01 พ.ย. 2565 | 08:07 น.
ณ วันนั้นเขาได้พูดบนเวทีว่า ยุคใหม่ของทีวีพูลได้เริ่มต้นแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมากว่า เขาจะพาองค์กรที่อยู่ในวงการสื่อบันเทิงมานาน 33 ปีแห่งนี้เดินหน้าสู่ยุคใหม่อย่างไร และจะทำให้ทีวีพูลกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งได้หรือไม่
“ทีวีพูลยุคผมจะเป็นมากกว่าสื่อ เพราะเป้าหมายของผมคือการนำทีวีพูลเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปี เพื่อให้ชื่อนี้อยู่นาน ๆ และไปต่อได้ในรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่หวังไว้จากสิ่งที่ท่านสร้างมาเองกับมือ” เป็นคำตอบที่ เต้ - กันต์พงศ์ ให้กับทาง The People
แต่ก่อนจะไปเจาะลึกในประเด็นต่าง ๆ เรามาทำความรู้จักกับ เต้- กันต์พงศ์ ศกุณต์ไชย กันก่อน
ตอนนี้เต้ - กันต์พงศ์ มีอายุ 29 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้าน Business Management จาก University of Westminster ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทด้าน Digital Analytics จาก Regent’s University London ก่อนจะมาช่วยงานที่ทีวีพูลเมื่อ 3 - 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเริ่มต้นดูด้านออนไลน์เป็นหลัก
The People : โจทย์ตอนเริ่มต้นงานคืออะไร และจุดอ่อน - จุดแข็งของทีวีพูลอยู่ตรงไหน
เต้ - กันต์พงศ์ : ตอนนั้นคุณแม่ให้ปั้นออนไลน์ เพราะเราทำสื่อรู้ดีว่ายังไงก็ต้องมาทางนี้ ไม่ใช่แค่ผม แต่คนในยุคผมรู้กันดี โดยตอนนี้เครือทีวีพูลมีผู้ติดตามผ่านออนไลน์ทั้งหมด 24 ล้านคน จาก 11 เพจ มีทั้งข่าวดารา ข่าวทั่วไป ข่าวชาวบ้าน ผู้หญิง อาหาร ความงาม และคลิปแก้เซ็ง ฯลฯ
พองานด้านออนไลน์อยู่ ๆ ก็เริ่มไปดูงานด้านอื่น ๆ กระทั่งมารับไม้ต่อจากคุณแม่ ส่วนจุดแข็งของทีวีพูล แน่นอนเลยคือเรื่องแบรนด์ เราอยู่มา 33 ปีแล้ว เมื่อพูดชื่อมาแล้วคนต้องรู้จัก คนในยุคเจนใหม่เลย ผมพูดไม่ได้ 100% แต่เชื่อว่าคนในยุคผมหรืออายุมากกว่าผม อย่างน้อยน่าจะเคยได้ยิน จะเคยเสพแบบไหนไม่รู้ อาจจะเคยเห็นในทีวี เห็นนิตยสาร บางคนอาจจะอยู่ในร้านทำผม ร้านเสริมสวย
จุดแข็งถัดมา เป็นเรื่องคอนเน็กชันกับคนในวงการ เพราะเราเป็นตัวกลางที่ช่วยสนับสนุนเขามาตลอด เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทหรือองค์กรที่อยู่ในโลกของวงการบันเทิง กับดารา ศิลปิน พิธีกร และพวกทำโปรดักชันหรือคนทำข่าว ส่วนใหญ่จะมีคนของทีวีพูลอยู่
ฉะนั้นการที่เราจะคอนเน็กอะไรมันง่าย เหมือนเราเป็นโรงเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามีวันนี้ได้ แล้วคนไทยเขามีความกตัญญู ถ้าเกิดเรามีอะไรให้ช่วย หรือต้องการความช่วยเหลือ เขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนเรา นี่เป็นข้อดี
ส่วนจุดอ่อนคงหนีไม่พ้นเรื่อง Digital Disruption ที่ทำให้สภาพธุรกิจเปลี่ยนไป วันนี้งบโฆษณาเทไปอยู่กับฝั่งออนไลน์ ไปอยู่กับแพลตฟอร์ม และตอนนี้บทบาทของธุรกิจสื่อไม่เหมือนเดิม ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาเป็นสื่อเองได้ ทำไมต้องมาพึ่งทีวีพูล เพราะดารา Live สดเองได้เลยในมือถือ แล้วยอดที่ได้เข้ามา Facebook ก็ให้เงินด้วย Monetize เงินจากยอดโฆษณาด้วย คนที่เข้ามาดู Engagement เยอะขึ้น ยอดติดตามมากขึ้นก็สามารถไปขายลูกค้าต่อได้เลย
