01 ก.พ. 2566 | 15:50 น.
- ‘แจ็ค หม่า’ (Jack Ma) แห่งอาลีบาบา กับ ‘เจ้าสัวธนินท์-ธนินท์ เจียรวนนท์’ แห่งเครือซีพีได้พบปะกันที่ฮ่องกงเมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา
- การพบปะครั้งนี้ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด แต่สร้างความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
รายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยถึงประเด็นในการพูดคุยของการพบกันครั้งนี้ เพียงรายงานว่า นอกจากเจ้าสัวธนินท์แล้ว ยังมี ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการบริหารของทรู คอร์ปอเรชั่น ลูกชายของเจ้าสัวธนินท์ร่วมพบปะด้วย
สำหรับการพบปะของมหาเศรษฐีทั้งสองครั้งนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก เพราะทั้งแจ็ค หม่า และเจ้าสัวธนินท์มีการพบกันอยู่เสมอ โดยครั้งหนึ่งเจ้าสัวธนินท์เคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการให้โอกาสของคนรุ่นใหม่ และเปิดให้เรียนรู้นอกตำราก็มาจากการพูดคุยกับ ‘แจ็ค หม่า’ โดยเขาเองได้บอกว่า
สิ่งที่เรียนมาใช้ได้อย่างเดียว คือ ภาษาอังกฤษ เพราะสิ่งที่เรียนมากับสิ่งที่ทำที่อาลีบาบาคนละเรื่อง และไม่สามารถหาจากตำราที่ไหนในโลก ต้องใช้วิธีทำไป เรียนรู้ไป ถ้าผิดก็แก้ไข อย่าให้เกิดซ้ำ
นอกจากนี้เมื่อต้นเดือน ม.ค.2566 ที่แจ็ค หม่า มาปรากฏตัวที่บ้านเรา นอกจากถ่ายภาพคู่ ‘เจ๊ไฝ’ แล้ว เขายังร่วมเฟรมกับ ‘สุภกิต’ และ ‘มาริษา เจียรวนนท์’ ลูกชายคนโตและลูกสะใภ้ของเจ้าสัวธนินท์
ย้อนเส้นทางก่อนเป็นอภิมหาเศรษฐี
แจ็ค หม่า หรือชื่อจริงว่า ‘หม่า หยุน’ เกิดวันที่ 10 กันยายน 1964 ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ครอบครัวของเขาไม่ได้มีฐานะมากนัก ซึ่งแจ็ค หม่ามีความสนใจภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นขณะที่เด็กทั่วไปจะใช้เวลาไปกับการเที่ยวเล่น ตัวเขากลับใช้เวลาทุกเช้าวันละ 40 นาที ปั่นจักรยานไปยังโรงแรมเพื่อคุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอาสาเป็นไกด์นำเที่ยว ทำให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษจนชำนาญ
และชื่อภาษาอังกฤษ Jack ของเขาก็มาจากนักท่องเที่ยวคนหนึ่งตั้งให้ เพราะชื่อจีนของเขาออกเสียงยาก
แม้จะเก่งภาษาอังกฤษ แต่วิชาอื่นกลับไม่เก่งเอาเสียเลย ทำให้ช่วง 2 ปีแรกเขาไม่สามารถสอบติดมหาวิทยาลัย กระทั่งปีที่ 3 สามารถสอบเข้าเรียนสาขาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยครูหางโจวได้สำเร็จ และจบการศึกษาในปี 1998
ชีวิตหลังเรียนจบของ แจ็ค หม่า ก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ทั่วไป คือต้องตระเวนหางานทำ ซึ่งช่วงแรกเขาโดนปฏิเสธมากกว่า 30 ครั้ง กระทั่งได้งานแรกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยหางโจวเตี้ยนจื่อ ในอัตราค่าจ้างเพียงเดือนละ 500 บาท
เขาเป็นครูอยู่ 5 ปี ก่อนตัดสินใจลาออกในปี 1995 เพื่อเดินทางไปทำงานที่เมืองซีแอตเทิล สหรัฐฯ และนี่เป็นครั้งแรกที่เปิดโลกใหม่ให้แจ็ค หม่า รู้จักกับอินเทอร์เน็ตจนจุดประกายไอเดียให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ
เมื่อกลับมาที่ประเทศจีน เดือนเมษายน 1995 เขาตัดสินใจร่วมลงทุนกับเพื่อนทำธุรกิจเป็นครั้งแรก ด้วยการเปิดเว็บไซต์ China Yellow Pages รวบรวมรายชื่อบริษัทและสินค้าต่าง ๆ ในจีนมาไว้ในเว็บไซต์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมีหน่วยงานของรัฐบาลจีนเข้ามาถือหุ้นด้วย
แต่สุดท้าย แจ็ค หม่า ตัดสินใจลาออกพร้อมขายหุ้นทั้งหมดให้รัฐบาลจีน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Alibaba
กำเนิด Alibaba
ปี 1999 แจ็ค หม่า ได้ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซขึ้นมาใช้ชื่อว่า ‘อาลีบาบา’ (Alibaba) ซึ่งเป็นการนำนิทาน ‘อาหรับราตรี’ มาตั้งชื่อ โดยหวังให้บริษัทนี้เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ผลิตและส่งออกสินค้าในจีนกับบริษัททั่วโลก
แม้เส้นทางช่วงเริ่มต้นของ Alibaba จะเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่าอีคอมเมิร์ซในจีนจะเกิดขึ้นจริง แต่สุดท้ายด้วยความพยายามของแจ็ค หม่า ในปี 2000 จากการได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับ Alibaba
โดยเขานำเงินไปลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้มีประสิทธิภาพขึ้นมา โดยเน้นไปยังลูกค้ากลุ่ม SMEs ทำให้ธุรกิจเติบโตได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนสามารถขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Taobao.com เว็บไซต์ขายของออนไลน์สัญชาติจีนขึ้นมาแข่งกับ eBay
รวมไปถึง AliPay ระบบชำระเงินออนไลน์ที่มีผู้ใช้กว่า 1 พันล้านบัญชี, Tmall.com เว็บไซต์ชอปปิงออนไลน์ที่จับกลุ่มลูกค้าชั้นกลาง, โซเชียลมีเดียอย่าง Weibo และ Youku Tudou ตลอดจนมีธุรกิจอีกมากมายทั้งบริการคลาวด์, โลจิสติกส์, สโมสรฟุตบอลกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ และได้เข้าซื้อกิจการเว็บไซต์ออนไลน์ดังอย่าง Lazada เป็นต้น
ก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริหาร
ในปี 2019 แจ็ค หม่า ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ‘ประธานบริหาร’ ของ Alibaba Group Holding แล้วส่งไม้ต่อให้ ‘แดเนียล จาง’ (Daniel Zhang) ขึ้นมาเป็นประธานและซีอีโอแทน
โดยการลาออกจากตำแหน่งเขาให้เหตุผลว่าต้องการใช้เวลากับเน้นกิจกรรมการกุศลของมูลนิธิของเขาให้มากขึ้น และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2020 แจ็ค หม่า ได้ลาออกจากบอร์ดบริหาร Alibaba Group Holding อย่างเป็นทางการ
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรซีพี
‘เจ้าสัวธนินท์ - ธนินท์ เจียรวนนท์’ บุตรชายคนที่ 4 ซึ่งได้ขึ้นมาคุมบังเหียนแม้ไม่ได้เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวก็ตาม
ธนินท์ เจียรวนนท์ หรือ ‘เจี่ย ก๊กมิ้น’ เกิดวันที่ 19 เมษายน 2482 เป็นบุตรชายคนที่ 4 ในบรรดาบุตรทั้ง 5 คนของ ‘เจี่ย เอ็กซอ’ โดยครอบครัวของเขาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาตั้งรกราก ณ ย่านเยาวราชในเมืองไทย เฉกเช่นเพื่อนร่วมชาตินับล้านช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ธุรกิจดั้งเดิมที่ครอบครัวเขาทำอยู่คือขายผลิตภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ผักต่าง ๆ ในชื่อว่า ‘ร้านเจริญโภคภัณฑ์’ (หรือชื่อจีนว่า ‘เจียไต๋จึง’) เป็นตึกแถว 2 ชั้น ทำให้ธนินท์คุ้นเคยและซึมซับการทำมาค้าขายมาตั้งแต่เด็ก
