ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง): บรมครูการพากย์หนังในไทย พากย์เดี่ยวทั้งเรื่อง

ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง): บรมครูการพากย์หนังในไทย พากย์เดี่ยวทั้งเรื่อง

การพากย์ประกอบการแสดงหรือมหรสพในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หากสืบย้อนกลับไป เราสามารถพบเห็นหลักฐานได้ในการพากย์-เจรจาโขนตั้งแต่ยุคอาณาจักรอยุธยา

ซึ่งเป็นการพากย์เพื่อดำเนินเรื่อง เล่าเรื่อง และพูด/สื่ออารมณ์แทนนักแสดง/ตัวโขน รวมถึงบอกบท บอกเพลงหน้าพาทย์ กำกับเวที หรือจัดทำบทแสดง

กว่าที่การพากย์จะมาพบกับภาพยนตร์ก็ต้องรอจนถึงทศวรรษที่ 2440-2460 ที่เริ่มมีผู้ประกอบการนำภาพยนตร์เงียบจากต่างประเทศเข้ามาฉายในสยาม ซึ่งทำให้เกิดอาชีพนักบรรยายเรื่องหน้าจอ คอยทำหน้าที่อธิบายเรื่องราวและบทสนทนาในภาพยนตร์ให้ผู้ชมที่ไม่มีทักษะภาษาต่างประเทศเข้าใจ ก่อนจะมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลง และต่อยอด จนกลายการพากย์ภาพยนตร์ในรูปแบบที่เราเห็นกันในวันนี้ (ณวรา สุวรรณภิงคาร, 2562, น. 31-33)

งานเขียนชิ้นนี้ จะขอพาทุกท่านไปรู้จักกับชายคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นธารการพากย์ภาพยนตร์ในประเทศไทย เป็นบรมครู และเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยลงหลักปักฐานอาชีพนักพากย์ให้มั่นคงในดินแดนแห่งนี้ เขาคนนั้นคือ สิน สีบุญเรือง หรือที่รู้จักกันในนาม “ทิดเขียว”

เด็กชายสินผู้ฝันอยากเป็นนักฉายภาพยนตร์

สิน สีบุญเรือง เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนแปด ปีมะเส็ง พ.ศ. 2436 เป็นบุตรชายของเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” (ฮั่วเซียมซินโป่) และ “ผดุงวิทยา” ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งในสยาม และอดีตรัฐมนตรีประจำกระทรวงชาวจีนโพ้นทะเล (อ่านข้อมูลของเซียวฮุดเส็งและลม่อม สีบุญเรือง บุตรอีกคนหนึ่งของเซียวฮุดเส็งได้ทาง https://www.thepeople.co/read/21368)

ในวัยเด็ก สินเป็นเด็กวัดได้กรับการศึกษาวิชาสามัญจากสำนักอาจารย์วัดสามจีนใต้ (ปัจจุบันคือวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพฯ) สินบันทึกไว้ในงานเขียน “ประวัติภาพยนตร์ในเมืองไทย” (2480) ว่า ตนได้สัมผัสกับภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 ในวัยประมาณ 14 ปี จากภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง ตัดหัวต่อหัว ที่มีผู้นำมาฉายบริเวณวัด ซึ่งสินมาทราบภายหลังว่า เป็นภาพยนตร์ของหลุยจ้อย ที่ขณะนั้นยังไม่มีการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป และหลังจากออกจากสำนักวัดสามจีนใต้ สินก็มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ที่คณะชาวญี่ปุ่นนำเข้ามาฉาย หรือที่เรียกกันในช่วงเวลานั้นว่า “หนังญี่ปุ่น” ที่เวิ้งนาครเขษม

สินบันทึกว่า การได้ชมภาพยนตร์ของหลุยจ้อยในวัยเยาว์ทำให้เขาสนใจภาพยนตร์มากขึ้น และฝันว่าสักวันจะได้ทำอาชีพนักฉายภาพยนตร์ “เพราะเป็นการเก๋ดีกว่าการเรียนหนังสือ”

