The Matchgirls' Strike ใน Enola Holmes 2 เรื่องจริงของสาวโรงงานไม้ขีดที่รวมตัวประท้วง

The Matchgirls' Strike ใน Enola Holmes 2 เรื่องจริงของสาวโรงงานไม้ขีดที่รวมตัวประท้วง

เรื่องจริงของการลุกฮือของหญิงสาวโรงงานไม้ขีดที่ถูกกดขี่ขูดรีดด้วย ‘ฟอสฟอรัสขาว’ สู่การยืนหยัดเพื่อสิทธิในฐานะแรงงานจากศตวรรษที่ 19 จนกลายมาเป็นเรื่องจริงเบื้องหลังเรื่องราวของ Enola Holmes 2 ที่ฉายทาง Netflix

หลังจากเหตุการณ์สืบสวนตามหาแม่ในภาคแรกของสาวน้อยนักสืบผู้เป็นน้องสาวของ ‘เชอร์ล็อก โฮมส์’ (Sherlock Holmes) นามว่า ‘เอโนลา โฮล์มส์’ (Enola Holmes) ในภาพยนตร์ภาคถัดมา ก็ถึงเวลาที่เธอจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งความน่าสนใจในภาคนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการที่เธอเปิดบริษัทรับสืบสวนเป็นของตัวเอง แต่เคสที่เธอเจอกับหญิงสาวที่หายตัวไป ที่พอสืบลึกไปแล้วก็พบว่าเกี่ยวโยงกับกรณีการขูดรีดกดขี่ของโรงงานไม้ขีดในประเทศอังกฤษ ณ ขณะนั้น 

ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวนั้นหาใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นการนำเอาเรื่องจริงของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาตีแผ่ในภาพยนตร์เรื่อง Enola Holmes 2 อีกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นหมุดหมายและหลักฐานสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงาน แถมผู้คนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านทั้งหมดนั้นล้วนเป็นผู้หญิง…

 

ไม้ขีดและการกดขี่

ย้อนกลับไปในวันที่ 5 กรกฎาคม 1888 บริเวณลอนดอนตะวันออก พนักงานหญิงที่รวมทั้งผู้ใหญ่และเด็กกว่า 1,400 คน ก้าวเดินออกจากโรงงานผลิตไม้ขีดและสร้างวีรกรรมที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์และจะยังถูกพูดถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไปแล้วกว่าหนึ่งศตวรรษ 

การประท้วงของสาวโรงงานไม้ขีด (Matchgirls’ Strike) ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญแห่งการต่อสู้ในด้านสิทธิและคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงาน แถมยังเป็นการพิสูจน์อย่างประจักษ์ชัดถึงการต่อสู้ของ ‘พลังหญิง’ ที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ผ่านการปะทะกับความไม่ถูกต้องของการกดขี่ภายใต้การขูดรีดจากระบบทุนนิยมจากการปฏิวัติอุตสหากรรม (Industrial Revolution)

ก่อนที่การยืนหยัดออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิในฐานะแรงงานเกิดขึ้น เหล่าแรงงานหญิงที่ทำงาน ณ โรงงานไม้ขีดนามว่า ‘Bryant & May’ ต้องเผชิญกับการกดขี่ขูดรีดและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่นานาประการ ไม่ว่าจะในด้านรายได้ คุณภาพชีวิต และสุขภาพที่ถดถอยจากการแสวงหากำไรจากนายทุนผู้เป็นเจ้าของโรงงาน

ชีวิตของสาวโรงงานไม้ขีดเต็มไปด้วยความลำบาก ไม่เพียงแต่พวกเธอต้องทำงานกันอย่างหนักลากยาวกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีการจำกัดเวลาทำงานดังสมัยนี้ ค่าแรงตอบแทนที่พวกเธอได้ก็แทบจะเทียบไม่ได้กับหยาดเหงื่อที่พวกเธอใส่ลงไปเลยแม้แต่น้อย แถมเจ้านายของพวกเธอก็จ้องจะหักเงินของพวกเธอในทุก ๆ ช่องโหว่ที่อาจมีได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันในเวลางาน มาสายเล็กน้อย หรือแม้กระทั่งการเดินไปเข้าห้องน้ำ

ที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่ทางโรงงานให้พวกเธอใช้ ‘ฟอสฟอรัสขาว’ (White Phosphorus) ในกระบวนการผลิตไม้ขีด ซึ่งสารเคมีดังกล่าวถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้สูดดมอย่างร้ายแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การที่ฟันของพวกเขาจะหลุดร่วงลง เหงือกบวม แถมยังนำไปสู่โรค ‘Phossy Jaw’ ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติตรงบริเวณกระดูกขากรรไกรจากการสูดดมสารเคมีดังกล่าวเข้าไป ซึ่งแรงงานหลายคน รวมถึงเด็ก ๆ ก็ประสบกับโรคดังกล่าว 

