ฮิโรชิ มิกิทานิ ผู้ก่อตั้ง Rakuten อี-คอมเมิร์ซญี่ปุ่นรายใหญ่ที่เริ่มจากสินค้า 13 ชิ้น

ฮิโรชิ มิกิทานิ ผู้ก่อตั้ง Rakuten อี-คอมเมิร์ซญี่ปุ่นรายใหญ่ที่เริ่มจากสินค้า 13 ชิ้น

ในยุคที่อี-คอมเมิร์ซเฟื่องฟู หลายคนอาจรู้จักและคุ้นเคยกับผู้ให้บริการอย่าง Amazon ถ้าในแถบเอเชียหรืออาเซียนแถวบ้านเรา ก็อาจจะเป็น Lazada และ Shopee และยังมีผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่อีกรายที่ลืมไม่ได้ นั่นคือ ‘Rakuten’ อี-คอมเมิร์ซสัญชาติญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด

ซึ่งความจริงแล้ว Rakuten ไม่เพียงทำอี-คอมเมิร์ซ ยังมีหลายธุรกิจที่น่าสนใจ โดยมีชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้นามว่า ‘ฮิโรชิ มิกิทานิ’ (Hiroshi Mikitani) ชาวเมืองโกเบ ที่เกิดในปี 1965 และในวัย 7 ขวบของเขาได้มีโอกาสตามครอบครัวไปอยู่อาศัยที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาราว 2 ปี 

แม้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เขาได้มีมุมมองที่เปิดกว้างต่อโลกที่ใหญ่และหลากหลายกว่าญี่ปุ่นมาก พร้อมกับทักษะภาษาอังกฤษที่ติดตัวและการเข้าใจวัฒนธรรมสากล ซึ่งในทศวรรษต่อ ๆ มา จะเป็นข้อได้เปรียบของเขาเหนือนักธุรกิจญี่ปุ่นคนอื่น

ในปี 1988 ชีวิตการทำงานของฮิโรชิเริ่มต้นจากด้านการเงินที่บริษัท Industrial Bank of Japan (ปัจจุบันคือ Mizuho Bank) มันทำให้เขาเข้าใจโลกการเงินการลงทุนและความไร้พรมแดนของโลกธุรกิจ แต่สิ่งที่เขาขาดคือ ทักษะด้านการบริหารธุรกิจและความเป็นผู้ประกอบการ เมื่อทำงานมาได้ 2-3 ปี เขาขอลาไปเรียนต่อด้าน MBA ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ก่อนกลับมาทำงานต่อที่เดิม

แรงจูงใจสู่การก่อตั้ง Rakuten

ทุกอย่างเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี แต่แล้วในปี 1995 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบ…บ้านเกิดของฮิโรชิซัง การได้เห็นบ้านเกิดตัวเองพินาศไปต่อหน้าต่อตา มีผู้คนเสียชีวิตและจิตใจสูญสลายนับไม่ถ้วน 

ทำให้ฮิโรชิที่ตอนนั้นทำงานอยู่ในธนาคารยักษ์ใหญ่เกิดคำถามขึ้นใจว่า นี่เค้ากำลังทำอะไรอยู่? ตัวเองมีชีวิตที่ดี มีหน้าที่การงานอันเฉิดฉาย รับเงินเดือนสูง ๆ ขณะที่เพื่อนร่วมบ้านเกิดประสบภัยธรรมชาติล้มตาย และถึงกับทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดชะงักไปเพราะต้องนำงบประมาณมาฟื้นฟูมหาศาล

ความคับคั่งใจตรงนี้ทำให้เขาเกิดแรงจูงใจที่อยากจะ ‘ช่วยเหลือผู้คน’ และฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาเฉิดฉาย ให้อย่างน้อยที่สุด…กลับมามีช่องทางทำมาหากินลืมตาอ้าปากได้

จากประสบการณ์ด้านการเงินที่ผ่านมา เขารู้ดีว่าโลกจะยิ่งไร้พรมแดนมากขึ้นไปอีก และถูกเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ นอกจากนั้น เขามีโอกาสได้ ‘ทดลอง’ ซื้อของออนไลน์จากร้านค้าเล็ก ๆ แต่หัวก้าวหน้าแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