อย่างไรก็ตาม โดม สุขวงศ์ (2555, น. 271 และ 272) กล่าวว่า สินอาจบันทึกเส้นเวลาดังกล่าวคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากปี พ.ศ. 2450 ที่สินกล่าวว่าขณะนั้นยังไม่มีการฉายภาพยนตร์ตามโรงภาพยนตร์นั้น โดมกล่าวว่า ช่วงเวลานั้นมีการฉายภาพยนตร์ตามโรงภาพยนตร์ถาวรหลายแห่งในกรุงเทพฯ แล้ว ส่วนเหตุการณ์ที่มีหนังญี่ปุ่นมาฉายตรงเวิ้งนาครเขษม ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาจริงที่สินจะได้ชมภาพยนตร์ครั้งแรกสำหรับโดม น่าจะประมาณปี พ.ศ. 2445-2446 ที่สินมีอายุประมาณ 9-10 ปีมากกว่า

เมื่ออายุประมาณ 15-16 ปี สินเข้าสู่วงการภาพยนตร์ครั้งแรกผ่านการทำงานที่บ้านของเชงฮวด ชาวสิงคโปร์ที่เปิดกิจการโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาต้องเลิกกิจการเพราะแข่งกับโรงอื่นไม่ไหว และเบี่ยงสายไปจัดฉายภาพยนตร์เร่ในช่วงท้าย

เมื่อเชงฮวดเห็นว่าสินสามารถฉายภาพยนตร์ได้ สินจึงได้รับมอบหมายให้นำภาพยนตร์ออกไปเร่ฉายตามจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6 บาท การฉายในขณะนั้นยังฉายด้วยไฟแก๊ส และใช้มือหมุนม้วนฟิล์มในการทำให้ภาพเคลื่อนไหวบนจอ นอกจากจะได้ฉายภาพยนตร์ตามที่ตนเคยฝันไว้แล้ว สินยังต้องทำงานตำแหน่งกุลีและคนแจวเรือหนังด้วย ซึ่งสินบันทึกว่า ตนไม่ได้รู้สึกลำบากแต่อย่างใด แถมยังสนุกด้วยซ้ำ

แต่เมื่อสินกลับบ้านหลังสิ้นภารกิจเร่ฉายภาพยนตร์ให้แก่เชงฉวด เซียวฮุดเส็งผู้เป็นบิดาก็ประกาศตัดพ่อตัดลูกกับสินทันที ด้วยข้อหาว่าสิน “ไม่รักดี ไปเล่นโขนเล่นหนังเสียการเล่าเรียน” สินจึงต้องออกจากบ้านและมุ่งสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัว

จากนักเขียนใบปลิวสู่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาพยนตร์

สินได้ร่วมงานกับโรงภาพยนตร์วังเจ้าปรีดา ซึ่งเป็นโรงของบริษัทรูปยนต์กรุงเทพฯ มีซุ่นใช้ คูตระกูล เป็นเจ้าของ เปิดกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2450 สินทำงานในตำแหน่งนักทำเสียงประกอบการฉายภาพยนตร์โดยไม่มีค่าจ้าง 6 เดือน ก่อนที่ซุ่นใช้จะโยกให้ไปทำตำแหน่งนักเขียนใบปลิวภาพยนตร์ ควบกับตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดและพนักงานขายของในห้างรัตนมาลา ช่วงอายุประมาณ 18-20 ปี

งานเขียนใบปลิวของสิน คือการเขียนข้อมูลภาพยนตร์ต่างประเทศที่โรงภาพยนตร์วังเจ้าปรีดานำเข้ามาฉายสัปดาห์ละ 2 เรื่อง ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย รายการภาพยนตร์ที่จะฉาย จำนวนม้วนภาพยนตร์แต่ละเรื่อง กำหนดการฉาย และที่สำคัญที่สุด คือเรื่องย่อภาพยนตร์ ซึ่งโดม สุขวงศ์ (2555, น. 275-276) ถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นจุดเปลี่ยนของรูปแบบภาพยนตร์ที่ฉายในสยาม จากภาพยนตร์ขนาดสั้นบันทึกภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์เบ็ดเตล็ด ไม่มีเรื่องราวสลับซับซ้อนใด ๆ มาเป็นภาพยนตร์เงียบขนาดยาว ที่เล่าเรื่องราวผ่านการแสดงสลับกับข้อความอธิบายเหตุการณ์หรือแสดงคำพูดแทนเสียงตัวละคร และต้องการให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวที่ภาพยนตร์เล่านั้นด้วย ภาพยนตร์ในยุคนี้จึงเป็นการสื่อสารกับผู้ชมด้วยภาษาเขียนควบคู่ไปกับภาพเคลื่อนไหว

ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ชมในสยามส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อสาร การตีพิมพ์เนื้อเรื่องย่อเป็นภาษาไทยและจีนในใบปลิว แล้วนำไปแจกตามชุมชนหรือแทรกในหนังสือพิมพ์รายวันช่วงก่อนหรือพอดีกับวันที่โรงจะเปลี่ยนโปรแกรม จึงเป็นวิธีที่โรงภาพยนตร์ใช้แก้ปัญหาดังกล่าว และถือเป็นการส่งเสริมการขายให้แก่โรงด้วย สันนิษฐานกันว่า โรงแรกที่จัดทำใบปลิวประเภทนี้ก็คือโรงภาพยนตร์วังเจ้าปรีดานี้เอง ก่อนที่โรงอื่น ๆ จะพิมพ์ออกมาแข่งกัน แขวะกัน จนถึงขั้นฟ้องร้องกันในข้อหาหมิ่นประมาทเพราะข้อความในใบปลิว (โดม สุขวงศ์, 2555, น. 277)

งานเขียนใบปลิวทำให้สินได้บ่มเพาะทักษะด้านต่าง ๆ ทั้งการเขียน การเล่าเรื่อง และการชมภาพยนตร์ ที่เขาได้นำไปใช้ต่อยอดในหน้าที่การงานอื่น ๆ ในภายหลัง

เดือนพฤษภาคม 2462 ขณะที่บริษัทภาพยนตร์อื่น ๆ ต่างทะยอยปิดกิจการ บริษัทรูปยนต์กรุงเทพฯ ได้ตัดสินใจควบรวมกับบริษัทคู่แข่งอย่างภาพยนตร์พัฒนากร ของเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง (บุตรบุญธรรมของเซียงเลียงอัน ปู่ของสิน) กลายเป็นบริษัทใหม่ชื่อ “สยามภาพยนตร์บริษัท” โดยมีเซียวซองอ๊วนนั่งแท่นผู้จัดการ ซึ่งสินก็ได้รับการโอนย้ายมาสังกัดสยามภาพยนตร์บริษัทด้วย โดยยังคงทำหน้าที่เขียนเรื่องย่อภาพยนตร์ลงใบปลิวและหนังสือพิมพ์เช่นเดิม แถมยังได้รับโอกาสเป็นผู้จัดโปรแกรมภาพยนตร์ให้โรงในเครือในเวลาต่อมาด้วย

ปี พ.ศ. 2463-2465 ขณะที่กิจการของสยามภาพยนตร์บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการตีพิมพ์เรื่องย่อภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่มีกำไรมากขึ้น สยามภาพยนตร์บริษัทได้ตัดสินใจถอนสิทธิ์การตีพิมพ์เรื่องย่อในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ เพื่อมาจัดทำนิตยสารภาพยนตร์รายสัปดาห์ของตนเองในชื่อ “ภาพยนตร์สยาม” ซึ่งสินก็ได้รับหน้าที่เป็นนักเขียนประจำคอลัมน์ “โปรแกรม” ในนิตยสารนี้ตั้งแต่ฉบับแรก ภายใต้นามปากกาที่จะเป็นตำนานในเวลาต่อมา ว่า “ทิดเขียว”

สำหรับที่มาของนามปากกา “ทิดเขียว” นั้น ยศ วัชรเสถียร เล่าไว้ในหนังสือ “เกร็ดจากอดีต” (2513) ว่า มาจาการที่สินเป็นคนหัวล้าน และคนหัวล้านมักมีกลิ่น “เหม็นเขียว” สินจึงนำคำว่าเหม็นเขียวนี้ มาดัดแปลงเสียใหม่เป็น “ทิดเขียว” (โดม สุขวงศ์, 2555, น. 284)

