10 พ.ย. 2565 | 17:02 น.
- บรรดานักธุรกิจที่เป็นลูกจีนในไทยผู้ฝ่าฟันอุปสรรคชีวิตและประสบความสำเร็จอย่างสูง ชิน โสภณพนิช คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน
- ชิน โสภณพนิช เริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากเป็นแรงงาน ทำงานลูกจ้างสารพัดแบบ เมื่อสะสมทุนได้เพียงพอจึงออกมาตั้งธุรกิจของตัวเอง
- จากโอกาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลมาสู่ทุนที่มากขึ้น จนก่อตั้งธุรกิจธนาคารในภายหลัง นำมาสู่ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพเป็นอีกหนึ่งธนาคารไทยที่ยืนหยัดมายาวนานไม่ต่ำกว่า 7 ทศวรรษ ก้าวข้ามไปมีสาขาในต่างประเทศในยุคเฟื่องฟูและประสบความสำเร็จมามากมาย รากฐานของธนาคารชื่อดังนี้เริ่มต้นมาจากลูกจีนในไทยนามว่า ชิน โสภณพนิช ที่พอจะกล่าวได้ว่ามีชีวิตไม่ต่างจากกลุ่มชาวจีนสไตล์ ‘เสื่อผืนหมอนใบ’
นายชิน มีพื้นเพจากสามัญชน เริ่มต้นชีวิตด้วย ‘มือเปล่า’ แทบไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนใด เริ่มทำงานจากเส้นทางเป็นลูกจ้างหลากหลายกิจการ เคยทำงานใช้แรงงานอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งก่อร่างสร้างตัวด้วยสัมมาอาชีพ กลายเป็นผู้บริหาร มหาเศรษฐี และผู้ตั้งธนาคารกรุงเทพ มีชื่อเสียงโด่งดังระดับสากล
ก่อนจะประสบความสำเร็จสูงสุด ชิน โสภณพนิช มีชีวิตวัยเด็กและช่วงก่อนหน้าทำธุรกิจของตัวเองที่ถือว่าสู้ชีวิต ทั้งนี้ ข้อมูลในวัยเด็กอาจไม่สามารถสืบเสาะได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อครั้งจัดทำหนังสืออนุสรณ์ของนายชิน ก็แทบหาผู้รู้จักและรู้ข้อมูลชีวิตนายชิน ในวัยเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่มาเล่าได้ไม่กี่คน เรื่องราวในช่วงชีวิตตอนต้นจึงมาจากการเล่าขานกันไปต่าง ๆ นานา
หลักฐานที่พอจะมีน้ำหนักอยู่บ้างเชื่อว่า บิดานายชินชื่อ นายพัน เป็นชาวจีนอพยพเชื้อสายแต้จิ๋ว มีต้นตระกูลอยู่ที่กวางตุ้ง ประเทศจีน และเดินทางมาประกอบอาชีพในไทย พำนักแถบอำเภอบางขุนเทียน ส่วนมารดาชื่อนางสุ่น เป็นชาวสวนคนไทย
นายชิน กำเนิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 (บางแห่งระบุปีเกิดเป็นพ.ศ. 2451 ในที่นี้อ้างอิงข้อมูลจากอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ ซึ่งระบุว่าเกิดปี 2453) ช่วงวัย 4-5 ขวบ บิดาพากลับไปเยี่ยมญาติและรับการศึกษาที่จีนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น รวมแล้วราว 12 ปี
นายชิน เป็นบุตรชายคนเดียวของนายพัน และนางสุ่น คาดได้ว่าชีวิตในวัยเด็กก็ต้องทำงานการเกษตรช่วยงานที่บ้านร่วมกับเรียนหนังสือไปด้วย
หลังจากเข้ามัธยมต้น เมื่อเรียนเสร็จแล้วยังต้องไปทำงานร้านหนังสือและร้านเครื่องเขียนเพื่อหารายได้เสริม เนื่องจากฐานะการเงินของทางบ้านก็ไม่ได้ร่ำรวย การทำงานที่ร้านมีส่วนให้ได้โอกาสฝึกฝนหาความรู้ด้านอ่านและเขียนไปด้วย
หลังจบมัธยมต้น ชิน โสภณพนิช หางานทำจริงจัง มาได้งานกับน้องของย่าที่เปิดร้านรับรักษาผู้ป่วยและจำหน่ายยาจีน นายชินทำงานที่ร้านของหมอจีนจนเจ้าของร้านรักใคร่ ขณะเดียวกันเขาก็หารายได้มาช่วยครอบครัวได้อีกทางจนมีคำบอกเล่าว่า นายชินเคยเล่าว่าช่วงชีวิตนี้เขาสนุกสนานและภูมิใจมาก
ขณะอายุ 17 นายชินถูกเรียกตัวกลับไทย ชาวจีนในไทยส่วนมากทำงานรับจ้าง บิดาของนายชินพาไปให้ทำงานเป็นลูกจ้างในเรือรับส่งสินค้าเกษตร เป็นเด็กเรือโยงคอยถ่อเรือ ค้ำใบเรือ เมื่อถึงฝั่งก็ขนถ่ายสินค้าขึ้นลง ทำงานอยู่ 2-3 เดือนจึงเห็นว่าต้องหาลู่ทางทำงานอื่นที่ดีกว่า
ภายหลังยังผ่านงานกับร้านขายไม้ หลังจากนั้นมีอันต้องเดินทางไปกลับเมืองจีนหลายหน กระทั่งกลับมาทำงานกับร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง เซียมเฮงล้ง เมื่อพ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นกิจการที่คุ้นเคยกันมาก่อน ที่ทำงานแห่งนี้นายชิน ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้เป็นผู้จัดการ กิจการของบริษัทเจริญก้าวหน้า
เมื่อได้ประสบการณ์และรู้จักผู้คนมากขึ้น นายชินรวบรวมเงินทุนที่อดออมมาเช่าตึกแถวถนนเจริญกรุง เปิดเป็นร้านขายวัสดุหลายประเภท เจริญก้าวหน้าจนจดทะเบียนเป็นบริษัท เอเซีย จำกัด
ช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างธุรกิจของตัวเอง เวลานั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในยุโรปราว พ.ศ. 2482 ค่อย ๆ ขยายเข้ามาในเอเชียในเวลาต่อมา
