จับตาก้าวใหม่ ‘โออิชิ’ กับความท้าทายบนเส้นทางธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

จับตาก้าวใหม่ ‘โออิชิ’ กับความท้าทายบนเส้นทางธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

โออิชิ เดินหน้ารุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ชู Health & Wellness เป็นเรือธง โดยกลุ่มเครื่องดื่ม เน้นตอบเทรนด์สุขภาพ ขณะที่ธุรกิจอาหาร จะสร้างโมเดลร้านอาหารใหม่ทั้งเปิดแฟรนไชส์และการไม่จำกัดเฉพาะบุฟเฟ่ต์

  • โออิชิ เป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
  • กลยุทธ์ปี 2566 จะเดินหน้าด้วย PASSION 2025 และแนวคิดเรื่อง Health & Wellness
  • ปีนี้จะเห็นก้าวใหม่ของโออิชิ ทั้งการเปิดโมเดลใหม่ ทั้งแฟรนไชส์และร้านที่ไม่ใช่บุฟเฟ่ต์

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับเป็นความท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับหลายธุรกิจ รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวอย่างหนัก เพื่อให้เป็น ‘ผู้รอด’ ท่ามกลางมรสุมโรคระบาดและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเรื่อง Customer Centric ทำอะไรต้องนึกถึงผู้บริโภคเป็นหลัก และหลังจากช่วงโควิดระบาดสิ่งที่เราเห็นชัดเจน คือ ลูกค้ามองหาเรื่องคุณภาพมากขึ้นและเขาก็พร้อมจ่ายหากคุณภาพดีจริง” นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์กับ The People ไว้ก่อนหน้านี้

ดังนั้นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของโออิชิต่อจากนี้ คือ ยึดมั่นเรื่อง ‘คุณภาพ’ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมาย PASSION 2025 ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่สอดรับกับแนวคิดเรื่อง Health & Wellness เทรนด์สำคัญในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมผ่านการจัดกิจกรรมการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคต่อเนื่อง พร้อมกับผลักดันการเข้าถึงลูกค้าด้วยการขยายสาขา

จับตาก้าวใหม่ ‘โออิชิ’ กับความท้าทายบนเส้นทางธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มโออิชิ กรีนที ครองส่วนแบ่งตลาด 48% (ที่มา : NielsenIQ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนตุลาคม – กันยายน 2565) โดยปี 2566 กลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจนี้จะประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1.สื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชิน จากข้อมูลในหลาย ๆ งานวิจัยพบว่า ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ และช่วยเพิ่มความสดชื่น    

2.ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น

3.ขยายเซกเมนต์น้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออชิ ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ,โออิชิ โกลด์ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และอีกหลายรางวัล

4.ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะที่ ‘ธุรกิจอาหาร’ นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว จะขยายสาขาและช่องทางการขายในรูปแบบ Multi Format และธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมเพิ่มความหลากหลายของช่องทางจำหน่ายแบบ Omni Channel และการบริหารจัดการร้านอาหารให้มีประสิทธิภาพ

จับตาก้าวใหม่ ‘โออิชิ’ กับความท้าทายบนเส้นทางธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

โดยก้าวใหม่ของโออิชิ คือ การเปิดร้าน ‘โออิชิ บิซโทโระ’ ซึ่งไม่ใช่ร้านบุฟเฟต์ แต่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นคอนเซปต์ใหม่ในสไตล์ Quick Service และขายแบบ A la carte เน้นสะดวกรวดเร็ว รับประทานง่าย ๆ มีเมนูไม่เยอะ แต่มีคุณภาพและ Value for money

นงนุชเล่าว่า ร้านนี้เกิดขึ้นจากการนึกถึงตอนไปญี่ปุ่น ถามตัวเองและคนอื่นว่า ทำไมถึงอยากไป หนึ่งในคำตอบ คือ เรื่องกิน โดยข้อดีของที่นั่นคือทุกร้านมีมาตรฐานและอร่อยเหมือนกัน ไม่ว่าร้านข้างทางหรือในห้าง

แล้วทำไม โออิชิ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นจะอยู่แค่ในบุฟเฟต์หรือ ทำไมไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ ๆ และไม่อยากลองทำบ้างหรือ?

"โออิชิ บิซโทโระ จะเป็นร้านขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะเปิดนอกห้าง เพราะเราเห็นบทเรียนตอนช่วงโควิดที่ห้างปิด มาตอนนี้คนก็ต้องการความสะดวกสบาย ใช้เวลานอกบ้านน้อยลง คาดจะเห็นร้านนี้ 10-15 สาขาในปี 66 ” 

ด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ซึ่งเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น จะเน้นพัฒนานวัตกรรมด้านสินค้า ชูจุดแข็งด้านรสชาติ คุณค่าโภชนาการ และคุณภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ประกอบกับการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส (รวมทั้งน้ำซุปสุกี้ยากี้เข้มข้น), กลุ่มอาหารพร้อมทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส - แช่แข็ง)

การดำเนินการทั้งหมดทางโออิชิเชื่อว่า ในปีนี้จะสร้างการเติบโตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2565 อย่างแน่นอน โดยผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) มียอดขายอยู่ที่ 12,696 ล้านบาท เติบโต 29.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มาจากรายได้ธุรกิจเครื่องดื่ม 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% และรายได้จากธุรกิจอาหาร 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.5% ส่วนกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากปีก่อน