คิดแบบ ‘เถ้าแก่’ สไตล์ของ ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่จะพาธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟแข็งแกร่ง

คิดแบบ ‘เถ้าแก่’ สไตล์ของ ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่จะพาธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟแข็งแกร่ง

ผู้บริหารหญิงคนเก่ง ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผยเคล็ดลับแนวคิดการทำงานเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ

  • ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ เป็นหนึ่งในผู้บริหารหญิงคนเก่งที่มีประสบการณืด้านการตลาดและธุรกิจอาหารมากว่า 20 ปี
  • หลักการทำงานที่เธอยึดถือ คือ ความเป็น Owener Ship หรือ ‘การเป็นเถ้าแก่’
  • การคิดแบบนี้ จะทำให้ทำงานด้วยใจ เกิดความทุ่มเท 

ช่วงบ่ายของวันหนึ่ง เรามีนัดพูดคุยกับผู้บริหารหญิงคนเก่ง ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้บริหารหญิงคนเก่ง 

โดยเธออยู่ในแวดวงการตลาดและธุรกิจอาหารมานานกว่า 20 ปี และดูแลแบรนด์ร้านอาหารมากมาย ตั้งแต่ Street Food ไปจนถึง Fine Dining เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น ‘เครือโออิชิ’ ที่นอกจากร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังมี ‘ชาบูชิ’ ร้านชาบู, ‘โออิชิ บิซโทโระ’ ร้านอาหารจานเดียว, อาหารพร้อมรับประทานอย่างแซนด์วิชและข้าวปั้น, ‘นิกุยะ’ ร้านปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น  

นอกจากนี้ยังดูแลแบรนด์ภายใต้ ‘บริษัท ฟู้ดส์ เอเชีย จำกัด’ เช่น ฟาสต์ฟู้ดส์ดัง ‘เคเอฟซี’, ‘ฟู้ด สตรีท’ ศูนย์อาหารที่เป็นแหล่งรวมของร้านอาหารขึ้นชื่อ, ‘SO Asean Café & Restaurant’ ร้านอาหารในคอนเซปต์ The Destination of Thai & Asean Cuisine , ‘บ้านสุริยาศัย’ ร้าน Fine Dining ระดับพรีเมียม, ‘หม่าน ฟู่ หยวน คิทเช่น ภัตตาคารอาหารจีนเลื่องชื่อจากสิงคโปร์ ฯลฯ 

รวมถึงล่าสุด Red Lobster (เร้ด ล็อบสเตอร์) ร้านอาหารทะเลสัญชาติอเมริกันที่โด่งดังที่อยู่ภายใต้การบริหารของ ‘บริษัท เร้ด ล็อบสเตอร์ รีเทล เอเชีย จำกัด’ หนึ่งบริษัทอาหารในกลุ่มไทยเบฟ

แต่ก่อนจะไปคุยแบบเจาะลึกกับเธอในหลายประเด็นที่น่าสนใจ เราขอพาไปทำความรู้จักกับผู้บริหารคนเก่งคนนี้กันก่อน 

คิดแบบ ‘เถ้าแก่’ สไตล์ของ ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่จะพาธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟแข็งแกร่ง

นงนุช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิเทศศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทำงานด้านส่งเสริมการขายและโฆษณาที่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากทำงานได้ 1-2 ปี ได้ตัดสินใจลาออกเพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) (เกียรตินิยม) จาก Cleveland State University ประเทศสหรัฐอเมริกา 

เมื่อเรียนจบได้เดินทางกลับไทย และมาทำงานด้านการตลาดให้กับบริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจอาหาร โดยมาดูการตลาดให้กับแมคโดนัลด์ ในประเทศไทย และบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จํากัด

กระทั่งเดือนมกราคม ปี 2558 ได้เข้ามาร่วมงานกับเครือไทยเบฟ โดยปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รวมถึงเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

คิดและลงมือทำแบบ ‘เถ้าแก่’

“ถามว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง เป็นเรื่องตอบยาก แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบการตลาด เพราะชอบคิด ชอบทำความรู้จักคน ถ้าทำอะไรแล้วรู้สึกอิน อยากเห็นมันประสบความสำเร็จไปสุด ๆ เป็นอะไรที่สนุกมาก” นงนุชเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง  

