ปฐมา จันทรักษ์ พัฒนาสกิลการทำงานและทักษะแห่งอนาคตที่ต้องมีในยุคดิจิทัล

ปฐมา จันทรักษ์ พัฒนาสกิลการทำงานและทักษะแห่งอนาคตที่ต้องมีในยุคดิจิทัล

เปิดมุมมอง “ปฐมา จันทรักษ์” แม่ทัพหญิงเอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กับการผลักดันพัฒนาสกิลการทำงานไอที และทักษะแห่งอนาคต

ปฐมา จันทรักษ์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘หญิงแกร่ง’ แห่งวงการไอที ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนานทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 30 ปี ผ่านประสบการณ์กับบริษัทไอทีชั้นนำระดับโลกอย่างไมโครซอฟต์ (Microsoft) และไอบีเอ็ม (IBM)

ปัจจุบันเธอคือกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและไอทีชั้นนำระดับโลก เป็นช่วงเวลาประมาณ 5 เดือนหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง เธอยอมรับว่า มีความท้าทายอย่างมาก แต่ก็สนุกที่ได้เรียนรู้ เพราะเป็นการปรับตัวจากมุมของ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสู่การเป็นที่ปรึกษา 

เธอมีความตั้งใจที่จะช่วยลูกค้าโดยเฉพาะธุรกิจไทย เปลี่ยนแปลง (Transform) องค์กรไปสู่ดิจิทัลและก้าวไปในระดับนานาชาติ พร้อมกับการนำเครือข่ายระดับโลกของเอคเซนเชอร์เข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย (Advanced Technology Center Thailand: ATCT) และ ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ (Accenture Intelligent Operations Center: AIOC) ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงคนเก่ง ๆ ที่มีความรู้ ความสามารถ ด้านไอทีและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาทำงาน พร้อมการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้อง และก่อให้เกิดการจ้างงาน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยไปในตัว 

เพราะเทคโนโลยีถ้านำมาใช้อย่างถูกต้อง สามารถเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้

ถ้าดูผิวเผิน ปฐมา จันทรักษ์ คงเป็นผู้บริหารหญิงไทยที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เมื่อได้ทำงานกับบริษัทไอทีข้ามชาติ และการได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้บริหารระดับสูง แต่สิ่งที่ทำให้เธอยืนหยัดอยู่ได้ในแวดวงไอทีเกือบตลอดชีวิต นั่นเพราะเธอเชื่อมั่นในเทคโนโลยีว่าถ้ามีการนำมาใช้อย่างถูกต้อง จะสามารถเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ 

“ลองนึกภาพว่า ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด เราคงทำงานไม่ได้กันเลย ถ้าไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างการทำงานที่เอคเซนเชอร์ในช่วงนั้นก็ work from home แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในตอนนี้ที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราได้ปรับการทำงานเป็นแบบผสมผสาน (Hybrid) คือเราพยายามสร้างบรรยากาศการทำงานในออฟฟิศให้น่าทำงาน ให้พนักงานมาเจอกันได้ ขณะเดียวกัน ก็สามารถทำงานจากที่บ้านก็ได้ เราไม่ได้บังคับว่า ทุกคนจะต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งก็พิสูจน์แล้วจากสองปีที่ผ่านมาว่า การทำงานจากบ้านก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน”

“เพราะเชื่อว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ เลยจะถามกับตัวเองเสมอว่า เราสามารถสร้างอิมแพคและเติมเต็มอะไรให้กับสังคมได้บ้าง และเพราะอุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนเร็ว ซึ่งเราเป็นคนขี้เบื่ออยู่แล้ว เวลาเห็นการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเตรียมพร้อม เราไม่ใช่คนเก่งที่สุด หรือรู้เยอะที่สุด เลยต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”

ปฐมา ฉายภาพวิวัฒนาการของอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้ชัดขึ้น จากยุคแรกของการเกิดอินเตอร์เน็ต เรียกว่าเป็น Internet of Data ที่ทำให้เราสามารถเสิร์ชหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ถัดไปเพียงสิบปี ก็เข้าสู่ยุค Internet of People ที่ผู้คนสามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ถัดมาอีกสิบปี ก็เป็นยุคของ Internet of Things ที่อุปกรณ์ เครื่องใช้สิ่งของต่าง ๆ รอบตัวล้วนเชื่อมต่อและสามารถสื่อสารถึงกันผ่านอินเตอร์เน็ตได้หมด จนมาถึงยุคปัจจุบันที่การมาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง เมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่ถือได้ว่า เป็น Internet of Place ที่เป็นสถานที่เสมือนจริงที่ผู้คนสามารถเอาตัวตน avatar เข้าไปอยู่ในโลกนั้น ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทำงาน สามารถจะซื้อและถือครองที่ดินและทรัพย์สินดิจิทัล อย่าง เอ็นเอฟที (NFT) และ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ในเมต้าเวิร์สนี้ได้อีกด้วย

