11 ธ.ค. 2565 | 21:01 น.
- ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจโรงหนังถูกโควิด-19 กระทบอย่างหนัก ทำให้ต้องปิดบริการหลายเดือน และแม้เปิดแล้วคนก็ไม่กล้ามาดู
- ล่าสุดเจ้าพ่อโรงหนัง ‘วิชา พูลวรลักษณ์’ แห่งเมเจอร์ฯ บอกว่า ธุรกิจนี้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
- อย่างไรก็ตาม คนทำธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับวิกฤตในอนาคต
ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่า ‘ธุรกิจโรงหนัง’ ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก ทั้งจากการเข้ามาของสตรีมมิ่ง และโรคระบาดอย่างโควิด ซึ่งความท้าทายอย่างหลังสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะโรงหนังต้องปิดเป็นเวลาหลายเดือน และเมื่อมีการเปิด แต่ช่วงแรกๆ คนก็ไม่กล้าเข้าเนื่องจากยังหวั่นโรคระบาดอยู่
อย่างไรก็ตามเจ้าพ่อโรงหนัง ‘วิชา พูลวรลักษณ์’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาบอกว่า ธุรกิจนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปนานแล้ว และปีหน้าจะเข้าสู่ยุค ‘ฟ้าเปิด’อีกครั้ง
“ไปไหนมาไหนคนจะถามว่า ธุรกิจหนังเป็นอย่างไร จะปิดโรงหนังไหม เท่าที่ดูธุรกิจโรงหนังในเอเชียค่อนข้างแข็งแรง มีหนี้น้อย ต่างจากอเมริกาที่ยื่นล้มละลาย บวกกับทำมาร์เก็ตติ้งทำให้เห็นว่า โรงหนังยังเป็นแพลตฟอร์มในใจผู้บริโภค อย่างแคมเปญเมเจอร์ฉลอง 28 ปี ช่วง พ.ย.65 จำหน่ายตั๋วหนังใบละ 28 บาท ปรากฏว่า สองวันมีคนมาดู 7 แสนใบ แสดงว่าดีมานต์ยังอีกเยอะ”
ดังนั้นสำหรับเขาธุรกิจโรงหนังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะนอกจากเหตุผลที่อธิบายไปข้างต้น ยังมาจาก ‘หน้าหนัง’ หลังจากปีนี้มีหนังฟอร์มใหญ่เข้าหลายเรื่อง ส่งผลให้ธุรกิจโรงหนังคึกคัก และปีหน้าทางสตูดิโอใหญ่ให้ความมั่นใจว่า จะใส่หนังฟอร์มใหญ่เต็มที่ อาทิ Spider-Man: Across The Spider-Verse, Guardians of the Galaxy Vol.3, The Marvels และ Mission Impossible7 ฯลฯ
ทำธุรกิจต้องดูที่กระแสเงินสด
ถึงกระนั้นวิชาก็อยากเตือนว่า ‘โควิดยังไม่หมด และวิกฤตยังไม่มา’ ซึ่งธุรกิจไหนมีหนี้เยอะจะเหนื่อย กระทั่งเมเจอร์ฯ เองความจริงหนี้ไม่ได้เยอะ แต่หืดก็ขึ้นคอเหมือนกันเมื่อเจอพิษโควิดไป โดยปี 2563 ต้องอยู่ในภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาในปี 2538
“ตอนนี้ Real sector ในบ้านเรายังไม่เจอปัญหาทางการเงิน คงต้องรออีกสักปี ขณะที่อเมริกาน่าจะมาปีหน้า อย่างปัจจุบันเราจะเห็นบริษัทอเมริกาหลายแห่งกำลังยื่นสู่กระบวนการล้มละลาย หรือ Chapter 11 เยอะมาก และผมคิดว่า น่าจะรอเข้าคิวยาวเลย เพราะกว่าสองปีที่ผ่านมาเจอพิษโควิดจนหนี้ท่วมเลย ขาดสภาพคล่อง”
นอกจากการบริหารจัดการหนี้แล้ว ธุรกิจไหนแข็งแรงเรื่อง Cash Flow หรือ ‘กระแสเงินสด’ จะได้เปรียบ เนื่องจากจะลุกขึ้นและสามารถวิ่งได้ก่อน
