06 ม.ค. 2566 | 15:38 น.
- ปลายปี 2022 Sony และ Honda ได้ตั้งบริษัทร่วมทุน Sony Honda Mobility เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า 100%
- ล่าสุดเผยโฉมรถต้นแบบ AFEELA ที่คาดว่า จะเปิดให้จองช่วงกลางปี 2025 และจำหน่ายจริงในปี 2026 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก
- นี่อาจเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น หนึ่งในยักษ์ใหญ่บนสนามธุรกิจนี้
เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลังจากถูกจับตามองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นที่เคยยิ่งใหญ่กำลังถูกดิสรัปด้วยรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อสองยักษ์ใหญ่จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Sony และ Honda ที่ตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ Sony Honda Mobility หรือ SHM เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า 100%
โดยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบรุ่นใหม่ นั่นก็คือ AFEELA ซึ่งได้เปิดตัวภายในงาน Consumer Electronics Show (CES) ประจำปี 2023 ที่จัดขึ้น ณ ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งชื่อ AFEELA มาจากการใช้คำว่า FEEL หมายถึงความรู้สึก และ AFEELA สื่อให้เห็นถึงการรวมประสบการณ์การขับขี่ดี ๆ มาให้ผู้ขับ ตลอดจนส่งต่อประสบการณ์ที่ดีให้ผู้คนและสังคมผ่านเทคโนโลยีอัจฉริยะ
แม้ตอนนี้ SHM จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ เช่น กำลังของมอเตอร์ ความจุแบตเตอรี่ ระยะทางที่สามารถวิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ฯลฯ แต่คาดว่า จะสามารถเปิดรับจอง AFEELA ช่วงกลางปี 2025 และวางจำหน่ายได้จริงในปี 2026 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก
ไม่ว่าการลงสนามครั้งนี้จะได้รับผลตอบรับอย่างไร แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นประกาศตัวลงแข่งขันในสนามรถยนต์ EV และวันนี้เราขอพาย้อนจุดเริ่มต้นของสองยักษ์ใหญ่อย่าง Sony และ Honda ว่า กว่าจะประสบความสำเร็จถึง ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร
Sony จากร้านเครื่องไฟฟ้าเล็กๆ สู่อาณาจักรอิเล็กทรอนิกส์อันยิ่งใหญ่
SONY ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1946 โดย ‘Masaru Ibuka’ และ ‘Akio Morita’ ด้วยการตั้งบริษัทชื่อ Tokyo Telecommunications Engineering Corporation ใช้ชื่อย่อว่า Totsuko (ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาใช้ SONY) เริ่มต้นจากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในศูนย์การค้าของโตเกียว
จากนั้นได้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เริ่มจาก ‘หม้อหุงข้าว’ ตามด้วย ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ซึ่งเป็นตัวแจ้งเกิดของ Sony และต่อมาขยายสู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น ‘วิทยุแบบพกพาอย่าง Walkman’, กล้องถ่ายภาพ, จอโทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, เครื่องเล่นเกม PlayStation และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจเพลง, ธุรกิจภาพยนตร์, ธุรกิจวีดีโอเกม, การเงิน ฯลฯ จนกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้คำว่า Made in Japan เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกในเรื่องคุณภาพอีกด้วย
แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ Sony ก็เหมือนบริษัททั่วๆ ไปที่ต้องเผชิญกับความ้ทาทายในการเติบโตของธุรกิจ อย่างในปี 2011 มูลค่าบริษัทของ Sony หายไปอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภายในองค์กร
กระทั่งในปี 2012 Kazuo Hirai ได้เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ และเขาได้เดินหน้ายกเครื่อง Sony ครั้งใหญ่ ด้วยการตัดธุรกิจที่ขาดทุน เช่น ในปี 2014 ขายแผนกคอมพิวเตอร์ Vaio ให้กับบริษัทอื่น และหันมาโฟกัสธุรกิจที่มีอนาคตอย่างธุรกิจถ่ายภาพ และเกม เป็นต้น