The People : เมื่อทุกอย่างไม่เหมือนเดิม ภาพทีวีพูลยุคคุณเต้จะเป็นอย่างไร
เต้ - กันต์พงศ์ : ผมมองเป็นโอกาสนะ ทำให้เราไม่จำกัดตัวเองเป็นแค่สื่อ เราต้องเป็นมากกว่าสื่อ มีอย่างอื่นเข้ามาช่วยเสริมทั้งในแง่รายได้และหมวดธุรกิจ เพราะเป้าหมายผมคือนำทีวีพูลเข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 3 ปี เป็นสิ่งที่คุณแม่หวังไว้ เนื่องจากอยากจะให้ชื่อของทีวีพูลอยู่ไปนาน ๆ แล้วคุณแม่ภูมิใจกับชื่อนี้มาก เป็นสิ่งที่เขาสร้างมา และเป็นชื่อที่ปิดท้ายชื่อคุณแม่ผมด้วย
สมัยก่อนมีคนเข้ามาคุยเรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์เยอะมาก แต่คุณแม่ ‘ปฏิเสธมาตลอด’ อาจจะเป็นรูปแบบการทำงานที่เป็นแบบครอบครัวทั้งการตัดสินใจและกระจายอำนาจ เขาอาจจะไม่พร้อมสำหรับจะเปลี่ยนตอนนั้น แต่วันนี้มายุคของผม คุณแม่อยากจะให้ทีวีพูลยั่งยืน
"โอเคถ้าทำแบบเดิมในยุคผมก็ทำได้ แต่ผมตอบไม่ได้ว่าหลังจากยุคผมแล้วจะเป็นอย่างไรต่อขณะที่เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทุกคนเป็นเจ้าของทีวีพูลได้หมด ไม่ใช่แค่ตัวเรา การที่มวลชนสามารถเป็นเจ้าของได้จะผลักดันเรื่องความยั่งยืนได้มากกว่า"
อย่างไรก็ตามด้วยสภาพแวดล้อมสื่อเปลี่ยนไป วันนี้หากเข้าตลาดหลักทรัพย์ลำพังแค่สื่อไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีตัวธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมกับตัวธุรกิจของทีวีพูล เนื่องจากตอนนี้สื่ออยู่ในช่วงขาลง ถ้าต้องการเป็น S Curve ใหม่ต้องเป็นธุรกิจอื่น
The People : ธุรกิจใหม่ที่จะขยายไปคืออะไร
เต้ - กันต์พงศ์ : ตอนนี้มี 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเครือข่ายใช้ชื่อว่า Pool Star ส่วนอีกธุรกิจเป็น Tech starup ที่รันบนระบบ Blockchain สำหรับ Pool Star คอนเซปต์จะทำให้คุณเป็น ‘ดาวแห่งโลกธุรกิจ’ เหมือนเราช่วยปั้นดารามามากมาย โดยเราจะปั้นสินค้าให้สมาชิกหรือคนที่เข้ามาร่วมเป็นตัวแทนไปขาย ตอนนี้เริ่มทำไป 2 - 3 เดือน ผลตอบรับดีมีสมาชิกประมาณ 2,000 คน ซึ่งโจทย์หลักคือต้อง Maintain ตรงนี้ให้มียอดโตตลอด
สำหรับสินค้าที่ขายมีหลายหมวด อย่างตอนนี้ทยอยออกมา 3 - 4 หมวด เช่น หมวดเครื่องดื่มชงร้อน หมวดอาหารเสริม สกินแคร์ แล้วก็หมวดอุปโภคบริโภค เราใช้โรงงานทำ OEM ผลิตในนามของเราเองทั้งหมด มีการวิจัยพัฒนาสินค้าของเราเอง มีทีมการตลาด
ส่วนอีกธุรกิจผมเรียกว่า Entertainment Tech แล้วกัน เป็นเหมือน Project Tech Start up เล็ก ๆ ที่จะเชื่อมโยงเรื่อง Blockchain เข้ากับโลกของวงการบันเทิง เป็นการใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อส่งเสริมและสร้างประโยชน์ให้กับคนวงการบันเทิง ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า วันนึง Blockchain จะเป็นส่วนสำคัญในโลกเราและเราอยากเตรียมพร้อมเพื่อเป็นส่วนนึงในนั้น
