16 พ.ย. 2565 | 15:42 น.
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2563 Molly Ally ได้ถือกำเนิดขึ้นจากไอเดียของนักศึกษาปริญญาโทที่ต้องการทำให้เกิดผลจริงทางธุรกิจ ได้แก่ ‘กานต์ชนิต บุบผาชื่น’, ‘รตี บวรมงคลศักดิ์’ และ ‘โชติมา มีมุ่งธรรม’ พัฒนาขึ้นมาภายใต้คอนเซปต์ ‘ไอศกรีมที่ดีต่อใจคนรักสุขภาพ’
“ตัวเองเป็นคนแพ้นมแบบไม่รู้ตัว และตอนทำธุรกิจ Cafe Cococano ร้านเครื่องดื่มสายมะพร้าว ลูกค้ามักจะถามว่า มีอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของนมหรือไม่ ทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า หรือ Plant-Based จะมา จึงนำไอเดียไปเสนอเพื่อนอีกสองคน” รตี - หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Molly Ally เล่าให้ฟัง
โมเลกุลแห่งความสุขที่พร้อมจะส่งต่อให้ทุกคน
คอนเซปต์ที่วางไว้สะท้อนให้เห็นตั้งแต่การตั้งชื่อ โดย Molly แปลว่า โมเลกุลแห่งความสุข Ally แปลว่า สำหรับทุกคน รวม ๆ แล้วความหมายของ Molly Ally คือ โมเลกุลแห่งความสุขที่พร้อมจะส่งต่อให้ทุกคน
แล้วทำไมต้องเป็น ‘ไอศกรีม’?
เพราะรตีเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบ และเมื่อได้รับประทานแล้วจะมีความสุข แต่มักจะตามมาด้วยคำว่า ‘แต่’ เช่น แต่ไขมันเยอะ แต่แคลอรีสูง แต่น้ำตาลสูง แต่คอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น
นั่นเป็นช่องว่างที่เธอเห็น และนำมาสู่การพัฒนา Molly Ally ไอศกรีม Plant-Based ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดทำมาจากพืช ไม่มีส่วนผสมของนมวัวที่หลายคนอาจแพ้ รสชาติหวานก็มาจากน้ำตาลช่อดอกมะพร้าวที่กระทั่งคนเป็นเบาหวานยังรับประทานได้
พยายามให้มากกว่าไอศกรีม
“หลักการเดียวของการทำอาหารคือต้องอร่อย แม้จะเป็น Plant-Based เป็นอาหารสุขภาพ ก็ต้องอร่อย”
โดย Molly Ally ใช้เวลาพัฒนาสูตรอยู่ประมาณ 1 ปี ภายใต้หลักการง่าย ๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเราเองกินแล้วชอบ กินแล้วอร่อย และมีการทดลองทำเป็นพัน ๆ ครั้ง กว่าจะได้ 4 รสชาติแรกออกมา ได้แก่ Hera ไอศกรีม Lemon Pie โรยหน้าด้วยถั่วพิสตาชิโอและแมคคาเดเมีย, Eden Garden ไอศกรีมถั่วพิสตาชิโอ, Apollo ไอศกรีมอะโวคาโดน้ำผึ้ง และ Romeo โกโก้บัตเตอร์เข้มข้น
รตีเล่าว่า การทำรสชาติและการตั้งชื่อแต่ละรส จะสร้างให้มีความแปลกใหม่ แตกต่างจากคนอื่น และให้ลูกค้าได้อะไรมากกว่ารับประทานไอศกรีม เช่น นำคาแรคเตอร์ของตัวละครมาตั้งเป็นชื่อ เช่น Hera ไอศกรีม Lemon Pie ซึ่ง Hera เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน, Romeo เป็นตัวแทนของผู้ชายที่มีความเข้มแข็ง แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าจูเลียตก็จะแสดงความรักที่อ่อนโยนอยู่เสมอ ฯลฯ
ปัจจุบันไอศกรีม Molly Ally มีทั้งหมด 25 รสชาติ มีหน้าร้าน 6 สาขา อาทิ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สยามเซ็นเตอร์ เอ็มควอเทียร์ เทอร์มินอล 21 ฯลฯ
