06 ธ.ค. 2565 | 12:33 น.
- เฮนรี ฟอร์ด เป็นผู้ก่อตั้งรถยนต์ฟอร์ด และวางรากฐานการผลิตรถยนต์ปริมาณมากเพื่อให้มีราคาที่ชนชั้นกลางซื้อได้
- เขาริเริ่มให้ค่าแรงเป็น 2 เท่า ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และให้หยุดเสาร์-อาทิตย์
- นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลด้านลบ เพราะเขาต่อต้านชาวยิว และมีส่วนเติมเชื้อเพลิงแห่งความเกลียดชัง
'ทำงานแปดชั่วโมง มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แล้วขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด’ อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับวิถีมนุษย์เงินเดือนทั่วไป หากประโยคแสนธรรมดานี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ (หรืออาจจะเกิดขึ้นช้ากว่านี้) ถ้าไม่มี ‘เฮนรี ฟอร์ด’ (Henry Ford) ผู้เป็นมากกว่าคนก่อตั้งบริษัทรถยนต์ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor Company)
เพราะเขาคือผู้วางรากฐานการผลิตรถยนต์ปริมาณมากในราคาที่ชนชั้นกลางเอื้อมถึง ทั้งยังเป็นบริษัทแรก ๆ ที่มีนโยบายขึ้นค่าแรงเป็นสองเท่า และลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้คือแนวคิดทางธุรกิจอันชาญฉลาดของเฮนรี ฟอร์ด เจ้าพ่ออุตสาหกรรมยานยนต์คนนี้
สายพาน รถยนต์ และชนชั้นกลาง
ชีวิตของเด็กชายฟอร์ดเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1863 ณ ฟาร์มของบิดาที่สปริงเวลส์ ทาวน์ชิป ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ฟอร์ดฉายแววความถนัดและความสนใจเรื่องเครื่องจักรมากกว่าการสืบทอดงานในฟาร์มมาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาเริ่มเรียนรู้สิ่งที่หลงใหลจากชายผู้ขับเครื่องจักรไอน้ำ และใช้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของนาฬิกาเป็นตำราศึกษาพื้นฐานการออกแบบเครื่องจักร
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ฟอร์ดทิ้งจอบและเสียมของชาวไร่ไว้เบื้องหลังแล้วก้าวสู่ชีวิตหนุ่มโรงงานในเมืองดีทรอยต์ การลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนานช่วยขัดเกลาให้เขาเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร จนกระทั่งปี ค.ศ. 1891 ฟอร์ดได้งานเป็นวิศวกรที่บริษัท Edison Illuminating Company ของ 'ทอมัส อัลวา เอดิสัน' และสองปีถัดมาเขาเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าวิศวกร โดยเอดิสันเองก็ได้กลายเป็นทั้งนายจ้าง สหาย และที่ปรึกษาของฟอร์ดในเวลาต่อมา
ระหว่างทำงานกับเอดิสัน ฟอร์ดค้นพบความจริงข้อหนึ่งว่า ความหลงใหลของเขาไม่ใช่งานที่ทำอยู่ แต่เป็นยานพาหนะที่เขาหมกมุ่นศึกษาและสร้างมันขึ้นมาในเวลาว่าง จนในที่สุดฟอร์ดก็ลาออกมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองในปี ค.ศ. 1899
แต่ประสบการณ์ด้านธุรกิจอันน้อยนิดทำให้บริษัทของเขาล้มละลายใน 18 เดือนต่อมา แต่เฮนรี ฟอร์ดยังไม่ละความพยายาม เขาหาผู้ร่วมทุนใหม่เพื่อก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ขึ้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1903
หลังจากนั้นฟอร์ดได้พัฒนารถยนต์หลากหลายรูปแบบ โดยตั้งใจจะผลิตรถยนต์คุณภาพดี ราคาถูก เพื่อให้พนักงานไปจนถึงชาวไร่ในฟาร์มสามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งการเปิดบริษัทครั้งนี้ดูจะห่างไกลจากคำว่าล้มละลายอย่างที่เคยเป็นมา ทั้งยังมีแนวโน้มว่าเขาเข้าใกล้จุดหมายของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1908 บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เปิดตัวรถยนต์ Model T ครั้งแรก ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์และกระบวนการผลิตในโรงงาน เพราะการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ไม่ได้เน้นฝีมือมนุษย์อย่างเก่า แต่เน้นการใช้สายพานและเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานเดียวกันคราวละหลาย ๆ ชิ้น มาประกอบเป็นรถยนต์อย่างเป็นระบบ ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนการผลิตมากขึ้น วิธีดังกล่าวจึงกลายเป็นต้นแบบการผลิตของโรงงานหลากหลายประเภทมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้รถยนต์ Model T ยังมีจุดขายคือ ‘ราคาที่จับต้องได้’ เพราะจำหน่ายในราคาไม่ถึง 300 ดอลลาร์ จากเดิมที่รถยนต์ทั่วไปจะมีราคาประมาณ 850 ดอลลาร์ ทำให้รถยนต์ของฟอร์ดไม่ได้เป็นพาหนะสำหรับคนรวยเท่านั้น แต่คนชนชั้นกลาง แม้แต่พนักงานของฟอร์ดเองก็สามารถเป็นเจ้าของได้เช่นกัน
โดยในปี ค.ศ. 1908 - 1927 เขาผลิตและขายรถยนต์ Model T ได้มากกว่า 15 ล้านคันในสหรัฐอเมริกา เกือบ 1 ล้านคันในแคนาดา และ 250,000 คันในเกาะบริเตนใหญ่
นายจ้างแสนใจดี หรือนักธุรกิจผู้ชาญฉลาด
แม้ยอดขายจะไปได้สวย แต่ผลพวงจากการผลิตจำนวนมากและไม่เน้นงานฝีมืออย่างเก่า ทำให้พนักงานต้องทำงานกับเครื่องจักรรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ จนเริ่มขาดแรงจูงใจและมีอัตราการลาออกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
กระทั่งปี 1914 ฟอร์ดแก้สถานการณ์นี้ด้วยนโยบาย ‘วันละ 5 ดอลลาร์’ (five-dollar day) ที่เพิ่มค่าแรงของพนักงานจาก 2.34 ดอลลาร์ต่อวัน ขึ้นมาเป็น 5 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติค่าตอบแทนแรงงานครั้งใหญ่ พร้อมเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกพนักงานโดยไม่เน้นฝีมือ แต่เน้น ‘การยอมรับเงื่อนไข’ ของนโยบายนี้แทน
จอห์น อาร์. ลี (John R. Lee) พนักงานฝ่ายบุคคลของฟอร์ดมอเตอร์ คือผู้จัดตั้งแผนกสังคมวิทยา (Sociological Department) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพนักงานของฟอร์ดให้อยู่ในกฎเกณฑ์และจรรยาบรรณของนโยบายวันละ 5 ดอลลาร์นี้ ตั้งแต่การตรวจเยี่ยมบ้านพนักงานโดยไม่บอกกล่าว การประเมินความสะอาดของบ้าน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การดื่มแอลกอฮอล์ การส่งเสียลูกเข้าโรงเรียน การตรวจสอบบันทึกธนาคารว่ามีเงินฝากเป็นประจำหรือไม่
เพราะฟอร์ดเชื่อว่าความประหยัดแสดงถึงวินัยและความรับผิดชอบของพนักงาน ส่วนสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีจะช่วยให้คนรู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงานน้อยลง
ช่วงเวลาที่มีนโยบายวันละ 5 ดอลลาร์ เป็นช่วงที่ยังมีการประท้วงของแรงงานจำนวนมากหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะโรงงานหลายแห่งกำหนดเวลาการทำงานไว้มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน บางบริษัทหยุดหนึ่งวันต่อสัปดาห์เพื่อทำกิจกรรมทางศาสนา แต่บางบริษัทกำหนดให้ทำงานตลอดทั้ง 7 วัน นั่นทำให้แรงงานจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 40 ชั่วโมง และเพิ่มวันหยุดเป็น 2 วันต่อสัปดาห์
ขณะนั้นรัฐบาลกลางยังไม่ทันได้มีนโยบายมารองรับข้อเรียกร้องเหล่านี้ แต่เฮนรี ฟอร์ด กลับเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงานเหลือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และกำหนดให้มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จากเดิมที่หยุดเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ สร้างความประหลาดใจให้เจ้าของกิจการจำนวนมากในยุคนั้น
“จงพร้อมที่จะแก้ไขทุกระบบ ทิ้งทุกวิธีการ ปล่อยวางทฤษฎีใด ๆ หากจำเป็นสำหรับความสำเร็จของงานนั้น” - เฮนรี ฟอร์ด, 1923