The People : เหตุผลที่เลือก 2 ธุรกิจนี้สร้าง S Curve
เต้ - กันต์พงศ์ : พูดถึงตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจใหม่จะต้องมาเพื่อเพิ่มการเติบโต ซึ่งธุรกิจเครือข่ายอาจจะไม่ได้อยู่ในช่วงของ Sunset แต่มันก็ยังไม่ถึงกับเป็น Sunrise ธุรกิจเครือข่ายโดนดัดแปลงไปทำในทางที่ผิดมามาก เราคิดว่าการทำธุรกิจเครือข่ายระบบที่ดีจะสามารถช่วยคนให้สร้างรายได้แบบยั่งยืน ถ้าเราทำอย่างถูกวิธี
ที่สำคัญสินค้าที่อยู่ในท้องตลาดมากมาย เราก็เคยทำโฆษณามาให้เยอะแยะ ทำให้รู้ความต้องการของคนและตลาด และมีคอนเน็กชันพวกบริษัทสินค้าหรือโรงงาน จึงคิดว่าใช้ของในมือเรามาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจใหม่อยู่ได้และเติบโตดีกว่า
ขณะที่ Entertainment Tech แม้ตอนนี้ Blockchain ยังเห็นภาพไม่ชัด และ Use Case ยังน้อย แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่เกิดขึ้น เราควรเริ่มปูทางตรงนี้ก่อน เพื่อเป็นโอกาสในอนาคต เช่นตอนวันที่ 9 เดือน 9 กับงาน Star Party ที่ไม่ได้จัดมานานแล้ว 8 ปี เราใช้ตัวของ Blockchain เข้ามาเป็นตัวกลางเป็นการ Vote On Chain ทั้งหมด
แม้จะไม่ 100% ว่าเป็นครั้งแรกหรือไม่ แต่ค่อนข้างมั่นใจ ถึงมีก็จะไม่ใช่เป็น Use Case ที่ใหญ่ขนาดนี้ เรามี User ที่เข้ามาร่วมประมาณกว่า 7 - 8 หมื่นคน ถ้าแค่พูดถึงเรื่องโพลเฉย ๆ ไม่ได้พูดถึงเรื่อง Blockchain 7 - 8 หมื่นคน เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่มากแล้ว ของเราแตะไปเกือบ ๆ แสนคนที่มาเข้าร่วม ถือเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับการจะนำมาต่อยอดได้อีกในอนาคต
ส่วนโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นปีหน้า อาจบอกรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ แต่จะเป็นการเชื่อมระหว่างโลกของ Blockchain วงการบันเทิง เราจะต่อยอดตัวตนในวงการบันเทิงของทีวีพูลโครงการนี้จะเป็นอีกช่องทางนึงที่จะช่วยสนับสนุนคนวงการบันเทิงในหลายๆ ด้านในโลกของ Blockchain ทั้ง ความสัมพันธ์กับฐานแฟนคลับดิม การเพิ่มแฟนคลับใหม่ๆในโลกที่ไม่มีพรหมแดน จนถึงการ generate NFT และ การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการด้วย Digital currency ผมเชื่อว่า การจะคงตัวตนในวงการ เราต้องสร้างประโยชน์กับวงการให้ได้
ตอนนี้ธุรกิจหลักของทีวีพูลที่มองอยู่จะมี 3 ธุรกิจนี้ หลัก ๆ ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องมีหลายธุรกิจ ขอแค่มองให้ครอบคลุม แล้วทำให้เวิร์กดีกว่า
The People : ความยากในการนำทีวีพูลเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้ง ๆ ที่องค์กรผ่านยุครุ่งเรืองไปแล้ว
เต้ - กันต์พงศ์ : ยากแน่นอน ไม่ใช่แค่ว่ายุคไหน เพราะการที่สื่อจะเข้าตลาดฯ จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะยุคนี้ที่หุ้นสื่ออาจจะไม่ได้ดีมากด้วยซ้ำ อย่างที่รู้กันเรื่องของ Disruption แต่เรามีเป้าหมาย โอเคตัวสื่ออาจจะอยู่ใน Sunset