หลังผลงานชิ้นแรกของสินในนามทิดเขียวได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2465 เขาได้เว้นว่างจากงานเขียนไปปีกว่า ก่อนกลับมาเขียนงานอย่างต่อเนื่องให้แก่ภาพยนตร์สยามในปี พ.ศ. 2466 ซึ่งขณะนั้น ต่วน ยาวะประภาษ เป็นบรรณาธิการ

เดือนตุลาคม 2467 สินได้รับการแต่งตั้งเป็นบรรณาธิการประจำหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพยนตร์” หนังสือพิมพ์แทบลอยด์รายสามวัน ที่สยามภาพยนตร์บริษัทผลิตมาแทนที่นิตยสารภาพยนตร์สยาม ที่ยุติการผลิตในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ซึ่งนอกจากงานบรรณาธิการแล้ว สินยังเป็นนักเขียนประจำคอลัมน์ “หมายเหตุเบ็ตเตล็ด” ที่เขียนถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์ด้วย อาทิ บทสัมภาษณ์นายทองคำ ชาวลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีที่ไปเผชิญโชคในสหรัฐและทวีปยุโรปกว่า 20 ปี เป็นต้น แต่คราวนี้เขากลับมาใช้ชื่อจริงในการตีพิมพ์ผลงานแทนนามปากกาทิดเขียว

หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ภายใต้การกำกับของสินได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ชมภาพยนตร์ และมีส่วนผลักดันให้กิจการของสยามภาพยนตร์บริษัทขยายตัวถึงขีดสุด

เบนเข็มสู่โต้โผคณะละคร

พ.ศ. 2468 สินได้รับประสบการณ์การทำงานใหม่ นั่นคือการเป็นผู้ควบคุมคณะละครหญิงล้วนในสังกัดของสยามภาพยนตร์บริษัท ให้ไปแสดงตามโรงภาพยนตร์ในเครือทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่าง ๆ โดยคณะละครนี้ เป็นคณะที่สยามภาพยนตร์บริษัทจัดหาและส่งไปตระเวนแสดงในสหรัฐอเมริกาพร้อมคณะตระกร้ออีกคณะเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2467 เป็นเวลา 6 เดือน ตามการว่าจ้างของบริษัท กิธส์ เธียเตอร์

ต่อมา สินได้ตั้งคณะละครร้องคณะใหม่ชื่อ “ราตรีพัฒนา” ประกอบด้วยชาวคณะทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่ โดยยังอยู่ภายใต้สังกัดของสยามภาพยนตร์บริษัทเช่นเดิม ช่วงปี พ.ศ. 2469-2470 สินในฐานะหัวหน้าและผู้กำกับคณะ ทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกซ้อมและการพาคณะออกแสดงอย่างเต็มที่ โดยได้นำเอาองค์ประกอบและเทคนิคต่าง ๆ จากภาพยนตร์ตะวันตกที่ตนเคยดูมาปรับใช้กับลีลาการแสดง บทละคร และการสร้างฉากหลังด้วย

ราตรีพัฒนาเปิดการแสดงช่วงแรกตามโรงภาพยนตร์ในเครือสยามภาพยนตร์บริษัทในกรุงเทพฯ เมื่อได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงออกเดินสายแสดงตามโรงในเครือในต่างจังหวัด โดยไปไกลที่สุดคือบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนืออย่างพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลำปาง และเชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2470 กิจการของสยามภาพยนตร์บริษัทเริ่มถดถอยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จนในที่สุดต้องยุติกิจการหลังหุ่นส่วนของบริษัทถอนการลงทุนในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ส่วนธุรกิจที่ยังดำเนินการได้อยู่ ก็ถูกถ่ายโอนไปเป็นของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรทั้งหมด

