจดูไม่เยอะ แต่เราต้องไม่ลืมว่า แต่ละสาขามีขนาดเป็นคฤหาสน์เลยทีเดียว ซึ่งจุปริมาณแขกได้เยอะมาก Health Land ยังโฟกัสสาขาที่จะกระจุกตัวในกรุงเทพฯ เป็นหลัก และมีจุดเด่นที่ชัดเจนในความเป็นร้านสแตนด์อะโลน ตั้งอยู่เดี่ยว ๆ ไม่ได้ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าเหมือนคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ

 สร้างมาตรฐานของตัวเอง

ในเวลาต่อมา เมื่อ Health Land ขยายสาขาเพิ่มขึ้น ลูกค้าเริ่มมากขึ้น พิทักษ์กังวลเรื่อง ‘มาตรฐานการให้บริการ’ ที่อาจแย่ลงและไม่เป็นระบบ ซึ่งเป็นปัญหาของหลายธุรกิจที่กำลังเติบโต 

 พิทักษ์จึงได้สร้าง ‘โรงเรียนเฮลท์แลนด์นวดแผนไทย’ เป็นของตัวเองที่ทำหน้าที่เป็น ‘ศูนย์ฝึก’ ให้กับพนักงาน หมอนวดต้องผ่านการอบรมที่ศูนย์นี้ก่อนถึงจะได้เริ่มงานเต็มตัว เพราะ ‘ศาสตร์การนวด’ จริง ๆ แล้วมีหลากหลาย พนักงานอาจมีทักษะเดิมที่แตกต่างกันมาบ้างแล้ว ศูนย์อบรมนี้จึงเป็นการสร้าง ‘มาตรฐานเดียวกัน’ ให้กับเหล่าหมอนวด Health Land นั่นเอง

 ศูนย์ฝึกไม่ได้ใส่ใจแค่วิธีการนวด แต่รวมถึง ‘ประสบการณ์การให้บริการ’ ในภาพรวม พนักงานต้อนรับหน้าร้านราวกับกำลังเดินเข้าสปาตามโรงแรมหรู ยูนิฟอร์มพนักงานที่ดูเป็นมืออาชีพ การปฏิสัมพันธ์ กิริยามารยาทที่ภูมิฐาน ทัศนคติงานบริการ การตกแต่งภายในที่ผ่อนคลาย เรียบหรูแต่พอดี 

 อานิสงส์การท่องเที่ยว

Health Land ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา (Wellness Spa Tourism) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองไทย ซึ่งประเทศเรามีภาพลักษณ์ชื่อเสียงด้านนี้อยู่แล้ว 

 ไม่แปลกที่เราจะเห็นกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการ Health Land เป็นหมู่คณะใหญ่จนแทบจะปิดร้านเลยทีเดียว โดย Health Land สาขาอโศกซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองและแวดล้อมไปด้วยชาวต่างชาติ เป็นสาขาที่ทำเงินสูงที่สุดมาโดยตลอด (ยกเว้นช่วงปีโควิด-19)

 นอกจากนี้ยังเป็นอะไรที่ ‘ครบลูปประสบการณ์’ กล่าวคือการตลาดยุคนี้ ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องประสบการณ์เป็นที่สุด และการนวดเป็นประสบการณ์ที่แสนรื่มรมย์ในตัวมันเองอย่างยากจะปฏิเสธ

 ถ้าเราไปนอนรีสอร์ตก็อยากเล่นน้ำ ถ้าไปเรียวกังญี่ปุ่นก็อยากแช่ออนเซ็น และถ้าใครมาเที่ยวเมืองไทย บางทีก็แค่…อยากนวด ในบริบทการท่องเที่ยว การนวดกลายเป็น ‘กิจกรรมที่ต้องทำ’ ไปแล้ว ถ้าไม่ได้ทำ ก็เหมือนขาดอะไรไป โดยเฉพาะเมืองไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องการนวดเป็นทุนเดิม

 ในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคโหยหาประสบการณ์ บางทีการนวดผ่อนคลายอาจไม่ใช่แค่เรื่องเสริมอีกต่อไป แต่เป็นปัจจัยสี่ที่ต้องหาโอกาสแวะเวียนมาให้ได้เสมอ…

.

ภาพ: Health Land

.

#ThePeople #Business #Health_Land #พิทักษ์_ลาภปรารถนา #ร้านนวด