.
ปฐมา จันทรักษ์ พัฒนาสกิลการทำงานและทักษะแห่งอนาคตที่ต้องมีในยุคดิจิทัล

 

“ทุกวันนี้เทคโนโลยีราคาถูกลง ถ้าจะพูดให้เห็นภาพเลย ก็อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเดียวแต่ทำได้ทุกอย่าง ติดต่อสื่อสาร ถ่ายรูป อ่านหนังสือ เสิร์ชข้อมูล หรือจ่ายเงินก็ได้ คำที่เคยพูดกันมานานว่า Information at your Fingertips มันคือแบบนี้แหละมันคือการนำเทคโนโลยีมาช่วยคนได้ ช่วยให้คนที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็นหรือการได้ยินสามารถสื่อสารได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ครอบครัวที่อยู่ห่างไกลกันติดต่อหากันได้แม้จะอยู่คนละซีกโลก” 

 

เทคโนโลยีที่ใช่กับโซลูชั่นที่ถูกต้อง

จากคนที่เคยอยู่ในสายการทำงานของผู้ให้บริการเทคโนโลยีมาตลอด การย้ายมาอยู่ในฝั่งที่ปรึกษาด้านไอทีและธุรกิจ ทำให้เธอต้องปรับตัวอยู่ไม่ใช่น้อย ซึ่งเธอบอกว่าต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วที่คอยเติมความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ

“ที่นี่เป็นเหมือนขุมทรัพย์ ไม่ใช่แค่ความรู้ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เราได้เรียนรู้ในแต่ละอุตสาหกรรม จากคนที่มีประสบการณ์ตรง เพราะมีลูกค้าตั้งแต่กลุ่มการเงิน การธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และอีกมากมาย เรียกได้ว่าไม่มีโซลูชั่นแบบ One size fit All อีกต่อไป อย่างการช่วยเรื่อง Digital Transformation เราก็เอาประสบการณ์มาใช้ได้เต็มที่แค่ 60% ที่เหลือก็จะเป็นการร่วมกันสร้างหรือออกแบบกับลูกค้าและทีมงานของเอคเซนเชอร์”

“ฉะนั้นเอคเซนเชอร์ไม่ใช่แค่การทำเรื่องให้บริการปรึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เรามองว่า อะไรคือเทรนด์ และสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับประโยชน์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่บอกทิศทางว่าต้องไปยังไง แล้วที่เหลือคุณทำเอง เราทำร่วมกับลูกค้าเลยว่าเป็นแบบนี้นะ ทำได้จริง ลดค่าใช้จ่ายได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพได้จริง นี่คือสิ่งที่ทำให้เอคเซนเชอร์แตกต่างและได้รับการยอมรับจากลูกค้าเยอะมาก”

ปฐมา ย้ำว่าการทำ Digital Transformation สำหรับลูกค้าคือการช่วยหาเทคโนโลยีที่ใช่และโซลูชั่นที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งต้องมองว่าการทำ Transformation ไม่ใช่ต้นทุน แต่คือสิ่งที่บริษัทต้องลงทุน เพราะจะทำให้บริษัทไปต่อได้ในระยะยาว 

“หลายคนเชื่อว่าการทำ Transformation คือเอาเทคโนโลยีมาแทนขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ เพราะต้องมาดูว่ามีอะไรบ้างที่ธุรกิจสามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อสามารถทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการทำงานเดิม เพิ่มคุณค่ามากขึ้น และที่สำคัญคือ เพื่อให้คนสามารถเอาความรู้ความสามารถไปช่วยขับเคลื่อนในสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น เราเชื่อเรื่อง คน กับ เทคโนโลยี ที่ผสมผสานกันได้จริง”

ปฐมา จันทรักษ์ พัฒนาสกิลการทำงานและทักษะแห่งอนาคตที่ต้องมีในยุคดิจิทัล

บทบาทต่อสังคมและประเทศไทย

นอกจากในฐานะผู้บริหารเอคเซนเชอร์ ประเทศไทยแล้ว เธอตั้งใจอยากจะสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาคน พัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และการเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) สำหรับคนไอที รวมทั้งการจ้างงานและดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงาน ผ่านศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย (Advanced Technology Center Thailand: ATCT) และ ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ (Accenture Intelligent Operations Center: AIOC) ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ

