07 พ.ย. 2565 | 09:11 น.
จุดเริ่มต้นก่อนที่เชฟเจมส์จะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ เรียกได้ว่ามีเรื่องราวน่าสนใจ เพราะเขาจำเป็นต้องเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองในวันที่ทางเลือกดูช่างริบหรี่เพราะการเรียนที่อาจไม่ดีมากนัก
การเรียนสายวิชาการอาจไม่รอด
เชฟเจมส์เล่าย้อนไปถึงช่วงที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 วันที่คุณแม่ยื่นทางเลือกชีวิตให้ 2 ทาง เพราะดูแววแล้วสายวิชาการไม่น่าจะรอด
“ตั้งแต่จบ ม.6 มา จริง ๆ เป็นคนที่ไม่รู้จะเลือกเส้นทางไหนเรียนครับ ด้วยเกรดเฉลี่ยที่ต่ำมาก ๆ คุณแม่ก็มองว่าวิชาการไม่น่ารอด เขาก็เลยให้เลือก 2 เส้นทางก็คือ ‘ตัดผมหรือทำอาหาร’ แต่ตอนนั้นผมมองว่าตัดผมมันอาจจะไม่ใช่แนวเรา ก็เลยลองที่จะเรียนทำอาหาร ตอนนั้นผมยังจับมีดไม่เป็นเลยครับ
“ตอนนั้นผมเรียนทำอาหารที่เลอ กอร์ดอง เบลอครับ แต่จริง ๆ ผมอยากเรียนเบเกอรี่ก่อน แต่ทางผู้ปกครองเขามองว่าอาหารมันเป็นปัจจัยหลักกว่า ก็เลยให้เรียนทำอาหารก่อน แต่เขาก็มีข้อแม้ว่าถ้าเรียนทำอาหารจบ เขาจะให้เราลองเรียนเบเกอรี่ต่อ ก็เป็นแรงจูงใจทำให้เราตั้งใจเรียนทำอาหารให้จบครับ”
แต่มีช่วงที่เชฟเจมส์ ขอคุณแม่ไปเรียนภาษาเพิ่มเติมที่ประเทศออสเตรเลียประมาณเกือบ 1 ปี หลังเรียนทำอาหารจบ จากนั้นก็กลับมาเรียนทำขนมที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ซึ่งการเปิดโลกหลาย ๆ อย่างจากข้อได้เปรียบเรื่องภาษามีส่วนทำให้เชฟเจมส์เห็นเทรนด์ในต่างประเทศเกี่ยวกับอาหารและเบเกอรี่
“หลังจากที่ฝึกงานที่เลอ กอร์ดอง เบลอ เชฟเขาก็รับเข้าทำงาน ตอนนั้นตำแหน่งแรกคือผู้ช่วยเชฟครับ แล้วก็ได้พัฒนาตัวเองกระเถิบขึ้นมาเป็น Chef de Partie แล้วก็สอนนักเรียนในห้องปฏิบัติที่เลอ กอร์ดอง เบลอ จนได้มาเปิดร้านเองที่พรานนกครับ"
จุดเริ่มต้นของการเปิดร้าน
“จริง ๆ จุดเริ่มต้นของร้านมันเกิดมาจากการที่ผมทำครัวซองต์ไม่สวย ทำไม่ดี แล้วตอนที่มีคลาสที่ผมต้องสอนนักเรียนทําครัวซองต์เบื้องต้นของ class basic ที่เลอ กอร์ดอง เบลอ สิ่งนี้ทำให้ผมขาดความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งเราก็รู้สึกอึดอัดกับมัน
“เพราะเวลาที่เราไปบอกข้อมูลนักเรียน เราบอกในสิ่งที่ผิดหรือสอนแบบขาดความมั่นใจ มันทำให้เรารู้สึกไม่ดีครับ ผมเลยรู้สึกว่า เอ้ย เราต้องพัฒนาตัวเองแล้วนะ เราก็ฝึกฝนมาเรื่อย ๆ จนมันออกมาดี พอกรอบที่เราวางไว้มันแตก เราเลยรู้สึกมั่นใจว่าเราทำครัวซองต์ได้ดีแล้วนะ ก็มีความสุขกับมัน สนุกกับมัน จากนั้นก็ทำครัวซองต์มาเรื่อย ๆ