ที่สำคัญการทำธุรกิจต่อจากนี้ต้องมองเรื่องกระแสเงินสดมากกว่ามองผลกำไร เพราะบริษัทหลายแห่งมีกำไรดี แต่ไม่มีกระแสเงินสดอยู่ในมือ ซึ่งนั่นหมายถึงธุรกิจมีปัญหา จนสุดท้ายไม่สามารถจะไปต่อได้
วาง 3 Pillars สร้างรายได้ ‘หมื่นล้าน’ให้เมเจอร์อีกครั้ง
สำหรับสิ่งที่เจ้าพ่อโรงหนังอย่างวิชาได้เรียนรู้จากวิกฤตโควิด ก็คือ ต้องโฟกัสธุรกิจหลัก ทำในสิ่งที่ถนัดสิ่งที่รู้จริง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดเท่านั้น อะไรอยู่นอกเหนือจากธุรกิจหลัก วิชาจะไม่มอง ไม่สนใจ
“ปี 2019 ก่อนเกิดโควิด นักธุรกิจฟุ้งมาก คิดทำหลายอย่างแถมไม่ซ้ำกันด้วย จนผมคิดว่า ทำไมเก่งจัง มาถึงตอนนี้ภาพหลายอย่างทให้เราเห็นแล้ว และเมเจอร์ฯจะไม่ทำแบบนั้น”
โดยกลยุทธ์จากนี้ของเมเจอร์ฯ จะเดินภายใต้ 3 Pillars ซึ่งจะเป็นกุญแจหลักเพื่อไขสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย
1.Customer Experience การไม่หยุดพัฒนาประสบการณ์ใหม่ในการชมดูหนังให้กับลูกค้า ทั้งการอัพเกรดโรงและเทคโนโลยีใหม่ในการเพิ่มอรรถรส เช่น ระบบการฉาย IMAX with LASER, ScreenX PLF และเป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและเมต้าเวิร์ส ผ่านเทคโนโลยี CAPSULE HOLOGRAM เป็นต้น
เนื่องจากวิชาเชื่อว่า ณ ตอนนี้ลูกค้าต้องการประสบการณ์ดูหนังที่ดีมากกว่าก่อนเกิดโควิด ซึ่งโจทย์คือทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นว่า การดูที่โรงหนังดีกว่า สุดยอดกว่าการดูผ่านแพลตฟอร์มอื่น เพื่อทำให้โรงหนังเป็น First window ที่ดึงคนให้เข้ามาหลังจากห่างหายจากการดูหนังในโรงหนังมานาน
2. การโฟกัสโลคอล คอนเทนท์ อย่าง ‘หนังไทย’ โดยพยายามเพิ่มจำนวนการผลิตหนังไทยให้มากขึ้น เพื่อผลักดันให้หนังไทยมีมาร์เก็ตแชร์ 50% จากภาพรวมของตลาดหนังในบ้านเรา ขณะที่ปีนี้เขามองว่า หนังไทยน่าจะมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 30% ซึ่ง ‘ไม่เลวร้าย’ แต่ธุรกิจก็เป็นธุรกิจ ต้องสร้างและต่อสู้กันต่อ
“ผมพยายามบอกว่า กรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทย การเติบโตของหนังไทยอยู่ต่างจังหวัด หรือตลาด Tier 2 ส่วนกรุงเทพฯ เป็นตลาดสำหรับนักท่องเที่ยว เหมือนโตเกียว ปารีส ดังนั้นเราจะโฟกัสหนังไทยในตลาด Tier 2 เป็นหลัก อย่างช่วงโควิดกำลังซื้อต่างจังหวัดลดลง ก็ได้มีการปรับโครงสร้างราคาตั๋วหนังในตลาดนี้ลงมา 30-40% แบบไม่ต้องได้เป็นแคมเปญโปรโมชั่น”
วางป็อบคอร์น เป็น New S Curve สร้างรายได้แซงตั๋วหนัง
มาถึงPillar ที่ 3 นั่นคือ New Business โดยเฉพาะธุรกิจป็อบคอร์น ที่เป็น New S Curve กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับเมเจอร์ฯ เลยก็ว่าได้