“วันนี้ ส่วนตัวเราอยากมีส่วนร่วมในการทำอะไรกลับคืนให้ประเทศ จะเห็นว่าการที่เอคเซนเชอร์ตั้งทั้ง 2 ศูนย์ฯ นี้ขึ้นมาในประเทศไทยนั้น สำหรับเราไม่ใช่แค่ช่วยลูกค้าอย่างเดียว แต่ได้ช่วยประเทศชาติด้วย เราเลยดึงเอาศูนย์ฯ ที่มีอยู่แล้วในห้าสิบกว่าประเทศทั่วโลกมาตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ สิ่งที่ช่วยเลยคือเพิ่มเติมทักษะของคนในประเทศ ทำให้เกิดการสร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเราดึงเอาคนที่มีประสบการณ์เข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้กับคนไทย”

“ที่อินเดียมีศูนย์ฯ นี้เหมือนกัน มีพนักงานหลายแสนคน ดูแลลูกค้าได้ทั่วโลกจากที่อินเดีย เราก็อยากจะทำแบบนั้นบ้าง เพราะเชื่อว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด ๆ ในโลก อยากจะบอกลูกค้าจากทั่วโลกให้มาที่ประเทศไทย ซึ่งเราสามารถจ้างคนที่มีทักษะพูดภาษาต่าง ๆ ได้กว่า 20 ภาษา ให้เข้ามาดูแลลูกค้าซึ่งไม่ใช่แค่ต่างชาติแต่รวมถึงลูกค้าคนไทยด้วย นั่นหมายความว่า ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าจะเอาเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพได้ยังไง เราทำให้ได้เลยแล้วเป็นโซลูชั่นแบบ End-to-End ช่วยทั้งเรื่องของอีคอมเมิร์ช และดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง นั่นคือสิ่งที่เรามองไว้ว่าต้องคิดใหญ่แบบโกลบอล แม้จะแต่ทำระดับประเทศก็ตาม”


สถานที่ทำงานที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

สิ่งหนี่งที่ปฐมาตั้งใจไว้ในการเข้ามาบริหารที่ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย คือการให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กร ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งเพศ เชื้อชาติ และความเชี่ยวชาญ พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้เป็นที่ทำงานที่เหมาะกับพนักงานทุกคน ให้สมกับที่เอคเซนเชอร์ เป็นบริษัทที่ติดลิสต์บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยอยู่เสมอ

“เราพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่เวลาพนักงานมาอยู่ร่วมกันแล้วรู้สึกว่าสามารถทำอะไรด้วยกันได้ หรือเป็นการทำงานแบบมี Collaboration ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสถานที่ทำงานไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามอย่างเดียว ต้องตอบโจทย์หลายอย่าง เช่น ประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อน การสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าทำงาน และอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน มีต้นไม้มาตั้งเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่”

ปฐมา จันทรักษ์ พัฒนาสกิลการทำงานและทักษะแห่งอนาคตที่ต้องมีในยุคดิจิทัล

“อีกข้อที่สำคัญและองค์กรของเราย้ำมาก ๆ เลยคือเรื่องของการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย (Inclusion & Diversity) เราเปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม มีสวัสดิการที่ครอบคลุมพนักงานทุกกลุ่ม รวมไปถึงพนักงานที่เป็นผู้พิการ เราก็จะมีชุดอุปกรณ์ที่เหมาะสม ที่ช่วยสนับสนุนให้ทำงานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น”

ฉะนั้นแล้ว การดูแลพนักงานเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้เรื่องของการสร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้มีความน่าทำงาน เธอบอกว่าต้องใส่ใจผลประโยชน์หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานที่สมควรจะได้รับ และต้องครอบคลุมถึงครอบครัวหรือ Life Partner ของพนักงานด้วย

“จะเห็นว่าที่ผ่านมา เอคเซนเชอร์ เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในลิสต์ของคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาทำงานด้วยอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า วันนี้องค์กรเองก็ไม่ได้อยู่นิ่ง มีการปรับภาพให้พนักงานเห็นแล้วอยากมาทำงาน ถามว่าเราทำงานกันหนักไหม มันหนักอยู่แล้วเพราะทีมงานของเราทุ่มเทในการทำงาน และต้องช่วยลูกค้าให้เห็นความสำเร็จ ไม่ใช่ขายของแล้วจบ นั่นคือพนักงานต้องเห็นบรรยากาศการทำงานที่เขาต้องไม่รู้สึกเหมือนถูกบังคับว่าต้องมาออฟฟิศ เราต้องสร้างบรรยากาศสบาย ๆ ให้เขามาแล้วได้เจอเพื่อน ได้มาเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน แต่เหมือนนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่น สำหรับเราในวันนี้ดีที่สุดคือ ให้คนพูดกันว่าอยากจะมาทำงานที่เอคเซนเชอร์ เพราะที่นี่เป็นองค์กรที่ดีมาก ๆ ทั้งในเรื่องการเรียนรู้และบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน”

CalendarDescription automatically generated with medium confidence

Life Balance สำคัญกว่า Work-Life Balance

ปฐมาคือคนที่ไม่เชื่อเรื่อง Work-Life Balance แต่เชื่อว่า เราควรจะบริหารจัดการเวลาของตัวเอง หรือ make the time ได้

“ตั้งแต่ทำงานมา เวลาที่นายเขียน Performance Review มักมีข้อหนึ่งที่บอกเราว่าต้องมี Work-Life Balance ซึ่งเราบอกว่า สำหรับเราไม่ใช่ เราควรมีเวลาที่จะบริหารเองได้ ไม่ใช่ว่า Work เท่ากับ Life แต่ Life เป็นของเราและเราต้องบริหารจัดการได้”

“สมมติวันนี้มีไปให้คำปรึกษาหรือพูดให้กับน้อง ๆ นักศึกษา แม้ฟังดูเป็นการทำงาน แต่สำหรับเรามันคือส่วนหนึ่งของชีวิต ที่มาเติมเต็มความรู้สึกของเราที่ได้ช่วยเหลือรุ่นน้องในฐานะรุ่นพี่มากกว่า หรืออย่างมีประชุมกับลูกค้าที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แล้วเราจำได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ชอบอาหารของร้านในโรงแรมนี้ ก่อนออกไปทำงาน เราก็จะเตรียมชุดให้ท่าน แล้วพอใกล้เวลา เราก็ให้คนขับรถไปรับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน พอเราประชุมเสร็จก็ได้กินข้าวด้วยกันพอดี กลับบ้านพร้อมกัน นี่คือ Life Balance สำหรับเรา”

“เราบอกคนอื่นเสมอว่า อย่าให้งานมากินชีวิตมากเกินไป เวลาคนบอกไม่มีเวลา เราจะพูดเสมอว่า “You have to make time, Not find time.” ซึ่งเราก็ Empower พนักงานของเราให้เป็นเจ้าของเวลาของตัวเองด้วยเช่นกัน"

ปฐมา จันทรักษ์ พัฒนาสกิลการทำงานและทักษะแห่งอนาคตที่ต้องมีในยุคดิจิทัล

โอกาสเป็นของคนรุ่นใหม่

ด้วยประสบการณ์ที่คร่ำหวอดมาหลายปี ได้ทำงานกับคนหลากหลายรุ่น ปฐมามองว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ มีศักยภาพมากขึ้น กล้าคิดและกล้าแสดงออกมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ 

“สมัยก่อนตอนไปทำงานที่เมืองนอก ฝรั่งถามว่าคนไทยฉลาด แต่ทำไมไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงความเห็น นั่นเพราะเรามีคำว่าเกรงใจและเราไม่กล้าที่จะไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะกับเจ้านาย แต่ต้องบอกว่าเด็กในวันนี้มีความการกล้าแสดงออกทางความคิดมากขึ้น ซึ่งเราในฐานะผู้บริหารจะเอาความคิดเห็นใหม่ ๆ นี้ มาปรับใช้ได้ยังไงทำยังไงให้ทุกคน ที่แม้จะมาจากคนละ Generation สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คิดต่างได้แต่ต้องทำงานร่วมกันได้”

“วันนี้ใครบอกว่าคนไทยไม่มีความสามารถ บอกตรงนี้ได้เลยว่า ไม่จริง เราคือตัวอย่างที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว ไม่ใช่บอกว่าเราเก่งนะคะ แต่ในวันที่เราได้รับโอกาส เราคว้ามันไว้ได้ สามารถค้นหาศักยภาพตัวเองได้ เราเชื่อเสมอว่าไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้นำโดยกำเนิด Great leaders are Made, Not born ขอแค่ให้มองว่าทุกอย่างคือโอกาส อยู่ที่ความคิด (mindset) ว่าเราจะเป็นตัวเราเองที่ดีที่สุดได้ยังไง”

“วันนี้อนาคตเป็นของ “คนรุ่นใหม่” หน้าที่เราไม่ใช่ไปบอกเขาว่าต้องทำยังไง หน้าที่เราคือช่วยให้เขาคิดว่าวันนี้อะไรที่ต้องเปลี่ยน ทำไมต้องเปลี่ยน นั่นคือบทบาทของผู้นำ เป็นการถามคำถามที่เกิดจากประสบการณ์เพื่อให้เขาได้คิดถึงตรงนั้น หรือมองในมุมนี้บ้าง เขาจะสามารถเอาโลกเก่าและโลกใหม่มาผสมผสานกันได้อย่างไร”

#ThePeople #AccentureThailand #ปฐมา_จันทรักษ์ #ทักษะแห่งอนาคต #พัฒนาสกิล #เอคเซนเชอร์ #PartnerContent