“ตอนแรกเราปูเป็นไอศกรีมออนไลน์ เพราะเกิดในช่วงโควิด-19 ณ ตอนนั้นมีโจทย์คืออยู่ให้ได้ในยุคโควิด-19 นั่นก็คือการมุ่งสู่ออนไลน์ มีการเดลิเวอรี่ แต่เพื่อให้คนเข้าถึงและสร้างการรู้จักเพิ่มขึ้น เลยมาเปิดหน้าร้าน ตอนนี้ยังไม่มีแผนขยายสาขาเพิ่ม เพราะอยากโฟกัสแต่ละสาขาให้บริการลูกค้าได้ดีมากขึ้นก่อน”
Top of Mind ในกลุ่ม Premium Healty Icecrem
ด้วยความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และมาช่วยแก้ Pain point ของคนที่อยากรับประทานไอศกรีมแต่แพ้นมวัว ซึ่งมีคนที่ประสบปัญหานี้อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยในเอเชียมีกว่า 90% และในไทย 70% ทำให้ Molly Ally ได้รับความสนใจและกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังคว้าแชมป์ New Venture Champion 2021 การแข่งขันการประกวดแผนธุรกิจของ University of Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทุกมุมโลกส่งแผนเข้าประกวด รวมถึงได้เงินลงทุนจากรายการ Shark Tank Thailand ซีซั่น 3
และเป็น 1 ใน 21 เมนูของโครงการ Future Food for Sustainability ที่จะเสิร์ฟให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมงานประชุม APEC 2022 ได้ลิ้มลอง
ปัจจุบัน Molly Ally ดำเนินธุรกิจมาปีครึ่ง เติบโตขึ้น 3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับวันที่เริ่มต้นแบรนด์ ซึ่งรตีบอกว่าเกินเป้าหมายที่คิดไว้ ส่วนเป้าหมายต่อไป ต้องการให้ Molly Ally เป็น Top of Mind ในกลุ่ม Premium Healty Icecrem ด้วยการเปลี่ยนให้กลุ่มที่ชอบรับประทานไอศกรีมปกติหันมารับประทานไอศกรีมของเธอให้ได้ หลังจากเป็นที่รู้จักในคนกลุ่ม Vegan และกลุ่ม Plant-Based ในระดับหนึ่งแล้ว
“เราอยากเป็นเหมือนโค้ก ซีโร่ ที่วันหนึ่งจากคนดื่มโค้กธรรมดาหันมาดื่มโค้กซีโร่เลย เพราะแม้เราจะเป็น Plant-Based แต่ก็อร่อย แถมคนกินไม่ต้องกังวลเรื่องสุขภาพด้วย หวังว่าจะทำได้ในสักวันหนึ่ง”
Passion จุดเริ่มต้นความสำเร็จ
เมื่อถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จของเธอ รตีบอกว่า 1. อยากให้ทำทุกอย่าง Passion ทำในสิ่งที่อยากทำ มีเป้าหมายชัดเจน และตั้งใจทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ เพราะการทำธุรกิจไม่ว่าขั้นตอนไหนก็ตามล้วนแล้วต้องเผชิญกับปัญหา และสิ่งเดียวที่ทำให้ไม่ท้อ ไม่ยอมแพ้ ก็คือ Passion เรื่องนี้
2. เมื่อเจอกับปัญหาไม่ว่าจะหนักแค่ไหน อย่าคิดว่าทำไมถึงเจอปัญหาอีกแล้ว และอยากให้คิดว่า การทำธุรกิจคือการแก้ปัญหาหรือทำอย่างไรถึงแก้ปัญหานี้ได้มากกว่า ให้มองเหมือนการเล่นเกมที่ต้องหาทางฝ่าด่านแต่ละด่าน
3. การทำธุรกิจสามารถเรียนรู้ได้ระหว่างทาง โดยไม่จำเป็นต้องเรียนหลักสูตรการทำธุรกิจ อย่างตัวเธอเองแม้จะเรียนด้านการตลาดและทำธุรกิจมา แต่อยากจะบอกว่า การทำงานจริงกับที่เรียนมาไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นใครอยากทำธุรกิจ ให้ลุยได้เลย และมาเรียนรู้ระหว่างทางเอง
“ถ้ามีไอเดีย ทดลองทำเลย แผนธุรกิจก็สำคัญ เพราะใช้เป็นเป้าหมาย แต่ไม่มีบอกนะว่าระหว่างทางจะเจออะไร ต้องเรียนรู้ เมื่อมี Passion สนุกในสิ่งที่ทำ สิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรจะทำให้เราเดินต่อไปได้เรื่อย ๆ”
.
ภาพ : จุลดิศ อ่อนละมุน