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2471 คณะละครราตรีพัฒนาก็ยุติบทบาทลงเช่นกัน แต่ชาวคณะบางส่วนได้รวมตัวตั้งคณะใหม่ชื่อ “ศรีโอภาส” ออกแสดงต่อ โดยได้สิน ที่ลาออกจากบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทำหน้าที่หัวหน้าคณะเต็มรูปแบบร่วมกับจวงจันทร์ จันทร์คณา นักเขียนหนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ ที่เคยร่วมทำคณะราตรีพัฒนามาด้วยกัน ศรีโอภาสได้ออกแสดงไปทั่วประเทศ แต่ด้วยปัญหาด้านการเงิน ทำให้ต้องยุติกิจการประมาณ 3-4 ปีให้หลัง

หวนคืนสู่จอเงินและกำเนิดนักพากย์ที่ชื่อ “ทิดเขียว”

ช่วงที่สินหันไปเดินเส้นทางสายละครนั้น คาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนยุคของภาพยนตร์ที่ฉายในสยามอีกครั้ง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2470 ได้มีการเปลี่ยนจากยุคภาพยนตร์เงียบเป็นภาพยนตร์พูดหรือภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ที่มีการบันทึกเสียงตัวละครลงบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งการมาถึงของภาพยนตร์พูดนี้ ทำให้เกิดตำแหน่งนักบรรยายภาพยนตร์ยืนถือโทรโข่งอยู่ข้างจอ เพื่อคอยอธิบายเหตุการณ์และบทสนทนาต่าง ๆ ในภาพยนตร์ให้ผู้ชมฟัง

ตำแหน่งนักบรรยายหน้าจอนี้ ริเริ่มโดย ต่วน ยาวะประภาษ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวภาพยนตร์ ที่ได้แบบมาจากการบรรยายหน้าจอแบบ “เบ็นฉิ” ของญี่ปุ่น ซึ่งต่วนเคยเสนอให้มีตำแหน่งนี้ตั้งแต่ยุคภาพยนตร์เงียบแล้ว แต่ผู้บริหารสยามภาพยนตร์บริษัทในขณะนั้นไม่เห็นชอบ

หลังเสร็จสิ้นภารกิจกับศรีโอภาสแล้ว สินขอหวนคืนสู่วงการภาพยนตร์กับฉายา “ทิดเขียว” อีกครั้ง ในบทบาทนักบรรยายหน้าจอของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากรตามที่ต่วนได้มอบหมาย โดยงานแรก ๆ ของทิดเขียวคือการบรรยายภาพยนตร์เงียบของบริษัทที่ยังค้างคลังอยู่ ซึ่งทิดเขียวไม่ทำให้ผิดหวัง เขาแสดงฝีปากนักบรรยายได้อย่างน่าสนใจ สามารถพากย์เสียงพูดและร้องของตัวละครได้ทุกเพศทุกวัย เต็มไปด้วยทักษะการพูดและลูกเล่นที่แพรวพราว ซึ่งโดม สุขวงศ์ (2555, น. 292) มองว่า ทักษะเช่นนี้น่าจะมาจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ตั้งแต่งานเขียน การชมภาพยนตร์ที่หลากหลาย และการจัดการการแสดงและบริหารคณะละคร

หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของทิดเขียว คือการบรรยายภาพยนตร์อินเดียเรื่อง รามเกียรติ์ ที่โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ ซึ่งเขาได้ทดลองนำวิธีพากย์โขนมาดัดแปลงเวลาบรรยาย รวมถึงใช้วงปี่พาทย์และเครื่องดนตรีอื่น ๆ มาบรรเลงประกอบฉากสู้รบและฉากร้องเพลง ทำให้ผู้ชมประทับใจเป็นอย่างมาก และทำให้คำว่า “พากย์” กลายเป็นคำที่ใช้เรียกการบรรยายภาพยนตร์หน้าจอไปในที่สุด (โดม สุขวงศ์, 2555, น. 292)