(“Be ready to revise any system, scrap any method, abandon any theory, if the success of the job requires it.” - Henry Ford, 1923)
เหตุผลที่ฟอร์ดตัดสินใจเพิ่มเงิน แต่ลดเวลาการทำงาน เพราะ ‘เวลาว่าง’ สำหรับฟอร์ดไม่ได้หมายถึงความสูญเปล่า แต่เป็นช่วงเวลาที่พนักงานจะชาร์จแบตก่อนออกมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเขามอง ‘พนักงาน’ เป็นหนึ่งใน ‘ลูกค้า’ ของตัวเอง เพราะเมื่อผลิตรถยนต์ในราคาที่ถูกลง เพิ่มค่าแรงและเวลาให้พนักงานมากขึ้น
แน่นอนว่าพวกเขาสามารถที่จะซื้อความสะดวกสบายอย่างรถยนต์ที่ฟอร์ดสร้างขึ้นมาได้ และมีเวลามากพอจะขับรถที่ตัวเองซื้อมาด้วย
ความคิดของฟอร์ดได้ผลเกินคาด บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์มีอัตราการลาออกที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า บวกกับผลพลอยได้ทางสังคมคือมีจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
บริษัทอื่น ๆ จึงเริ่มนำวิธีการของฟอร์ดไปปรับใช้ และต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ใช้ระบบการทำงาน 5 วันอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1932 ก่อนจะกลายมาเป็นระบบการทำงานและระบบวันหยุดที่แพร่หลายในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยในปัจุบัน
American melting pot
นอกจากการตั้งแผนกสังคมวิทยา (Sociological Department) แล้ว ฟอร์ดยังจัดให้มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ (Ford English School) สำหรับพนักงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องเรียนช่วงก่อนและหลังเข้าทำงาน ซึ่งวิธีนี้ประสบความสำเร็จและกลายเป็นต้นแบบของหลายบริษัท เพราะประกาศนียบัตรของ Ford English School กลายเป็นสิ่งที่มีค่าและจำเป็นสำหรับผู้อพยพที่ต้องการโอนสัญชาติในยุคนั้น
แต่สิ่งที่เป็นไฮไลต์ยิ่งกว่าประกาศนียบัตร คือวันจบหลักสูตรการศึกษา เพราะในพิธีจะมีวิทยากรออกมากล่าวสุนทรพจน์ พร้อมวงดนตรีบรรเลงเพลงที่แสดงถึงความรักชาติ ส่วนผู้เรียนจะสวมชุดที่ชวนให้นึกถึงบ้านเกิดของพวกเขา ก่อนจะก้าวเข้าไปในหม้อขนาดใหญ่ที่เป็นพร็อพบนเวที โดยมีป้ายติดไว้ว่า ‘the AMERICAN MELTING POT’ จากนั้นพวกเขาจะเปลี่ยนชุดอย่างรวดเร็วแล้วเดินออกมาพร้อมเสื้อผ้า หมวก และธงชาติของชาวอเมริกัน
สาเหตุที่มีผู้คนจำนวนมากเลือกอพยพจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาทำงานถึงที่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราค่าจ้างของฟอร์ดที่สูงขึ้นเป็นสองเท่า และรถยนต์ราคาย่อมเยาที่ทำให้คนทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้เพื่อการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไกลกว่าในหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม เฮนรี ฟอร์ด ยังมีอีกด้านที่สร้างอิทธิพลทางลบให้กับสังคม เพราะเขาต่อต้านชาวยิว และยังมีส่วนเติมเชื้อเพลิงแห่งความเกลียดชัง ด้วยการสนับสนุนสื่อที่นำเสนอข่าวสารบิดเบือนเกี่ยวกับชาวยิวในยุคนั้น จนฮิตเลอร์ถึงกับเอ่ยชมฟอร์ด และลูกหลานของเขาต้องมาตามลบภาพลักษณ์ดังกล่าวในรุ่นต่อ ๆ มา ดังนั้นฟอร์ดจึงเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อโลกทั้งด้านที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและด้านที่คอยถักทอความเกลียดชังต่อชาวยิว
เฮนรี ฟอร์ด อาจไม่ใช่นักประดิษฐ์ตัวยง หรือผู้ผลิตรถยนต์ที่ดีที่สุดในโลก หากแต่เป็นนวัตกรผู้หยิบจับวิธีใหม่ๆ มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ทั้งโลกการผลิตและวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ได้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และมีรถยนต์ขับในราคาที่เอื้อมถึง
.
ภาพ : Getty Images
.
อ้างอิง
.