09 พ.ย. 2565 | 10:58 น.
ถ้าหากให้นึกถึงร้านสุกี้สักร้าน ‘สุกี้ตี๋น้อย’ คงติดอยู่ในอันดับ Top list ด้วยคุณภาพอาหาร การให้บริการ และราคาที่ไม่แพงจนเกินเอื้อม อยากจะหยิบอะไรลงหม้อก็จ่ายแค่ราคาเดียวคือ 219 บาท (ปรับจากราคา 199 บาท ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง) แถมยังเปิดให้บริการในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนใคร คือ ตั้งแต่เที่ยงวันยันตีห้า
เพราะ ‘เฟิร์น - นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย มองว่า การเปิดร้านอาหารสักร้าน นอกจากจะต้องแข่งกับผู้เล่นในตลาดจำนวนมากแล้ว ร้านอาหารของเธอควรจะมีอะไรพิเศษกว่านั้น
ร้านสุกี้ที่เปิดถึงตีห้าสาขาแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2560 เพื่อรองรับลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน ที่มักเข้า-ออกงานตามเวลา กว่าจะเลิกงานร้านรวงต่าง ๆ ก็ทยอยปิดประตู เก็บของกลับบ้านกันไปหมดแล้ว
อาจเป็นเพราะความตั้งใจอันแน่วแน่ของนัทธมน จึงทำให้ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ยังคงอยู่ในใจของใครหลายคนตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน และดูเหมือนว่าเส้นทางการเติบโตของร้านบุฟเฟ่สไตล์สุกี้ชาบู ยังคงทอดยาวต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะล่าสุด (8 พฤศจิกายน 2565) กลุ่มเจมาร์ทเข้าซื้อหุ้นสุกี้ตี๋น้อยที่สัดส่วน 30% และมีรายงานว่ามีแผนนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
The People เคยต่อสายตรงไปพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2565ที่ยังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดเรื่องมีกลุ่มบริษัทใหญ่สนใจเข้าซื้อกิจการ ก่อนกลุ่มเจมาร์ทจะเคลื่อนไหวแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 65 ถึงการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 30%
เริ่มต้นธุรกิจในวัย 25
สุกี้ตี๋น้อย เปิดให้บริการสาขาแรกเมื่อช่วงปี 2560 ที่ย่านพิพิธภัณฑ์บ้านบางเขน จากไอเดียของ ‘เฟิร์น - นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ ในวัย 25 ที่กำลังเบื่อหน่ายงานประจำเต็มทีและคิดได้ว่าอีกเพียงไม่กี่ปี ช่วงเวลาวัยสาวก็คงหมดลง ซึ่งการต้องทนทำงานที่ไม่ได้รู้สึกรักและผูกพัน คงเป็นเหมือนโซ่ตรวนคอยฉุดรั้งความฝันวัยเด็กที่อยากจะมีธุรกิจอาหารเป็นของตัวเอง
“เราคิดมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะที่บ้านก็ทำร้านอาหาร(เรือนปั้นหยา)มาก่อน จนถึงอายุ 25 ก็เริ่มรู้สึกว่างานประจำมันไม่ท้าทายอีกแล้ว อีกอย่างก็คิดได้ว่าอีก 5 ปีเราก็จะอายุ 30 ถ้ายังไม่เริ่มทำอะไรมันจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง” นัทธมนให้สัมภาษณ์ผ่านทางเว็บไซต์ SME One ถึงความคิดแรกเริ่มในการเปิดร้านสุกี้ตี๋น้อย
แม้จะได้ยินครอบครัวเล่าถึงปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ว่าการทำธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามา ทั้งเรื่องการที่ต้องหาเชฟคู่ใจ ปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ไปจนถึงการควบคุมมาตรฐานรสชาติอาหารให้คงที่ แต่หลังจากทุ่มเวลาศึกษาตลาดมาได้ระยะหนึ่ง ร้านสุกี้ ชาบู สไตล์บุฟเฟ่ต์ จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
และที่สำคัญคือ การทำร้านสุกี้ยังควบคุมมาตรฐานรสชาติอาหารได้ง่าย เพราะสามารถปรุงได้จากครัวกลาง ตั้งแต่ของสด น้ำจิ้ม ไปจนถึงน้ำซุป เสิร์ฟไปถึงโต๊ะผู้บริโภคแต่ละสาขาได้โดยตรง จนกลายมาเป็นร้านสุกี้สำหรับคนนอนดึก ตื่นเช้ามาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกเปิดร้านในเวลา 12:00 – 05:00 น. เกิดขึ้นจาก เธอเห็นว่าคนกรุงเทพฯ หลายคนที่ต้องทำงานประจำ โดยเฉพาะพนักงานห้างฯ พนักงานร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง มักมีช่วงเวลาเลิกงานที่ดึกดื่นกว่าอาชีพอื่น กว่าจะเลิกงานร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ปิดกันหมดแล้ว