ความสำเร็จของทิดเขียวทำให้การพากย์ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศขยายตัวตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ส่งผลให้อัตราการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเกิดอาชีพนักพากย์ในวงการภาพยนตร์สยาม โดยในช่วงแรก ยังเป็นงานที่จำกัดเฉพาะผู้ชายและจะต้องพากย์คนเดียวทั้งเรื่อง ก่อนที่จะเปิดรับนักพากย์หญิงและเพิ่มจำนวนนักพากย์ต่อภาพยนตร์หนึ่งเรื่องในภายหลัง ขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีเครื่องขยายเสียงเข้ามามีบทบาทในโรงภาพยนตร์ รูปแบบการพากย์ก็เปลี่ยนจากการยืนพากย์ผ่านโทรโข่งข้างจอ เป็นการพากย์ในห้องพากย์เฉพาะด้านหลังโรง

อาชีพนักพากย์สมัยใหม่ที่ทิดเขียวมีส่วนในการบุกเบิก ส่งอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์สยามในทศวรรษที่ 2470 อย่างมาก นักพากย์ที่มีฝีมือและชื่อเสียงสามารถดึงดูดผู้คนเข้าสู่โรงภาพยนตร์ ขณะที่ผู้ชมส่วนหนึ่งพร้อมตีตั๋วเข้าโรงเพื่อหันหลังมาดูลีลาการพากย์ของพวกเขาโดยเฉพาะ นอกจากนั้น การพากย์ยังทำให้เกิดตลาดภาพยนตร์พากย์สดสัญชาติสยามขึ้นมา กล่าวคือ เป็นภาพยนตร์เงียบที่ผลิตโดยคนสยาม ที่จะต้องใช้การพากย์เสียงสดในเวลาที่ฉายจริงเท่านั้น

สู่ตำนานนักพากย์ และผู้เชื่อมโลกภาพยนตร์กับผู้คน

อาชีพนักพากย์กลายเป็นอาชีพสุดท้ายที่สินหรือทิดเขียวใช้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัว ที่ประกอบด้วยภรรยา 3 คน และลูกรวมทั้งสิ้น 7 คน เขามีลูกศิษย์สืบทอดวิชาการพากย์และโลดแล่นในวงการพากย์ภาพยนตร์สดเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพร้อมสิน สีบุญเรือง ลูกชายของเขาเอง

ทิดเขียวมีชื่อปรากฏอยู่ในทุกยุคสมัยของประวัติศาสตร์การพากย์ภาพยนตร์ ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสิ่งหนึ่งที่อาจไม่เปลี่ยนแปลงเลย คือการโชว์ฝีมือพากย์เดี่ยวทั้งเรื่อง แม้จะเข้าสู่ยุคที่มีการใช้นักพากย์เป็นกลุ่มแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การต้องตระเวนนำภาพยนตร์ไปฉายและพากย์ตามโรงภาพยนตร์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดแบบหามรุ่งหามค่ำ ถือเป็นงานหนักและทำลายสุขภาพของสินอย่างมาก ผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของเขาคือการเป็นโรคเกี่ยวกับตับ ที่ทำให้เขาทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถตระเวนพากย์ภาพยนตร์ได้อีก

หลังการพากย์ภาพยนตร์เรื่อง บางขวาง เป็นเรื่องสุดท้าย สินมอบหมายให้พร้อมสินปฏิบัติหน้าที่แทน ก่อนจะถึงแก่กรรมในวัย 55 ปี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2491 ณ บ้านพักย่านวัดตรีทศเทพ กรุงเทพฯ

การพากย์ภาพยนตร์ยุคหลัง “ทิดเขียว” มีการเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบการฉายภาพยนตร์ การผลิตภาพยนตร์ และการเกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยในทศวรรษที่ 2490 การพากย์ภาพยนตร์สดขยายตัวไปตามการผลิตภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรที่ไม่มีการบันทึกเสียงในฟิล์ม รวมถึงการฉายภาพยนตร์กลางแปลงและภาพยนตร์เร่ นักพากย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ได้แก่ จุรี โอศิริ เสน่ห์ โกมารชุน หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร มารศรี อิศรางกูร สมพงษ์ วงศ์รักไทย และที่ขาดไม่ได้คือ พร้อมสิน สีบุญเรือง บุตรชายและลูกศิษย์ของสิน

