17 ธ.ค. 2565 | 13:23 น.
- Lensa AI แอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปี 2022 จากการแต่งภาพบุคคลให้ออกมาเป็นภาพศิลปะเสมือนจริงที่ดูสวยงาม
- แอปฯ มาจากกลุ่ม Prisma Labs ซึ่งเคยทำแอปฯ แต่งภาพโด่งดังมาเมื่อปี 2016-2017
- Prisma Labs ก่อตั้งโดย ‘อเล็กเซ มอยซีนคอฟ’ (Alexey Moiseenkov) ชาวรัสเซีย เขาเคยติดลิสต์จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์
ในยุคดิจิทัลอันทันสมัย แทบเป็นเรื่องง่ายดายมากที่จะนำภาพถ่าย Portrait มาแปรรูปให้เป็นชิ้นงานศิลปะแนวเสมือนจริงราวกับชิ้นงานนั้นถูกสร้างสรรค์จากฝีมือศิลปินด้วยเครื่องมือที่สะดวกสบาย และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เอื้อให้ผู้คนมากมายที่อยากรู้ว่าหากภาพถ่ายของพวกเขาเองกลายเป็นผลงานศิลปะ มันจะออกมาเป็นแบบไหนกัน
ปัจจุบันมีเครื่องมือและแหล่งแปรรูปชิ้นงานแบบนั้นอยู่หลายหลายแฟลตฟอร์มที่ช่วยให้คนทั่วไปสามารถสร้างภาพวาดบุคคลสไตล์ชิ้นงานศิลปะขึ้นมาโดยใช้วัตถุดิบต้นทางจากภาพถ่าย และเครื่องมือเหล่านั้นก็กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในโลกออนไลน์ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเครื่องมืออย่างแอปพลิเคชั่น Lensa AI ดูจะเป็นที่นิยมมากที่สุดในตอนนี้
Lensa คือระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีฟีเจอร์ ‘magic avatars’ ซึ่งแอปนี้เป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของบริษัท Prisma Labs ที่เคยปล่อยแอปฯ ปรับตกแต่งรูปถ่ายซึ่งเป็นแอปฯ ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เมื่อปี 2016 เมื่อแอปฯ นี้เปลี่ยนรูปเซลฟี่ของผู้ใช้งานเป็นภาพที่มีลายเส้นของศิลปินที่มีชื่อเสียง
Lensa AI ถูกพัฒนาโดย Prisma Labs ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือ ‘อเล็กเซ มอยซีนคอฟ’ (Alexey Moiseenkov) ชาวรัสเซีย เขาประสบความสำเร็จอย่างมากอีกหนหลังจากการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Lensa
ขณะที่เมื่อเดือนมกราคมปี 2017 แอปฯ Prisma ไต่ขึ้นติดอันดับชาร์ต 10 อันดับแอปฯ ยอดนิยมที่ดาวน์โหลดฟรี (Top 10 Free Downloads Chart) ใน Appstore หลายประเทศทั่วโลก บริษัทให้ข้อมูลว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2016 แอปฯ ประมวลผลภาพไปแล้วมากถึง 1.2 พันล้านภาพ
เมื่อปี 2017 อเล็กเซ ติดในลิสต์จัดอันดับผู้มีอายุน้อยกว่า 30 ปีและมีอิทธิพลต่อนวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค (Consumer tech) จำนวน 30 คน (30 Under 30 - Consumer Technology) ซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ในเวลานั้น เขาอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น และติดอันดับมาในสถานะผู้ก่อตั้ง Prisma Labs
เวลานี้ (2022) Lensa กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลกและถือเป็นปรากฏการณ์สร้างสรรค์ผลงานที่น่าประทับใจจากการใช้งานที่แสนง่ายดายอีกครั้งหนึ่งในยุคดิจิทัล โดย Lensa สามารถเปลี่ยนภาพ portrait (ภาพบุคคล) ให้กลายเป็นภาพงานศิลปะแบบดิจิทัลได้หลากหลายแนว ตั้งแต่ภาพแนวการ์ตูน หรือภาพแนวแฟนตาซีที่มีความใกล้เคียงกับภาพวาดสีน้ำมัน