ในการทำงานไม่ว่าจะสายใดก็ตาม สำหรับเธอแล้ว การมีความคิดแบบ Ownership หรือการเป็น ‘เถ้าแก่’ มีความสำคัญมาก และเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีในทุกอาชีพ นั่นเพราะว่าเมื่อมีเรื่องนี้ก็จะตามมาด้วย 1. การพยายามคิดและหาวิธีให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะมองว่างานที่ทำคืออาชีพของเรา สร้างรายได้ให้ ทำอย่างไรถึงจะทำมาหากินกับมันได้  

2. เมื่อทำด้วยใจรัก จะทำให้คิดอยากจะทำให้ดีที่สุด และเกิดความทุ่มเทลงมือทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งตัวเธอเองเป็นคนชอบเรียนรู้คน ชอบคุยทำความรู้จัก Insight ของคน จึงรู้สึกสนุกกับการที่ไม่อยู่นิ่ง และมีความท้าทายหากทำได้สำเร็จ

นอกจากนี้การทำงานของเธอยังยึดถือ C-F-O เป็นหลักสำคัญอีกด้วย โดย

C มาจาก Customer ลูกค้า

F มาจาก Financial การเงิน

O มาจาก Operation การปฏิบัติ

“เวลาทำอะไรต้องมีโจทย์ ซึ่งลูกค้าก็คือโจทย์ของการทำธุรกิจ ส่วนไฟแนนเชียล ทำอะไรแล้วเราต้องมีรายได้ ส่วนการลงมือปฏิบัติ เป็นการคิดต่อว่าทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ ไม่ใช่ฝันกลางวัน โดย CFO เอาไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจ อย่างร้านทำผม เราอยู่ในทำเลที่มีวัยรุ่นเยอะ เราก็ต้องจับกลุ่มนี้ และมีสิ่งที่กลุ่มนี้ชอบ เช่น สีผม เรื่องพวกนี้ทำให้เราอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว”

อย่ายึดติดกับสิ่งเดิม 

คิดแบบ ‘เถ้าแก่’ สไตล์ของ ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่จะพาธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟแข็งแกร่ง

สำหรับคนที่อยากจะประสบความสำเร็จ นอกจากต้องคิดแบบเถ้าแก่แล้ว การไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญ โดยตัวเธอเองเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ และชอบความท้าทาย

“เราต้องคิดนะว่า ต้องสำเร็จ ต้องทำได้สิ มันจะทำให้เราอยากลอง อยากพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นและเข้ามาช่วยเพื่อจะสำเร็จไปด้วยกัน ในฐานะผู้นำควรต้องมีเรื่องพวกนี้ด้วย”

ยกตัวอย่างโออิชิ ร้านที่ทำบุฟเฟต์มาตลอด ในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดร้านที่ชื่อ ‘โออิชิ บิซโทโระ’ ซึ่งไม่ใช่ร้านบุฟเฟต์ แต่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นคอนเซปต์ใหม่ในสไตล์ Quick Service และขายแบบ A la carte เน้นสะดวกรวดเร็ว รับประทานง่าย ๆ มีเมนูไม่เยอะ แต่มีคุณภาพและคุ้มค่าเงิน

นงนุชเล่าว่า ร้านนี้เกิดขึ้นจากการนึกถึงตอนไปญี่ปุ่น ถามตัวเองและคนอื่นว่า ทำไมถึงอยากไป หนึ่งในคำตอบ คือ เรื่องกิน โดยข้อดีของที่นั่นคือทุกร้านมีมาตรฐานและอร่อยเหมือนกัน ไม่ว่าร้านข้างทางหรือในห้าง 

จึงฉุกคิดว่า โออิชิ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นจะอยู่แค่ในบุฟเฟต์หรือ ทำไมไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ ๆ และไม่อยากลองทำบ้างหรือ?