มันคือ ‘เส้นราเมง’ ธรรมดาที่ถูกจัดส่งมาทางไปรษณีย์ถึงบ้านเค้า แม้การใช้งานกดสั่งจะยุ่งยากและดีไซน์ไม่สวยงาม แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเพียงปลายนิ้ว สุดท้ายสินค้าก็ถูกส่งมาเรียบร้อยปกติดี ฮิโรชิรู้เลยว่าอนาคตพฤติกรรมซื้อของออนไลน์จะ ‘มาแน่’

เขาคิดอยู่นานจนเกิดไอเดียสร้าง ‘เว็บไซต์ขายของออนไลน์’ ที่จะเชื่อมผู้คนเข้าหากันให้คนมาขายของโดยพุ่งเป้าไปที่ชาวบ้านร้านขายของชำขนาดเล็กก่อน ให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่พึ่งสูญเสียได้มีช่องทางกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัว เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่มั่นคง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของ Rakuten

กำเนิด Rakuten แบบถ่อมตน

เว็บไซต์เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1997 ด้วยสินค้าเพียง 13 ชิ้น และพนักงานเพียง 6 คน ในวันแรกมันชื่อว่า ‘MDM’ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Rakuten ในอีก 2 ปีให้หลัง

สาเหตุที่เปลี่ยนมาใช้ชื่อนี้ ก็เพราะมีความหมายตรงตัวที่เป็นมงคล เพราะ ‘Rakuten’ ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ‘การมองโลกในแง่ดี’ (Optimism) ถ้าแง่การตีความในมุมแบรนด์ มันคือการโอบกอดอนาคตใหม่ เปิดรับการซื้อขายออนไลน์ที่เชื่อว่าจะมาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน (ในวันที่คนยุคนั้นยังพึ่งรู้จักอินเตอร์เน็ต) เป็นการช่วยเหลือผู้คนและกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ในมุมฝั่งผู้ขาย มันคือโอกาสการทำธุรกิจและช่องทางทำมาหากินที่เพิ่มเข้ามา และในมุมผู้บริโภค มันคือความหวังใหม่ที่จะได้ค้นพบสินค้าบริการอย่างสะดวกสบายที่มาทำให้คุณภาพชีวิตพวกเค้าดีขึ้น

ในช่วงแรก Rakuten จะเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือนจากสมาชิกผู้ขายเท่านั้น และสำหรับใครที่อยากโฆษณาและลงโปรโมชั่นพิเศษ ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ถือว่าโมเดลธุรกิจที่ไม่ซับซ้อนจนเกิน และดึงดูดให้ทั้งผู้ซื้อผู้ขายทดลองมาใช้บริการได้ไม่ยากนัก

เติบโตก้าวกระโดด

ถ้ามองด้วยเลนส์สายตาปัจจุบัน เราอาจรู้สึกว่าธุรกิจนี้ฟังดู ‘ธรรมดา’ มาก ๆ เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายมารวมกัน และบริษัทชาร์จค่าบริการ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในวันที่คนยังไม่มีมือถือ ยังไม่มีสัญญาณเน็ตแรง ๆ หลายคนพึ่งเริ่มศึกษาว่าเว็บไซต์คืออะไร หลายคนพึ่งจะรู้จักคำว่าอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ Rakuten ยังให้ ‘อิสระ’ ผู้ขายในการออกแบบดีไซน์หน้าร้านด้วยตัวเองและมีฟังก์ชั่นในการพูดคุยกับผู้ซื้อโดยตรง ในเวลาแค่ 3 ปี Rakuten ก็สามารถนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ JASDAQ ได้สำเร็จ มีร้านค้ากว่า 2,300 เจ้า และผู้เข้าชมเว็บไซต์มากที่สุดติดอันดับต้น ๆ ในญี่ปุ่น

บริษัทใช้เงินทุนมหาศาลที่ได้มาในการ ‘ต่อยอดและแตกแขนง’ สู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ปี 2001 เปิดตัว Rakuten Travel เว็บจองโรงแรมออนไลน์ และในปี 2004 ฮิโรชิตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน นี่คือการกลับไปเยี่ยมเยียนภาคธุรกิจที่เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงาน และเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะในปัจจุบัน รายได้กว่า 40% ของ Rakuten มาจากธุรกิจภาคการเงิน

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มขยายสู่ตลาดต่างประเทศด้วยกลยุทธ์เข้าซื้อกิจการ และร่วมเป็นหุ้นส่วน พร้อม ๆ กับตั้งสถาบันวิจัยพัฒนา Rakuten Institute of Technology เป็นการวางรากฐานสู่การเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในทศวรรษหน้า

