Burberry แบรนด์หรูที่แรกเริ่ม‘ผู้ก่อตั้ง’ต้องการให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ใช้แรงงาน

Burberry แบรนด์หรูที่แรกเริ่ม‘ผู้ก่อตั้ง’ต้องการให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ใช้แรงงาน

Burberry เป็นแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์สัญชาติอังกฤษที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่อาจไม่รู้ว่า ณ แรกเริ่มผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้อย่าง ‘โทมัส เบอร์เบอร์รี่’ (Thomas Burberry) ตั้งใจออกแบบให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และผู้ใช้แรงงาน

Burberry เป็นแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์สัญชาติอังกฤษที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยมีเสื้อ Trenchcoat และผ้าพันคอแคชเมียร์ลายทาร์ทัน (Tartan - ลายสกอต) ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเห็นที่ไหนก็รู้ได้เลยว่า นี่เป็นของ Burberry

แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ณ แรกเริ่มผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้อย่าง ‘โทมัส เบอร์เบอร์รี่’ (Thomas Burberry) ซึ่งเคยเป็นเด็กฝึกงานร้านขายผ้าม่านตั้งใจออกแบบให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และผู้ใช้แรงงาน

Burberry แบรนด์หรูที่แรกเริ่ม‘ผู้ก่อตั้ง’ต้องการให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ใช้แรงงาน

แล้ว Burberry กลายมาเป็นแบรนด์หรูคู่เกาะอังกฤษและโด่งดังไปทั่วโลกจนมีรายได้กว่า 3,700 ล้านเหรียญ (ประมาณ 130,000 ล้านบาท) ได้อย่างไรกัน!!!

จุดเริ่มต้นที่ร้านขายผ้าม่าน

โทมัส เบอร์เบอร์รี่ เกิดในปี 1835 ณ เมืองโบรคแฮมกรีน (Brockham Green) มณฑลเซอร์รีย์ (Surrey) ในครอบครัวของชาวนาที่ทำอาชีพค้าขายควบคู่ไปด้วย ช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขาได้ฝึกงานที่ร้านขายผ้าม่านในเมือง

ที่นี่เองทำให้เขาเรียนรู้เรื่องประเภทของเนื้อผ้าและการตัดเย็บผ้าหลากหลาย ตั้งแต่ผ้าม่านติดบ้านไปจนถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน กระทั่งในปี 1857 เมื่ออายุได้ 21 ปี โทมัสตัดสินใจใช้ความสามารถเหล่านี้เปิดร้านขายเสื้อผ้าเล็ก ๆ ของตัวเองชื่อ ‘Burberry & Sons’ ในเบซิงสโต๊ค (Basingstoke) เมืองใหญ่ที่สุดของแฮมป์เชียร์ (Hampshire) 

และด้วยการเป็นลูกชาวนา ร้านของเขาจึงต้องการตัดเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ โดยเน้นเสื้อผ้าที่ทนทาน และใส่ได้ทุกวัน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก และธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เขาแต่งงานกับ 'แคเธอรีน นิวแมน' (Catherine Newman) เพื่อสร้างครอบครัวด้วยกัน

คิดค้นเนื้อผ้าชนิดใหม่ ‘กาเบอร์ดีน’

ในปี 1870 ร้านขายเสื้อผ้าของเขาขยายตัวมากขึ้น จนต้องจ้างพนักงานนับสิบเพื่อช่วยขายที่ร้าน และได้เปิดโรงงานเล็ก ๆ แห่งใหม่บนถนนนิวสตรีท โดยตั้งใจจะออกแบบเสื้อโค้ทข้างนอกรูปแบบใหม่ ซึ่งตอนนั้นเสื้อโค้ทกันฝนของ Mackintosh กำลังได้รับความนิยม แต่ด้วยความที่มันทำจากพลาสติก ไม่ยืดหยุ่น ระบายอากาศได้ไม่ค่อยดี เมื่อสวมใส่จะรู้สึกอึดอัด 

ด้วย Pain Point เหล่านี้ โทมัสต้องการออกแบบเสื้อโค้ทของเขาให้ผู้คนสามารถใส่ได้แบบไม่อึดอัด แม้จะเป็นวันที่อากาศร้อน อีกทั้งยังสามารถป้องกันพร้อมสร้างความอบอุ่นในวันอากาศหนาว และสวมใส่ได้แม้ต้องอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน

โดยเขาสังเกตเห็นลูกค้าของเขาที่เป็นคนเลี้ยงแกะใส่เสื้อคลุมกันเปื้อนสำหรับทำงานจากผ้าลินิน (linen smock) ที่กันน้ำและมีความเป็นไขเคลือบอยู่ด้านนอก เขาจึงไปพูดคุยด้วย และพบว่าไขที่เคลือบเสื้อคลุมนั้นเรียกว่า ‘ลาโนลิน’ (Lanolin) เกิดจากไขมันที่สร้างขึ้นโดยต่อมบนผิวหนังของแกะ หรือน้ำมันจากขนแกะที่แกะสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันแสงแดด ลม และฝนตามธรรมชาตินั่นเอง ที่สำคัญมันยังมีคุณสมบัติในการกันน้ำได้ด้วย