สิ่งหนึ่งที่เขาน่าจะได้สัมผัสมากที่สุดคือเรื่อง ‘มาตรฐาน’ เพราะพ่อของเขาทำธุรกิจแบบมีมาตรฐานสูงมาโดยตลอด เช่น เมล็ดพันธุ์ที่ร้านต้องมีคุณภาพสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง มีการระบุวันที่หมดอายุลงบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และถ้าหมดอายุแล้ว ลูกค้านำกลับมาเปลี่ยนใหม่ได้โดยไม่มีการชาร์จเพิ่ม
ธนินท์ศึกษาเล่าเรียนชั้นประถมในไทย ก่อนไปต่อมัธยมฯ ที่ซัวเถาในจีน และไปจบจากสถาบันฮ่องกงวิทยาลัยด้านพาณิชยกรรมที่ฮ่องกง
หลังจบจากฮ่องกงกลับมาไทยในวัย 19 ปี เริ่มงานแรกในตำแหน่งแคชเชียร์ ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขามีโอกาสได้ไปทำงานที่สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และที่บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ เป็นการเปิดโลกสู่อุตสาหกรรมไข่ไก่และเกษตรกรรม
คิดแบบครบวงจร
เมื่อรอบรู้โลกกว้างและเทคโนโลยีล่าสุด เขากลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านในวัย 25 ปี ซึ่งทักษะการอ่านเกมธุรกิจที่ธนินท์มีอย่างโดดเด่นมาแต่ไหนแต่ไรคือการคิดแบบ ‘ต้นน้ำ - ปลายน้ำ’ ธุรกิจจะแข็งแกร่งได้ต้องครบวงจรนั่นเอง
การคิดแบบครบวงจรในสเกลยิ่งใหญ่นี้เองที่ทำให้จนถึงปัจจุบัน เขาขยายแสนยานุภาพทางธุรกิจไปกว่า 14 กลุ่มธุรกิจย่อยในกว่า 21 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งเกษตรกรรม ค้าปลีก การสื่อสาร ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ธุรกิจแรกที่ทำเกี่ยวข้องกับ ‘ไก่’ ต้องเข้าใจก่อนว่า สมัยก่อนเนื้อไก่ยังเป็นของกินราคาแพง ธนินท์คิดหาวิธีออกแบบห่วงโซ่การผลิตที่ลดต้นทุนได้มหาศาล จนทำให้ไก่เป็นของกินมวลชนได้สำเร็จ โดยเขาวาดวิสัยทัศน์ว่าในระยะยาว องค์กรต้องทำแบบครบวงจร
ไล่ตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ที่ตนมีธุรกิจครอบครัวที่บ้านอยู่แล้ว คัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่โตไวเป็นโรคยาก ด้วยการบุกเบิกใช้ไก่สายพันธุ์ อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) และเริ่มใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ทั้งสายพันธุ์ไก่และเทคโนโลยีโรงเรือนมาจากบริษัท Arbor Acres จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเทคโนโลยีดีที่สุดในขณะนั้น นอกจากนี้ ดูเรื่องระบบการเลี้ยงสัตว์ให้มีมาตรฐานแบบอุตสาหกรรม จนไปถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การตลาดสร้างแบรนด์ การกระจายสินค้าจนถึงมือผู้บริโภคในที่สุด
ในเชิงธุรกิจการที่บริษัทหนึ่งทำแบบครบวงจรเป็นการตัดพ่อค้าคนกลางและช่วยควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงไปในตัว ประเด็นนี้ถกเถียงกันได้เพราะอาจนำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจหรือทุนนิยมที่แข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการคิดวิเคราะห์รอบด้านในระดับอุตสาหกรรม (Industry analysis) ที่เห็นถึงความเชื่อมโยงของซัปพลายเชนที่ซับซ้อน
เห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม
ถ้าย้อนกลับไปมองในยุคสมัยก่อน ธนินท์มีความเด็ดเดี่ยวและวิสัยทัศน์ในการลงมือทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยง เพราะหลายอย่างเป็นของใหม่ ยังไม่มีบทเรียนให้เดินรอยตาม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ‘ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น’ (7-Eleven)
ธนินท์ไปโน้มน้าวใจเจ้าของเซเว่น-อีเลฟเว่นเพื่อขอสิทธิ์มาเปิดและบริหารเองในเมืองไทย เซเว่น-อีเลฟเว่นแห่งแรกในไทยเปิดตัวตั้งแต่ปี 2532 ภายใต้การบริหารของ บริษัท ซีพี ออล จำกัด (มหาชน) (เดิมคือ ซีพี เซเว่น-อีเลฟเว่น) เปิดสาขาแรกที่ย่านพัฒนพงษ์ ในคอนเซปต์ ‘ใกล้ แต่ไม่เคยปิด’
เหตุผลที่เลือกสาขาแรกที่นี่ เพราะเป็นทำเลตอบโจทย์ของการเปิด 24 ชั่วโมง โดยกลางวันมีกลุ่มคนออฟฟิศ, โรงพยาบาล, โรงเรียน ฯลฯ ขณะที่กลางคืน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนต่างชาติที่ส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกับร้าน 7-Eleven อยู่แล้ว
การลงทุนครั้งนี้ของเขา ถือเป็นการวางรากฐานในระยะยาวมาก เพราะสมัยก่อนสาขายังน้อยไม่ครอบคลุม สินค้าในร้านก็ยังไม่หลากหลายพอ แถมสมัยก่อนคนยังซื้อจากร้านขายของชำและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของโดยตรง เป็นอีกความท้าทายในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน
7-Eleven ต้องใช้เวลานับทศวรรษกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้สำเร็จ และกลายเป็นปัจจัยสี่ในชีวิตประจำวันของพวกเราไปแล้วในปัจจุบัน
เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับการคิดแบบครบวงจร เพราะเมื่อมีหน้าร้านที่พบเจอผู้บริโภคโดยตรง ก็สามารถเสิร์ฟผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ในบริษัทได้ และในยุคปัจจุบันบริษัทยังได้ ‘ข้อมูล’ จากพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเช่นกัน
อย่างที่เราพอจะสังเกตได้แล้ว เริ่มมี 7-Eleven สาขาใหม่ ๆ ที่ซื้อที่ดินหน้าร้านพร้อม ‘ที่จอดรถ’ ขนาดใหญ่ คาดว่าเตรียมตัวรองรับการทำเป็น ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ นั่นเอง ซึ่งจะมาดิสรัปธุรกิจปั๊มน้ำมันต่อไป
สากลนิยมก้าวสู่ตลาดโลก
ธนินท์ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองเป็นคนไทย รากเหง้าจีน ทำธุรกิจแค่ในตลาดไทยหรือในภูมิภาค แต่มองในระดับ ‘โลก’ มานานแล้ว ตลาดอยู่ทั่วโลก วัตถุดิบอยู่ทั่วโลก คนเก่งอยู่ทั่วโลก
ตั้งแต่ไหนแต่ไร เขาเป็นคนแรก ๆ ที่นำเข้าเทคโนโลยีการเกษตรชั้นสูงมาจากสหรัฐอเมริกา เครือ CP เองก็ดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ในปี 2522 เป็นบริษัทต่างชาติเจ้าแรกที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนในวันที่เพิ่งเปิดประเทศ (หลักฐานคือใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมายเลข 0001) และบริษัทยังโอบกอดคนเก่งจากทั่วโลกที่พร้อมมาทำงานในเครือ
เราจะเห็นว่าแนวคิดหลายอย่างของธนินท์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อคิดจะทำแบบครบวงจร ก็ต้องคิดการใหญ่ คิดการใหญ่ก็ต้องมองในสเกลระดับโลก