ประเทศไทยได้รับผลกระทบช่วง พ.ศ. 2484 เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้ามาในไทย เวลานั้น นายชินและครอบครัวอพยพไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับอยุธยา สินค้าวัสดุก่อสร้างยุคนั้นหายากและราคาแพงเนื่องจากเป็นยุทธปัจจัย
สงครามย่อมส่งผลเสียต่อหลายด้าน ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้คนดิ้นรนหาโอกาสและลู่ทางใหม่ด้วย ต้องประกอบธุรกิจค้าขายสินค้าใหม่ ๆ เช่น การส่งออกสินค้าเกษตรอันเป็นสินค้าขาดตลาดและเป็นที่ต้องการในตลาดโลกมากที่สุด ซึ่งทำให้นายชิน สะสมทุนรอนได้เพิ่มขึ้น
เมื่อประกอบกับธุรกิจค้าทองและแลกเปลี่ยนเงินตราส่งผลทำให้นายชิน สามารถสร้างฐานะ กระทั่งเข้าไปมีส่วนร่วมก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดย่อมแห่งหนึ่งในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2
ข้อความตอนหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายชิน โสภณพนิช ป.ช., ป.ม. ประธานกิตติมศักดิ์ อดีตประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 9 เมษายน 2531 ระบุถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสมัยสงครามไว้ว่า
“นี่คือ ชิน โสภณพนิช นักธุรกิจผู้ไวต่อสถานการณ์ และไม่ปล่อยให้โอกาสงาม ๆ ของตนผ่านเลยไป แต่การตัดสินใจลงมือกระทำกิจการใด ๆ นั้น มิใช่เพียงแค่จังหวะและโอกาสอำนวยหรือโชคช่วย หากต้องประกอบด้วยภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์ที่สั่งสมมาแล้วเป็นอย่างดีด้วย”
ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายชินที่มีเชื้อสายจีนอันเป็นคู่สงครามกับญี่ปุ่นคือหนึ่งในพ่อค้าไทยที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ คอยช่วยเหลือจัดส่งเสบียงให้สายต่างประเทศ
ในเอกสารอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพยังเล่าว่า นายชินเคยถูกสารวัตรญี่ปุ่นจับ ถูกขังอยู่คืนหนึ่ง กระทั่งเรือตรีหลวงสังวรยุทธกิจ มาช่วยเหลือจนออกไปได้ นั่นไม่ได้ทำให้เขาหวาดกลัว และเคยลงทุนไปหาซื้อกระต๊อบชาวนาเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บอาวุธ แต่สงครามยุติลงเสียก่อน จึงไม่ได้ลงมือตามแผนแต่อย่างใด
สำหรับธนาคารที่นายชิน ชักชวนเพื่อนมาร่วมหุ้นก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2487 ก่อนสงครามยุติลงไม่นานนักคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เงินทุนจดทะเบียนครั้งแรก 4 ล้านบาท
กิจการของนายชิน เติบโตขึ้นเป็นลำดับจนเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่มีสาขาเปิดในต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2495 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพในไทยยังดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ นายชิน เคยให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนหนึ่งของการก่อตั้งธนาคาร มีจุดเริ่มต้นมาจากความรู้สึกชาตินิยม เพราะการธนาคารสมัยก่อนเป็นอาชีพสงวนสำหรับต่างชาติ นักธุรกิจชาวไทยได้รับความเดือดร้อนยุ่งยากหลายด้านเมื่อจะใช้บริการทางการเงินที่จำเป็น จึงมีความตั้งใจส่วนหนึ่งมาเปิดบริการในประเทศเหมือนกับที่ต่างประเทศให้บริการลูกค้าของพวกเขา
นายชิน เป็นคนตัดสินใจกลยุทธ์การตลาดของธนาคาร โดยมีแนวคิดที่น่าสนใจดังที่เอกสารอนุสรณ์ฯ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
“...ธนาคารกรุงเทพควรให้บริการในสิ่งที่ธนาคารต่างชาติให้บริการกับลูกค้าของพวกเขา เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจธนาคารจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากงานบริการเท่านั้น บริการให้ดีที่สุดก็ย่อมสามารถเอาชนะใจลูกค้าได้มากที่สุด”
เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช
ภาพ: (ซ้าย) นายชิน โสภณพนิช จากอนุสรณ์ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายชิน โสภณพนิช ป.ช., ป.ม. ประธานกิตติมศักดิ์ อดีตประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 9 เมษายน 2531 ไฟล์จาก Wikimedia Commons
(ขวา) ภาพประกอบเนื้อหา อาคารสำนักงานของธนาคารกรุงเทพ ประกอบกับป้ายธนาคารกรุงเทพ ไฟล์จาก Getty Images
อ้างอิง:
อนุสรณ์ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายชิน โสภณพนิช ป.ช., ป.ม. ประธานกิตติมศักดิ์ อดีตประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 9 เมษายน 2531. น. 85-87, 115-116