13 ก.ย. 2565 | 19:16 น.
ในส่วนของกอดาร์เองก็เป็นชื่อที่สำคัญต่อการสร้างภาพยนตร์รุ่นถัด ๆ ไปเป็นอย่างมาก เพราะผู้กำกับหลาย ๆ คน ส่วนใหญ่ก็ต้องได้รับอิทธิพลมาจากเขาคนนี้ หรือไม่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากคนที่ได้รับอิทธิพลจากกอดาร์มาอีกที
.ไม่ผิดนักถ้าจะนิยามว่ากอดาร์คือผู้เป็นรากฐานและมีคุณูปการให้กับการทำหนังอิสระที่ไม่ต้องการที่จะถูกควบคุมโดยสตูดิโอ ไม่ยึดโยงอยู่กับงบหรือกรอบกฎการสร้างแบบเดิม ๆ เพราะ ‘มันน่าเบื่อ!’ และด้วยความอึดอัดปนเบื่อหน่ายของกลุ่มนักวิจารณ์หนังชาวฝรั่งเศสนี้เอง จึงทำให้วงการหนังมีรสมีชาติขึ้นตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
บริบทที่ก่อให้เกิด French New Wave Cinema
หากกล่าวถึงภาพยนตร์กระแสหลักในยุคสมัยนี้ ก็คงนี้ไม่พ้นภาพยนตร์ที่ผลิตจากค่ายยักษ์ใหญ่แห่งฮอลลีวูดที่ส่งมอบความบันเทิงให้ผู้ชมได้อย่างอัดแน่นเต็มอิ่มเปรียบดั่งการก้าวเข้าไปอีกโลกหนึ่งที่เหนือจินตนาการและความเป็นจริงไปมากโข การซื้อตั๋วเข้าไปนั่งชมภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ก็เปรียบเสมือนการซื้อความสุขความบันเทิงแบบง่าย ๆ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย
ถึงกระนั้น ก็หาใช่ว่าทุกคนจะชื่นชอบที่จะดูภาพยนตร์เหล่านั้น บ้างก็เบื่อ บ้างก็ไม่ชอบ หรือบ้างก็อยากเห็นอะไรที่มันใหม่กว่าเดิมบ้าง แต่นับเป็นเรื่องที่โชคดีที่ในยุคสมัยนี้มีทางเลือกมากมายให้ผู้ชมได้เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นหนังแมส หนังอินดี้ หนังสารคดี หรือหนังคัลท์ ๆ แปลก ๆ
แต่หากย้อนไปในยุคทศวรรษที่ 1950 ตัวเลือกของผู้ชมอาจไม่ได้มีมากเท่าใดนัก ทำให้ผู้ชมหลายคนรู้สึก ‘เบื่อ’ กับการสร้างภาพยนตร์ตามขนบเดิม ๆ ที่ปราศจากความตื่นเต้นและความคิดสร้างสรรค์ หากเป็นยุคนี้เราก็อาจจะหาภาพยนตร์แนวอื่น ๆ ดูได้ แต่ในสมัยก่อนอาจจะไม่ได้ง่ายเช่นนั้น…
อยู่มาวันหนึ่งก็มีกลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากนิตยสาร Cahiers du Cinema เขียนโจมตีการทำหนังแบบขนบเดิมที่ต้องถ่ายในสตูดิโอ ผลิตแบบเดิม ๆ ว่าไร้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความอึดอัด นักเขียนเหล่านั้นอัดอั้นมานาน พวกเขาจึงลงมือทำหนังสั้นเองมันเสียเลย
ขณะนั้นเองก็เป็นเวลาอันประจวบเหมาะพอดีกับสถานการณ์บ้านเมืองที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังสนับสนุนนักทำหนังหน้าใหม่ให้ออกมาเล่าเรื่องผ่านวิสัยทัศน์ของตนเอง มีทุนมากมายรอให้ศิลปินมากหน้าหลายตามาใช้ ผสานกับการที่อุปกรณ์ต่าง ๆ มีขนาดและน้ำหนักเบากว่าเก่ามาก จึงทำให้เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนง่ายกว่าเดิม แถมยังใช้ทุนที่ต่ำกว่าเดิมอี
ด้วยเหตุนี้ นักเขียนเหล่านั้นที่เพิ่งทำหนังสั้นกันเสร็จจึงเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมให้พวกเขาได้มาโชว์กันว่า ‘หนังที่ดีมันเป็นอย่างไร!’ จึงเกิดเป็นกระแสการทำหนังที่เปรียบเสมือนเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะปฏิวัติศาสตร์แห่งการสร้างภาพยนตร์และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำหนังรุ่นต่อ ๆ มาต่อยอดจนมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราเรียกคลื่นลูกดังกล่าวว่า ‘French New Wave’
ซึ่งเป็นกระแสการทำหนังที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับนายทุนหรือสตูดิโอ ผู้กำกับสามารถนำเสนอวิสัยทัศน์ของตนเองได้เต็มขั้น อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะถ่าย อยากจะตัดต่อ อยากจะกำกับแบบใดก็สามารถทำตามใจตัวเองได้อย่างเต็มที่ ภายใต้ทุนที่จำกัด จะอธิบายว่า French New Wave เป็นกระแสการสร้างภาพยนตร์อินดี้ก็ไม่ผิดมากนัก แต่มองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นบ่อน้ำที่อุดมไปด้วยความสร้างสรรค์ที่แหกจากกฎเกณฎ์แบบเดิม ๆ และสร้างความแปลกใหม่ออกมามากมาย
หลังจากมีกระแสดังกล่าวก่อตัวขึ้นมาก็มีนักทำหนังหน้าใหม่มากมายก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมด้วยสไตล์ความเป็นตัวเองที่แหกขนบและไม่ยึดโยงกับสไตล์ของภาพยนตร์ฮลลีวูด แต่สี่หัวหอกหลักของกระแสดังกล่าวก็ต้องยกให้กลุ่มนักวิจารณ์จากนิตยสารที่เรากล่าวไปข้างต้น และหนึ่งในนั้นก็เป็นใครไม่ได้นอกจากชื่อที่ใครหลายคนน่าจะรู้จักกันดีอย่าง ‘ฌ็อง-ลุก กอดาร์’ (Jean-Luc Godard)
.
ทำหนังแบบกอดาร์
พอได้มาทำหนัง สิ่งแรกที่เขาอยากทำก็น่าจะเป็นการแหกกฎ ในตอนที่เขาสร้างหนังใหญ่เรื่องแรกอย่าง ‘Breathless’ ที่ออกฉายในปี 1960 เขาเขียนบทภาพยนตร์ภายในคืน ๆ เดียว แถมยังให้นักแสดงซ้อมบทไปถ่ายไป ไม่ต้องเสียเวลาท่องคืนก่อนหน้าหรือชั่วโมงก่อนซ้อมอะไรทั้งนั้น จะถ่ายก็ค่อยอ่านบทเลย ในส่วนของการถ่าย เขาก็ถือกล้องใหญ่แบบแฮนเฮล (Handheld) ถ่าย จนทำให้มันกลายเป็นเทคนิคสุดป๊อปปูลาร์ที่เรายังใช้กันมาถึงทุกวันนี้ และด้วยความเรียลทั้งหลายนี้จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวดูมีกลิ่นอายความเป็นสารคดี เพราะมันอุดมไปด้วยความเรียลแบบสุด ๆ
สไตล์การผลิตภาพยนตร์แบบนี้ ในแง่หนึ่งอาจจะมองได้ว่ามันการถ่ายทำภาพยนตร์แบบทุนต่ำที่ผสานกับความมุ่งหวังของผู้สร้างที่อยากทดลองโน่นทดลองนี่ หาช่องทางใหม่ ๆ ในการผลิตไปให้พ้นจากกรอบเดิม ๆ แต่หากมองในอีกแง่หนึ่งมันก็เปรียบเสมือนการต่อต้านขนบธรรมเนียมการผลิตภาพยนตร์แบบเดิม ๆ ที่บทต้องเป๊ะ ไฟต้องสวย กล้องต้องนิ่ง ว่าถึงไม่ทำแบบนั้นก็สามารถสร้างหนังที่ดีออกมาได้
นอกจากนั้นกอดาร์ก็ยังได้ลองประดิษฐ์แกรมม่าใหม่ ๆ ในภาษาหนังขึ้นมาอีกด้วย อย่างหนึ่งที่เราเห็นได้แล้วก็คือการถือกล้องถ่ายด้วยมือที่จะทำให้ภาพมีความสั่นมากกว่าปกติซึ่ง ณ ตอนนี้ก็ถูกจารึกไว้เป็นภาษาแบบหนึ่งที่สื่อถึงความไม่มั่นคงของความรู้สึกตัวละคร และอีกอย่างหนึ่งที่กอดาร์ได้ลองบุกเบิกก็คือการ ‘จัมพ์คัท’ (Jumpcut) ในการตัดต่อ
เรียกได้ว่าเมื่อได้มาทำหนัง กอดาร์ก็เปรียบเสมือนกับการได้ปลดปล่อยความอึดอัดทั้งหมดที่มีออกมาผ่านขั้นตอนการทำงาน เขาน่าจะเบื่อระบบระเบียบการทำงานตามขนบแบบเดิมเอาเสียมาก ๆ ซึ่งมันสะท้อนผ่านสไตล์การทำหนังของเขาที่แหกกฎแบบขั้นสุด แต่ถึงกระนั้น ผลงานของเขามันก็เปรียบเสมือนไฟส่องนำทางให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้เดินตาม
.
ภาพ: Images Press / Contributo