นัทธมนจึงอยากมอบช่วงเวลา ‘ปกติ’ ที่พวกเขาสามารถมีเวลานั่งสังสรรค์ร่วมกับคนที่พวกเขารัก ได้ไม่ต่างจากอาชีพอื่น นอกจากกลุ่มคนทำงานประจำที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักแล้ว นักเรียน นักศึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่โดนร้านสุกี้ ‘ตก’ เข้าเช่นกัน
“เราเปิดโอกาสให้ลูกค้ารู้ว่าเขาสามารถมาทานตอนตี 1 ได้โดยไม่ต้องรีบกิน กินแบบสบายใจ อยากสนุกสนานกับเพื่อนก็ทำได้ เขาจะได้ไม่ต้องแย่งโต๊ะกันตอน 1 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงพีคสำหรับทุกคน” (บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์ SME One)
การปรับตัวครั้งใหญ่
แม้เส้นทางการทำร้านอาหารของนัทธมนจะดูราบรื่น เพราะในปีแรกเธอสาขาขยายสาขาสุกี้ตี๋น้อยไปได้ถึง 10 สาขา สร้างยอดขายได้ 499 ล้านบาท และกำไร 15 ล้านบาท จากนั้นเธอก็ขยายสาขามาต่อเรื่อย ๆ และจดทะเบียนเป็นธุรกิจภายใต้บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป ในปี 2562
แต่กว่านัทธมน จะประสบความสำเร็จและมีรายได้กว่า 1,500 ล้านบาทมาจนถึงวันนี้ เรียกได้ว่าเธอต้องปรับตัวไม่หยุด ตั้งแต่สามเดือนแรกที่เปิดร้าน มาจนถึงวันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย
โดยเธอเล่าผ่านบทสัมภาษณ์นิตยสาร Hello Thailand ไว้ว่า ในช่วง 3 เดือนแรกที่เปิดร้าน เธอได้แบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอยู่บ้าง แต่หลังจากดูแลธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 3 - 4 ปี สุกี้ตี๋น้อยก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินโฆษณา เพราะหากลูกค้ามีความสุขที่ได้มาทานที่ร้าน ก็จะเกิดการบอกต่อกัน การตลาดแบบปากต่อปากจึงเป็นสิ่งที่นัทธมนใช้มาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
ส่วนการปรับตัวช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เธอเริ่มจากการกลับมานั่งคิดว่าจะทำยังไงต่อ ความคิดแรกที่เข้ามาคือ การทำเดลิเวอร์รี เพราะหากไม่ปรับตัวธุรกิจที่เธอปั้นมากับมือคงต้องล่มสลาย จากนั้นเธอก็เริ่มลงมือคิดเมนู ‘หมี่หยกตี๋น้อย’ ขายในราคา 39 บาท โดยขายผ่านหน้าร้านแบบให้นำกลับไปทานที่บ้าน เป็นการช่วยประคองสถานการณ์เอาไว้ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง
จากนั้นจึงต่อยอดทำสุกี้แบบซื้อกลับไปทานที่บ้าน โดยคงรสชาติและปริมาณที่คุ้มค่า ทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่ต่างจากการเข้ามาใช้บริการที่ร้าน จนออกมาเป็นชุดเมนูสุกี้แบบอะลาคาร์ท (A la carte) ในราคาเริ่มต้น 179 บาท โดยปริมาณวัตถุดิบต่าง ๆ จะชั่งน้ำหนักตามราคาที่จ่ายจริง
แผนการในอนาคตของสุกี้ตี๋น้อย
ส่วนอนาคตของสุกี้ตี๋น้อย ภายใต้การบริหารของนัทธมนนั้น เธอเผยว่าจะมีการขยายสาขาต่อไปเรื่อย ๆ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ยังไม่มีแผนจะทำเฟรนไชส์ เนื่องจากยังกังวลเรื่องคุณภาพของอาหาร หากเปิดเฟรนไชส์ก็เกรงว่ามาตรฐานที่เธอวางไว้มากว่า 5 ปีจะถูกทำลายลง
ที่ผ่านมา สุกี้ตี๋น้อยเติบโตมาด้วยตัวเองมาโดยตลอด มีเพียงประสบการณ์ของคุณพ่อ ซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อนเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ การที่แบรนด์สุกี้เล็ก ๆ ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เธอยอมรับว่ามาไกลกว่าที่คิด แต่ในขณะเดียวกัน โลกของธุรกิจมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี คอนเน็กชันธุรกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ธุรกิจรอดไปได้
ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยมีทั้งหมด 41 สาขา มีลูกค้าเฉลี่ยรวมในทุกสาขา 30,000-40,000 คนต่อวัน ซึ่งในช่วงสุดท้ายของปี 2565 สุกี้ตี๋น้อยเตรียมเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา ในกรุงเทพฯ เริ่มจากสาขากิ่งแก้วจะเปิดต้นเดือนตุลาคม สาขาถนนพุทธบูชา, ตัวเมืองนครปฐม และ Porto Go บางปะอิน และยังมีความตั้งใจที่จะขยายสาขาออกไปต่างจังหวัดตามแผนที่วางไว้เช่นเดิม