สิ่งที่เขาค้นพบกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเนื้อผ้าประเภทใหม่ที่ใช้ส่วนผสมของลินิน ขนแกะ ผ้าฝ้ายอียิปต์ และลาโนลิน ได้ออกมาเป็นผ้าที่เบาสบาย ระบายอากาศ มีความทน กันลมและฝนได้เป็นอย่างดี  เรียกว่า ‘กาเบอร์ดีน’ 

Burberry แบรนด์หรูที่แรกเริ่ม‘ผู้ก่อตั้ง’ต้องการให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ใช้แรงงาน

โทมัสนำผ้าชนิดนี้ไปจดเป็นสิทธิบัตรในปี 1888 และเริ่มผลิตออกมาใช้เพื่อตัดเย็บเสื้อโค้ท ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่า ‘Designed by Sportsmen, For Sportsmen’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเสื้อโค้ทตัวนี้เหมาะสำหรับสวมใส่ข้างนอกในทุกโอกาส 

ปรากฏว่าเสื้อโค้ทของเขาขายดิบขายดีและประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับโทมัสจนทำให้ขยายสาขาไปทั่วประเทศได้ และเริ่มขยายไปสู่เสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ 

ดีไซน์ใหม่ให้กองทัพ

ขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คือมีเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ร้านสาขาหลักในเมืองเบซิงสโต๊ค เมื่อเพลิงสงบลง ร้าน Burberry & Sons แทบไม่เหลืออะไรแล้วนอกจากซากไหม้ของอดีตอันรุ่งเรือง

ความสูญเสียครั้งนั้นคิดเป็นเงินในปัจจุบันราว ๆ 1.5 ล้านเหรียญ ซึ่งสำหรับธุรกิจที่กำลังสร้างตัวถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ท้อใจไม่น้อย แต่โทมัสไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เขาได้ลงทุนเงินก้อนใหม่เข้าไป เพื่อสร้างร้านใหม่ในตำแหน่งเดิม โดยใช้เวลาซ่อมแซมไปกว่า 2 ปี ก่อนจะกลับมาเปิดได้ใหม่อีกครั้ง

Burberry แบรนด์หรูที่แรกเริ่ม‘ผู้ก่อตั้ง’ต้องการให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ใช้แรงงาน ถึงตอนนี้เสื้อโค้ทผ้ากาเบอร์ดีนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มคนทำงานข้างนอกหรือชอบชีวิตเอาต์ดอร์เท่านั้น ยังรวมไปถึงเหล่าทหารในกองทัพ เพราะเสื้อโค้ทของโทมัสสามารถกันอากาศหนาวได้ดี เวลากลางวันก็กันแดด กันฝน กันลมได้ เหมาะสำหรับประเทศที่มีอากาศแปรปรวนอย่างอังกฤษ อีกทัั้งสามารถพกพาไปได้ทุกที่

ด้วยเหตุนี้กองทัพของอังกฤษจึงตัดสินใจจ้างโทมัสออกแบบชุดยูนิฟอร์มทหารสำหรับใช้ในกองทัพ โดยเขาเริ่มออกแบบชุดให้กับทั้งทหารบกและทหารเรือ เป็นเสื้อโค้ทผ้ากาเบอร์ดีนสีกากียาวถึงเข่า (เวลาต่อมาเครื่องแบบนี้เรียกว่า The Tielocken และโทมัสนำไปจดลิขสิทธิ์ไว้ด้วย)

ช่วงเวลานี้ลูกชายสองคนของเขา ได้แก่ ‘โทมัส นิวแมน’ (Thomas Newman) และ ‘อาเทอร์ ไมเคิล’ (Arthur Michael) เริ่มเข้ามาช่วยในธุรกิจของพ่อ โดยทั้งคู่เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างหมวก เสื้อกันหนาว กางเกงขายาว ซึ่งทุกอย่างยังคงคอนเซปต์เดิมคือ ‘ทน เบา ระบายอากาศ และกันลมกันฝนได้ดี’

ชื่อเสียงของเสื้อผ้าแบรนด์ Burberry ถูกพูดถึงในวงกว้าง ใครก็ตามที่ชอบไปตกปลา ขี่ม้า หรือนักบิน นักเดินเรือ นักปีนเขา คนที่ชอบใช้ชีวิตกับธรรมชาติ และนักเดินทางที่ไปยังพื้นที่ที่สภาพอากาศแย่ ๆ (อย่างขั้วโลก) ต่างก็พากันซื้อเสื้อผ้าของ Burberry ไปสวมใส่