วิชาเล่าว่า ธุรกิจนี้เริ่มโฟกัสจริงจังช่วงโรงหนังปิดเพราะโควิด ซึ่งทำไปทำมาจากขายได้วันละไม่กี่หมื่นบาท ตอนนี้เฉพาะช่องทางเดลิเวอรี่สร้างรายได้ให้เดือนละกว่า 20 ล้านบาท จึงเชื่อว่า มีโอกาสทางธุรกิจที่สูงมาก และต่อจากนี้เมเจอร์ฯ จะให้ความสำคัญมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ในปี 2566 จะมีการรีลอนช์ป็อบคอร์นที่วางขายใน 7-Eleven ใหม่ ด้วยการจับมือกับ ‘บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด(มหาชน)’ ของ ‘ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์’ ที่ทางวิชาเข้าไปถือหุ้นอยู่ให้ทำหน้าที่ผลิตรสชาติให้หลากหลาย และขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นช่องทางเดลิเวอรี่, อี-คอมเมิร์ซผ่านลาซาด้า ชอปปี้ ตลอดจนวางจำหน่ายในโลตัส และบิ๊กซี ไปจนถึงคอนวีเนียนสโตร์ ร้านโชว์ห่วย และนำไปวางขายในต่างประเทศ
“ธุรกิจป็อบคอร์นคนละโลกกับตั๋วหนังเลย เพราะกลุ่มเป้าหมายกว้างกว่าเยอะ แต่ตอนผมทำเอง เราไม่ถนัด ผิดตั้งแต่การกำหนดราคา อะไรไม่ใช่หมดเลย ผมเลยต้องเช็คว่าใครเก่งในเรื่องตลาดสแน็คที่เราอยากทำ แล้วให้เขาทำ แถมเขามีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมเข้าซื้อหุ้นในเถ้าแก่น้อย เราไปเองจะเหนื่อยมาก”
วิชาตั้งความฝันกับธุรกิจนี้ ในปี 2566 กับเป้าหมายรายได้รวมหมื่นล้านบาท ธุรกิจป็อบคอร์นจะมีสัดส่วนรายได้เท่ากับรายได้จากตั๋วหนัง และในอนาคตจะสามารถทำรายได้แซงหน้ารายได้จากตั๋วหนัง
ทุกอย่างไม่ใช่แค่ ‘ฝีมือ’ ต้องอาศัย ‘โชคดี’ ด้วย
สุดท้ายในฐานะที่วิชาเป็นนักธุรกิจที่ลงทุนในหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจโรงหนัง ‘เมเจอร์’ ธุรกิจโรงแรม ‘VIE HOTEL’ และธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์อย่าง ‘แมคโดนัลด์’ อยากบอกว่า การทำธุรกิจยุคนี้ ‘เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเฮงด้วย’ เช่น ตัวเขาเองทำโรงแรมมีสาขา 3 แห่งในกรุงเทพฯ หัวหิน และภูเก็ต
แม้สาขาในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบพอสมควร ปรากฏว่า สาขาที่หัวหินกลับดี ห้องพักเต็มตลอด เช่นเดียวกับสาขาภูเก็ตที่คิดว่า จะ ‘ติดลบ’ สุดท้ายไม่ติดลบแถมเติบโต เพราะได้ลูกค้าจากดูไบ ซาอุดิอารเบีย บาร์เรน และยูเออีมาช่วยไว้
หรือแมคโดนัลด์ ที่เขาบอกว่า เจ็บหนักเหมือนกัน จากการไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ด้วยทีมงานและการวางกลยุทธ์ที่ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ด้วยการหันมาโฟกัสเดลิเวอรี่และไดร์ฟทรู ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องใช้เวลาอยู่นอกบ้านนาน ทำให้สองช่องทางนี้เติบโต 100% จนปีนี้แมคโดนัลด์กลับมามีกำไรดีอีกครั้ง
“ทุกอย่างไม่ใช่ฝีมือ ยุคนี้แค่เก่งไม่พอ บางทีต้องมีความเฮงมาเป็นแรงส่งด้วย” เขากล่าวพร้อมหัวเราะ
สำหรับทิศทางในปีหน้านั้น วิชาบอกว่า แม้โควิดยังอยู่ แต่ตอนนี้คนไม่กลัวแล้ว และเขากล้าพูดเลยว่า ธุรกิจไหนที่สามารถแตะกับทัวริสต์ได้ จะดีแน่นอน ไม่ว่าจะร้านอาหาร โรงแรม หรืออะไรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะด้วยโลเคชั่นของเมืองไทยที่ดีมาก บวกกับหลายปัจจัยๆ ทั้งความมีเสน่ห์ เซอร์วิสดี แถมราคาถูก ยังไงคนก็อยากมาประเทศไทย