Lensa ไม่ได้พยายามสร้างภาพให้ออกมาดูสมจริง แต่ปรับเปลี่ยนภาพต้นฉบับให้ดูต่างออกไปหรือดูดีขึ้นโดยมีลักษณะ ‘เสมือนจริง’ เพียงเท่านั้น วิธีการใช้งานแอป ผู้ใช้งานต้องเลือกภาพอย่างน้อย 10 ภาพและอย่างมากที่สุดเพียงแค่ 20 ภาพ ภาพที่ถูกเลือกควรเป็นภาพถ่ายที่เห็นส่วนต่าง ๆ ของใบหน้าอย่างชัดเจน หลังจากนั้นราว ๆ 20 นาที แอปจะสร้างภาพออกมาในสไตล์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวแฟนตาซี แนวอนิเมะ หรือแนวคอมิค เป็นต้น
ตัวแอปพลิเคชั่นเปิดให้ทดลองใช้ได้ฟรี 7 วัน แต่หากต้องการนำภาพไปใช้ต่อ ผู้ใช้จะต้องเลือกแพ็กเกจที่ทางแอปพลิเคชั่นจัดเอาไว้ในราคาแตกต่างกัน
ความนิยมอย่างท่วมท้นของแอปพลิเคชั่นนำไปสู่คำถามหลากหลายข้อ หนึ่งในนั้นรวมถึงคำถามต่อ‘ปัญหาความเป็นส่วนตัว’ ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ แม้ภาพต้นฉบับที่ผู้ใช้งานป้อนเข้าไปจะเห็นเพียงแค่ใบหน้าและลำคอเล็กน้อย แต่ AI ก็ยังคาดเดารูปร่างของผู้ใช้งานได้และประมวลผลออกมา
‘โซอี้ ซอตไทล์’ (Zoe Sottile) หนึ่งในนักข่าวของ CNN บอกเล่าประสบการณ์การใช้ Lensa ที่ไม่น่าประทับใจนัก นั่นคือการที่ Lensa ประมวลรูปภาพของเธอที่เธอถ่ายขณะสวมใส่เสื้อผ้าครบทุกชิ้นออกมาเป็นภาพที่สื่อในเชิงอนาจาร
เธอบอกอีกว่า ภาพที่น่าฉงนที่สุดคือภาพที่ออกมาดูเหมือนตัวเธอเอง เพียงแต่เป็นเวอร์ชั่นที่กำลังเปลือยอยู่ และบางภาพก็เป็นเธอที่กำลังเปลือยโดยมีผ้าห่มคลุมร่างกายเธอเอาไว้ หรือบางรูปที่ถูกตัดบางส่วนออกเพียงเพื่อเลี่ยงส่วนที่ไม่น่ามอง แต่ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับการใช้งาน avatar เพศชาย ภาพที่ออกมาดูจะแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นชายและดูแข็งแกร่งเสียมากกว่า
แอปพลิเคชั่นยังสร้างภาพที่ผู้ใช้เพศชายเป็นนักบินอวกาศ หรือทหาร ซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน นี่จึงเป็นช่องโหว่ที่น่ากลัว เพราะ AI เหล่านี้ยังสามารถสร้างสื่ออนาจารโดยมีภาพใบหน้าของผู้คนที่ไม่ได้ยินยอมออกมาได้
หากอ้างอิงจากตัวอย่างดังกล่าว อาจมองได้ว่า ไม่น่าแปลกใจเลยที่แอปฯ ต้องการตรวจสอบว่าผู้ใช้งานของพวกเขาบรรลุนิติภาวะหรือไม่ก่อนที่ผู้ใช้จะเริ่มใช้งาน โดยแอปฯ ได้บอกถึงนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเอาไว้ว่า จะใช้ข้อมูลใบหน้าจากรูปภาพของผู้ใช้งาน และมีเทคโนโลยี TrueDepth API เพื่อที่จะฝึกให้อัลกอริทึมของแอปพลิเคชั่นทำงานได้ดีขึ้นและเก่งขึ้น
การมาถึงของปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์เหล่านี้ แน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบถึงศิลปิน ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากฝีมือของตนเองที่ใช้เวลาในการฝึกฝนฝีมือยาวนานกว่าการประมวลผลเพื่อให้ได้ชิ้นงานออกมาของ Lensa ซึ่งใช้เวลาไปแค่ 20 นาทีอย่างแน่นอน
เทคโนโลยีของ Lensa ต้องอาศัยการเรียนรู้เชิงลึกที่ถูกเรียกกันว่า Stable Diffusion ซึ่งเป็นการรวบรวมชุดข้อมูลหรือภาพผลงานศิลปะจากอินเทอร์เน็ตจากฐานข้อมูลชื่อว่า LAION-5B นั่นหมายความว่า ศิลปินเจ้าของผลงานไม่สามารถที่จะปฏิเสธการถูกนำผลงานไปใช้ในการฝึกฝนอัลกอริทึมได้
และแน่นอนว่าการที่ผลงานที่ใช้ความสามารถในการผลิตชิ้นงานของศิลปิน แล้วถูกแอปฯ นำไปประมวลผลให้เกิดเป็นผลงานใหม่ แต่ไร้ซึ่งการให้เครดิตหรือความยินยอมจากเจ้าของผลงานต้นทางย่อมเป็นปัญหาและสร้างความไม่พอใจได้
รายงานข่าวจาก CNN เผยว่าพวกเขารับทราบถึงความไม่พอใจจากศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ถูกนำผลงานไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ศิลปินส่วนใหญ่มองว่าถูกเอาเปรียบเป็นอย่างมากในแง่ของการขายงาน เพราะพวกเขาไม่สามารถสู้ราคาที่ถูก ความเร็วในการประมาลผลที่รวดเร็วและการใช้ซึ่งค่อนข้างสะดวกสบายเหล่านั้นได้