รวมถึงเลิกจ้างพนักงานมากถึง 20,000 คน กระทั่งปี 2017 Sony พลิกฟื้นมามีกำไร 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 139,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2016
Honda เริ่มต้นจากชายผู้มีความฝันต้องการผลิตรถยนต์ของตัวเอง
สำหรับ Honda เป็นค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น และมีชื่อเสียงติดอันดับโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 1948 โดย ‘Soichiro Honda’ ชายผู้เกิดเมื่อ 17 พฤศจิกายน 1906 ในเมืองฮามะมัตสึ ประเทศญี่ปุ่น ครอบครัวของเขามีอาชีพเป็นช่างตีเหล็กและรับซ่อมจักรยาน ซึ่งตั้งแต่เด็กเขาคลุกคลีกับเครื่องยนต์มาโดยตลอด และเขามีความใฝ่ฝันว่า สักวันหนึ่งจะต้องผลิตรถยนต์ได้ด้วยตัวเอง
ดังนั้นในวัย 15 ปีเขาจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปหาประสบการณ์เป็นช่างฝึกหัดที่อู่ซ่อมรถยนต์ชื่อว่า Art shokai และสั่งสมประสบการณ์ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น Edison of Japan
และหนึ่งสิ่งที่เขาผลิต ก็คือ แหวนลูกสูบ ซึ่งต่อมาปี 1936 เขาได้ก่อตั้งบริษัท Tokay Seiko ขึ้นมาเพื่อผลิตและส่งวงแหวนลูกสูบให้กับบริษัทโตโยต้า แต่กลับได้รับข่าวร้ายเพราะแหวนลูกสูบที่ส่งไปทดสอบมีแค่ 3 วงเท่านั้นที่ผ่าน QC หรือการทดสอบคุณภาพ จากที่ส่งไปทั้งหมด 30,000 วง
ความล้มเหลวครั้งนี้ ทำให้ Soichiro หันมาเรียนภาคค่ำ เพื่อเรียนรู้ตำราและทฤษฎีถึงการผลิตให้มีคุณภาพ เพราะก่อนหน้านี้เขาคิดว่า เรื่องเหล่านี้ไม่สำคัญเท่ากับลงมือปฏิบัติจริง และหลังจากนั้นเขาใช้ความรู้ที่มีมาผลิตแหวนลูกสูบ จนโตโยต้ายอมรับในที่สุด
เส้นทางของ Soichiro กำลังไปได้สวย แต่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้โรงงานของเขาโดนระเบิดเสียหายอย่างหนัก และเขาได้สร้างโรงงานขึ้นมาใหม่อีกครั้งแม้ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเหล็ก
ในปี 1945 โรงงานของ Soichiro โดนระเบิดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาไม่สร้างมันขึ้นมาใหม่ เพราะตัวเขามองว่า ประเทศญี่ปุ่นกำลังย่ำแย่และขายธุรกิจให้กับโตโยต้าไปด้วยมูลค่า 450,000 เยน ซึ่งหลังจากขายกิจการเขารู้สึกผิดหวังจนกลายเป็นขี้เมานานเกือบปี
และเมื่อสงครามจบลง ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ผู้คนส่วนใหญ่ต้องสัญจรกันด้วยการเดิน ไม่ก็ปั่นจักรยาน โซอิจิโรจึงลองคิดค้นเครื่องยนต์ขนาดเล็กมาติดกับจักรยาน เพื่อให้ภรรยาของเขาใช้เดินทาง
ปรากฏว่า ผลงานของเขากลายเป็นที่ต้องการของเพื่อนบ้านและต่างร้องขอให้เขาผลิตให้บ้าง จนเขาเห็นช่องทางของธุรกิจใหม่
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ Honda Motors ถือกำเนิดขึ้นในปี 1948 โดยมี Honda Dream (D-type) เป็นจักรยานยนต์รุ่นฮิตที่สร้างชื่อให้กับเขา และปี 1949 Honda กลายเป็นบริษัทจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ ในปี 1970 Soichiro จึงเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ และปี 1980 เขาได้พา Honda สู่ความยิ่งใหญ่ เป็น Top3 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น และของโลก
นอกจากนี้ Honda ยังมีหลายธุรกิจที่หลายคนอาจไม่รู้ อาทิ Honda Aircraft Company บริษัทผลิตเครื่องบินที่ได้ศึกษาและพัฒนาเครื่องบิน jet aircraft มาตั้งแต่ปี 1980 และในปี 2003 “HA420 Hondajet” ได้ถูกนำมาใช้ในธุรกิจการบินอย่างเป็นทางการ หรืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทาง Honda ก็ได้มีการพัฒนาเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ปี 1986 โดย Asimo เป็นหุ่นยนต์ของ Honda ที่เรารู้จักกันดี
เขาจะได้ลาโลกใบนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 1991 แต่ทั้ง Soichiro และ Honda ยังคงเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่ได้
.
ภาพ : Getty Images
.
อ้างอิง
.