อาลัย ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม อีกหนึ่งบรมครูนาฏศิลป์ในไทย ผู้ฝ่าฟันอุปสรรคในวัยเด็ก

อาลัย ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม อีกหนึ่งบรมครูนาฏศิลป์ในไทย ผู้ฝ่าฟันอุปสรรคในวัยเด็ก

แวดวงสายนาฏศิลป์ในไทย ครูมืด - ประสาท ทองอร่าม คือบุคคลมีบทบาทและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แม้ชีวิตในวัยเด็กจะเติบโตจากย่านสลัม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและความสนใจส่วนตัว ทำให้ท่านกลายมาเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าอีกรายของวงการนาฏศิลป์ไทย

  • ครูมืด - ประสาท ทองอร่าม ปรมาจารย์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย เสียชีวิตลงโดยฝากผลงานและสร้างคุณประโยชน์แก่วงการศิลปะการแสดงมากมาย
  • ตลอดเส้นทาง ครูมืดมีผลงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดงแบบร่วมสมัย หรือศิลปะแบบดั้งเดิม อีกทั้งควบคุมดูแลการแสดงและซักซ้อมการแสดงโขนครั้งสำคัญ

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 สื่อหลายสำนักต่างรายงานข่าวเศร้าสำหรับคนในแวดวงนาฏศิลป์ไทย เมื่อมีข้อมูลว่า ครูมืด - ประสาท ทองอร่าม ปรมาจารย์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย มีผลงานมากมายหลากหลายหมวดเสียชีวิตลง

สำหรับผู้สนใจงานแสดงเชิงนาฏศิลป์ไทย หรืองานแสดงร่วมสมัย น่าจะคุ้นใบหน้าของครูมืดเป็นอย่างดี 

ก่อนจะมาเป็นที่รู้จักในแวดวงนาฏศิลป์และศิลปะร่วมสมัยแบบไทย ครูมืดเคยเล่าชีวิตในวัยเด็กระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ คุยแซ่บ show ช่อง one31 ว่า เติบโตจากในย่านสลัม ที่พักอาศัยคือบ้านเช่าซึ่งอยู่ข้างวัด แม้ละแวกที่พักอาศัยอยู่จะห่างไกล แต่คนในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นบุคคลผู้รอบรู้ และยังมีผู้ได้รับเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติอยู่ด้วย

ขณะที่ชีวิตในวัยเด็กมีพฤติกรรมเกเรอยู่บ้าง เคยมีวีรกรรมหลายอย่างในสมัยเป็นนักเรียนข้าราชการ เคยมีคำสั่งให้ออกจากโรงเรียน ออกจากราชการ แต่ได้ผู้ใหญ่ขอไว้ ลงโทษให้เบากว่าขั้นไล่ออก โทษที่ได้รับคือโดนลดขั้นเงินเดือน และให้สอบตกปีหนึ่ง

ผู้คนรอบข้างส่วนหนึ่งเป็นผลทำให้บ่มเพาะความสนใจบางอย่างด้วย โดยครูมืด เล่าให้ฟังว่า ปู่เป็นนักดนตรีไทย เป็นลูกศิษย์ของ ครูไพร หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ปู่มักนำครูมืดติดตัวไปด้วย จึงทำให้ได้รับการถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ไทยทุกแขนงมาตั้งแต่ยังเด็ก

ขณะที่สถานะการเงินของบ้านไม่ได้ถึงกับมีฐานะดี ทางบ้านเคยอาศัยข้าววัดกิน ในอดีต วัดพระพิเรนท์ถือเป็นแหล่งรวมศิลปะการแสดงของไทยทุกแขนง จึงมีโอกาสได้ดูการแสดงอย่างโขน ลิเก และดนตรี จนรู้สึกชื่นชอบ 

ครูมืด เข้าศึกษาที่โรงเรียนนาฏศิลป์ (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยนาฏศิลป) สาขาดุริยางค์ไทย ขณะที่ศึกษาก็ได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร จากดำริให้คัดเลือกนักเรียนมารับการฝึกหัดนาฏศิลป์ทุกแขนง มีอาจารย์เสรี หวังในธรรม บรมครูด้านนาฏศิลป์ไทยเป็นผู้ดูแลและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้  

ในด้านหน้าที่การงาน ครูมืด รับราชการที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในตำแหน่งศิลปินสำรอง ร่วมงานกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงโขนหลายท่าน การทำงานในกรมศิลปากรมีส่วนทำให้ครูมืด มีโอกาสสะสมความรู้และประสบการณ์ในการแสดงโขนอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งหัวหน้างานกลุ่มวิจัยพัฒนางานและการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

ตลอดการทำงาน ครูมืดฝากผลงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดงแบบร่วมสมัย หรือศิลปะแบบดั้งเดิม อีกทั้งควบคุมดูแลการแสดงและซักซ้อมการแสดงโขนครั้งสำคัญหลากหลายโอกาส และมักทำหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านการแสดงนาฏศิลป์ให้ประชาชนด้วย

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้คนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ล้วนจดจำภาพใบหน้าและน้ำเสียงของท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นจากบทบาทการแสดงในสื่อร่วมสมัยและบนเวทีต่าง ๆ ของครูมืดเอง ไปจนถึงบทบาทผู้ให้ความรู้ หรือผู้ควบคุมดูแลซักซ้อมการแสดงอยู่เบื้องหลัง

 

ภาพ: ครูมืด เมื่อปี 2560 ภาพจาก NATION PHOTO

อ้างอิง:

กรุงเทพธุรกิจ

ไทยโพสต์