ทางบริษัท Prisma ผู้ถือครอง Lensa ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นทางทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของบริษัทว่า เนื้อหาในทวีตนั้นโดยรวมพยายามสื่อสารว่า พวกเขาคิดว่า สุดท้ายแล้วผลงานที่ AI ผลิตออกมา ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีความต่างบางประการเพราะความรู้ใส่ใจในผลงาน ไปจนถึงความชื่นชมในศิลปะก็ไม่เท่ากัน
ส่วนประเด็นเรื่องที่ Lensa ประมวลผลภาพที่ส่อทางเพศ ทางทีมผู้บริหารออกมาชี้แจงว่า บริษัทมีข้อกำหนดการใช้งานคือห้ามมิให้มีการใช้เครื่องมือนี้กระทำการที่อาจเป็นอันตรายและล่วงละเมิดเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว (“Our Terms of Use (Clause 6) and Stability AI Terms of Service (Prompt Guidelines) explicitly prohibit the use of the tool to engage in any harmful or harassing behavior.)
พวกเขากล่าวเพิ่มอีกด้วยว่า ภาพที่ออกมาเป็นผลมาจากการจงใจใช้งานแอปฯ ในทางที่ผิด เพราะตัว AI จะต้องถูกชักจูงให้ประมวลผลภาพที่ไม่เหมาะสม และนี่เองเป็นจุดที่พวกเขามองว่าแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการละเมิดข้อกำหนดการใช้งาน
แพลตฟอร์มที่เปิดให้ศิลปินที่สรรค์สร้างงานศิลปะได้เผยแพร่ผลงานของตัวเองอย่าง Artstation ถูกผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มประท้วงเพื่อชี้ถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานศิลปะจาก AI มาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการโพสต์ภาพที่มีข้อความว่า “NO TO AI GENERATE IMAGES” ซึ่งแปลได้ว่า “ไม่เอาภาพที่สร้างขึ้นโดย AI” และตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คุณค่าของงานศิลปะอันมีที่มาจาก AI ไม่ควรเป็นที่ยอมรับ
การเรียกร้องครั้งนี้เพียงเพื่อให้แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Artstation ซึ่งยังไม่มีนโยบายในแง่มุมข้างต้น ออกมายับยั้งและควบคุมโพสต์ที่มีผลงานจาก AI ซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นบนแพลตฟอร์ม
ทาง Artstation เอง เมื่อรับรู้ถึงการเรียกร้องดังกล่าวก็ได้ออกมาชี้แจงว่า แพลตฟอร์มเองไม่ได้มีเจตนาจะห้ามการใช้ AI เพียงแต่ต้องการให้ผลงานที่ถูกเผยแพร่เป็นผลงานที่มาจากตัวศิลปินเอง แต่นั่นก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เหล่าผู้ใช้ต้องการให้แพลตฟอร์มแบนภาพเหล่านั้นโดยสมบูรณ์ หรือไม่ก็ต้องการให้เขียนกำกับไว้ในผลงานเพื่อให้ง่ายต่อการแยกงานศิลปะโดย AI ออกจากงานศิลปะทั่วไปอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์ซึ่งส่งผลโดยตรงกับเหล่าศิลปินที่ทำงานศิลปะมาก่อนหน้านี้อย่างยาวนานไม่ได้มีท่าทีว่าจะจบลงแบบง่ายดายในเร็ววัน และหากยังไม่มีความชัดเจนในเชิงนโยบายและสิทธิใช้งานต่าง ๆ การถกเถียงและเรียกร้องต่าง ๆ น่าจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตราบใดที่กระแสความนิยมของแอปนี้ยังคงปรากฏอยู่ในโลกไซเบอร์เช่นนี้
เรื่อง: ปิยวรรณ พลพุทธ (The People Junior)
ภาพ: อเล็กเซ มอยซีนคอฟ เมื่อปี 2019 จาก Getty Images ประกอบกับภาพดิจิทัลอาร์ตใช้เพื่อภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น
อ้างอิง: