‘นามบัตรเพียงใบเดียว’ จุดเริ่มต้นการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร ‘เลอโนท’ สาขา 2 ของโลกในไทย

‘นามบัตรเพียงใบเดียว’ จุดเริ่มต้นการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร ‘เลอโนท’ สาขา 2 ของโลกในไทย

เปิดเบื้องหลังการลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร ‘เลอโนท’ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ของโลก ของบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด(มหาชน) ที่เริ่มต้นจาก ‘นามบัตรเพียงใบเดียว’

  •  โรงเรียนสอนทำอาหาร ‘Lenôtre Culinary Arts School’ เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของของโลก 
  • โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งในปี 2514 โดย ‘แกสตง เลอโนท’ (Gaston Lenôtre) 
  • ปัจจุบัน ‘บางกอกแลนด์’ ได้นำมาเปิดในไทยเป็นแห่งที่ 2 ของโลก ซึ่งเปิดเป็นทางการไปเมื่อ 18 ม.ค.2566
  • พอลล์ กาญจนพาสน์ ซีอีโอ บางกอกแลนด์ หวังให้เลอโนทไทย เป็นฮับในเอเชีย 

เลอโนท (Lenôtre) เป็นหนึ่งบริษัทโด่งดังที่สุดในวงการอาหารของโลก โดยมี ‘แกสตง เลอโนท’ (Gaston Lenôtre) เป็นผู้ก่อตั้งในปี 2500 ด้วยการเริ่มต้นจากร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ ใจกลางกรุงปารีส ก่อนจะขยายเป็นอาณาจักรครอบคลุมธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจจัดอาหารและงานเลี้ยงรับรอง (Catering) คาเฟ่ และอาหารพร้อมรับประทาน

รวมถึงโรงเรียนสอนทำอาหาร ‘Lenôtre Culinary Arts School’ ซึ่งแกสตงได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2514 และที่ผ่านมาเชฟชื่อก้องโลกล้วนผ่านโรงเรียนแห่งนี้มาแล้ว อาทิ ‘อลัง ดูคาส’ (Alain Ducasse) เชฟระดับตำนานเจ้าของร้านอาหารมิชลินสตาร์กว่า 30 แห่ง, ‘ปิแอร์ แอร์เม่’ (Pierre Hermé) เชฟขนมหวานผู้โด่งดัง, ‘ฌอง-ปอล เจอเนต์’ (Jean-Paul Jeunet) เป็นต้น 

และปัจจุบันโรงเรียนสอนทำอาหารแห่งนี้ได้เข้ามาเปิดใน 'ไทย' เป็นแห่งแรกนอกฝรั่งเศส และเป็นแห่งที่ 2 ของโลก ภายใต้ชื่อ ‘โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย’ (Lenôtre Culinary Arts School Thailand) ด้วยมูลค่าลงทุนถึง 1,000 ล้านบาท โดยมี ‘บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน)’ เป็นผู้บริหาร

‘นามบัตรเพียงใบเดียว’ จุดเริ่มต้นการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร ‘เลอโนท’ สาขา 2 ของโลกในไทย

เริ่มต้นจากนามบัตรใบเดียว

'พอลล์ กาญจนพาสน์' ซีอีโอ บมจ. บางกอกแลนด์ เล่าว่า ดีลนี้เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2562 หลังจากเขาได้ไปคุยธุรกิจและให้นามบัตรกับผู้บริหารของ ‘บริษัท โซเด็กซ์โซ่’ (Sodexo) ที่ได้เข้าซื้อกิจการและเป็นเจ้าของเลอโนทตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งได้ติดต่อพอลล์มาว่า สนใจจะเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารชื่อดังของโลกแห่งนี้หรือไม่

“ผมไม่นึกมาก่อนว่า การให้นามบัตรใบเดียวจะมีผลกระทบต่ออนาคตแบบนี้” 

ตอนนั้นเขาเองไม่รู้มาก่อนว่า เลอโนทมีโรงเรียนสอนทำอาหารด้วย เพียงรู้ว่ามีคาเฟ่ที่เคยเข้ามาเปิดในไทยและปิดตัวไปประมาณปี 2556

แต่ด้วยชื่อเสียงและเน็ตเวิร์กที่แข็งแกร่ง มี R&D ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเลอโนท บวกกับความชื่นชอบส่วนตัวที่ชอบการกิน และธุรกิจอาหาร รวมถึงมองเห็นโอกาสในไทยมีโรงเรียนสอนทำอาหารจำนวนไม่มากนัก เช่น เลอ กอร์ดอง เบลอ, วิทยาลัยดุสิตธานี เป็นต้น

นั่นทำให้เขาตัดสินใจทำสัญญากับ ‘เลอโนท ปารีส’ นำโรงเรียนสอนทำอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแห่งนี้มาเปิดในไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4,000 ตร.ม. บริเวณริมทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 18 มกราคม 2566

‘นามบัตรเพียงใบเดียว’ จุดเริ่มต้นการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร ‘เลอโนท’ สาขา 2 ของโลกในไทย

วางเป็นฮับแห่งเอเชีย

สำหรับโรงเรียนเลอโนท ประเทศไทย จะถ่ายทอดทักษะการทำอาหารจากทีมเชฟผู้สอนมืออาชีพที่อิมพอร์ตจากเลอโนท ปารีส และทุกอย่างจะเป็นไปตามแนวทางที่ทางเลอโนท ปารีสกำหนดมา โดยแบ่งหลักสูตรเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 

- หลักสูตรประกาศนียบัตร สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเชฟมืออาชีพ หรือต้องการเปลี่ยนอาชีพมาสู่การเป็นเชฟผู้เชี่ยวชาญ แบ่งเป็น 3 ประเภท 1. การประกอบอาหารคาว ระยะเวลาการเรียน 840 ชั่วโมง 2. การทำขนม ระยะเวลาการเรียน 840 ชั่วโมง และ 3. การทำขนมปัง จำนวนการเรียน 520 ชั่วโมง

- หลักสูตรระยะสั้น สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานในด้านการประกอบอาหารหรือขนมมาก่อน ไปจนถึงผู้เรียนระดับมืออาชีพที่ต้องการเสริมทักษะเพื่อนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจ ระยะเวลาการเรียน 4 ชั่วโมงขึ้นไป

‘นามบัตรเพียงใบเดียว’ จุดเริ่มต้นการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร ‘เลอโนท’ สาขา 2 ของโลกในไทย

และมาถึงคำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้ก็คือ ถ้าอยากผ่านหลักสูตรการทำอาหารจากโรงเรียนเลอโนท ประเทศไทยต้องจ่ายเท่าไร?

คำตอบ คือ ราคาคอร์สเริ่มต้นที่คอร์สละ 3 แสนบาทขึ้นไป หากเรียนทั้ง 3 คอร์สจะอยู่ประมาณ 1 ล้านบาท

ราคานี้พอลล์บอกว่าใกล้เคียงกับที่ฝรั่งเศส ทว่าผู้สนใจไม่ต้องเสียเงินและเวลาบินไปเรียนไกลถึงฝรั่งเศส แถมไม่ต้องเรียนภาษาฝรั่งเศส เพราะที่นี่แม้เชฟจะสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาแปลคำสอนเป็นภาษาอังกฤษให้

“ก่อนหน้านี้ทางโซเด็กซ์โซ่บอกว่า มีบริษัทในสิงคโปร์เสนอจะเปิดโรงเรียนนี้เป็นการสอนคอร์สสั้น ๆ ถามเราว่า โอเคไหม ผมบอกไม่โอเค เพราะเราไม่ได้มองแค่ลูกค้าในไทย แต่หวังจะเป็น Hub ในเอเชีย ให้คนย่านนี้ไม่ต้องบินไกลไปเรียนถึงฝรั่งเศส หรืออาจให้ส่งคนที่เรียนในฝรั่งเศสมาเรียนในไทย เพราะในไทยทุกอย่างเหมือนกันหมด เหมือนได้บินไปเรียนที่ฝรั่งเศส แต่เรามีค่าครองชีพถูกกว่าเยอะ และเราให้มาตรฐานสูงตามราคา”

อนาคตอาจขยายความร่วมมือเพิ่มเติม

สำหรับสาเหตุทำไมโซเด็กซ์โซ่ บริษัทแม่ของเลอโนทถึงเลือกไทยและบางกอกแลนด์ให้เปิดสาขาแห่งที่ 2 ของโลก พอลล์ยิ้มก่อนตอบว่า ‘ไม่เคยถาม’ แต่ส่วนตัวแล้วคาดว่า น่าจะเห็นโอกาสทางธุรกิจในบ้านเรา

นอกจากนี้ยังมาจากศักยภาพของบางกอกแลนด์เองที่ทำธุรกิจหลากหลายทั้งสถานที่จัดงาน, เอ็กซิบิชั่น, โรงแรม, Catering และร้านอาหารต่าง ๆ ซึ่งทางโซเด็กซ์โซ่มองว่า จะสามารถต่อยอดโรงเรียนสอนทำอาหารเลอโนทไปได้อีกไกล

ส่วนจะมีการนำธุรกิจอื่น รวมถึงนำคาเฟ่เลอโนทมาเปิดในไทยอีกหรือไม่ พอลล์บอกว่าเป็นแผนในอนาคต เพราะตอนนี้ต้องการโฟกัสให้โรงเรียนสอนทำอาหารแห่งนี้เกิดเสียก่อน โดยเขาคาดหวังจากการลงทุนไป 1,000 ล้านบาท จะสามารถคืนทุนใน 8 - 10 ปีต่อจากนี้

“ปีเดียวก็เห็นแล้วว่า เวิร์กไม่เวิร์ก หลังจากนั้นค่อยว่ากัน”