เมื่อเราได้ขึ้นเป็นหัวหน้าและเติบโตในหน้าที่การงานถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าทักษะที่สำคัญกว่าพัฒนาตัวเองคือการ ‘พัฒนาผู้คน’
ธนินท์มีคุณสมบัติการปั้นและมองคนออก โดยเขาจะมอบหมายงานสำคัญให้คนเก่งทำ ให้อำนาจการตัดสินใจ มองว่าเป็นดั่งค่าเข้าคอร์สเรียนถ้าผิดพลาดล้มเหลว ขณะที่ตอบแทนด้วยรางวัลเมื่อทำสำเร็จ
เขายังแสดงทัศนคติการบริหารผลประโยชน์ที่น่าสนใจ กล่าวคือ เขาจะโฟกัสผลประโยชน์ที่ตัวสมาชิกในทีมและเพื่อนร่วมงานอื่น ๆ ในองค์กรเสียก่อน พวกเขาต้องเป็นคนได้ก่อน ทุกคนต้องได้รับการสนับสนุน เพราะเมื่อประสบความสำเร็จ ตัวของเขาก็จะได้รับเช่นกันในที่สุด
ในส่วนนี้เชื่อมโยงถึงการก่อตั้ง ‘สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์’ ในปี 2007 ที่เน้นการสอนและปฏิบัติจริงในด้านธุรกิจค้าปลีก นักศึกษาทุกคนยังมีโอกาสร่วมทำงานกับองค์กรหลังเรียนจบต่อได้ทันที
รวมถึงการก่อตั้ง ‘สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์’ (CP Leadership Institute) ในปี 2550 เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมสำหรับเหล่าผู้บริหารขององค์กรโดยเฉพาะ นี่เป็นพื้นที่ที่ปั้นผู้บริหารหน้าใหม่ให้มาพัฒนาองค์กรต่อไป
จะว่าไปแล้ว ในฐานะ ‘ผู้นำองค์กร’ ใครที่เก่งเรื่องคน พัฒนาคนอื่นได้ อาจจะเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด
ความสำเร็จดีใจได้แค่วันเดียว
คติการทำงานหนึ่งของธนินท์ที่น่าขบคิดคือ เมื่อเกิดความสำเร็จขึ้น เขาจะให้เวลาฉลองกับมันแค่วันเดียว ก่อนที่วันต่อมาจะเตรียมตัวกลับมาพร้อมทำงานใหม่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แน่นอนว่านี่เป็นคำเปรียบเปรยที่หมายถึง ฉลองความสำเร็จในระยะสั้น ๆ ก่อนกลับมาลุยงานโดยไม่ประมาท และในมุมกลับกัน หากเกิดความผิดพลาดล้มเหลว ก็ขอเวลาให้ได้ร้องไห้เสียใจแค่วันเดียว วันต่อมาต้องพร้อมลุกขึ้นสู้ใหม่
ข้อคิดนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ในแง่ของความพึงพอใจในชีวิต แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง มันช่วยลดอีโก้ ลดอัตตา ลดการยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นและจบลงไปแล้ว แถมอาจไม่เกี่ยวข้องหรือสลักสำคัญกับปัจจุบันและอนาคตอีกต่อไป
จะว่าไปแล้ว แนวคิดนี้มีความยืดหยุ่นสูง (Resilient mindset) และสอดคล้องกับอัตราเร่งของโลกธุรกิจปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางอุตสาหกรรมไม่ใช่ในระดับปีอีกต่อไปแล้ว แต่อาจคุยกันในระดับเดือน สัปดาห์ วัน หรือแม้แต่นาที
เพราะไม่รู้จึงเป็นนักเรียน
อีกหนึ่งทัศนคติการทำงานที่น่าเอาอย่างของธนินท์คือ การน้อมรับใน ‘ความไม่รู้’ ของตัวเอง ตนไม่ได้เก่งไปซะทุกเรื่อง และพร้อมเรียนรู้จากคนที่รู้จริงเสมอ โดยจะสมาทานว่าตัวเองเป็นเหมือน ‘นักเรียน’ คอยร่ำเรียนและสอบถามจากคนที่เก่งกว่าโดยยกสถานะให้เป็นดั่ง ‘อาจารย์’
การมองว่าตัวเองเป็นนักเรียน เกิดขึ้นพร้อมกับอีกสถานะของตัวเองที่เป็นอภิมหาเศรษฐีและประสบความสำเร็จในหลายธุรกิจแล้ว ความคิดนี้จะหยั่งรากได้ เขาต้องพร้อมละทิ้งตัวตนของตัวเองซะก่อน ไม่เอาความเป็นเศรษฐีและมีอิทธิพลของตัวเองไปบลัฟคนอื่น แต่พร้อมพัฒนาเรียนรู้อยู่ตลอดในสิ่งที่ขาดหายไป