หลังทศวรรษที่ 2510 เป็นต้นมา การมาถึงของเทคโนโลยีการบันทึกเสียงพากย์ในฟิล์มรวมถึงในวิดีโอเทป ทำให้อาชีพนักพากย์ภาพยนตร์สดค่อย ๆ หดตัวลง ขณะที่องค์กรนักพากย์รูปแบบใหม่สำหรับพากย์ภาพยนตร์แบบบันทึกเสียงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ปัจจุบัน เมื่อสื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และความเป็นภาพยนตร์ไม่ได้จำกัดอยู่ในโรงภาพยนตร์อีกต่อไป วงการนักพากย์ในไทยยังคงดำรงอยู่และปรับตัวไปตามยุคสมัย มีนักพากย์รุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย และขยายงานการพากย์ไปสู่สื่อใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่วิดีโอพรีเซนเทชันงานแต่งงาน ซีรีส์และภาพยนตร์ในระบบตรีมมิง ไปจนถึงวิดีโอเกม

ปัจจุบัน สิน สีบุญเรือง หรือทิดเขียว ยังคงได้รับการจดจำจากนักพากย์รุ่นหลังบางส่วนในฐานะบรมครูแห่งการพากย์ภาพยนตร์ และผู้ที่มีส่วนผลักดันให้การพากย์ภาพยนตร์กลายเป็นอาชีพ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2562 ยังปรากฏข่าวประชาสัมพันธ์พิธีไหว้ “พ่อครูทิดเขียว” ประจำปี โดยพงษ์วิทย์ บูรณะอุดม อดีตนายกสมาคมนักพากย์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย ณ จังหวัดอ่างทอง ขณะที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทยอย่างโดม สุขวงศ์ (2555, น. 295) มองว่า สินยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญ คือการเป็นผู้ที่เชื่อมโลกภาพยนตร์กับวิถีชีวิตของผู้คนเข้าด้วยกัน ทำให้ ‘ชาวบ้านร้านถิ่น’ รับเอาภาพยนตร์จากภายนอกมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้ โดยการทำลายกำแพงภาษาลงด้วยการพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์ เปี่ยมไปด้วยความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์

 

เรื่อง: พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล

ภาพ: โดม สุขวงศ์. (2555). ทิดเขียว กับโลกบันเทิงไทย. ใน สยามภาพยนต์ (น. 269-298). หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน).

 

อ้างอิง:

ชานันท์ ยอดหงษ์. (31 มีนาคม 2563). ลม่อม สีบุญเรือง ปัญญาชนหญิงหัวก้าวหน้า ลูกสาวเซียวฮุดเสง. The People. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.thepeople.co/read/21368

ณวรา สุวรรณภิงคาร. (2562). กระบวนการกลายเป็นนักพากย์ (Voice Actor) กรณีศีกษา: ทีพากย์พันธมิตร [รายงานการศึกษาเฉพาะบุคคล, มหาวิทยาลัยศิลปากร]. คลังปัญญา มหาวิทยาลัยศิลปากร. http://www.sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/15258

โดม สุขวงศ์. (2555). ทิดเขียว กับโลกบันเทิงไทย. ใน สยามภาพยนต์ (น. 269-298). หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน).

ทีมข่าว MC.news จังหวัดอ่างทอง. (ม.ป.ป.). “นักพากย์” จัดใหญ่ไหว้ “พ่อครูทิดเขียว” ผู้ให้กำเนิดศิลปะการพากย์หนัง พร้อมไหว้ครูหัตถศาสตร์ “พ่อปู่ฤาษีนารอดนารายณ์”. Mahachon News. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.mahachon-news.com/archives/1348

โรม บุนนาค. (1 กุมภาพันธ์ 2560). เปิดตำนานการพากย์หนังไทย! เขย่างานประกวดที่ซานฟรานซิสโกตะลึง! ฮอลลีวูดยอมรับเป็นความมหัศจรรย์ของโลกภาพยนตร์!. MGR Online. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2565, จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/960000001072