แต่ธุรกิจใหม่ที่เราขยายยังเติบโตได้อยู่ และ ณ วันนี้ทีวีพูลจะเป็นทั้งสื่อด้วย เป็นธุรกิจระบบเครือข่ายที่มาช่วยสร้างรายได้ให้คนเป็น Tech Start up ด้วย เราเชื่อว่าเป้าหมายของเราต้องเป็นไปได้แน่นอน โดยทุกอันยังใช้เรื่องของคอนเซปต์วงการบันเทิงมาเป็นตัวเชื่อมกัน หรือเป็นแม่เหล็กหลักในการช่วยส่งเสริมในธุรกิจนั้น ๆ อยู่
สรุปไม่ว่าจะขยายไปธุรกิจไหน แต่ยังใช้ความเป็น ‘สื่อบันเทิง’ เป็นจุดแข็ง อย่าง Entertainment Tech เมื่อทีวีพูลคือบันเทิงก็เอาเรื่องของวงการนี้มาเชื่อมกับเรื่อง Blockchain สร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา หรือธุรกิจเครือข่าย อาจใช้เรื่องดาราเข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ หรือทำ Content สนับสนุนการขาย จริง ๆ ถ้าพูดถึงธุรกิจเครือข่ายอย่างเดียว มีบริษัทเกิดใหม่มากมาย แล้วไม่ได้มี Background เหมือนเรา อันนี้เป็นข้อได้เปรียบในธุรกิจอย่างหนึ่งแล้วด้วย
The People : คุณแม่คิดเห็นอย่างไรกับยุคใหม่ที่คุณเต้กำลังสร้าง
เต้ - กันต์พงศ์ : คุณแม่ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเห็นเทรนด์ โอเคการเป็นสื่ออาจเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักของเรามาตลอด 33 ปี แต่วันนี้ถ้ามองให้เติบโตจริง ๆ สื่อไม่ได้สร้างรายได้ให้เหมือนสมัยก่อนแล้ว อันนี้ค่อนข้างเห็นภาพเดียวกันและสนับสนุนด้วย ตัวคุณแม่เองผ่านมาหลายยุคเห็นว่าถ้าอยากจะมีพื้นที่ในอนาคตอยู่ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการกระโดดข้ามสู่สิ่งใหม่
ถ้าถามว่าคุณแม่ให้คำแนะนำหรือส่งแนวคิดอะไรให้บ้าง มันเยอะมากเลย (หัวเราะ) มีมาใหม่ทุกวัน แต่สิ่งที่ผมยึดจริง ๆ คือ ความเป็นนักสู้ ทุกคนในวงการรู้ดีว่า คุณแม่ผมมีความเป็นนักสู้สูงมาก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ท่านทำงานหนัก ทำเต็มที่ ไม่เคยย่อท้อกับอะไร ถ้ามีเป้าหมายแล้วก็เดินหน้าต่อไปให้ได้ ซึ่ง Mindset นี้ถูกถ่ายทอดมาตรง ๆ
“เรื่องนี้เป็นการเรียนจากประสบการณ์ เพราะเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเห็นผลลัพธ์ว่า สิ่งที่ประสบความสำเร็จคืออะไร ลูกน้องมองเขาอย่างไร เขายังเป็นคนที่คนในวงการนับหน้าถือตา ผมมีต้นแบบที่ดี พยายามจะเอาบางส่วนที่คิดว่าต่อยอดได้มาใช้ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ทำในยุคก่อนจะประสบความสำเร็จในยุคนี้ แต่ความขยัน ความตั้งใจ สำหรับผมไม่ว่ายุคไหนก็จำเป็นอยู่”
อย่างไรก็ตาม การนำทีวีพูลเข้าสู่ยุคใหม่ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเต้ - กันต์พงศ์ ถือเป็นภารกิจใหญ่และไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อทุกคนไว้ใจให้ทำ และตัวเองเขาไม่อยากให้คุณแม่ที่เหนื่อยมามากแล้วตั้งแต่สร้างทีวีพูลขึ้นมา ต้องเหนื่อยอีกครั้งกับภารกิจใหม่ที่ใหญ่แบบนี้อีก เขาก็พร้อมลุยเต็มที่
และเมื่อถามว่า อะไรท้าทายมากที่สุดเมื่อต้องมารับไม้ต่อจากคุณแม่ ‘ติ๋ม ทีวีพูล’ เขาตอบพร้อมกับยิ้มว่า
“การพาบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ว่ายากแล้ว แต่การคุยกับคุณแม่ให้เข้าใจ เป็นเรื่องที่ท้าทายและยากกว่า"
.
ภาพ : จุลดิศ อ่อนละมุน