“จนมีโอกาสเข้ามา เราเลยคิดว่าอยากลองเปิดร้านครัวซองต์ดู เพราะเราก็ฝึกฝนมาเยอะมาก คิดว่าน่าจะเปิดร้านได้แล้ว และผมก็มีความสุขที่ได้ทำให้ลูกค้าได้กินด้วยครับ”
นอกจากนี้ เชฟเจมส์ได้พูดถึงการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการดูเชฟในต่างประเทศว่าตอนนี้เทรนด์ของฝรั่งเศส, อเมริกา หรืออังกฤษเป็นอย่างไร แล้วก็ศึกษา จับเทรนด์ต่าง ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมมาผสมผสาน ซึ่งเป้าหมายของเชฟเจมส์คือการค่อย ๆ เปลี่ยนเทรนด์ในเมืองไทย เพราะแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย ซึ่งความฝันอย่างหนึ่งของเชฟเจมส์ก็คือ ‘เป็นผู้นำในเมืองไทย’
ที่มาของชื่อร้าน
ชื่อร้านถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำธุรกิจ ทั้งเรื่องการทำแบรนดิ้ง การสร้างการรับรู้ และเป็น top of mind ของผู้บริโภคได้ ซึ่งเชฟเจมส์เล่าว่า ที่มาของชื่อ James Boulangerie เป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนภาษาไทยก็คือ เจมส์บูลองเจอรี ซึ่งแปลว่า ‘ร้านขนมปังของเจมส์’
โดยที่มาของชื่อมาจากเชฟที่สอนเชฟเจมส์เป็นคนตั้งชื่อร้านให้ เพราะในวันที่เชฟเจมส์ต้องการจะเปิดร้านของตัวเอง เขาเอ่ยปากขอให้เชฟที่สอนช่วยตั้งชื่อร้านให้ โดยขอว่าเป็นชื่อที่อยู่ในฝรั่งเศส และอยากให้ไวยากรณ์มันถูกต้องตามกฎของภาษา ก็เลยสรุปมาเป็นชื่อนี้
ในระหว่างที่พูดคุยกับเชฟเจมส์ สัมผัสได้ถึงความรู้สึกมุ่งมั่นและตั้งใจ จึงอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วเป้าหมายของเชฟเจมส์คืออะไรกันแน่? ซึ่งคำตอบก็น่าสนใจอย่างมาก
เชฟเจมส์บอกว่า “ผมอยากเปิดร้านขนมครัวซองต์ที่ฝรั่งเศส อยากรู้สึกว่า เอ้ย คนไทย แบรนด์ไทยไปเปิดที่ฝรั่งเศสได้ แล้วคนฝรั่งเศสก็ยอมรับด้วยว่าเป็นขนมของคนไทยทำ ยอมรับว่าทำขนมชาติเขาได้ดีเทียบเท่ากับคนฝรั่งเศส นี่คือความฝันของผมครับ
“ผมอยากไปเปิดให้โลกได้รู้เลยว่า คนไทยนี่แหละทำได้! แล้วทำได้ดีกว่าคนฝรั่งเศสด้วยครับ”
เรื่องราวของเชฟเจมส์จากคนที่อารมณ์ร้อนในตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น กลับกลายเป็นเชฟเจมส์ในวันนี้ที่มีความใจเย็น อ่อนโยนจากการที่ทำขนม ซึ่งถือว่าการขัดเกลานิสัยบางอย่างจากตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เชฟเจมส์ก้าวและพัฒนาต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุด ซึ่งความฝันของเขาในการเติบโตสู่โลกที่กว้างขึ้น เราคงจะเห็นว่ามันเป็นจริงในอนาคตแน่ ๆ
ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย