12 ม.ค. 2566 | 11:03 น.
- ‘จอห์น เดวิดสัน ร็อกกี้เฟลเลอร์’ เป็นมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่เคยขึ้นแท่นคนที่รวยที่สุดในโลก เจ้าของ ‘ExxonMobil’ หรือปั๊ม Esso ที่คนไทย
- เขาเป็นคนทำทุกวิธีทาง (บางครั้งก็บีบให้รายเล็ก หรือคู่แข่งอยู่ไม่ได้)เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองยิ่งใหญ่
- แม้ร่ำรวยมหาศาล แต่การทำงานหนัก และเครียด ทำให้ในวัย 50 กว่าปี เขาป่วยหนัก และเริ่มเรียนรู้สร้างความสุขให้ชีวิตผ่านคำว่า ‘ให้’
- เขาได้ก่อตั้ง ‘มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์’ ด้วยเงิน 500 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือด้านการกุศล
แม้เขาจะจากโลกนี้ไปนาน แต่ยังเป็นตำนานให้มหาเศรษฐีรุ่นปัจจุบัน อาทิ บิลล์ เกตส์ หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตอยู่เสมอ
หากย้อนกลับไปเมื่อราว 20 - 30 ปีที่แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในธุรกิจที่ทรงพลังที่สุดของโลก คือธุรกิจน้ำมัน และหนึ่งในบริษัทที่เคยติดทำเนียบบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ยาวนานกว่า 20 ปี (หากย้อนกลับไประหว่างปี ค.ศ. 1996 - 2017) ก็คือ ‘ExxonMobil’ หรือปั๊ม Esso ที่คนไทยเรียกติดปากจนคุ้นชินหู
แม้ในวันนี้ด้วยวิกฤตราคาน้ำมัน และการมาถึงของพลังงานสะอาด จะทำให้มูลค่ากิจการเกี่ยวกับน้ำมันลดลง ทว่าหากย้อนเวลากลับไป เส้นทางของ ExxonMobil นับว่ารุ่งโรจน์ถึงขีดสุด
ภายใต้การกุมบังเหียนของ ‘จอห์น เดวิดสัน ร็อกกี้เฟลเลอร์’ (John D. Rockefeller) มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่เคยขึ้นแท่นคนที่รวยที่สุดในโลก
จากพนักงานบัญชีสู่ธุรกิจน้ำมัน
ชายที่เชื่อว่า ทุกวิกฤตคือโอกาสอย่าง ร็อกกี้เฟลเลอร์ เกิดที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฟาร์มเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในปี 1839 เขามีพ่อที่เป็นนักค้าขายที่ชื่อเสียงดูไม่ค่อยดีนัก มีข่าวว่า ชอบหลอกขายยาที่อ้างว่ามีสรรพคุณรักษาได้ทุกโรค ทั้งยังคบซ้อนและไม่ค่อยดูแลครอบครัวเสียเท่าไร ส่วนแม่เป็นหญิงที่เคร่งในศาสนาคริสต์แบ๊บติสต์ ซึ่งเป็นผู้ที่คอยอบรมสั่งสอนเขามาโดยตลอด
ร็อกกี้เฟลเลอร์ฉายแววนักค้าขายในช่วงราวปี 1853 ตอนที่ครอบครัวของเขาย้ายไปรัฐโอไฮโอ เริ่มต้นด้วยการระบายสีก้อนหินขายให้กับเพื่อน ๆ จนได้เงินเก็บราว 50 ดอลลาร์ ก่อนนำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้กับเพื่อนบ้าน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี
ในวัย 16 ปี เขาได้รับงานแรกเป็นผู้ช่วยพนักงานบัญชีให้กับบริษัทนายหน้าขนาดเล็กชื่อ ‘เฮวิตต์แอนด์ทัตเทิล’ ซึ่งที่นั่นสอนให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการคำนวณเงินโลจิสติกส์ เขาทำงานจนได้รับตำแหน่งเป็นพนักงานบัญชีในที่สุด
แต่แน่นอนว่า หัวการค้าของร็อกกี้เฟลเลอร์ไม่ให้เขาหยุดอยู่แค่ตำแหน่งพนักงานบริษัท ในปี 1859 เขาหันมาทำธุรกิจแรกของเขา ด้านสินค้าเกษตร - เป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดข้าว ฟาง เนื้อสัตว์ ฯลฯ ธุรกิจไปได้ดีมาก เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมือง ทำให้ความต้องการอาหาร ข้าว ขนมปัง มีมากกว่าปกติ
จังหวะนี้เอง เขาเริ่มเห็นช่องทางว่าธุรกิจน้ำมันจะเป็นบ่อทองคำในอนาคต เนื่องจากในเวลานั้น ราคาน้ำมันไขปลาวาฬและราคาน้ำมันขุดเจาะมีราคาสูงมาก จากความต้องการของตลาด