สู่บริษัทโกลบอล

ฮิโรชิเชื่อลึก ๆ อยู่เสมอว่า Rakuten (และบริษัททั่วไปในญี่ปุ่น) จะไม่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้เลยถ้าเราสื่อสารพูด ‘ภาษาอังกฤษ’ ไม่ได้

ปี 2012 เขาจึงได้ออกนโยบายใหม่ที่เรียกว่า ‘Englishnization’ ให้ ‘ภาษาอังกฤษ’ เป็นภาษากลางที่ใช้คุยกันในองค์กร พนักงานญี่ปุ่น 2 คนที่เขียนอีเมลหากัน จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก อันที่จริง มันไม่ใช่แค่ตัวภาษาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมสากล การเปิดกว้างทางความคิด การโอบกอดความแตกต่างอันหลากหลาย การก้าวข้ามอคติและภาพจำด้านเชื้อชาติ

สาเหตุที่ต้องป่าวประกาศออกมาเป็นระดับนโยบาย เพราะฮิโรชิรู้ดีว่า การกระทำของตนมีอิทธิพลต่อวงการอื่น ๆ ในสังคมญี่ปุ่น…ซึ่งก็เป็นจริง เพราะหลังจากนั้น สังคมหลายภาคส่วนอื่น ๆ ของญี่ปุ่นก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวถึงการใช้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้นในองค์กร เช่น ภาคการท่องเที่ยว ที่เริ่มเพิ่มภาษาอังกฤษและภาษาต่างชาติอื่น ๆ ลงไปในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

ปัจจุบันวิศวกรกว่า 40% ของ Rakuten ไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่มาจากประเทศอื่น ๆ และมีแบคกราวน์การศึกษาที่หลากหลาย

อาณาจักร Rakuten

ถึงปัจจุบันสาธารณชนทั่วไปอาจรู้จัก Rakuten ว่าเป็นอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ แต่ความจริงแล้ว บริษัทไม่ได้ทำแค่อีคอมเมิร์ซ แต่ได้ขยายกลุ่มธุรกิจออกไปเยอะแยะมากมาย โดยปัจจุบันแบ่งหมวดหมู่การให้บริการออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

บริการอินเตอร์เน็ต (Internet services) ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับบริการของ Rakuten มากที่สุด เพราะครอบคลุมหลายเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น อีคอมเมิร์ซ (เว็บ Rakuten), แอปพูดคุย (Viber), เดลิเวอรี่ (Rakuten Delivery), ศูนย์รวมคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์ (Viki) และอื่น ๆ อีกมากมาย

เทคโนโลยีการเงิน (FinTech) เช่น บริการทางการเงิน  บัตรเครดิต สินเชื่อ ประกันชีวิต 

โครงข่ายมือถือ (Mobile) เช่น จำหน่ายอุปกรณ์มือถือและให้บริการเครือข่ายสื่อสาร

ทั้งหมดนี้คือ ‘อาณาจักร Rakuten’ ที่เป็นมากกว่าอีคอมเมิร์ซ 

ปี 2021 บริษัทในเครือ Rakuten ทั้งหมดมีรายได้กว่า 560,000 ล้านบาท พนักงานกว่า 18,000 คน และส่งผลให้คุณฮิโรชิกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 7 ของญี่ปุ่นด้วยทรัพย์สินกว่า 120,000 ล้านบาท

มาวันนี้ ดูเหมือนว่าความใฝ่ฝันของคุณฮิโรชิที่อยากช่วยเหลือผู้คนและกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสำเร็จแล้ว และอันที่จริงมันไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นแต่เป็นผู้คนอีกหลายประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ตัวเขายังคงยึดคุณธรรมในการช่วยเหลือผู้คนไม่ขาดสาย ในปี 2022 เขาเองได้บริจาคเงินกว่า 1,000 ล้านเยนเพื่อช่วยเหลืองานด้านมนุษยธรรมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

จากหนุ่มวัย 30 ที่กล้าลาออกจากบริษัทใหญ่ที่มั่นคง(ซึ่งคนญี่ปุ่นอื่น ๆ มีแต่จะรักษาไว้เท่าชีวิต) เพื่อไล่ตามเป้าหมาย…ไม่ใช่เพื่อตัวเองด้วยซ้ำ แต่เป็นการช่วยเหลือผู้คนอื่น ‘ฮิโรชิ มิกิทานิ’ คืออีกบุคคลตัวอย่างที่น่าศึกษาไม่น้อย

 

อ้างอิง:

 

ภาพ: Getty Image