ขยับฐานะสู่แบรนด์(คน)ชั้นสูง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพอังกฤษได้กลับมาขอให้โทมัสออกแบบเสื้อโค้ทให้กับทหารอีกครั้ง โดยเขานำ The Tielocken มาปรับให้เข้ากับความต้องการทางทหารมากยิ่งขึ้น อาทิ เพิ่มอินทรธนูตรงบ่าเพื่อให้ใส่ยศของทหาร, Gun Flap ผ้าตรงหน้าอกขวาเพื่อปิดรอยต่อของเสื้อตรงที่ติดกระดุม เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงไปในช่องรอยต่อและเข้าไปข้างในได้, ห่วงเหล็ก D-Ring ด้านหลังตัวเสื้อโค้ทไว้ใช้สำหรับแขวนอุปกรณ์ กล่องเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น ฯลฯ

เสื้อตัวนี้ถูกใช้โดยทหารมากกว่า 500,000 คน (ต่อมาเสื้อโค้ทตัวนี้กลายเป็นต้นแบบของ Burberry Trenchcoat) หลังจากสงครามสงบลง เทรนช์โค้ทกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทหารในกองทัพและคนในครอบครัวเท่านั้น ยังขยายสู่กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มองเสื้อตัวนี้เป็นแฟชั่นที่สวมใส่ได้กับทุกโอกาส 

รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีเงินและสังคมชั้นสูงด้วย เช่น สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร (King Edward VII) และ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร (King George V) ทรงชื่นชอบ Burberry จนภายหลังได้รับ ‘ตรารับรองพระราชทาน’ หรือ Royal Warrant สำหรับร้านค้าที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดหาสินค้าถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์หรือราชินีแห่งอังกฤษ

ขยายอิทธิพลทั่วโลก

ในปี 1926 โทมัสได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 90 ปี ลูกชายทั้งสองคนของเขาได้เข้ามาสานธุรกิจ และในปี 1955 ได้ขายธุรกิจต่อให้กับบริษัท Great Universal Stores (GUS)

Burberry แบรนด์หรูที่แรกเริ่ม‘ผู้ก่อตั้ง’ต้องการให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ใช้แรงงาน  

ระหว่างช่วงปี 1940’s - 1950’s ความนิยมของ Burberry มีการขยายอิทธิพลมายังฝั่งของสหรัฐอเมริกา มีนักแสดงชื่อดังหลายคนเริ่มสวมใส่ในภาพยนตร์ เช่น ‘ฮัมฟรีย์ โบการ์ต’ (Humphrey Bogart) ในเรื่อง Casablanca (1942) เป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังมากจนผู้ชายฝั่งตะวันตกจำนวนมากพยายามควานหา Burberry Trenchcoat แบบเดียวกับพระเอกมาสวมใส่บ้าง หรือ ‘ออดรีย์ เฮปเบิร์น’ (Audrey Hepburn) ใน Breakfast at Tiffany’s และ ‘ไมเคิล เคน’ (Michael Caine) กับบทนักฆ่าในเรื่อง Get Carter (1971) ที่ใส่ Burberry Trenchcoat สีดำออกปฏิบัติการล้างแค้น จนทำให้ขายดีอย่างมากในเวลาต่อมา 

ความนิยมของลายทาร์ทันหรือลายสกอตที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน แถมดังแบบไม่ตั้งใจด้วย

ลายนี้ถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วง 1920’s เพื่อใช้สำหรับเป็นผ้ารองด้านในของเสื้อโค้ท อยู่มาวันหนึ่งพนักงานของ Burberry สาขาปารีสเห็นว่ามันเป็นลายที่สวยเลยหยิบมาทำเป็นกระเป๋าและร่ม  ซึ่งขายดีมาก ๆ ต่อมามีการนำมาผลิตเป็นผ้าพันคอแคชเมียร์ที่โด่งดังในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีเงินในอังกฤษ และกลายเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะในสังคมไปเลย

ปี 1980’s - 1990’s Burberry กลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ทั้งโลโก้ ลายทาร์ทันบนสินค้า แต่ยังจำกัดอยู่กับคนวัยกลางคนและมีเงินเท่านั้น พวกเขาเลยพยายามขยายออกไปสู่ตลาดใหม่ของแฟชั่นที่ราคาถูกลงมาเพื่อเอาใจผู้หญิงวัยยี่สิบสายแฟชั่น ให้สามารถใส่ได้ทุกวัน ตั้งแต่เสื้อโค้ททั่วไป กางเกง รองเท้า 

การปรับตัวดังกล่าว ทำให้ยอดขายของ Burberry เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และปี 2002 ได้มีการนำแบรนด์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

มาถึงตอนนี้ Burberry กลายเป็นแบรนด์หรูแบรนด์ไฮเอนด์ที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยปี 2022 คาดการณ์รายได้ไว้กว่า 3,700 ล้านเหรียญ มีสินค้าตั้งแต่ Trenchcoat ผ้าพันคอ ร่ม อุปกรณ์เครื่องหนัง กระเป๋าถือ รองเท้า กางเกง เข็มขัด เสื้อผ้า ไปจนถึงน้ำหอม เครื่องสำอาง และแว่นตาแฟชั่นด้วย

.

ภาพ: Burberry

.

อ้างอิง 

yahoo finance

hautehistory

YouTube

burberry

statista