ถัดมาหลังจากไม่ลงรอยกับเพื่อนที่เปิดบริษัทอาหาร เขาหันมาร่วมตั้งบริษัทกับ ‘ซามูเอล แอนดรูว์ส’ (Samuel Andrews) และ ‘เฮนรี่ เอ็ม. แฟล็กเลอร์’ (Henry M. Flagler) ภายใต้ชื่อบริษัทว่า ‘ร็อกกี้เฟลเลอร์ แอนดรูว์ส แอนด์แฟล็กเลอร์’ เพื่อเดินหน้าธุรกิจน้ำมันอย่างเต็มตัว
จุดสำคัญหนึ่งที่ทำให้บริษัทน้ำมันของร็อกกี้เฟลเลอร์พุ่งทะยานในเวลาอันรวดเร็ว คือ ซามูเอล แอนดรูว์ส เขาเป็นนักเคมีชาวยิวจากอังกฤษ ผู้ได้รับฉายา ‘อัจฉริยะด้านเคมี’ แทนที่จะขุดหาน้ำมัน พวกเขากลับหาวิธีกลั่นน้ำมันที่ต้นทุนถูกกว่าแทน จากนั้นพวกเขาเริ่มหาซื้อโรงกลั่นในคลีฟแลนด์ โอไฮโอ และทำการกลั่นน้ำมันให้กับบริษัทของตนเอง
ต่อมาในปี ค.ศ. 1870 ร็อกกี้เฟลเลอร์ได้ก่อตั้งบริษัทน้ำมันอย่างเป็นทางการขึ้น ในนามว่า สแตนดาร์ด ออยล์ (Standard Oil ผู้ผลิตน้ำมัน Esso) ชื่อบริษัทน้ำมันที่คนทั่วโลกรู้จัก และเป็นบริษัทแม่ของทั้ง Exxon และ Mobil (ก่อนควบรวม) นั่นเอง
ร็อกกี้เฟลเลอร์ราชาธุรกิจน้ำมัน
การเกิดขึ้นของสแตนดาร์ด ออยล์ ถือเป็นการกำเนิดของราชาน้ำมันในเวลาต่อมา ร็อกกี้เฟลเลอร์ไม่ได้คิดจะหยุดธุรกิจของเขาแค่เพียงการกลั่นขาย แต่มีความคิดที่จะควบรวมธุรกิจน้ำมันรายย่อยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
แน่นอนด้วยเทคโนโลยีกลั่นต้นทุนต่ำของแอนดรูว์ส ทำให้สแตนดาร์ด ออยล์ เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น สแตนดาร์ด ออยล์ กลายเป็นธุรกิจที่ควบคุมกิจการน้ำมันได้เกือบ 90% ในเวลานั้น (ช่วงปี 1870s) ซึ่งร็อกกี้เฟลเลอร์มีอายุเพียงวัยกลางคนเท่านั้น
การควบรวมและขยายในสเกลขนาดนี้ หากเกิดขึ้นในอเมริกา ในยุคปัจจุบันคงจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากถือเป็นการ ‘ผูกขาดทางธุรกิจ’ แน่นอนว่ากรณีสแตนดาร์ด ออยล์ ก็ขึ้นแท่นเป็น case study ที่ใช้สอนในหลายคลาสเรียนในทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่และความร่ำรวยของสแตนดาร์ด ออยล์ ก็สั่นคลอนลงในช่วงปี 1911 หลังถูกฟ้องว่าบริษัทผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ทำให้ศาลอเมริกาสั่งให้หั่นแยกบริษัทออกมาเป็นกว่า 30 บริษัท อาทิ ExxonMobil และ Chevron เป็นต้น
ทว่าการแยกร่างในครั้งนี้ก็ไม่ใช่จุดจบของธุรกิจของร็อกกี้เฟลเลอร์เสียทีเดียว ในสหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่ไม่ได้ ก็ไปต่างประเทศเสียเลย…
การขยายธุรกิจไปต่างประเทศของร็อกกี้เฟลเลอร์ประสบความสำเร็จอย่างมาก การโดนหั่นบริษัทออกจากกันไม่ได้ทำให้เขาจนลงเลย - ร็อกกี้เฟลเลอร์กลายเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดแห่งยุคใหม่ เขาถูกประเมินว่าทรัพย์สินมีมากกว่า 10 ล้านล้านบาท กลายเป็นราชาแห่งโลกน้ำมันอย่างเต็มภาคภูมิ และตระกูลของเขากลายเป็นหนึ่งในตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอเมริกา มาจนถึงทุกวันนี้
เข้าใจว่า…กระทั่งวันนี้ ยังไม่มีใครสามารถรวยหรือมีทรัพย์สินมากกว่าเขาได้
การเกษียณของร็อกกี้เฟลเลอร์
ร็อกกี้เฟลเลอร์ - เขาเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจคนหนึ่ง
เขามองหาโอกาสเสมอ ในทุกจังหวะ
เขาไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ และมองเส้นทางไว้ยาวไกล โดยมองว่าทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ ดังที่เขาเคยเขียนจดหมายถึงลูกชายโดยบอกว่า “พ่อชอบเป็นเพื่อนกับคนที่ไม่เคยยอมแพ้”