“น้องในทีมมีคำถามเยอะมากว่า จะดีหรือพี่ แถมไม่อยู่ในห้าง เพราะเป็น Quick Service เราไม่เข้าห้างแน่นอน ที่จอดรถยากกว่าจะได้ ก็ชาเลนจ์กันไปมา เปิดสาขาแรกไม่ได้ตรง 100% แต่ก็บอกทีมว่าไม่มีอะไร 100% หรอก จากที่คุยกันตรงนี้เปิดได้ 70% ตามที่คิดก็โอเคแล้ว ที่เหลือค่อย ๆ ปรับเอาเรียนระหว่างทาง ” 

ตอนนั้นมีคนในทีมบอกว่า ร้านควรอยู่ในห้าง จึงได้เปิดร้านทั้งในห้างและนอกห้าง ปรากฏว่าร้านนอกห้างไปดีกว่า ทำให้เห็นสิ่งที่ถูกต้อง คือ เราต้องไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม เพราะเมื่อ Insight บอกลูกค้าต้องการความสะดวกและง่าย ร้านก็ควรเปิดสาขานอกห้าง โดยตอนนี้ร้านโออิชิ บิซโทโระมี 7 - 8 สาขา และมีโมเมนตัมการเติบโตที่ดี 

คิดแบบ ‘เถ้าแก่’ สไตล์ของ ‘นงนุช บูรณะเศรษฐกุล’ ที่จะพาธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟแข็งแกร่ง

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ ‘ความเชื่อมั่น’ 

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ทีมเห็นไปในทิศทางเดียวกันและร่วมมือร่วมใจ จุดเริ่มต้นต้องมาจาก ‘ความเชื่อมั่น’ เนื่องจากการจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ ‘ทีมเวิร์ก’ เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการจะมีทีมเวิร์กได้ต้องมาจากความเชื่อมั่น

นงนุชบอกว่า ตอนมาร่วมงานใหม่ ๆ เธอก็ต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะเป็นใครมาพูดแล้วต้องเชื่อ อันดับแรก ต้องทำการบ้านมาเยอะ ๆ พยายามไปคุยกับคนที่มีส่วนร่วมถึงความกังวล แล้วสิ่งที่เราคิดตอบโจทย์พวกเขาหรือไม่ อย่างไร จากนั้นมาแชร์ในทีมแล้วขยับไปด้วยกัน 

และทุกการทำงาน สำหรับเธอจะผิดจะถูกไม่เป็นไร แต่เมื่อผิดต้องยอมรับและร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน 

“เคยเจอจากประสบการณ์จริง เดือนนี้มีคนทำผิดเรื่องนี้ ถัดไปอีกเดือนทำผิดเรื่องเดียวกันเลย คือเขาอาจคิดว่า เขาทำครั้งแรก แต่สำหรับพี่เป็นการทำผิดครั้งที่สอง ตอนหลังต้องบอกว่า ใครจะผิดเรื่องใหม่ไม่ว่าอะไร เพราะเราต้องเรียนรู้ทุกวัน แต่เรื่องเดิมไม่เอา ควรเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากคนอื่น” 

ที่สำคัญต้องมีสปีด เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วมาก และเมื่อผิดพลาดต้องปรับตัวหรือแก้ไขให้เร็ว เพื่อไม่เกิดความเสียหายเยอะ เหมือนคนทั่วไปที่สามารถทำผิดได้ตลอดวลา แต่วันที่รู้ตัว ต้องรีบแก้ไขปรับปรุงตัวทันที  

เดินหน้าเพิ่มพอร์ตเพิ่มความแข็งแกร่ง

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า ปัจจุบันนงนุชดูแลธุรกิจอาหารในเครือมากมายและหลากหลายแบรนด์ตั้งแต่ Street Food ไปถึง Fine Dining รวมถึงดูแลพนักงานในเครือกว่าหมื่นคน ซึ่งในอนาคตเธอต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่ดูแลให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเอง และนำจากต่างประเทศเข้ามา

เป้าหมาย นอกจากเพิ่มความหลากหลายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแล้ว ถัดมายังต้องการเรียนรู้ Global Standard จากร้านที่เป็น International Brand สำหรับนำมาช่วยยกระดับและพัฒนามาตรฐานแบรนด์ในกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของไทยเบฟ 

มากไปกว่านั้น ต้องการทำให้คนในเครือได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพ และให้เห็นทิศทางการเติบโตในส่วนของ Career Path ที่ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มไทยเบฟได้ชัดเจนขึ้น โดยประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเรื่องคน หัวใจสำคัญของภาคธุรกิจบริการ