11 ม.ค. 2566 | 13:24 น.
- CASETiFY เป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นจากการทำเคสมือถือ
- แบรนด์นี้ มี ‘เวสลีย์ อิ้ง’ (Wesley Ng) ชายชาวฮ่องกงเป็นก่อตั้งขึ้นมาในปี 2011
- ปี 2020 CASETiFY ทำรายได้กว่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2025 ตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เพราะต้องการหาเคสเพื่อปกป้องโทรศัพท์มือถือ แต่หาที่ถูกใจตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองไม่ได้ ทำให้ ‘เวสลีย์ อิ้ง’ (Wesley Ng) ก่อตั้ง CASETiFY แบรนด์ที่เริ่มต้นจากเคสมือถือ กลายเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์และเครื่องประดับตกแต่งอุปกรณ์ไอทีที่โตเร็ว และตั้งเป้าว่า ในปี 2025 จะมีรายได้ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ตอนสตีฟ จอบส์กล่าวเปิดตัว iPhone ครั้งแรกเมื่อปี 2007 ผมคิดว่ามันว้าวมาก และเป็นอะไรที่จะเปลี่ยนโลก แต่เคสโทรศัพท์สมัยนั้น ทั้งเทอะทะและน่าเกลียด ไม่มีสไตล์ใด ๆ ทั้งสิ้น และผมคิดว่าผมทำได้ดีกว่านี้จากความรู้ด้านออกแบบที่มี” เวสลีย์ อิ้ง ชายฮ่องกงผู้มีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง CASETiFY กล่าว
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ในแวดวง Digital and Broadcast Consumer Design และปี 2011 ได้มาก่อตั้ง Casetagram หรือต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น CASETiFY แพลตฟอร์มที่ให้นำภาพจาก Instagram มาออกแบบเป็นลายบนเคสมือถือได้ตามความต้องการ
ด้วยโมเดลนี้ ทำให้เคสแต่ละอันสะท้อนความเป็นตัวตนและรสนิยมของแต่ละคนได้ ทำให้ CASETiFY ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z จนมีผู้ผลิตรายอื่นหลายรายทำตาม
Collab กับแบรนด์และคนดังเพิ่มการรับรู้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เวสลีย์ อิ้ง ก็ไม่ยอมอยู่นิ่ง ได้พัฒนาการออกแบบ CASETiFY ให้แตกต่างจากคู่แข่ง เช่น ให้สามารถนำชื่อลงไปเป็นลายบนเคสมือถือด้วยฟอนต์และสีที่มีให้เลือกนับร้อยแบบ อีกทั้งยังสามารถเลือกความหนา ความแข็งของเคส รวมถึงนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ เป็นต้น
เพราะเขาเชื่อว่า เคสมือถือสำหรับบางคนก็เหมือนกับเครื่องประดับชิ้นหนึ่งที่สามารถบ่องบอกสไตล์และเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ต่างไปจากเครื่องแต่งกายของพวกเขานั่นเอง
นอกจากจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการด้วยตัวเองแล้ว เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้แบรนด์และขยายฐานแฟน ทาง CASETiFY ได้ Collaboration กับแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Pokémon, Carnival, Disney and Pixar's Toy Story, Smiley®️ Capsule, Dragon Ball Z และ DHLฯลฯ ไปจนถึงคนดังในการทำคอลเลกชันของพวกเขาด้วย อาทิ Sarah Jessica Parker และวงบอยแบนด์เคป็อปซูเปอร์สตาร์อย่าง BTS ฯลฯ
ด้วยจุดแตกต่างเช่นนี้ ทำให้หลายคนกลายเป็นแฟนของ CASETiFY รวมถึงบรรดาคนดังที่มักจะถ่ายภาพของตัวเองคู่กับเคสมือถือดังแบรนด์นี้ โดยหนึ่งในแฟนตัวยง ได้แก่ Kylie Jenner, Taylor Swift, Dua Lipa และศิลปินเคป็อปชื่อดังอย่าง Jisoo แห่งวง Blackpink เป็นต้น
เปิดร้านออฟไลน์เพิ่มความแข็งแกร่ง
แม้ยอดขายของ CASETiFY จะมาจากออนไลน์ซะส่วนใหญ่ แต่เพราะเวสลีย์ อิ้ง มองว่า การเพิ่มช่องทางเข้าถึงและให้ลูกค้าได้สัมผัสตัวสินค้า จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มการรับรู้และผลักดันยอดขายให้มากขึ้น ทำให้เขาเปิดร้านแบบออฟไลน์ใช้ชื่อว่า CASETiFY Studio ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมามี 18 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก
และตามแผนที่วางไว้เขาจะเปิดร้านนี้ให้ครบ 100 แห่ง ภายในปี 2025 โดย 20 ร้านจะตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่ถือเป็นตลาดที่ทำรายได้สูงสุดให้กับแบรนด์ สาขาแรกได้เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2022 ณ เมืองซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนีย และมีแผนเปิดสาขาอื่น ๆ ทั่วทั้งชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกอีกด้วย
นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา CASETiFY กำลังเดินตามแผนการเปิดตัวร้านค้าในเมืองอื่น ๆ โดยโฟกัสไปยังเมืองใหญ่ทั่วโลก
จากเคสมือถือสู่ไลฟ์สไตล์แบรนด์
ปัจจุบัน CASETiFY มีพนักงานกว่า 1,000 คน มีความหลากหลายมากกว่า 20 สัญชาติกระจายอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง และสำนักงานอื่นทั้งในลอสแอนเจลิส, เซี่ยงไฮ้, โตเกียว และเกาหลี
นอกจากเคสมือถือแล้ว ยังได้เติบโตกลายเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ผลิตสินค้าที่สามารถออกแบบเองได้ ไม่ว่าจะเป็น เคสมือถือ, เคสหูฟัง AirPods, เคส iPad, สายนาฬิกาข้อมือ, ขวดน้ำ และอื่น ๆ
ในปี 2020 CASETiFY สามารถสร้างรายได้รวมกว่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะสามารถรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้ถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 15% ของตลาดอุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีทั่วโลก
ตั้งเป้าลุยตลาดไทยเต็มตัว
สำหรับในประเทศไทย CASETiFY ได้เปิด Pop-Up Store สาขาแรกไปเมื่อประมาณปลายปี 2022 ตั้งอยู่ภายในเซ็นทรัลเวิลด์ มีพื้นที่กว่า 80 ตารางเมตร ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมาก จนตั้งเป้าจะเปิด CASETiFY Studio ถาวรภายในปี 2023
นอกจากนั้น ทางแบรนด์ยังวางแผนทำกิจกรรมที่จะเชื่อมต่อกับลูกค้าในไทยให้มากขึ้น รวมถึงจะ Collaboration กับแบรนด์ชั้นนำในประเทศ ศิลปิน ตลอดจนนักออกแบบของไทยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ใครจะเชื่อว่า จาก Pain Point ที่ เวสลีย์ อิ้ง ต้องการเคสมือถือให้ตอบความต้องการและสไตล์ของตัวเองไม่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่ตอนนี้ถูกจับตามองเและเติบโตเร็วอย่าง CASETiFY
.
ภาพ : CASETiFY
.
อ้างอิง