และสาเหตุที่ทางโรงงานเลือกใช้ฟอสฟอรัสขาวในขั้นตอนการผลิตทั้ง ๆ ที่สามารถใช้อย่างอื่นที่ปลอดภัยกว่าในกระบวนการผลิตได้ก็เพราะ ฟอสฟอรัสขาวมีราคาถูก…. แต่ในขณะที่ Bryant & May กำลังกอบโกยกำไรจากการลดต้นทุนการผลิต หญิงสาวผู้เป็นแรงงานสำคัญในการผลิตไม้ขีดกำลังสูญเสียเลือดเนื้อและสุขภาพของตนเอง

การลุกฮือของหญิงสาวโรงงานไม้ขีด

เมื่อกาลเวลาผ่านไป เรื่องราวของสภาพการทำงานที่ขูดรีดกันอย่างไร้มนุษยธรรมก็ไปถึงหูนักกิจกรรมที่เดินหน้าต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีนามว่า ‘แอนนี บีแซนต์’ (Annie Besant) จนเกิดการพูดคุยและแรงงานหญิงเหล่านั้นก็ได้แชร์ประสบการณ์กับแอนนีถึงความโหดร้ายที่พวกเธอต้องเจอ 

หลังจากได้รับรู้ถึงความโหดร้ายที่หญิงสาวเหล่านั้นต้องเผชิญ เธอก็ได้ตีแผ่เรื่องราวเหล่านั้นและเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ในวันที่ 23 มิถุนายน 1888 จนบริษัท Bryant & May ต้องขอให้เหล่าแรงงานปฏิเสธเรื่องราวดังกล่าว แต่ใครเล่าจะทำ…

เหตุการณ์ที่เปรียบเสมือนการสาดน้ำมันเข้ากองไฟที่กำลังจะลุกคือการที่โรงงานไล่พนักงานคนหนึ่งออก จนแรงงานหญิงกว่า 1,400 ชีวิต ร่วมมือร่วมใจกันหยุดงาน และดำเนินการประท้วงในเวลาต่อมาเพื่อแสดงความไม่พอใจในการที่แรงงานคนหนึ่งถูกไล่ออก แต่ข้อเรียกร้องหาได้หยุดแค่นั้น เพราะพวกเขาก็ได้เรียกร้องในเรื่องของสภาพการทำงานที่ย่ำแย่อีกด้วย จนโรงงานต้องหยุดทำงานเนื่องจากไร้แรงงานผู้เป็นกลไกสำคัญในการผลิต

แม้ว่าทางโรงงานยื่นข้อเสนอที่จะรับแรงงานคนเดิมกลับเข้ามาทำงานหลังจากที่เพิ่งไล่ออกไป แต่เหล่าหญิงไม้ขีดเห็นว่าเพียงเท่านั้นยังไม่พอ พวกเธอยืนหยัดที่จะมีคุณภาพชีวิตและการทำงานกับโรงงานไม้ขีดดังกล่าวที่ดีขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงหลังการประท้วง

ท้ายที่สุด Bryant & May ก็ยอมปรับตัวและปฏิบัติกับแรงงานของตนแบบที่มีมนุษยธรรมมากขึ้นผ่านการยอมรับข้อตกลงต่าง ๆ ที่ทางฝ่ายประท้วงจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแรงงานที่พวกเขาไล่ออกในคราวแรกกลับเข้าทำงานดังเดิม ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานมากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังเลิกเก็บค่าปรับต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นเช่นการเดินไปเข้าห้องน้ำหรือการพูดคุยกันระหว่างทำงาน

นอกจากนั้นฟอสฟอรัสขาวในการผลิตไม้ขีดอันเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้ทำงานอย่างร้ายแรงก็ถูกแบนในประเทศอังกฤษ นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ยังได้สะเทือนไปถึงบริษัทอื่น ๆ ในประเทศอื่น ๆ ให้สนใจและตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานมากขึ้นกว่าเดิม ในส่วนของโรงงาน Bryant & May แม้คราวแรก ในช่วงที่ฟอสฟอรัสขาวยังไม่ได้ถูกแบนอย่างจริงจัง พวกเขาก็จัดห้องพิเศษในการรับประทานอาหารให้พนักงานที่แยกขาดจากในส่วนที่มีฟอสฟอรัสขาว เพื่อลดปริมาณการสูดดม

การลุกฮือครั้งนั้นไม่เพียงแค่ทำให้สาธารณชนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานมากขึ้น แต่ยังทำให้เราได้เห็นถึงตัวอย่างของพลังของการร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม หลังจากวันที่แรงงานหญิง 1,400 คน กล้าก้าวเดินออกจากโรงงานแล้วยืนหยัดเพื่อสิทธิของตนเอง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ไม่เพียงแก่ตัวเขาเท่านั้น แต่กับคนรุ่นหลัง ๆ อีกมากมาย

เพื่อที่จะไม่มีใครต้องมาประสบพบเจอกับความเลวร้ายเช่นนั้นอีก…

 

ภาพ: 

IMDb

Universal History Archive / Contributor - Getty Images

 

อ้างอิง:
https://www.digitalspy.com/movies/a41820685/enola-holmes-2-matchgirls-strike-true-story/

https://mashable.com/article/enola-holmes-2-history-matchgirls-strike

https://www.cosmopolitan.com/uk/entertainment/a41884603/enola-holmes-2-true-story-matchgirls-strike/

https://www.matchgirls1888.org/the-story-of-the-strike