แต่ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาเป็นคนที่เฉียบขาด และมองผลกำไรเป็นตัวตั้ง เพราะหากย้อนกลับไปในยุค 1870s ที่เขาเริ่มตั้งสแตนดาร์ด ออยล์
เขาเป็นนักธุรกิจที่ทำทุกอย่างเพื่อขยายโรงกลั่นน้ำมันของเขาให้ยิ่งใหญ่ที่สุด
ในปี 1872 โรงกลั่นน้ำมันในโอไฮโอ 26 แห่ง เป็นของเขาไปแล้ว 22 แห่ง ด้วยวิธีบีบโรงกลั่นที่เล็กกว่า ตั้งราคาถูกกว่าในฐานะโรงงานใหญ่ หรือการขยายระบบโลจิสติกส์ชนิดส่งตรงหน้าบ้านลูกค้า ทำให้รายอื่นอยู่ไม่ได้
นั่นทำให้เขากลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก…
ทว่าการรวยที่สุดในโลกก็ได้สอนเขาหลายอย่าง หลังจากหลายสิบปีของการทำงานหนัก เครียด คิด ตลอดเวลา ไร้ซึ่งช่วงเวลาแห่งเสียงหัวเราะ ในวัย 50 กว่าปี เขาล้มป่วยหนัก
เขาจึงเริ่มคิดถึงเรื่องการบาลานซ์สิ่งต่าง ๆ ในชีวิต - หากมีเงินมากมาย แล้วสุขภาพแย่ ความสุขที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์’ ที่เขาใช้เงิน 500 ล้านดอลลาร์ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการกุศล ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะเกษียณตัวเองในปี 1902 ในวัย 63 ปี และจากโลกนี้ไปในอีก 34 ปีต่อจากนั้น ในวัย 97 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอายุที่ยาวนานเลยทีเดียว
แม้ว่าร็อกกี้เฟลเลอร์จะจากไปแล้ว แต่เขายังเป็นตำนานให้มหาเศรษฐีรุ่นปัจจุบันเรียนรู้บทเรียนชีวิตอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น บิลล์ เกตส์ หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ตาม
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น แม้ทุกวันนี้บริษัทน้ำมันจะมีมูลค่าลดลงจากวิกฤตราคาน้ำมัน แต่ ExxonMobil ก็ยังคงเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงอยู่ดี โดยมูลค่าในเดือนมกราคม 2023 อยู่ที่ 439,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในประเทศไทย ExxonMobil เข้ามาทำธุรกิจเกือบ 125 ปีแล้ว ภายใต้ชื่อ ‘เอสโซ่’ (Esso) เริ่มจากกิจการค้าน้ำมันก๊าดในปี พ.ศ. 2437 ปัจจุบันมีโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีในอำเภอศรีราชา เครือข่ายคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ และธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยมีพนักงานในไทยกว่า 3,000 คน
เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสข่าวว่า บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะเข้าซื้อกิจการเอสโซ่ในประเทศไทยทั้งหมด ด้วยมูลค่า 55,500 ล้านบาท ซึ่ง ณ ตอนนั้นทั้งสองบริษัทปฏิเสธไม่ให้ความเห็นถึงกระแสข่าวดังกล่าว
แต่วันนี้ (12 มกราคม 2023) ทางบางจากฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ปิดดีลนี้เรียบร้อยแล้ว พร้อมให้เหตุผลของการเข้าซื้อว่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่มากขึ้นของบางจากและประเทศไทย เพราะการลงทุนครั้งนี้มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง คือ โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง ซึ่งจะทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง
โดยคาดว่า การซื้อขายครั้งนี้จะแล้วเสร็จช่วงครึ่งหลังของปี 2023 และนี่อาจเป็นการปิดฉากธุรกิจในไทยของเอสโซ่
.
ภาพ : Getty Images, ExxonMobil
.
อ้างอิง
.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย