Blur VS Oasis สงครามแห่งยอดวง Britpop โต้ฝีปาก-ทำเพลงแข่งกัน เพราะเขม่นกัน

Blur VS Oasis สงครามแห่งยอดวง Britpop โต้ฝีปาก-ทำเพลงแข่งกัน เพราะเขม่นกัน

ยุคที่ดนตรีบริตป็อป (Britpop) แพร่หลาย วงโอเอซิส (Oasis) และเบลอร์ (Blur) เคยเป็นคู่อริในการทำงานดนตรีออกมาแข่งกัน เพราะสมาชิกจากวงแต่ละฝ่ายเขม่นกัน เป็นศึกแห่งดนตรีครั้งประวัติศาสตร์

  • Britpop มาแรงในยุคต้น 90s และวงที่เป็นหัวหอกมีชื่อวงดังอย่าง Blur และ Oasis
  • แต่แล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้ Blur และ Oasis เขม่นกันจนนำมาสู่สงครามแห่ง Britpop 

จะมีสักกี่ครั้งที่วงดนตรีเพียง 2 วง จะได้มีพื้นที่ในสื่อในทุกสำนัก ไม่ว่าจะเป็นหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจะเป็นข่าวทางโทรทัศน์ ต่างโหมประโคมวงดนตรีทั้งสองวงนี้ จนกลายเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ในหนึ่งหน้าตำนานของดนตรี 

นั่นก็คือเหตุการณ์การปล่อยซิงเกิ้ลชนกัน ระหว่างมุมแดง Oasis ที่ปล่อยซิงเกิ้ล Roll with It และมุมน้ำเงิน Blur กับซิงเกิ้ล Country House ในวันที่ 14 สิงหาคม 1995 จนสื่อเรียกขานเหตุการณ์นี้ว่า The Battle of Britpop กันเลยทีเดียว

แต่ก่อนจะไปถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ขอเกริ่นนำถึงช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของ Britpop Culture หรือ วัฒนธรรมบริทพ็อพ ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญของวงการดนตรีในยุค 90s กันก่อน

Britpop ช่วงเวลาเจิดจ้าของวงการดนตรีแห่งเกาะอังกฤษ

ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1990s ประเทศมหาอำนาจแห่งวงการดนตรี ทั้งแผ่นดินอเมริกา หรือฟากฝั่งเกาะอังกฤษ ต่างพยายามอย่างหนักหน่วงที่จะแสดงศักยภาพผ่านอัตลักษณ์ทางดนตรีเพื่อแสดงให้เป็นถึงตัวตนและความแตกต่าง

โดยก่อนหน้านี้ในช่วงยุค 80s อังกฤษและอเมริกา ต่างแลกหมัดกันกับดนตรีแนว Metal และ Hip-Hop ทางฟากฝั่งอเมริกา และ Synth-Pop / Baggy / Madchester จากฝั่งอังกฤษ

แต่เมื่อแนวดนตรีที่กล่าวมา เริ่มอ้อนล้าโรยแรง อเมริกาก็ค้นพบซาวด์ดนตรีเฉพาะทาง จากการแผ้วถางของ Nirvana ที่นำพาดนตรี Grunge กลายเป็นวัฒนธรรมส่งออกที่แข็งแกร่ง จนเมืองท่าที่ถือกำเนิดดนตรีแห่งนี้อย่าซีแอทเทิล กลายเป็นที่สักการะของชาวร็อคยุคนั้นไปในทันที

ในขณะที่ฟากฝั่งอังกฤษเองดนตรี Madchester ที่รวมเอาดนตรีร็อคกับดนตรีเต้นรำเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านวงดนตรีอย่าง Happy Monday, The Charlatans รวมไปถึง Blur วง 4 หนุ่มรุ่นใหม่ที่เข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แต่วัฒนธรรม Madchester ก็เป็นเพียงความวูบวาบในช่วงหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจต้านวัฒนธรรม Grunge ที่กระจายความฮอตไปทั่วทุกมุมโลกได้เลย

จนกระทั่ง Blur ออกอัลบั้มชุดแรก Leisure (1991) แม้จะเป็นก้าวแรก แต่ก็เป็นก้าวแรกที่ค่อนข้างโคลงเคลง เพราะ Blur มาในช่วงเวลาขาลงของวัฒนธรรม Madchester, Baggy จึงไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรของแฟนเพลง

รวมไปถึงอัลบั้มชุดที่ 2 Modern Life is Rubbish (1993) ที่แม้ว่าวงจะค้นเจอแนวทางที่แปลกใหม่ขึ้น แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้รับการตอบรับในวงกว้าง โดยเฉพาะอเมริกาที่เขาได้ไปเดินสายและพบกับความผิดหวังกลับบ้านเกิดไป วงที่นำโดย เดมอน อัลบาร์น ด้วยอัลบั้มชุดที่ 3 ว่าหากมันไม่ดังอีก พวกเขาเตรียมยุบวงทันที

เหมือนพระเจ้าจะรับรู้ในความพยายาม อัลบั้มชุดที่ 3 Parklife (1994) ไม่เพียงแต่จะเป็นอัลบั้มสุดฮิตเท่านั้น แต่ยังเป็นวงแรก ๆ ที่บันทึกหน้าหนึ่งของวัฒนธรรมบริทพ็อพอย่างเป็นทางการอีกด้วย

ยกที่ 1 Blur ผู้จุดไฟแห่ง Britpop ให้ลุกโชน

Blur กลายวงดนตรีขวัญใจมหาชนในทันที เมื่ออัลบั้มชุดที่ 3 Parklife ที่มีซิงเกิ้ลเปิดตัวอย่าง Gils and Boys ที่หลอมรวมความเป็นชนชาติอังกฤษที่ทั้งมีความเนี๊ยบแบบผู้ดีอังกฤษ และความขี้แซะรวมอยู่ในคนเดียวกัน จนถูกสื่อมวลชนขนานนามเพลงนี้ว่า “ลมหายใจของชาวสหราชอาณาจักรยุคใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว”

และพาบทเพลงนี้ขึ้นชาร์ทอันดับ 1 UK Charts ไปได้อย่างสง่างาม พร้อมกับการผุดขึ้นของวงดนตรีในทิศทางเดียวกันและช่วงเวลาไล่เลี่ย อย่าง Suede / Shed Seven / Pulp

จนสุดท้ายกระแส Britpop ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นอย่างร้อนแรง ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาโรยราของ Grunge ที่อายุแสนสั้นเมื่อมันจบลงพร้อมการด่วนจากโลกนี้ไปด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมของ เคิร์ต โคเบน

ความโด่งดังของ Blur เป็นที่จับตาของสื่อมวลชนมากมาย แม้กระทั่งปาปาราซซี่ก็ยังลงข่าวซุบซิบในความสัมพันธ์ระหว่าง เดมอน กับ จัสติน ฟิชช์มานน์ แห่งวง Elastica นั่นคือสัญญาณที่ดีที่บอกได้ว่า “Blur ได้เข้าไปนั่งในใจของชาวอังกฤษเรียบร้อยแล้ว”

แต่วง Blur แม้จะมีความสำเร็จท่วมท้นอย่างไร พวกเขาก็มัดใจได้เพียงกลุ่มปัญญาชน ที่เห็นชอบในความอาร์ตและความยียวนของวงเพียงเท่านั้น หาได้เข้าไปเกาะกลุ่มชนชั้นแรงงานที่กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในช่วงนั้นไม่

กระทั่งมีวงหน้าใหม่ ที่เสมือนแหล่งน้ำท่ามกลางความแห้งแล้งสิ้นหวังของคนยุคนั้นได้ถือกำเนิดขึ้น วงนั้นก็คือ Oasis นั่นเอง

วง Oasis

ยกที่ 2 Oasis ตัวแทนชนชั้นแรงงานที่ยิ่งใหญ่

Oasis ถือกำเนิดมาแบบไม่ตั้งใจเท่าไหร่นัก มันเริ่มต้นจาก โนล กัลลาเกอร์ คนพี่ที่เริ่มต้นจากการเป็นเด็กยกอุปกรณ์ดนตรีให้กับวง Inspiral Carpets มาก่อน พวกเขาตั้งวงกับน้องชายที่ไม่เอาไหน เลียม กัลลาเกอร์ และเพื่อน ๆ ในละแวกเดียวกัน ตั้งชื่อวงว่า The Rain ก่อนมาเปลี่ยนเป็น Oasis ในภายหลัง โดยอลัน แมคคี แมวมองและเจ้าของค่าย Creation Records เห็นศักยภาพของวงสองศรีพี่น้องนี้ จึงชวนมาอยู่ค่ายด้วย

ซิงเกิ้ลเปิดตัว Supersonic คือพลังอันล้นเหลือ ผ่านเสียงกีตาร์อันแผดกร้าว และเสียงร้องที่ไม่ปรุงแต่งใด ๆ ทำให้ Oasis กลายเป็นที่จับตาโดยทันที

และ Live Forever คือระเบิดลูกสำคัญที่ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ร้อนแรงสุดในเกาะอังกฤษในช่วงเวลานั้น จนมันกลายเป็นเพลงชาติของชาวอังกฤษตลอดกาล และ Definitely Maybe (1994) คืออัลบั้มเปิดตัวที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้กับวงการดนตรีแห่งสหราชอาณาจักร

แม้อัลบั้ม Definitely Maybe จะทำยอดขายระดับบิ๊กเบิ้มขนาดไหน แต่ตอนนั้น Blur ก็ไม่ได้คิดว่าวงรุ่นน้องอย่าง Oasis จะเป็นศัตรู

ในปี 1995 ที่วงการ Britpop ยึดหัวหาดครองกระแสความนิยมอย่างล้นหลาม Blur ขึ้นไปรับรางวัล Brit Awards สาขา Best Group และ Best Album ในคืนนั้น เดมอน ขึ้นไปรับรางวัล ยังกล่าวถึงวง Oasis ว่า

“เราควรแบ่งรางวัลนี้ให้กับ Oasis ด้วย”

แกรแฮม ค็อกซ์ซัน ก็สมทบทันที “พวกเราโคตร Respect วงนั้นเลย”

แน่นอนว่าความคึกคะนอง ภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนจะแซะ ๆ ของ Blur ในช่วงนั้น ไม่มีใครรู้ว่าที่กล่าวบนเวที พวกเขาคิดจริงหรือแค่อยากแซะความสำเร็จของวง แต่เช้าวันต่อมา วง 2 วงก็กลายเป็นอาหารอันโอชะของสื่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ยกที่ 3 จุดแตกหักครั้งสำคัญ

หลังจากการแจกรางวัล Brit Awards..NME แมกกาซีนดนตรีที่ทรงอิทธิพล ก็จัดรางวัลที่ชื่อ Brat Awards ขึ้นในปี 1995 Blur คว้ารางวัล Best LP จากอัลบั้ม Parklife ส่วน Oasis ก็คว้ารางวัล Best Single จากเพลง Live Forever

ทั้ง 2 รางวัลต่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เพราะมาจากโหวตของแฟน ๆ นอกจากนั้น Blur ก็คว้าอีกรางวัล นั่นก็คือ Best Band ส่วน Oasis ก็คว้า Best New Band ไป

ช่วงนั้น Oasis กำลังดังมากในด้านการเป็นกระบอกเสียงให้ชนชั้นรากหญ้า ขณะเดียวกัน กัลลาเกอร์ ผู้น้องก็ค่อย ๆ เผยความเป็น Rock Star Bad Boy ให้เห็น

ในคืนนั้นมันควรจะเต็มไปด้ยความชื่นมื่นของทั้งสองวงที่สามารถเอาชนะศิลปิน Mainstream ได้ แต่เมื่อสื่อมวลชนพากันลั่นชัตเตอร์ เขาก็จับคู่ เดมอน กับ โนล ถ่ายรูปคู่กับรางวัลที่เป็นรูปมือชูนิ้วกลาง ทั้ง 2 กอดคอถ่ายรูปร่วมกันอย่างเป็นมิตร โนล ถ่ายรูปในแอกชั่นอมนิ้วกลาง ส่วน เดมอน ก็เอารางวัลมาแค่ขี้มูก ตามประสาวัยรุ่นวัยคะนอง

แต่ชนวนที่ทำให้ทั้ง 2 วงต่างไม่โอเค คือ เกรแฮม (Graham Coxon - มือกีตาร์วง Blur) ที่กำลังเมาได้ที่ดันไประรานเลียม ด้วยการเข้าไปหอมแก้มฟอดใหญ่

จนเลียมเองแสดงออกว่าไม่พอใจมาก ๆ เขาหลุดปากบอกกับสื่อว่า “Blur แม่งก็แค่วงร็อคธรรมดา แม่งไม่สมควรที่จะได้รางวัลหรอก” … แน่นอนว่า สงครามน้ำลายก็ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้น

หลังจากนั้นทั้ง 2 ต่างก็ผลัดกันสาดโคลนกันไปกันมา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง โนล เคยพูดต่อหน้าเดมอน ในวันที่ Oasis สามารถพาเพลง Some Might Say ขึ้น UK Chart อันดับ 1 ว่า “วงพวกกูจะอันดับ 1 ตลอดกาลเว้ย พวกมึงไม่ใช่...ไม่มีวัน”

เดมอน เข้าใจว่าคงเป็นการเอาคืนหลังจากที่สมาชิกมือกีตาร์สุดเนิร์ดไปลบหลู่เกียรติด้วยการหอมแก้มในคืนวันน้น แต่ อลัน แมคคี บอสใหญ่แห่งค่าย Creation Records กลับบอกว่า

“คืนนั้น โนลมันไม่ได้หยอกเดมอน นะ มันคิดจริง มันเกลียดวง Blur จริงๆ” 

เลียมเองก็ร่วมสนุกกับสงครามน้ำลายด้วยการแสดงความหยาบคายใส่คู่เดตของเดมอน ยิ่งเหมือนการเอาน้ำมันราดบนกองเพลิง 

วันต่อมา เดมอนก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ผมงี้หน้าชาเลย คือผมแค่ตั้งใจจะไปยินดีที่พวกเขาได้อันดับ 1 ครั้งแรก แต่ Oasis กลับตอกผมซะหน้าหงาย… ถ้าอย่างงั้นก็ได้นะ เราจะได้เห็นดีกัน”

สื่อทั้งหลายเริ่มคิดแล้วว่าการปะทะของทั้งสองวงนี้ไม่ธรรมดา ในขณะที่ภาพลักษณ์ของ Britpop วงอื่น ๆ ค่อนข้างเรียบร้อยและดูติ๋ม ๆ แต่ทั้ง 2 เสมือนเสือปะทะสิงห์ แต่ที่ทำให้ทั้งประเทศแม้ว่าคุณจะฟังเพลงหรือไม่ฟังก็ตามต่างต้องหันมาดูทั้ง 2 วง ก็เมื่อทั้ง 2 ต่างตั้งใจปล่อยซิงเกิ้ลชนกันในวันเดียวกัน

Blur ปล่อยซิงเกิ้ลเปิดตัวอัลบั้มใหม่ในชื่อ Country House

ส่วน Oasis ก็สานต่อความสำเร็จด้วยซิงเกิ้ลที่ 2 ของอัลบั้มชุดที่ 2 ด้วยเพลง Roll wit It

ยกที่ 4 ศึกวัน Britpop ครองเมือง

จากสงครามน้ำลาย สู่สงครามแห่งศักดิ์ศรี เมื่อทั้ง 2 วงเลือกตัดสินชะตาด้วยซิงเกิ้ลใหม่ เรื่องราวใหญ่โตถึงขนาดที่ NME วางหน้าปกในเล่มฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 1995 ด้วยการพาดหัวราวกับศึกวันทรงชัย

กระทั่ง BBC News ยังทำสกู๊ปเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้อย่างออกรส แถมยังพูดถึงการแข่งของ 2 วงนี้ว่า “มันเป็นสงครามแห่งชนชั้น” แน่นอนว่า Blur คือผู้ดีที่อยู่หัวเมืองใหญ่ ส่วน Oasis ก็ไม่ต่างกับรากหญ้าที่เป็นขวัญใจชนชั้นแรงงาน

NME บอกถึงความตื่นเต้นที่เสมือนเป็นโปรโมเตอร์จัดมวยคู่ชกคู่นี้ว่า

“เราแทบนอนกันไม่หลับเลย เพราะไม่รู้ว่าใครจะชนะครั้งนี้ ถึงขนาดเราต้องทำปก 2 ปก ไว้ดักรอเลย คือใครได้ที่ 1 ก็ขึ้นปกนั้นไป

เราได้เห็นการสนับสนุนของแฟน ๆ ที่มีต่อวงทั้ง 2 อย่างท่วมท้น เหมือนการแข่ง The Voice ที่ต่างมาช่วยกันโหวตให้ศิลปินที่ตัวเองรัก แต่เป็นการสนับสนุนด้วยการเข้าร้านอุดหนุนแผ่นแทน...ตอนนี้เราถึงวางโต๊ะพนันกันเลยว่าใครจะมาวิน ตอนแรกเราก็แอบคิดนะว่า Oasis จะชนะ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

จนเมื่อวันที่ 14 สิงหา 2 วันต่อมาจากการวางแผงของทั้ง 2 ซิงเกิ้ล Country House ก็เฉือนชนะ Roll with It ไป ด้วยการขึ้นอันดับ 1 UK Chart แฟนเพลงเมืองผู้ดีให้การตอบรับอย่างดีกับ Blur โดย Blur ชนะด้วยยอดขาย 270,000 Copies ส่วน Oasis ตัวเลขในสัปดาห์นั้นหยุดที่ 220,000 

และเมื่อ Blur ชนะ Oasis ทุกไมค์ก็จ่อที่ผู้แพ้แต่ปากแจ๋วอย่างเลียมทันที

“ก็แอบผิดหวังนะ เพราะเราคิดว่าเพลงของเรานอนมาอยู่แล้ว หลังจากวันนั้น ผมได้ไปเจอกับ อเล็กซ์ เจมส์ มือเบสของ Blur โดยบังเอิญในผับแห่งหนึ่ง ผมตบบ่ามันแล้วบอกว่า ‘ดีใจด้วยนะที่ขึ้นอันดับ 1’

อเล็กซ์แม่งตอกใส่หน้าผมว่า ‘แต่ยังไงเพลงของเราทั้งคู่แม่งก็ห่วยอยู่ดี’ ตอนนั้นผมฉุนชิบหาย ไอ้ห่า กูอุตส่าห์ยอมเป็นรอง มึงยังมาตอกกูแบบนี้อีก ผมเลยให้โอวาทมันไปว่า ‘ไอ้...มึงคิดผิด นี่แหละกูถึงเกลียดวงพวกมึง ถึงเพลงกูอยู่ที่ 2 แต่มึงไม่นึกถึงเหรอวะว่าวงพวกเราแม่งสามารถชนะพวกเพลงป็อปโง่ ๆ ได้ตั้งมากมาย มึงจะเกลียดเพลงมึงก็เรื่องของมึง ยังไงกูก็ชอบเพลงของกูเว้ย’ ” 

เหมือนอเล็กซ์ จะรู้สึกผิดนิด ๆ เขาให้สัมภาษณ์ในภายหลังกับสื่อว่า “ผมคิดว่าพวกเขา [Oasis] เป็นคือวงดนตรีที่ยอดเยี่ยม และนี่คือช่วงเวลา Britpop ครองโลก

เอาจริง ๆ เราไม่อยากจะให้วงเราไปเทียบกับวงเค้า มันเป็นแค่เกมที่ถูกกำหนดขึ้นเท่านั้น สุดท้ายเราก็อยากแค่จะทำเพลงดี ๆ กันแค่นั่นแหละ นอกรอบผมก็อยากจะชนแก้วกับเลียมนะ มันเป็นคนไม่กี่คนในวงที่ผมอยากชนแก้วกับมัน”

โบนเฮด มือกีตาร์ของ Oasis ก็ให้ความคิดเห็นเช่นเดียวกัน “ต่อให่วีกนั้น Blur ได้อันดับ 1 และเราอยู่ในอันดับ 102 ก็แล้วไงวะ??? ไร้สาระน่า แค่เรามั่นใจว่าเราทำเพลงดีมีคนกลุ่มนึงชอบมันก็พอแล้วรึเปล่า ใครจะมาสนใจอันดับโง่ ๆ ของเพลงกัน”

เกรแฮม ให้สัมภาษณ์ในตอนหลังว่า “แม่งเป็นสงครามที่ปัญญาอ่อนมาก ๆ ผมยอมรับว่าช่วงนั้นผมทำเพลงโดยมีเป้าหมายเพียงแค่อยากขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต แต่เอาจริง ๆ ผมแม่งก็เซ็งสุด ๆ นะ ขึ้นอันดับ 1 แล้วไง? แม่งจอมปลอมทั้งนั้น”

คนที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นเห็นเกรแฮม แสดงอาการเบื่อหน่ายอย่างเห็นได้ชัดกับสงครามอันไร้สาระนี้ 

สตีเฟ่น สตรีท โปรดิวเซอร์ของ Blur เล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่ทางวงและค่ายกำลังลุ้นว่าใครจะได้ที่ 1 ในสัปดาห์นั้นว่า “เกรแฮม แสดงออกตลอดเวลาว่าอยากโดดตึกตายหนีความกดดันนี้ เขาไม่ชอบที่จะแข่งขันจริง ๆ”

วง Blur

ยกที่ 5 หลังกระแส Britpop จางหายลง

แม้ว่า Country House ของ Blur จะขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตซิงเกิ้ล แต่ Oasis ก็ตีตื้นได้ในภายหลังด้วยการพา (What's the Story) Morning Glory? (1995) ทะยานไกลในฐานะอัลบั้มแห่งปี และครองอันดับความคลาสสิกระดับต้น ๆ ตลอดกาล

ส่วนอัลบั้ม The Great Escape (1995) ของ Blur เอง ก็สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะอัลบั้มที่ตามกระแสวูบวาบและกลายเป็นอัลบั้มที่อยู่ในมาตรฐานต่ำสุดของวงไป ก่อนจะแปรเปลี่ยนตัวเองเป็นวง Art Pop ที่ทำเพลงตามใจตัวเองไม่บ้าจี้ตามกระแส Britpop ที่ท้ายสุด กระแสดนตรีแนวนี้ก็อายุแสนสั้นและดับวูบลงในอีกไม่กี่ปีต่อมา

Oasis ทำอัลบั้มชุดที่ 3 Be Hear Now (1997) ได้ต่ำกว่ามาตรฐานในสายตานักวิจารณ์ในยุคนั้น เลียม ฟาดงวงฟาดงาวงอื่นไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่งกับพี่ชาย และสุดท้ายวงก็ไม่รอด รวมไปถึงกระแส Britpop ที่จางหาย และการทลายกำแพงแห่งเขตแดนดนตรีที่ปัจจุบันแทบไม่มีการแบ่งแยกดินแดงของแนวดนตรีแต่อย่างใด

ส่วน Blur นั้นก็แยกย้ายไปทำงานที่ตัวเองชอบ โดยเดมอน ไปทำโปรเจกต์ Visual Band ที่ชื่อ Gorillaz จนแทบจะเป็นโปรเจกต์หลักของตัวเองไปแล้ว (และบางซิงเกิ้ล โนลก็ไปร่วมแจมอีกด้วย)

และ Blur เพิ่งจะมีข่าวดีถึงการกลับมารวมตัวออกคอนเสิร์ตอีกครั้งที่สนามเวมบรีย์ ที่จัดขึ้น 2 รอบ ในกลางปี 2023 โดยบัตรของทั้ง 2 รอบได้หมดอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ Oasis ไม่มีแม้วี่แววที่จะกลับมารวมตัวได้เลย

การปะทะกันของ Oasis กับ Blur จึงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ดนตรี ที่น่าสนใจ ในฐานะสีสันและพลังแห่งข่าวสารที่ทำให้กลายเป็นตำนานที่เล่าขานจวบจนปัจจุบัน

 

ข้อมูลประกอบการเขียน:

Blur Vs Oasis: The true story of the Battle Of Britpop. Radio X. Website. 

Blur and Oasis’ big Britpop chart battle – the definitive story of what really happened. NME. Website.